LINE ประเทศไทย เสริมแกร่ง LINE API Ecosystem จัดงาน LINE THAILAND DEVELOPER CONFERENCE 2020 ประจำปีในรูปแบบออนไลน์ ภายใต้แนวคิด “LINE APIs in Action” ที่เน้นให้นักพัฒนาหยิบ LINE API ไปต่อยอดใช้งานจริง ชูฟีเจอร์ใหม่ของ Massaging API เปลี่ยนรูปภาพและชื่อแอคเคาท์ สลับระหว่างแชทบอทและแอดมินเติมเต็มผู้ใช้งานได้ดียิ่งขึ้น ย้ำดาวรุ่งปีนี้คือ LIFF (LINE Front-end Framework) ผสานการทำงานระหว่างห้องแชทและเว็บไซต์ที่จะสามารถนำไปใช้งานนอกแอป LINE ได้แล้ว ขณะที่อุปกรณ์ LINE Beacon สำหรับ SME จะพร้อมวางจำหน่ายในเร็วๆนี้
วีระ เกษตรสิน หัวหน้าทีมนักพัฒนา LINE ประเทศไทย กล่าวในงาน LINE THAILAND DEVELOPER CONFERENCE 2020 ว่า “ทีมวิศวกรของ LINE ประเทศไทยรู้สึกตื่นเต้นและดีใจมากที่ทำให้งาน Conference ปีนี้เกิดขึ้นได้ โดยคอมมิวนิตี้ของ LINE Developers Thailand แหล่งอัพเดท แลกเปลี่ยนความรู้ด้านเทคโนโลยีโดยนักพัฒนา LINE ประเทศไทย มีการเติบโตที่ดีมาก ปัจจุบัน เรามีสมาชิกนักพัฒนาในคอมมิวนิตี้มากกว่า 17,000 คน จากปีที่แล้ว 8,000 คน เพิ่มขึ้น 1 เท่าตัวภายในเวลาเพียง 1 ปี ผมต้องขอขอบคุณทีมงานนักพัฒนา LINE ประเทศไทย พาร์ทเนอร์อย่างกลุ่ม LINE API Expert และสมาชิกนักพัฒนาทุกท่านที่ร่วมกันสร้างสรรค์และผลักดันการเติบโตนี้ขึ้นอย่างต่อเนื่อง”
ตั้งแต่ต้นปี LINE API มีฟีเจอร์ใหม่เปลี่ยนแปลงหลายจุดเพื่อให้นักพัฒนาสามารถนำไปต่อยอดในบริการของตัวเองได้ จำนวนนักพัฒนาที่เพิ่มขึ้นส่งผลให้จำนวนแชทบอทบน LINE เติบโตขึ้นเช่นกัน โดยปัจจุบัน LINE มีแชทบอทรวม 130,000 ตัว เพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ขณะที่ใน 1 วัน มีผู้ใช้งานแชทบอทบน LINE มากกว่า 43 ล้านข้อความ และมีการใช้งาน LIFF (LINE Front-end Framework) หรือหน้าเว็บสำเร็จรูปที่สามารถฝั่งไว้ในแชท LINE ได้เลย จำนวนเกิน 5,500 แอป ส่งให้ยอดผู้กดใช้งานหน้า LIFF ดังกล่าวเพิ่มขึ้นถึง 3 ล้านคนต่อวัน
สำหรับไฮไลท์แรกของ Messeging API ที่ LINE อัปเดทภายในงาน คือการเพิ่มความสามารถสลับแอคเคาท์แอดมินกับแชทบอทบนออฟฟิเชียลแอคเคาท์ได้อย่างเสรี ทำให้ลูกค้าองค์กรแถวหน้าของไทย อาทิ ธนาคารไทยพาณิชย์ สามารถนำตัวแทนหรือทีมงานเข้ามาร่วมให้ข้อมูลสลับกับแชทบอทบน SCB Connect เพื่อให้สามารถตอบคำถามของลูกค้าได้ดียิ่งขึ้น ด้วยการเปลี่ยนรูปภาพและชื่อแอคเคาท์สลับระหว่างแชทบอทและแอดมินได้อย่างลงตัว เพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย และให้บริการลูกค้าได้ตลอด 24 ชั่วโมง ช่วยลดปัญหาในกรณีที่แชทบอทอาจตอบคำถามผิดพลาดได้ และทีม KBTG จากธนาคารกสิกรไทย ที่พัฒนาแชทบอท “ขุนทอง” ซึ่งถือเป็นกรณีศึกษาสำคัญเรื่องการสร้างแชทบอทในกลุ่ม LINE เป็นการพัฒนา LINE API ที่ตรงใจผู้ใช้ได้อย่างโดดเด่นเพราะผู้ใช้ไม่ต้องติดตั้งแอปพลิเคชัน และสามารถใช้ LINE Login เพื่อยืนยันตัวตนว่าเป็นผู้ใช้ที่มาจาก LINE จริง ขณะที่ API ของ LINE ไม่เพิ่มต้นทุนในการพัฒนาแต่อย่างใด
อีกหนึ่งอัพเดทที่น่าสนใจคือ LINE Emoji ที่เปิดให้นักพัฒนาสามารถส่งอิโมจิน่ารักผ่านข้อความที่เป็น Text Message ได้ง่ายขึ้นโดยไม่ต้องแปลงเป็นโค้ด เพราะสามารถกำหนด Emoji ID แล้วแนบไปกับข้อความเพื่อส่งไปหาผู้ใช้ได้เลย รวมไปถึงฟีเจอร์ใหม่ที่เปิดให้นักพัฒนารู้ว่าผู้ใช้ใช้งานภาษาอะไร ทำให้สามารถส่งมอบประสบการณ์ที่ดีกว่า เช่นกำหนดและแสดง Rich Menu ให้ตรงกับภาษาที่ผู้ใช้ใช้งานอยู่ เป็นต้น
นอกจากนี้ LINE ยังเพิ่ม Narrowcast API ให้นักพัฒนาส่งข้อความถึงกลุ่มเป้าหมายได้ดีกว่าเดิม สามารถเลือกส่งเฉพาะกลุ่มคนที่เคยเห็นข้อความก่อนหน้านี้เท่านั้น รวมถึง Multicast API ที่ปลดล็อคจากก่อนหน้านี้ที่สามารถส่งหาผู้ใช้ได้สูงสุด 150 คน มาเป็นการส่งได้สูงสุด 500 คนต่อ 1 ครั้ง และสำหรับ Rich Menu ที่นิยมมากในผู้ใช้ LINE Official Account การอัปเดททำให้ Official Account สามารถเปลี่ยนแปลง Rich Menu ด้วย API พร้อมกันสูงสุดได้ถึง 500 คนต่อครั้ง จากเดิมที่ทำได้เพียง 150 คนต่อครั้ง ตอบโจทย์ Official Account ที่มีผู้ใช้จำนวนมาก
อีกส่วนที่ได้รับการกล่าวถึงอย่างมาก คือการเปิดตัวฟีเจอร์ใหม่ใน Flex Massage ครั้งแรกในโลกที่ให้นักพัฒนาสามารถออกแบบข้อความใน LINE ได้อย่างมีอิสระ ตามจินตนาการ โดยล่าสุด ปีนี้ ได้อัปเดตให้นักพัฒนาสามารถสร้างและส่งข้อความในรูปแบบแอนิเมชันได้ ปรับขนาดของตัวอักษรให้พอดีกับพื้นที่ในการแสดงผลอัตโนมัติ และการแสดงสีพื้นหลังของข้อความแบบไล่เฉดสีได้แล้ว อีกหนึ่งฟีเจอร์ไฮไลท์ที่เพิ่งเปิดตัวในปี 2019 คือ LIFF หรือ LINE Front-end Framework ที่ในปีนี้ เพิ่มประสิทธิภาพ ให้สามารถนำไปใช้นอกแอป LINE ได้ ทำให้การแชร์ข้อความจาก LIFF บน LINE ไปหากลุ่มเพื่อนผู้ใช้สามารถทำได้อย่างง่ายดายและสะดวกสบายขึ้น โดยที่ระบบสามารถทราบได้ว่าการแชร์ข้อความนั้นสำเร็จหรือไม่ อีกทั้ง ฟีเจอร์ดาวรุ่งอย่าง LIFF ยังมีการพัฒนาเพิ่มเติมในส่วนการเทสต์หรือการทดสอบระบบด้วยเช่นกัน
อีกหนึ่งข่าวดีสำหรับนักพัฒนาและผู้ประกอบการ SME จากงานครั้งนี้ คือการประกาศเปิดตัว LINE Beacon สำหรับ SME เพื่อให้ธุรกิจขนาดย่อมสามารถซื้อฮาร์ดแวร์สำหรับปล่อยสัญญาณบลูทูธ แล้วนำมาติดหน้าร้าน โดยเมื่อลูกค้าที่ใช้ LINE เปิดบลูทูธเดินผ่านมา ก็จะสามารถรับข้อความหรือโปรโมชันจากร้านผ่าน LINE ได้ทันที เบื้องต้น ตัวอุปกรณ์ดังกล่าวเตรียมวางจำหน่ายในเร็ววันนี้ ซึ่งจะช่วยให้การสื่อสารระหว่างร้านค้ากลุ่มธุรกิจ SME และลูกค้าเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น นำไปสู่ยอดขายที่ดีกว่าเดิม
นอกจากการแชร์ความรู้ ประสบการณ์จากหลากหลายวิทยากรในงานครั้งนี้แล้ว LINE ยังคงตอกย้ำภารกิจเสริมสร้างทักษะฝีมือนักพัฒนาไทย ด้วยการเปิดคอร์สเรียนออนไลน์ฟรีสำหรับนักพัฒนา ร่วมกับ Skooldio มาอย่างต่อเนื่อง และล่าสุด กับการเปิดตัว LINE Developers Codelabs (https://codelab.line.me ) พื้นที่ใหม่ให้นักพัฒนาสามารถเรียนรู้ ฝึกทักษะการใช้ฟีเจอร์แบบลงลึกทีละขั้นตอน ประเดิมด้วย 3 ฟีเจอร์มาแรงอย่าง LIFF app, LINE Chatbot และ Flex Message Simulator โดยจะมีคอร์สฟีเจอร์ใหม่ๆ น่าสนใจทยอยตามมาอย่างแน่นอน พร้อมไฮไลท์เปิดตัวโครงการ LINE HACK 2020 การแข่งขัน Hackathon ครั้งยิ่งใหญ่ เวทีแสดงฝีมือสุดเจ๋งของนักพัฒนาไทยให้สาธารณชนได้รู้จัก โดยจะประกาศรายละเอียดโครงการในเร็ววันนี้ (https://hackth.line.me/)
LINE ยังคงตอกย้ำพันธกิจ “CLOSING THE DISTANCE” เพื่อแสดงถึงความมุ่งมั่นที่จะทำให้ทุกคนได้ใกล้ชิดกันมากขึ้น รวมไปถึงการนำพาทุกคนไปใกล้กับบริการและผลิตภัณฑ์ต่างๆ เพื่อชีวิตที่ง่ายและสะดวกสบายยิ่งขึ้นต่อไป
สามารถรับชมงาน LINE THAILAND DEVELOPER CONFERENCE 2020 ย้อนหลังได้ที่ LINE TV >> https://tv.line.me/v/15774817/list/637008 #LINEDEVCONF2020 #LINEAPI #LINEThailand
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด