รายงานของ KPMG เผย พลังงานหมุนเวียนเป็นปัจจัยสำคัญในการลดคาร์บอน | Techsauce

รายงานของ KPMG เผย พลังงานหมุนเวียนเป็นปัจจัยสำคัญในการลดคาร์บอน


ข้อตกลงการซื้อขายพลังงานไฟฟ้าสำหรับองค์กรในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (Corporate Power Purchase Agreements: CPPA) เป็นแนวทางสำคัญสำหรับองค์กรต่างๆ ในการดำเนินการตามแผนการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero)

เคพีเอ็มจี เปิดตัวรายงาน 'การลดคาร์บอนด้วยพลังงานหมุนเวียน: จากภูมิทัศน์ข้อตกลงการซื้อขายพลังงานไฟฟ้าสำหรับองค์กรในเอเชียแปซิฟิก' (Decarbonization through renewable energy: Understanding Asia Pacific’s Corporate Power Purchase Agreement landscape) ซึ่งได้ให้ข้อมูลในภาพรวมของตลาดพลังงานหมุนเวียนในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

รายงานดังกล่าว ให้มุมมองที่ชัดเจนแก่องค์กรต่างๆ เกี่ยวกับตลาด CPPA รวมทั้งสรุปทั้งโอกาสและอุปสรรคในตลาดพลังงานหมุนเวียนในปัจจุบัน โดยได้วิเคราะห์ในเชิงนโยบายและข้อบังคับของรัฐบาล ประเภทของข้อตกลงการซื้อขายพลังงานไฟฟ้าขั้นพื้นฐานและสัญญาซื้อขาย และนโยบายและเป้าหมายที่เกี่ยวข้องกับพลังงานหมุนเวียนของโรงไฟฟ้ารายใหญ่ๆ นอกจากนี้ ยังให้รายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับกรอบการวางแผนของตลาดพลังงานไฟฟ้า ข้อตกลงการซื้อขายพลังงานไฟฟ้าขององค์กร (CPPA) การรับรองพลังงานหมุนเวียน นโยบาย และตัวอย่างการซื้อและการขายพลังงานไฟฟ้าขององค์กร จาก 12 ประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

โดยรายงานเน้นย้ำถึงแนวโน้มสำคัญ 6 ประการที่ขับเคลื่อนการพัฒนาตลาดพลังงานหมุนเวียนในภูมิภาคนี้ในอนาคต

1.       ตลาด CPPA ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกยังคงมีการพัฒนาน้อย แต่มีศักยภาพในการเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ

2.       กรอบกฎเกณฑ์ที่จะปรับเปลี่ยนข้อบังคับเกี่ยวกับ CPPA มีการพัฒนาอย่างรวดเร็วในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

3.       การยุติมาตรการส่งเสริมการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน (Feed-in-tariff: FiT) คาดว่าจะเพิ่มความต้องการ CPPA

4.       ความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์และการวัดปริมาณไฟฟ้าสุทธิจากการขายและใช้ (net-metering) ได้ส่งเสริมการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา (Solar rooftop) และการทำข้อตกลงซื้อขายพลังงานไฟฟ้าแบบ on-site PPA[1] เพิ่มมากขึ้น

5.       ความสนใจใน CPPA เพิ่มขึ้นทั่วเอเชียแปซิฟิก เนื่องจากความต้องการบรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืน

6.       ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกกำลังก้าวไปสู่อนาคตพลังงานคาร์บอนต่ำ

เนื่องจากมีหลายประเทศมากขึ้นที่ต้องการตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและประกาศความมุ่งมั่นต่อการบรรลุการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ กลไกและมาตรการสนับสนุนจึงยังคงพัฒนาต่อไป นอกจากข้อกำหนดด้านกฎระเบียบในประเทศและต่างประเทศแล้ว ความต้องการให้องค์กรมีการดำเนินงานและระบบห่วงโซ่อุปทานที่ยั่งยืน ได้กลายเป็นแรงผลักดันให้องค์กรต่างๆ ซื้อพลังงานไฟฟ้าสีเขียว

สตีเวน เฉิน หัวหน้าฝ่ายอุตสาหกรรมโครงสร้างพื้นฐานพลังงานระดับโลก เคพีเอ็มจี ไต้หวัน กล่าวว่า “เป็นความท้าทายสำหรับธุรกิจในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกในการจัดหาพลังงานไฟฟ้าหมุนเวียน เนื่องจากความพร้อมใช้งานที่จำกัด ความซับซ้อนของกฎระเบียบ และต้นทุนที่สูง แต่สิ่งที่องค์กรควรตระหนักคือความท้าทายนี้ยังเป็นโอกาสสำคัญที่สุดสำหรับการลงทุนและการเติบโตของพลังงานสะอาด ตราบที่องค์กรเข้าใจความซับซ้อนของสภาพแวดล้อมที่ธุรกิจดำเนินการอยู่ และสามารถปรับใช้กลยุทธ์ให้เหมาะสม”

ตามข้อตกลงปารีส มีเป้าหมายที่จะบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนและการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2593 อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่รุนแรงขึ้นและวิกฤตด้านพลังงานทั่วโลกที่เกิดจากความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน ส่งผลให้ราคาพลังงานหมุนเวียนเพิ่มสูงขึ้น “สถานการณ์นี้อาจส่งผลให้เกิดผลลัพธ์ที่สำคัญสองประการ ประการแรก องค์กรธุรกิจต่างเต็มใจที่จะเข้าสู่ข้อตกลงการซื้อขายพลังงานไฟฟ้าระยะยาวมากขึ้น เนื่องจากมีการกระจายความเสี่ยงจากราคาพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้น ประการที่สอง สหภาพยุโรปและรัฐบาลอื่นๆ ได้ประสานความมั่นคงด้านพลังงานกับโซลูชั่นพลังงานสะอาด ซึ่งจะช่วยเร่งการปรับใช้พลังงานหมุนเวียนทั่วโลก” ไมเคิล เฮส์ หัวหน้าฝ่ายพลังงานหมุนเวียนระดับโลก เคพีเอ็มจีอินเตอร์เนชันแนล กล่าว

ทุกตลาดในภูมิภาคนี้มีความคืบหน้าในการเปิดเสรีตลาดพลังงานไฟฟ้าและกรอบการกำกับดูแลที่แตกต่างกัน ซึ่งทำให้การจัดซื้อพลังงานสีเขียวมีความท้าทาย และส่งผลกระทบต่อเส้นทางสู่คาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ “เอเชียแปซิฟิกเป็นหนึ่งในภูมิภาคที่เปราะบางที่สุดในโลกในแง่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รัฐบาลหลายประเทศผลักดันให้ใช้พลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้นเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงด้านพลังงาน ส่งผลให้มีสภาพแวดล้อมที่เป็นมิตรต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมหมุนเวียนมากขึ้น นอกจากเป้าหมายคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ในระดับประเทศแล้ว การจัดซื้อพลังงานไฟฟ้าทดแทนในระดับองค์กรมีความสำคัญอย่างยิ่งในการดำเนินการตามความมุ่งมั่นของ RE100[2] และเป้าหมายตามหลักวิทยาศาสตร์” นีเวน หวง หัวหน้าฝ่ายสิ่งแวดล้อม สังคม บรรษัทภิบาล (ESG) เคพีเอ็มจี เอเชียแปซิฟิก กล่าว

“ประเทศไทยได้ให้คำสัญญาที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงร้อยละ 20-25 ภายในปี 2573” กาเนสัน โคลันเดอเวลู หัวหน้าฝ่ายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความยั่งยืน เคพีเอ็มจี ประเทศไทย กล่าว “ด้วยปริมาณการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มสูงขึ้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องสนับสนุนพลังงานหมุนเวียนอย่างเต็มที่ การออกมาตรการต่างๆ เพื่อสนับสนุนองค์กรที่มีนโยบายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และออกกฎระเบียบที่ชัดเจนเกี่ยวกับ CPPA, Net metering และ off-site PPA

ทั้งนี้เนื่องด้วยความซับซ้อนในการออกกฎระเบียบต่างๆ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรจะต้องพิจารณาอย่างรอบด้าน พร้อมทั้งมีผู้เชี่ยวชาญที่มีความเข้าใจเข้าร่วมในกระบวนการดังกล่าว”

ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมและดาวน์โหลดรายงานฉบับเต็มได้ที่ ‘Decarbonization through renewable energy: Understanding Asia Pacific’s Corporate Power Purchase Agreement landscape’

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

เตรียมพบกับงานสัมมนา Social Value thailand Forum 2024 เปลี่ยนผ่านประเทศสู่เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน

งานสัมมนาเปลี่ยนผ่านประเทศสู่เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน ด้วยฐานความรู้ นวัตกรรม และความร่วมมือรัฐ เอกชน สังคม Accelerating Education and Partnership for the SDGs...

Responsive image

เปิดตัวโครงการนำร่อง "กำแพงพักใจ ที่พักใจให้เยาวชน" ภายใต้ความร่วมมือระหว่างมูลนิธิ Wall of Sharing, Ooca และ สปสช.

โครงการนี้มีเป้าหมายในการเพิ่มการเข้าถึงบริการสุขภาพจิตสำหรับเยาวชน 2,500 คนในกรุงเทพฯ ด้วยบริการให้คำปรึกษาออนไลน์ฟรี และยังลดภาระในการเข้าถึงบริการสุขภาพจิต โดยที่เยาวชนจะได้รับก...

Responsive image

"Brother" ยกระดับมาตรฐานบริการรอบด้าน มุ่งสร้างความพึงพอใจลูกค้าพร้อมตั้งเป้าโต 6%

Brother พร้อมต่อยอดความสำเร็จจากปี 2566 มุ่งตอบโจทย์โดยยึดความต้องการของลูกค้าเป็นหลัก ยกระดับงานให้บริการสู่มาตรฐานขั้นสูง เพื่อสร้างความพึงพอใจสูงสุด พร้อมเสริมแกร่งฐานลูกค้ากลุ่...