สจล. เปิด KIDS University มหาวิทยาลัยเด็กเล็ก พร้อมหลักสูตรสร้าง New Skills ดันเด็กไทยให้ก้าวล้ำนานาชาติ | Techsauce

สจล. เปิด KIDS University มหาวิทยาลัยเด็กเล็ก พร้อมหลักสูตรสร้าง New Skills ดันเด็กไทยให้ก้าวล้ำนานาชาติ

สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เดินหน้าเปิด “มหาวิทยาลัยเด็กเล็ก” (KIDS University by KMITL) ปี 2 หลักสูตรระยะสั้นที่มุ่งเฟ้นหา “นิว สกิล” (New Skill) ของเด็กรุ่นจิ๋ววัย 3-10 ปี หวังทลายกำแพงการสร้างเด็กไทยโฉมใหม่ให้ก้าวล้ำนานาชาติ ผ่านการเลือกเรียนในหลักสูตรใหม่มากกว่า 30 รายวิชา อาทิ วิชาโรโบติกส์ โค้ดดิ้ง ที่เน้นการเรียนรู้ผ่านเกมหลอดทดลอง และตัวต่อเสริมทักษะ เลโก้’ หนุนกระตุ้นเด็กเล็กฉายแววความสามารถพิเศษ เพื่อเป็นแนวทางให้ผู้ปกครองส่งเสริมความสามารถของลูกได้ตรงจุดก่อนเข้าเรียนในช่วงชั้นที่สูงขึ้น พร้อมพบไฮไลท์หลักสูตรนักบินอวกาศน้อย (Mission to Jupiter) ที่จะได้รับประสบการณ์เรียนรู้ในการเป็นวิศวกรการบินและวิศวกรอวกาศโดยตรง จากนักบินอวกาศหญิงที่มีประสบการณ์ฝึกบินจริงที่สหรัฐฯ ทั้งนี้ โครงการดังกล่าว พร้อมเปิดรับสมัครแล้วตั้งแต่วันนี้ (10 พฤศจิกายน) ดีเดย์คลาสแรกในวันเด็ก ปี 2565 และเมื่อจบหลักสูตรผู้เรียนจะได้รับประกาศนียบัตร เพื่อต่อยอดการเรียนในสถาบันการศึกษาที่สนใจและสอดคล้องกับทักษะของตนเองได้อนาคต โดยกิจกรรมเปิดตัวโครงการ มหาวิทยาลัยเด็กเล็ก ปีที่ 2 จัดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ ณ คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรมและเทคโนโลยี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) 

ศ. ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ในฐานะผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยเด็กเล็ก (Kids University by KMITL) เปิดเผยว่า จากความสำเร็จในการจัดโครงการมหาวิทยาลัยเด็กเล็ก (KIDS University by KMITL) ปีที่ 1 ที่เปิดไปในปี พ.ศ. 2563 ทำให้เกิดความตื่นตัวต่อการให้ความสำคัญกับการค้นหาความสามารถพิเศษของเด็กเล็ก (Talent Finder) และเสริมสร้างทักษะจำเป็น ด้วยแนวคิดที่มุ่งเน้นให้เด็กได้สัมผัสประสบการณ์การเรียนรู้ในแบบมหาวิทยาลัย ทั้งจากการเรียนกับอาจารย์ระดับมหาวิทยาลัย อันเป็นแนวทางหนึ่งในการเติมทักษะความเป็นผู้นำ ความรับผิดชอบ และความสามารถในแบบผู้ใหญ่ จึงได้ดำเนินการเปิดโครงการ “มหาวิทยาลัยเด็กเล็ก” ปีที่ 2 ขึ้น หลักสูตรระยะสั้นสำหรับเด็กเล็กวัย 3-10 ปี ที่มุ่งเน้นการเฟ้นหาความสามารถพิเศษ (Talent Developer) พร้อมด้วยทักษะใหม่ (New Skill) หวังทลายกำแพงการสร้างเด็กไทยโฉมใหม่ให้ก้าวล้ำนานาชาติ อีกทั้งเป็นแนวทางให้ผู้ปกครองส่งเสริมความสามารถพิเศษของลูกน้อยได้อย่างตรงจุด

อย่างไรก็ตาม การปลูกฝังเด็กยุคใหม่ โดยเฉพาะ “เด็กปฐมวัย” ให้มีทักษะที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต นับเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์การพัฒนาของชาติในการปฏิรูปการศึกษาตั้งแต่เด็กระดับปฐมวัยสู่การศึกษาในระดับอุดมศึกษา โดยคลอบคลุมทักษะการเรียนรู้และนวัตกรรม ทักษะสารสนเทศ สื่อ เทคโนโลยี รวมถึงทักษะชีวิตและอาชีพ เพื่อให้เด็กได้รับการส่งเสริม พัฒนาการเรียนรู้และสามารถต่อยอดไปกับการจัดการศึกษาในสมัยปัจจุบัน ที่กำลังมีการปฏิรูปการเปลี่ยนแปลงและเป็นไปตามแนวทางของการจัดทำมหาวิทยาลัยเด็กประเทศไทย เพื่อให้นักเรียนมีโอกาสได้รับการพัฒนาศักยภาพ การเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี อันนำไปสู่การเรียนรู้ตลอดชีวิต (Life Long Learning)

ด้าน ผศ. ดร.อำภาพรรณ ตันตินาครกูล หัวหน้าโครงการมหาวิทยาลัยเด็กเล็ก (Kids University by KMITL) รักษาการแทนผู้อำนวยการสำนักหอสมุดกลาง สจล. กล่าวเสริมว่า การเรียนการสอนสำหรับในปีที่ 2 จะเป็นหลักสูตรระยะสั้น ในรูปแบบ Modular-Base ที่ตอบโจทย์เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ของสหประชาชาติ ในด้านที่ 4 คือ Quality Education ที่มุ่งส่งเสริมการศึกษาเท่าเทียมและทั่วถึง รวมถึงการเรียนรู้ตลอดชีวิตแก่ทุกคน โดยไฮไลท์หลักสูตรในปีที่ 2 นี้ จะเป็น ห้องนักบินอวกาศน้อย (Mission to Jupiter) ที่เด็กเล็กจะได้รับประสบการณ์ตรง จาก ‘นักบินอวกาศหญิงที่มีประสบการณ์ฝึกบินที่หน่วยงานแห่งหนึ่งในสหรัฐอเมริกา’ อย่าง ดร.พิรดา เตชะวิจิตร์ อาจารย์ประจำวิทยาลัยอุตสาหกรรมการบินนานาชาติ สจล. ที่จะเปิดประสบการณ์ในการฝึกเป็นวิศวกรการบินและวิศวกรอวกาศ ได้เรียนรู้การสร้างแผงวงจรจริงซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของดาวเทียม ได้ออกแบบเครื่องบินจำลองเพื่อเรียนรู้วิธีการทำงานของเครื่องบิน ได้จำลองสถานการณ์กู้ภัยหายานตกจากอวกาศ ด้วยอุปกรณ์ส่งสัญญาณจริง ตลอดจนออกแบบยานด้วยการวาดแบบสามมิติและสร้างจริงด้วยเครื่องพิมพ์สามมิติ 

นอกจากนี้ ผู้เรียนยังได้รับประสบการณ์การเรียนรู้ในหลักสูตรพิเศษที่น่าสนใจมากกว่า 30 รายวิชา ทั้งหลักสูตรโรโบติกส์ (ROBOTICS) หลักสูตรโค้ดดิ้ง (CODING) ที่เน้นการเรียนรู้ผ่านเกมหลอดทดลอง (Game-Based Leaning) และตัวต่อเสริมทักษะ ‘เลโก้’ (LEGO SPIKE Prime) ฯลฯ จากคณาจารย์นักวิจัย นักศึกษาระดับปริญญาโท-เอก ทำหน้าที่เป็น “พี่เลี้ยง” ดูแลนักเรียนในการทำกิจกรรมสร้างสรรค์ในหลากรูปแบบ อาทิ การทดลองทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การสื่อสารและสารสนเทศ ศิลปะและความคิดสร้างสรรค์ เพื่อกระตุ้นให้ผู้เรียนมีทัศนคติเชิงบวก เกิดแรงบันดาลใจ ค้นพบความถนัดและความสนใจ สามารถพัฒนาต่อยอดสู่การเรียนรู้ในวันข้างหน้า ตลอดจนเสริมสร้าง 3 ทักษะจำเป็นสำหรับศตวรรษใหม่ ดังนี้ DiGIKIDS ทักษะความรู้ดิจิทัล (Robotic AI Coding) DeSIGNER ทักษะด้านศิลปะ การคิดสร้างสรรค์ การออกแบบ การแสดงดนตรี และ DiSRUPTOR ทักษะการเป็นผู้นำ การเป็นนักเปลี่ยนแปลง การเอาตัวรอด

