KPMG รายงานว่า ในปี 2564 การควบรวมกิจการ หรือ Merger & Acquisitions (M&A) มีจำนวนเพิ่มสูงขึ้นกว่าปี 2563 ซึ่งปี 2564 ถือเป็นปีที่ยอดรวมการทำ M&A สูงสุดเป็นประวัติการณ์ทั่วโลก โดยองค์กรธุรกิจต่าง ๆ ในไทยได้ใช้โอกาสจากความสามารถในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่มากขึ้นเพื่อลงทุนในธุรกิจที่มีโอกาสเติบโตสูงแม้จะอยู่ในสภาพการเติบโตที่ต่ำ
โดยการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 จุดประกายให้มีการลงทุนสูงขึ้นเพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางด้านดิจิทัล ซึ่งตรงกับพฤติกรรมของผู้บริโภคภายหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่เห็นได้ชัดว่าพึ่งพาเทคโนโลยีมากขึ้นถึงแม้ว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจะมีการชะลอตัวเนื่องจากมาตรการการลดการแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนในช่วงปลายปีที่แล้ว
เรายังคาดการณ์ว่าการทำ M&A จะยังคงมีอยู่ต่อเนื่องและหลากหลายตลอดปีนี้ โดยเฉพาะด้านการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการเปลี่ยนแปลง (Digital transformation) การถอนการลงทุนและการสร้างความหลากหลายทางธุรกิจ (Divestments and diversification) การร่วมมือกันเพื่อลดต้นทุน (Synergy capture) การประหยัดต่อขนาด (Economy of scale) และการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องของผู้ลงทุนประเภท Private Equity และ Venture Capital
“เนื่องจากในประเทศไทยมีการทำ M&A ที่เพิ่มขึ้น เราจึงขอเน้นย้ำถึงความสำคัญของการตรวจสอบสถานะของกิจการ (Due diligence) ที่ครบถ้วนและครอบคลุม” คุณบุญญาพร ดอนนาปี กรรมการบริหารฝ่ายกฎหมาย เคพีเอ็มจี ประเทศไทย กล่าว
“ในขณะที่การตรวจสอบสถานะของกิจการในด้านการเงิน (Financial due diligence) เป็นขั้นตอนที่ทราบกันดีอยู่แล้วในการทำ M&A แต่บางครั้งขั้นตอนในการตรวจสอบสถานะของกิจการด้านกฎหมาย (Legal due diligence) อาจถูกมองข้ามไป การทำ Legal due diligence เป็นวิธีที่ทำให้สามารถประเมินความเสี่ยงในการลงทุน กำหนดราคาสำหรับการซื้อขายกิจการเมื่อคำนึงถึงความเสี่ยงเหล่านั้น วางโครงสร้างการควบรวมกิจการ และกำหนดเงื่อนไขในสัญญาซื้อขายได้”
ในกรณีที่ Target ผู้ขาย หรือผู้ซื้อกิจการเป็นบริษัทจดทะเบียน ข้อพิจารณาทางกฎหมายอื่น ๆ ในการตรวจสอบสถานะของกิจการด้านกฎหมายจะมีมากขึ้นเช่นกัน เช่น หาก Target เป็นบริษัทจดทะเบียน เมื่อผู้จะซื้อดำเนินการการตรวจสอบสถานะของกิจการด้านกฎหมายอยู่นั้น Target ควรมีมาตรการในการป้องกันการรั่วไหลของข่าวหรือข้อมูล และยังต้องมีการระมัดระวังเรื่อง Insider Trading
นอกจากนี้ยังต้องคำนึงถึงข้อพิจารณาทางกฎหมายอื่น ๆ ที่สำคัญ เช่น การควบรวมกิจการนี้จะเข้าข่ายเป็นการได้มาหรือจำหน่ายไปซึ่งสินทรัพย์ หรือเป็นรายการที่เกี่ยวโยงกันภายใต้กฎหมายหลักทรัพย์ของไทยหรือไม่ หรือหากมีการซื้อหุ้น การซื้อหุ้นนั้นจะเข้าข่ายที่จะต้องทำ Tender Offer หรือไม่ หรือจะต้องมีการเปิดเผยข้อมูลต่อตลาดหลักทรัพย์เมื่อไหร่อย่างไร เป็นต้น เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ต้องคำนึงถึงทั้งสิ้น หาก Target ผู้ขาย หรือผู้ซื้อกิจการเป็นบริษัทจดทะเบียน
ด้วยสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอในปัจจุบัน ทำให้การซื้อ การควบรวม หรือการลงทุนในกิจการมีทั้งโอกาสและความท้าทายใหม่ ๆ เพิ่มขึ้น เพราะฉะนั้นจึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งที่แต่ละองค์กรจำเป็นต้องคำนึงถึงเหตุผลของการทำธุรกรรมว่าสามารถตอบโจทย์กลยุทธ์ทางธุรกิจในภาพรวมขององค์กรหรือไม่ ซึ่งการตรวจสอบสถานะของกิจการเฉพาะในด้านการเงิน หรือภาษีนั้นไม่เพียงพออีกต่อไป จึงเป็นสาเหตุที่ว่าทำไมการตรวจสอบสถานะของกิจการจำเป็นต้องคำนึงถึงวิธีการใหม่ ๆ และต้องทำให้มีลักษณะบูรณาการให้ครอบคลุมไปถึงการตรวจสอบสถานะของกิจการด้านกฎหมายด้วย
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด