Krungthai COMPASS จับสัญญาณความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน หากยืดเยื้อ จะยิ่งทำเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวช้า | Techsauce

Krungthai COMPASS จับสัญญาณความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน หากยืดเยื้อ จะยิ่งทำเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวช้า

Key Highlights

  • ตลาดกังวลต่ออุปทานน้ำมันดิบเป็นอย่างมาก จากความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครนที่ปะทุขึ้น ขณะที่ชาติตะวันตกก็ยกระดับมาตรการคว่ำบาตรตอบโต้การกระทำของรัสเซีย ส่งผลให้ราคาพลังงาน สินค้าโภคภัณฑ์ และสินค้าเกษตรมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นมาก
  • Krungthai COMPASS ประเมินว่า ความรุนแรงของผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยขึ้นอยู่กับระยะเวลาของความขัดแย้งจนกว่าจะได้ข้อยุติ โดยจะส่งผ่านมายัง 3 ช่องทางหลัก ได้แก่ 1) ผลกระทบต่อการเร่งขึ้นของเงินเฟ้อจะบั่นทอนการฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศ 2) ผลกระทบด้านการส่งออกจากเศรษฐกิจยุโรปที่อาจชะลอลง และ 3) ผลกระทบต่อการท่องเที่ยว โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากรัสเซียและยุโรปตะวันออกที่อาจเดินทางยากลำบากมากขึ้น รวมทั้งการอ่อนค่าของเงินรูเบิล ที่จะส่งผลต่อการตัดสินใจเดินทางมาท่องเที่ยว

Krungthai COMPASS ประเมินว่า ความรุนแรงของผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยจากความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ขึ้นอยู่กับระยะเวลาของความขัดแย้งจนกว่าจะได้ข้อยุติ ทั้งยังส่งผลให้ราคาพลังงาน สินค้าโภคภัณฑ์ และสินค้าเกษตรมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นมาก

ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนรุนแรงและยืดเยื้อกว่าที่คาด ภายหลังจากผู้นำยูเครนแสดงเจตนารมณ์จะเข้าร่วมเป็นสมาชิกองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (NATO) ซึ่งสร้างความไม่พอใจแก่ผู้นำรัสเซียอย่างยิ่ง และแม้ว่าทั้งสองฝ่ายพยายามหันหน้าเจรจาสงบศึกกันมาแล้วถึง 3 ครั้ง และล่าสุดวันที่ 10 มี.ค. แต่การเจรจาทางการทูตกลับยังไม่มีความคืบหน้า เนื่องจากยูเครนยังไม่ยอมรับข้อเรียกร้องทั้งหมดของรัสเซีย นั่นคือ ยูเครนจะต้องปลดอาวุธและยอมรับสถานะเป็นกลางไม่ฝักไฝ่ฝ่ายใด รวมถึงยูเครนจะต้องรับรองว่าไครเมียเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซีย และจะต้องให้การรับรองภูมิภาค Donbas เป็นรัฐอิสระ ส่งผลให้รัสเซียยังคงเดินหน้าโจมตียูเครนเพื่อกดดันให้ทำตามข้อเรียกร้อง ขณะที่ชาติตะวันตกก็ยกระดับมาตรการคว่ำบาตรต่อรัสเซียรุนแรงกว่าวิกฤตความขัดแย้งบนคาบสมุทรไครเมีย ไม่ว่าจะเป็นการปิดน่านฟ้ายุโรปห้ามเครื่องบินของสายการบินในรัสเซียบินผ่านการระงับการดำเนินการด้านทรัพย์สินของ ปธน.รัสเซีย และเจ้าหน้าที่ระดับสูง โดยเฉพาะมาตรการปิดกั้นธนาคารบางแห่งของรัสเซียไม่ให้เข้าถึงระบบ SWIFT และการคว่ำบาตรสถาบันการเงินยักษ์ใหญ่

Krungthai COMPASS ประเมินว่า ความรุนแรงของผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยจากความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ขึ้นอยู่กับระยะเวลาของความขัดแย้งจนกว่าจะได้ข้อยุติ ทั้งยังส่งผลให้ราคาพลังงาน สินค้าโภคภัณฑ์ และสินค้าเกษตรมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นมาก

ทั่วโลกกำลังเผชิญภาวะอุปทานตึงตัวอย่างรุนแรง

ราคาพลังงานพุ่งสูงขึ้นทั่วโลก หลังชาติพันธมิตร NATO พยายามพุ่งเป้าไปที่แหล่งรายได้หลักของรัสเซียอย่างการลดการนำเข้าพลังงาน เนื่องจากมาตรการคว่ำบาตรที่ประกาศใช้ไปแล้วในปัจจุบันอาจยังไม่เพียงพอที่จะทำให้รัสเซียหยุดรุกรานยูเครนได้โดยสิ้นเชิง ซึ่งล่าสุดสหรัฐฯ ได้สั่งห้ามการนำเข้าน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ และพลังงานทั้งหมดของรัสเซีย ขณะที่อังกฤษประกาศจะยกเลิกการนำเข้าน้ำมันจากรัสเซียภายในสิ้นปีนี้ 

เช่นเดียวกับยุโรปที่มีแผนจะลดการนำเข้าพลังงานจากรัสเซียราว 2 ใน 3 ภายในปีนี้ ซึ่งนอกจากจะส่งผลโดยตรงต่อราคาพลังงานในยุโรปแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อราคาพลังงานในตลาดโลกอีกด้วย เนื่องจากรัสเซียถือเป็นผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่อันดับ 3 ของโลก (รองจากสหรัฐฯ และซาอุดิอาระเบีย) ด้วยกำลังการผลิตที่มากถึง 10.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน ส่งผลให้ตลาดกังวลต่อภาวะอุปทานตึงตัวที่รุนแรงขึ้น และกดดันราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกให้ดีดตัวขึ้นสูงเกิน 130 ดอลลาร์ฯ ต่อบาร์เรลเป็นครั้งแรกในรอบ 13 ปี และยังมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกับราคาสัญญาก๊าซธรรมชาติล่วงหน้าของยุโรป (Dutch TTF) ที่เพิ่มขึ้นจาก 82 ยูโรต่อเมกะวัตต์ จนไปแตะระดับ 227 ยูโรต่อเมกะวัตต์ ทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์

นอกจากนี้ ราคาสินค้าเกษตรและอาหารก็มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งการถูกรุกรานในยูเครนที่ยาวนานทำให้เริ่มเกิดการขาดแคลนอาหารในประเทศรุนแรงขึ้น ส่งผลให้รัฐบาลยูเครนระงับการส่งออกชั่วคราวในกลุ่มเนื้อสัตว์ ข้าวไรย์ ข้าวโอ๊ต บัควีท น้ำตาล ข้าวฟ่าง และเกลือ ขณะที่การส่งออกข้าวสาลี ข้าวโพด สัตว์ปีก ไข่ และน้ำมัน จะต้องได้รับอนุญาตจากกระทรวงเศรษฐกิจเท่านั้น เช่นเดียวกับรัสเซียที่ประกาศห้ามส่งออกสินค้าและธัญพืชรวมกว่า 200 ชนิดไปจนถึงสิ้นปี 2022 ซึ่งหากความขัดแย้งยังคงยืดเยื้อต่อไป นอกจากจะทำให้ราคาสินค้าเกษตรที่สำคัญปรับตัวสูงขึ้นไปอีก ยังกดดันต้นทุนสินค้าในห่วงโซ่การผลิตที่เกี่ยวข้องในภาคเกษตร เช่น น้ำมันสำหรับประกอบอาหาร น้ำเชื่อมข้าวโพด อาหารสัตว์ และปุ๋ยเคมี ให้ปรับตัวสูงขึ้นตามอีกด้วย

แน่นอนว่ารัสเซียเผชิญทั้งวิกฤตเศรษฐกิจและการเงิน

คาดเศรษฐกิจรัสเซียปีนี้อาจหดตัวถึง 7% ที่ผ่านมา รัสเซียพยายามลดการพึ่งพาเงินทุนจากต่างชาติในหลายมิติ ทั้งเม็ดเงินลงทุนโดยตรง (FDI) ที่ลดลงกว่า 30% การระดมทุนผ่าน Eurobond และขนาดเงินทุนสำรองในรูปของดอลลาร์ฯ ที่ลดลงกว่าครึ่งหนึ่งเมื่อเทียบกับปี 2014 แต่การตอบโต้ด้วยมาตรการคว่ำบาตรที่รุนแรงอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนก็กระทบต่อเศรษฐกิจรัสเซียอยู่ไม่น้อย โดย Goldman Sachs ประเมินว่า เศรษฐกิจรัสเซียปีนี้คาดว่าจะพลิกกลับมาหดตัว 7% (จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัว 2%) ขณะที่เงินเฟ้ออาจพุ่งขึ้นไปถึง 17% (จากที่คาดว่าจะอยู่ที่ 5%) นอกจากนี้ หากการคว่ำบาตรครอบคลุมไปถึงการส่งออกน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ซึ่งคิดเป็น 50% ของการส่งออก หรือ 1 ใน 3 ของรายได้ของรัฐบาลรัสเซีย ก็ย่อมจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและเสถียรภาพการเมืองของรัสเซียรุนแรงยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ เงินรูเบิลยังอ่อนค่าอย่างรุนแรง ส่วนหนึ่งจากการตัดธนาคารบางแห่งของรัสเซียไม่ให้เข้าถึงระบบ SWIFT กระทบสินทรัพย์ในตลาดการเงินของรัสเซียสูงถึง 1 ล้านล้านดอลลาร์ฯ ทั้งนี้ แม้รัสเซียได้เพิ่มเงินทุนสำรองอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 2014 แต่การเข้าถึงเงินทุนสำรองของรัสเซียทำได้เพียง 1 ใน 3 ส่วน ซึ่งอยู่ที่รัสเซียและจีน ส่งผลให้ค่าเงินรูเบิลเทียบดอลลาร์ฯ (USDRUB) อ่อนค่าลงอย่างรุนแรงถึง 60%YTD หรืออ่อนค่าสุดเป็นประวัติการณ์ (ณ วันที่ 11 มี.ค. ค่าเงิน USDRUB อยู่ที่ 120.38 รูเบิลต่อดอลลาร์ฯ) ทำให้ธนาคารกลางของรัสเซียจำเป็นต้องขึ้นดอกเบี้ยนโยบายทันทีจาก 9.5% เป็น 20% พร้อมทั้งควบคุมไม่ให้นักลงทุนขายสินทรัพย์บางส่วน เพื่อลดแรงกดดันต่อเงินรูเบิลไม่ให้อ่อนค่ารุนแรงไปมากกว่านี้ 

นอกจากรัสเซียที่เผชิญวิกฤตเศรษฐกิจรุนแรงแล้ว ยุโรปอาจประสบภาวะขาดแคลนพลังงานครั้งใหญ่เช่นกัน โดยรัสเซียถือเป็นผู้ผลิตและส่งออกน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติรายใหญ่ของโลก และมีตลาดยุโรปเป็นตลาดส่งออกหลัก ซึ่งยุโรปนำเข้าน้ำมันดิบจากรัสเซียเป็นอันดับ 1 หรือราว 27% อีกทั้งยังนำเข้าก๊าซธรรมชาติสูงถึง 41.1% และเชื้อเพลิงแข็ง (เช่น ถ่านหิน) 46.7% (เมื่อเทียบกับสหรัฐฯ ที่นำเข้าทั้งน้ำมันดิบและน้ำมันที่ผ่านการกลั่นจากรัสเซียเพียง 8% ส่วนอังกฤษนำเข้าน้ำมันจากรัสเซียเพียง 6% เท่านั้น) ทั้งนี้ หากรัสเซียหันมาพิจารณาปิดท่อส่งก๊าซธรรมชาติสายหลักอย่าง Nord Stream 1 ที่เชื่อมต่อไปยังเยอรมนีและหลายชาติในยุโรปตอบโต้ที่ชาติตะวันตกยังคงคว่ำบาตรห้ามนำเข้าน้ำมันดิบจากรัสเซียต่อไป 
ก็จะยิ่งทำให้ยุโรปมีความเสี่ยงที่จะเผชิญการขาดแคลนพลังงานรุนแรงขึ้น โดยธนาคารกลางยุโรป (ECB) ประเมินว่า หากก๊าซธรรมชาติเกิดอุปทานชะงักงัน (Supply Shock) 10% เมื่อเทียบกับระดับปกติ จะส่งผลทั้งทางตรงและทางอ้อม และกระทบมูลค่ารวมเพิ่ม (Gross value added) ของยุโรปลดลง 0.7%

3 ช่องทางผลกระทบหลักต่อเศรษฐกิจไทย

Krungthai COMPASS ประเมินว่า ความรุนแรงของผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยขึ้นอยู่กับระยะเวลาของความขัดแย้งจนกว่าจะได้ข้อยุติ โดยแบ่งออกเป็น 3 กรณี

  • กรณีดีที่สุด: ทั้งสองฝ่ายจะเจรจาตกลงกันได้ไม่เกิน 1 เดือน (สิ้นเดือน มี.ค.) จากนั้นสถานการณ์จะกลับสู่ระดับปกติ ซึ่งจะส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกแตะระดับสูงสุดในเดือน มี.ค. ก่อนจะทยอยปรับลดลง
  • กรณีฐาน: ระยะเวลาของความขัดแย้งก่อนที่จะนำไปสู่การเจรจาตกลงกันได้ภายใน 3 เดือน (สิ้นเดือน พ.ค.) จากนั้นสถานการณ์จะกลับสู่ระดับปกติ ซึ่งจะส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกแตะระดับสูงในเดือน มี.ค.-พ.ค. ก่อนจะทยอยปรับลดลง
  • กรณีเลวร้าย: ระยะเวลาของความขัดแย้งก่อนที่จะนำไปสู่การเจรจาตกลงกันได้ไม่เกิน 6 เดือน (สิ้นเดือน ส.ค.) จากนั้นสถานการณ์จะกลับสู่ระดับปกติ ซึ่งจะส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกแตะระดับสูงในเดือน มี.ค.-ส.ค. ก่อนจะทยอยปรับลดลง

ผลต่อเงินเฟ้อ

  • เงินเฟ้อครึ่งปีแรกอาจสูงเกิน 4.0% โดยเฉพาะไตรมาสที่ 1 (ในกรณี Best และ Base) จากอิทธิพลของฐานต่ำในปีก่อนและราคาน้ำมันที่ทรงตัวในระดับสูง ก่อนที่จะทยอยปรับตัวลดลงในช่วงที่เหลือของปีตามทิศทางราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ทำให้เงินเฟ้อมีแนวโน้มเร่งขึ้นที่ 3.4% (กรณีฐาน) และอาจเร่งสูงถึง 4.2% หากสถานการณ์ลากยาวออกไป (กรณีเลวร้าย) ทั้งนี้ ยังต้องติดตามความคืบหน้าของมาตรการลดค่าครองชีพที่อาจช่วยชะลอการเพิ่มขึ้นของเงินเฟ้อได้ในระดับหนึ่ง

ผลต่อภาคส่งออก

  • ส่งออกไทยไปยุโรปอาจขยายตัวน้อยกว่าที่ประเมินไว้ ถึงแม้ว่าสัดส่วนการส่งออกของไทยไปสู่รัสเซียและยูเครนรวมกันเพียง 0.5% ของมูลค่าส่งออกทั้งหมดหรือราว 1 พันล้านดอลลาร์ฯ แต่ผลกระทบที่น่ากังวลจะเกิดจากเศรษฐกิจยุโรปที่อาจชะลอตัวกว่าเดิมหากมาตรการคว่ำบาตรด้านพลังงานรุนแรงขึ้น เนื่องจากไทยมีสัดส่วนการส่งออกไปยังทวีปยุโรปสูงถึงราว 10% และโดยมากเป็นสินค้าที่อิงกับการเติบโตทางเศรษฐกิจ (Cyclical) อาทิ อัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องคอมพิวเตอร์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และรถยนต์และส่วนประกอบ
  • นอกจากนี้ การขนส่งสินค้าที่ยากลำบากขึ้นอาจกระทบการนำเข้าปุ๋ยเคมีจากรัสเซีย เนื่องจากการขนส่งสินค้าจากฝั่งรัสเซียมายังเอเชียจะต้องขนถ่ายมายังท่าเรือหลักในยุโรป (เช่น Hamburg และ Rotterdam) ซึ่งจะขนถ่ายสินค้าจากเรือขนาดใหญ่ลงสู่เรือลำเล็กกว่าตามแต่ละประเภทสินค้าก่อน แล้วค่อยไปยังจุดหมายปลายทางต่อไป ซึ่งภายหลังจากที่มีการประกาศคว่ำบาตรรัสเซีย ทำให้บริษัทขนส่งรายใหญ่ของโลกหลายรายตัดสินใจยุติคำสั่งเพื่อขนส่งสินค้าทั้งขาเข้าและขาออกจากรัสเซีย โดยเฉพาะท่าเรือขนาดใหญ่อย่าง Great Port of Saint Petersburg ในทะเลบอลติก และท่าเรือ Novorossiysk ในทะเลดำ ทำให้รัสเซียใช้เส้นทางขนส่งสินค้าผ่านระบบรางทรานส์-ไซบีเรียและการขนส่งทางบกจากจีน ซึ่งย่อมส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการผลิตในภาคการเกษตร โดยเฉพาะต้นทุนการนำเข้าปุ๋ยเคมี ซึ่งไทยนำเข้าจากรัสเซียสูงถึง 10% เมื่อเทียบกับการนำเข้าจากทั่วโลก

ผลต่อภาคการท่องเที่ยว

  • ผลจากวิกฤตเศรษฐกิจรัสเซียและการอ่อนค่าของเงินรูเบิลอย่างรุนแรง ทำให้ค่าใช้จ่ายในการเดินทางท่องเที่ยวเพิ่มสูงขึ้น และส่งผลต่อการตัดสินใจเดินทางมาท่องเที่ยวของชาวรัสเซีย และหากสถานการณ์ความขัดแย้งยืดเยื้อก็อาจกระทบลามไปถึงยุโรปตะวันออกให้ชะลอการเดินทางท่องเที่ยวออกไป ทั้งนี้ นักท่องเที่ยวรัสเซียมีบทบาทสำคัญต่อการท่องเที่ยวไทยอย่างมากจากการขาดหายไปของนักท่องเที่ยวจีนในช่วงที่เกิด COVID-19 ทำให้สัดส่วนชาวรัสเซียเพิ่มขึ้นเป็น 7.2% เมื่อเทียบกับนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมด หรือราว 3 หมื่นคนในปี 2021 เมื่อเทียบกับช่วงก่อนเกิด COVID-19 ที่ไม่ถึง 4% ในปี 2019

 

Implication:

  • Krungthai COMPASS ประเมินว่า หากความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครนยืดเยื้อหนุนให้ราคาน้ำมันเพิ่มสูงเกิน 100 ดอลลาร์ฯ ต่อบาร์เรลต่อเนื่องตลอดทั้งเดือน มี.ค. เพียง 1 เดือน ก่อนที่สถานการณ์จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ คาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวใกล้เคียงกับมุมมองเดิมที่ 3.8% และหากสถานการณ์ยืดเยื้อ หนุนราคาน้ำมันเพิ่มสูงต่อเนื่องไปจนถึงเดือน มิ.ย.-ก.ค. อาจทำให้เศรษฐกิจปรับลงมาอยู่ที่ระดับ 3% แต่หากลากยาวถึง 6 เดือนหลังจากนี้ โอกาสที่เศรษฐกิจจะขยายตัวต่ำกว่า 3% ค่อนข้างสูง
  • อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มทรงตัวในระดับสูงยาวนานตามการส่งผ่านราคาเชื้อเพลิงในประเทศที่อยู่ในระดับสูงต่อไปเพื่อชดเชยฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ในช่วงที่ผ่านมา ราคาพลังงานเคลื่อนไหวปรับตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็วตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และด้วยแรงกดดันจากความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ก็ยิ่งทำให้ราคาพลังงานดีดตัวสูงขึ้นและผันผวนอย่างมาก ซึ่งสวนทางกับเครื่องมือในการประคองระดับราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมที่มีข้อจำกัดมากขึ้นจากฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงในปัจจุบันที่ติดลบถึง 2.4 หมื่นล้านบาท (ณ วันที่ 6 มี.ค.) ทำให้ภาครัฐต้องเร่งดำเนินการจัดหาเงินกู้อีกอย่างน้อย 2 หมื่นล้านบาท เพื่อทดแทนและเสริมสภาพคล่องให้แก่กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (ควบคู่กับการลดภาษีสรรพสามิต) ดังนั้น หากราคาพลังงานในตลาดโลกเริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศก็จะยังคงทรงตัวในระดับสูงต่อไป เพื่อนำส่วนต่างที่ได้มาชำระหนี้เงินกู้และชดเชยเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่หายไปในช่วงที่ผ่านมา

  • ธุรกิจหลายสาขาทั้งภาคการเกษตร อุตสาหกรรม ขนส่ง ล้วนแต่ได้รับผลกระทบจากการเพิ่มขึ้นของราคาพลังงานในสัดส่วนที่สูง ตามการวิเคราะห์ต้นทุนผ่านตารางปัจจัยการผลิตและผลผลิต (Input-Output) ปี 2015 ทั้งนี้ ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนที่กินระยะเวลานานยาวขึ้นตามแต่ละกรณี ยิ่งจะทำให้ภาคธุรกิจแบกรับต้นทุนนานขึ้นตามไปด้วย ส่งผลให้ความสามารถในการทำกำไรของผู้ประกอบการลดลง ซึ่งจะทำให้ภาคธุรกิจมีแนวโน้มผลักภาระมายังผู้บริโภคมากขึ้นตามไปด้วย


ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

โบลท์เปิดตัว "Bolt Business" โซลูชันเพื่อการเดินทางของธุรกิจในไทย

โบลท์ (Bolt) เปิดตัวบริการ Bolt Business ในประเทศไทย มุ่งตอบโจทย์ธุรกิจที่ต้องการจัดการการเดินทางได้อย่างสะดวกและมีประสิทธิภาพผ่านแอปพลิเคชันโบลท์ บริการนี้ช่วยองค์กรควบคุมต้นทุน เ...

Responsive image

ไอคอนสยาม คว้ารางวัล Asia’s Most Innovative Shopping Experience จาก Cathay Members’ Choice Awards 2024 ตอกย้ำโกลบอลเดสติเนชั่นอันดับ 1 ในใจนักท่องเที่ยวทั่วโลก

ไอคอนสยาม แลนด์มาร์คแห่งใหม่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา คว้ารางวัล Asia’s Most Innovative Shopping Experience จาก Cathay Members’ Choice Awards 2024...

Responsive image

เปิดตัว Subscription สำหรับ “เหมียวจด” พร้อมอัพเดตฟีเจอร์ใหม่ รองรับ 16 แอปธนาคาร

KBTG ตอกย้ำผู้นำนวัตกรรมเทคโนโลยีการเงิน เปิดตัวระบบสมาชิก (Subscription) สำหรับ “เหมียวจด” (MeowJot) แอปพลิเคชันจดรายจ่ายอัตโนมัติจากสลิปโอนเงิน พร้อมรองรับสลิปจาก 16 แอปการเงินขอ...