ทั้งนี้ โครงการมหาวิทยาลัยเด็กเล็ก พร้อมเปิดรับสมัครแล้วตั้งแต่วันนี้ (10 พฤศจิกายน 2564) โดยกำหนดจัดกิจกรรมวันแรกคือ วันเด็ก ปี 2565 มีระยะเวลาการจัดกิจกรรมทั้งสิ้น 6-8 สัปดาห์ และเมื่อจบหลักสูตรผู้เรียนจะได้รับประกาศนียบัตร เพื่อต่อยอดการเรียนในสถาบันการศึกษาที่สนใจและสอดคล้องกับทักษะของตนเองได้อนาคต จากนั้นจะเป็นการเปิดรับสมัครหลักสูตรพิเศษ ซึ่งจะจัดในค่ายฤดูร้อน (SUMMER CAMP) นอกจากนี้ โครงการดังกล่าว ยังสามารถสร้างเครือข่ายไปยังโรงเรียนและมหาวิทยาลัยทั่วประเทศและทั่วโลก เพื่อให้สถาบันการศึกษาต่างๆ ได้ร่วมกันพัฒนาหลักสูตรที่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาศักยภาพของเด็กรุ่นใหม่ โดยที่ล่าสุด ได้ลงนามความร่วมมือกับ “มหาวิทยาลัยศรีปทุม” พันธมิตรรายแรก ในการนำต้นแบบหลักสูตรมหาวิทยาลัยเด็กเล็ก (Kids University by KMITL) ปีที่ 2 ไปเปิดสอน เพื่อกระตุ้นการจัดกิจกรรมการเรียนรู้สำหรับเด็กเล็กของประเทศไทยเป็นลำดับต่อไป ผศ. ดร.อำภาพรรณ กล่าวทิ้งท้าย

สำหรับกิจกรรมเปิดตัวโครงการ มหาวิทยาลัยเด็กเล็ก (Kids University by KMITL) ปีที่ 2 จัดขึ้นเมื่อเร็ว ๆ นี้ ณ คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรมและเทคโนโลยี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) สำหรับผู้ปกครองท่านใดที่สนใจโครงการดังกล่าว สามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สำนักหอสมุดกลาง สจล. หมายเลขโทรศัพท์ 02 329 8000 ต่อ 5083 หรือเพจเฟซบุ๊ก https://www.facebook.com/KidsUniversitybyKMITL และเว็บไซต์ http://kidsu.kmitl.ac.th


ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

เตรียมพบกับงานสัมมนา Social Value thailand Forum 2024 เปลี่ยนผ่านประเทศสู่เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน

งานสัมมนาเปลี่ยนผ่านประเทศสู่เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน ด้วยฐานความรู้ นวัตกรรม และความร่วมมือรัฐ เอกชน สังคม Accelerating Education and Partnership for the SDGs...

Responsive image

เปิดตัวโครงการนำร่อง "กำแพงพักใจ ที่พักใจให้เยาวชน" ภายใต้ความร่วมมือระหว่างมูลนิธิ Wall of Sharing, Ooca และ สปสช.

โครงการนี้มีเป้าหมายในการเพิ่มการเข้าถึงบริการสุขภาพจิตสำหรับเยาวชน 2,500 คนในกรุงเทพฯ ด้วยบริการให้คำปรึกษาออนไลน์ฟรี และยังลดภาระในการเข้าถึงบริการสุขภาพจิต โดยที่เยาวชนจะได้รับก...

Responsive image

"Brother" ยกระดับมาตรฐานบริการรอบด้าน มุ่งสร้างความพึงพอใจลูกค้าพร้อมตั้งเป้าโต 6%

Brother พร้อมต่อยอดความสำเร็จจากปี 2566 มุ่งตอบโจทย์โดยยึดความต้องการของลูกค้าเป็นหลัก ยกระดับงานให้บริการสู่มาตรฐานขั้นสูง เพื่อสร้างความพึงพอใจสูงสุด พร้อมเสริมแกร่งฐานลูกค้ากลุ่...