คณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ ได้เปิดหลักสูตรอินเตอร์ LLBel (Bachelor of Laws, experiential learning in Business and Tech Law (LLBel) (International Program)) เป็นรุ่นแรก และได้จัดค่ายเตรียมความพร้อม Law and Tech Bootcamp สำหรับนิสิตใหม่จำนวน 58 คน ก่อนเปิดภาคเรียน เพื่อให้นิสิตเรียนรู้และเห็นภาพการเชื่อมโยงระหว่างกฎหมาย ธุรกิจ และเทคโนโลยี รวมทั้งบทบาทของนักกฎหมายในภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมเทคโนโลยีในโลกปัจจุบัน
LLBel Law and Tech Bootcamp จัดขึ้นเมื่อวันที่ 19-23 กรกฎาคม 2566 ที่ผ่านมา โดยแบ่งจัดกิจกรรมที่คณะนิติศาสตร์ จุฬา และที่โรงแรม Renaissance Pattaya Resort and Spa จังหวัดชลบุรี โดยเน้นเนื้อหาการเรียนรู้แนวใหม่ในวงการกฎหมายและเทคโนโลยี ผ่านทีมวิทยากรจากบริษัทเทคโนโลยี สตาร์ทอัพ และลอว์เฟิร์มชั้นนำของไทยและต่างประเทศ เนื้อหาแบ่งเป็น 6 พาร์ท ตลอดระยะเวลา 5 วัน ได้แก่
วันแรกของ Bootcamp นิสิตได้เริ่มต้นด้วยกิจกรรม Introduction to programming สร้างความเข้าใจพื้นฐานเกี่ยวกับการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ผ่านภาษา Python สอนโดย คุณเพิธ-ภู เจริญวัฒนากุล Senior Software Engineer จากบริษัท Hopper ประเทศสหรัฐอเมริกา นิสิตได้หัดอ่านโค้ดและฝึกลองเขียนโค้ดเองตามโจทย์ เช่น คำนวณตัวเลขต่างๆ เรียงลำดับข้อมูล เก็บข้อมูลชื่อ-โรงเรียนของเพื่อน ค้นหาข้อมูลจากกลุ่มข้อมูลจำนวนมาก รวมถึง set up คอมพิวเตอร์ของตัวเองให้เขียนโค้ดเองได้ภายหลังจากจบค่ายอีกด้วย
ภาพบรรยากาศการฝึก coding ณ คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
วันถัดมาเป็นพาร์ทที่นิสิตได้ใช้เวลาเข้าใจตัวเองผ่าน Workshop “Designing Your Life and Career in Law, Business, and Technology” โดยคุณเมษ์-เมษ์ ศรีพัฒนาสกุล Founder & CEO แห่ง LUKKID ชวนให้นิสิตรู้จักจุดแข็งและจุดอ่อนของตนเองมากขึ้น ให้คิด ออกแบบชีวิต วางแผนอาชีพในอนาคต และยังเป็นประโยชน์เพื่อเตรียมพร้อมการใช้เวลา 4 ปี ในรั้วมหาวิทยาลัยให้คุ้มค่า ต่อมาในช่วงบ่ายเป็น Mental Health Workshop ดำเนินการโดยกลุ่ม Understand: ห้องนั่งเล่นของหัวใจ เพื่อให้นิสิตรู้เท่าทันการจัดการอารมณ์และความเครียด ท่ามกลางการเปลี่ยนผ่านจากการเป็นนักเรียนมัธยมฯ ในยุคเรียนออนไลน์มาสู่การเป็นนักเรียนกฎหมายในรั้วมหาวิทยาลัย
ในวันที่ 3 นิสิตกฎหมายได้เรียนรู้ภาพรวมของ Tech Industry ทั้ง Double Diamond framework, Porter’s 5 forces, SWOT ทำความรู้จักผู้เล่นต่างๆ ในอุตสาหกรรม เข้าใจการตัดสินใจ และการวัดผลในทางธุรกิจผ่านเลนส์ของ Product Manager สอนโดยคุณวิน-เมธวิน วัฒนสินธุ์ Product Manager จากบริษัท Vanta ประเทศสหรัฐอเมริกา และยังได้เรียนรู้การ Pitching ฝึกทักษะสื่อสารความคิดและไอเดียของตนอย่างมีประสิทธิภาพ สอนโดยคุณกัน-ณัฐภพ หลักดี Vice President of Product and Growth จากบริษัท Edsy สตาร์ทอัพสอนภาษาอังกฤษของไทย โดยในส่วนของ Tech for Law นิสิตได้ฝึกการปรับใช้กรอบคิดในวงการเทคโนโลยีที่ได้เรียนมาเพื่อใช้แก้ไขปัญหาในวงการกฎหมาย จากนั้นในช่วงค่ำ นิสิตได้รับฟังเรื่องราวปัญหากฎหมายในวงการเทคสตาร์ทอัพจากคุณธัช-กิตติธัช อภิศักดิ์ศิริกุล Executive Committee, Executive Advisor, Board of Directors, Co-Founding Team แห่งบริษัท Globish Academia สตาร์ทอัพสอนภาษาอังกฤษสัญชาติไทยที่ขยายธุรกิจสู่เวียดนามแล้วในปัจจุบัน
วิทยากร(ซ้ายไปขวา): เจิน-ศุภกานต์ เพิธ-ภู วิน-เมธวิน กัน-ณัฐภพ ธัช-กิตติธัช
หลังจากได้เรียนรู้จากวิทยากรในภาคธุรกิจและเทคโนโลยีโดยตรง ในวันที่ 4 ได้เข้าสู่มุมมองของนักกฎหมายเพื่อให้เห็นภาพการเชื่อมโยงระหว่างกฎหมาย ธุรกิจ และเทคโนโลยี Law for Tech นำโดยคุณเจิน-ศุภกานต์ นิมมานเทอดวงศ์ Associate จากลอว์เฟิร์ม Chandler MHM ได้นำเสนอประเด็นกฎหมายที่มีบทบาทต่อธุรกิจและเทคโนโลยี อาทิ GDPR, PDPA, IP Law และมีการแชร์ประสบการณ์การทำงานร่วมกับฝ่ายกฎหมายของคุณวินและคุณกันจากฝั่งบริษัทเทคฯ เพิ่มเติมอีกด้วย
ในการประมวลผลความรู้ความเข้าใจในเนื้อหาของนิสิตผ่าน Group Project ได้มีการแบ่งนิสิตเป็น 3 กลุ่ม เพื่อใช้ทักษะใหม่ที่เรียนมาในการแก้ปัญหาที่เกี่ยวกับกฎหมาย กลุ่มแรกเป็นบริษัทเทคโนโลยีที่เขียนโปรแกรมจัดแบ่งมรดกตามกฎหมายแพ่งของไทย กลุ่มที่สองเป็นบริษัทรับลบข้อมูลส่วนบุคคลตามที่ร้องขอ และกลุ่มที่สามเป็นบริษัทรับคำนวณภาษีโดยอ้างอิงจากประมวลรัษฎากร โดยนิสิตจะต้องคิดแผนธุรกิจ ปัญหาที่อยากแก้ไขให้ลูกค้า และเขียนโปรแกรม coding ในภาษา Python เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ถูกต้องตามกฎหมายไทย ซึ่งนิสิตรุ่นแรกได้ทำผลงานออกมาได้อย่างน่าประทับใจ
ภาพบรรยากาศการนำเสนอผลงาน Group Project
LLBel Law and Tech Bootcamp เป็นค่ายเตรียมความพร้อมให้นิสิตใหม่ในหลักสูตร LLBel ได้เห็นภาพรวมของกฎหมาย ธุรกิจ และเทคโนโลยีอย่างครบวงจร ก่อนที่จะก้าวเข้าสู่การเรียนรู้ในรั้วมหาวิทยาลัยเพื่อเป็นนักกฎหมายธุรกิจและเทคโนโลยี (Business and Tech Lawyer) และนวัตกรกฎหมาย (Legal Tech Innovator) ตอบโจทย์การผลิตนักกฎหมายสายพันธุ์ใหม่ที่จะช่วยผลักดันวงการธุรกิจและเทคโนโลยีของไทยให้ก้าวไปอีกขั้น
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด