พลันที่ UN ประกาศเข้าสู่ภาวะโลกเดือด วิกฤติสิ่งแวดล้อมเดิมทวีผลกระทบขึ้นหลายเท่าทวีคูณ ตามมาด้วยภัยพิบัติทางธรรมชาติ สภาพอากาศ ความแห้งแล้ง ความมั่นคงทางอาหาร และปัญหาสุขภาพ
นำมาสู่การประชุม COP28 โดยประเทศผู้เข้าร่วมประชุมเห็นพ้องถึงความสำคัญของการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อป้องกันไม่ให้อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกสูงไปกว่า 1.5 องศาเซลเซียส รวมถึงเร่งผลิตพลังงานหมุนเวียนให้เป็น 3 เท่าภายในปี 2030 หลายภาคส่วนจำต้องตื่นตัวคิดหาแนวทางเพื่อช่วยกู้วิกฤติโลกเดือด โดยเฉพาะองค์กรที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการร่วมขับเคลื่อนสังคมคาร์บอนต่ำ
รวมถึง ธนาคารกสิกรไทย ที่นอกจากเป็นหนึ่งในผู้นำด้านความยั่งยืนทั้งในมิติสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาลซึ่งได้ประกาศความมุ่งมั่นในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์เป็นลำดับแรกๆ ของเมืองไทยโดยชูเป้าหมายการดำเนินงานของแบงก์จะเป็น Net Zero ในปี 2030 และ การปล่อยก๊าซเรือนกระจกในพอร์ตโฟลิโอเป็น Net Zero สอดคล้องกับเป้าหมายของประเทศไทย
ล่าสุด พิพิธ เอนกนิธิ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย ย้ำถึงการที่ประเทศจะขับเคลื่อนไปสู่จุดหมายได้ จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในสังคม โดยธนาคารกสิกรไทยพร้อมที่จะเป็นจุดเชื่อมต่อของภาคธุรกิจ ลูกค้า ผู้กำกับดูแล ผู้กำหนดนโยบาย องค์กรแหล่งความรู้ด้านสิ่งแวดล้อมและนวัตกรรม ตลอดจนภาคการเงินและตลาดทุน บูรณาการศักยภาพ ต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนลูกค้าและภาคธุรกิจไทย รับมือกับ Climate Game ที่มูลค่าของธุรกิจไม่ได้ขึ้นอยู่เพียงผลกำไรจากธุรกิจดังเดิม แต่มีปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมเข้ามาเกี่ยวข้อง
โดยจัดเตรียมยุทธศาสตร์ด้านสิ่งแวดล้อมปี 2024 ที่อยากชวนธุรกิจไทยก้าวสู่โลกธุรกิจรูปแบบใหม่ TOGETHER ‘Transitioning Away’ ผ่าน 4 กลยุทธ์ดังนี้
กลยุทธ์อันดับแรกเริ่มจากการยกระดับมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมของธนาคาร ปรับเปลี่ยนกระบวนการดำเนินงานขององค์กร เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกใน Scope 1-2 เป็น Net Zero ให้สำเร็จภายในปี 2030 เช่น ติดตั้ง Solar Rooftop ที่อาคารหลัก 7 แห่ง กับ 78 สาขา เปลี่ยนจากรถยนต์สันดาปเป็นรถยนต์ไฟฟ้า 183 คัน นอกจากนั้น ธนาคารได้เริ่มพัฒนาระบบข้อมูลก๊าซเรือนกระจกและดำเนินการเกี่ยวกับคาร์บอนเครดิตตั้งแต่ปี 2020 โดยธนาคารกสิกรไทย เป็นกลางทางคาร์บอนมาแล้ว 6 ปีต่อเนื่อง (2018-2023) โดยได้รับการรับรองขึ้นทะเบียน Carbon Neutral จาก อบก.
“การเปลี่ยนแปลงที่ตัวเองเหล่านี้ ส่งผลให้ธนาคารสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนจากกระจกได้อย่างต่อเนื่อง โดยในปีที่ผ่านมา สามารถลดได้ถึง 12.74% เมื่อเทียบกับปี 2020 นับเป็นประสบการณ์ตรงเรื่อง Climate Action ที่ทำจริงและวัดผลได้” พิพิธกล่าว
ธนาคารสนับสนุนภาคธุรกิจในการเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืนอย่างครบวงจร ไม่ว่าจะเป็นการให้สินเชื่อด้านสิ่งแวดล้อม (Green Loan) สินเชื่อเพื่อปรับปรุงกระบวนการทางธุรกิจในการเปลี่ยนผ่าน (Transition Finance) จัดสรรเงินลงทุนในธุรกิจและสตาร์ทอัพที่สร้างผลกระทบเชิงบวก นำเสนอผลิตภัณฑ์การลงทุนโดยมุ่งสนับสนุนธุรกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและสังคม (ESG) โดยจากยอดสินเชื่อและเงินลงทุนเพื่อความยั่งยืนจำนวน 26,411 ล้านบาทในปี 2022 ภายในปีนี้ธนาคารคาดว่าจะสามารถส่งมอบเงินในส่วนนี้ได้รวม 100,000 ล้านบาท และคาดว่าจะเป็น 200,000 ล้านบาทภายในปี 2030 ตามเป้าหมาย
นอกจากการลดการปล่อยสินเชื่อให้อุตสาหกรรมที่ปล่อยคาร์บอนสูง ธนาคารยังมีการจัดลำดับอุตสาหกรรม และจัดทำแผนกลยุทธ์การลดก๊าซเรือนกระจกรายอุตสาหกรรม (Sector Decarbonization Strategy) เพื่อวางแผนร่วมกับลูกค้าในแต่ละกลุ่มเพื่อทำการปลี่ยนผ่านอย่างใกล้ชิด ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกไปด้วยกัน โดยใน 2 ปีที่ผ่านมา ธนาคารได้เข้าไปช่วยเหลือลูกค้าแล้วใน 5 กลุ่มอุตสาหกรรม ได้แก่ กลุ่มโรงไฟฟ้า กลุ่มน้ำมันและก๊าซธรรมชาติต้นน้ำ กลุ่มเหมืองถ่านหินประเภทเชื้อเพลิงให้ความร้อน กลุ่มซีเมนต์ และกลุ่มอลูมิเนียม
ความสำเร็จของกลยุทธ์ Sector Decarbonization Strategy สะท้อนผ่านตัวชี้วัดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในพอร์ตอุตสาหกรรมโรงไฟฟ้าที่ได้รับการสนับสนุนสินเชื่อสีเขียว จำนวน 3,800 ล้านบาท ปัจจุบันธนาคารมีระดับความเข้มข้นของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในพอร์ตนี้ลดลง 5% ในปี 2023 เมื่อเทียบกับปี 2020 สอดคล้องกับแผนที่วางไว้เช่นกัน
ธนาคารกสิกรไทยมองเห็นความต้องการของลูกค้าธุรกิจและผู้บริโภค ธนาคารจึงเห็นโอกาสในการพัฒนาโซลูชันบริการด้านสิ่งแวดล้อม และการเชื่อมต่อระบบนิเวศด้านคาร์บอนที่กำลังจะเกิดขึ้น จึงได้จับมือพันธมิตร สนับสนุนการพัฒนาโซลูชันเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยทดลองออกบริการนำร่อง อาทิ ‘WATT’S UP’ แพลต์ฟอร์มรองรับการเช่ารถจักรยานยนต์ไฟฟ้าแบบครบวงจร พร้อมบริการสลับแบตเตอรี่ผ่านจุดบริการ มีผู้ใช้งานแล้ว 367 ราย โดยคาดว่าในปีนี้จะมีรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าให้บริการกว่า 10 รุ่น ขยายตู้สลับแบตเตอรี่เป็นกว่า 70 สาขา ทั่วกรุงเทพฯ-ปริมณฑล
‘ปันไฟ’ (Punfai) แอปพลิเคชันที่ร่วมมือกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย แลกเปลี่ยนไฟฟ้าแห่งแรกของไทย ตอบโจทย์การใช้งานครบทุกมิติ รองรับการใช้งานทั้งภาคประชาชนและภาคธุรกิจ
ด้วยประสบการณ์กว่า 10 ปี ในการวัดคาร์บอน ฟุตพรินท์ ธนาคารเตรียมพัฒนาโซลูชันใหม่ที่จะช่วยผู้ประกอบการเรื่องการวัดผล รายงาน และตรวจสอบการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Carbon MRV) ให้สอดคล้องกับมาตรฐานระดับสากล
กลยุทธ์สุดท้าย ธนาคารได้เตรียมความพร้อมในการเชื่อมต่อ Carbon Ecosystem เพื่อการพัฒนาบริการไปอีกขั้น ในธุรกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับคาร์บอนเครดิต เป็นการร่วมผลักดันให้ตลาดคาร์บอนเครดิตของไทยเติบโตเป็นที่ยอมรับในระดับสากล มีการเปิดตัวแพลตฟอร์มขึ้นทะเบียนและขายใบรับรองการผลิตพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy Certificate: REC) ด้วยความร่วมมือกับ Innopower อำนวยความสะดวกผู้ที่ติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป ขึ้นทะเบียนและขายใบรับรองได้
ตลอดจนเตรียมแนวทางในมิติอื่นๆ ของ Carbon Ecosystem เช่นเป็นตัวแทนซื้อขายคาร์บอนเครดิต (Carbon Credit Broker / Dealer) และการออกโทเคนคาร์บอนเครดิต (Carbon Credit Tokenization)
นอกจากนี้ ยังมีฟอรั่มแห่งปีที่ธนาคารกสิกรไทยจะพานักธุรกิจและผู้ประกอบการก้าวสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ ‘EARTH JUMP 2024 : The Edge of Action’ เรียนรู้แนวคิดและเทรนด์ธุรกิจจากผู้บริหารองค์กรชั้นนำและเจ้าของธุรกิจกว่า 30 ราย เปิดโอกาสการรับคำปรึกษาเชิงลึกแบบตัวต่อตัวจาก 10 บริษัททั้งในไทยและระดับโลก พร้อมกิจกรรมเวิร์กชอป จะจัดในวันที่ 27 พฤษภาคม 2567 ณ สามย่านมิตรทาวน์
พิพิธกล่าวทิ้งท้ายว่า “ธนาคารปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพียง 5% ส่วนอีก 95% อยู่ที่ลูกค้า วันนี้เรามีสินเชื่อในพอร์ตที่เกี่ยวกับลูกค้าผู้ประกอบการ 1.7 ล้านล้านบาท มีลูกค้า 450,000 คนซี่งจะต้องติดตามและลงมือทำในเรื่องนี้ เพราะเป็น Agenda ใหญ่ของประเทศไทยไม่ใช่เฉพาะของธนาคาร”
“สุดท้ายนี้ ธนาคารกสิกรไทยอยากเชิญชวนทุกคนจับมือและลงมือทำไปด้วยกัน เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นจริง ซึ่งธนาคารกสิกรไทยพร้อมแล้วที่จะทำหน้าที่ขับเคลื่อนธุรกิจไทยให้เปลี่ยนผ่านไปสู่โลกธุรกิจรูปแบบใหม่ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงคว้าโอกาสที่จะเกิดขึ้นในเศรษฐกิจการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ไปด้วยกัน”
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด