Microsoft จับมือ depa ตั้งเป้าเสริมทักษะการเขียนโปรแกรมให้แก่เยาวชน 50,000 คน | Techsauce

Microsoft จับมือ depa ตั้งเป้าเสริมทักษะการเขียนโปรแกรมให้แก่เยาวชน 50,000 คน

บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด ร่วมกับ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depaและวิทยาลัยเทคโนโลยีพระมหาไถ่ พัทยา เปิดตัวโครงการฝึกอบรมทักษะเชิงดิจิทัลแก่อาจารย์จำนวน 500 คน จาก 500 โรงเรียน ภายในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกหรือ Eastern Economic Corridor (EEC) โดยตั้งเป้าต่อยอดองค์ความรู้จากอาจารย์สู่นักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาจำนวน 50,000 คน โดยได้โรงเรียนเมืองพัทยา 7 (หนองพังแค) เป็นโรงเรียนต้นแบบของโครงการที่จะได้รับการฝึกอบรมแบบเข้มข้นไปจนถึงช่วงปลายปี 2562 เพื่อมุ่งพัฒนาบุคลากรที่มีคุณภาพและตอบสนองความต้องการแรงงานของตลาดในอนาคตโดยเฉพาะในกลุ่มงานด้านดิจิทัล 

ผลการศึกษาที่จัดทำขึ้นโดยคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ซึ่งได้ศึกษาความต้องการแรงงานในกลุ่มงานจากอุตสาหกรรมทั้งหมดที่อยู่ในพื้นที่ EEC พบว่า ในระหว่างปี 2562-2566 มีความต้องการจ้างงานใหม่จำนวน 475,668 อัตรา ซึ่งความต้องการกลุ่มงานด้านดิจิทัลมีสัดส่วนสูงที่สุดถึง 24 เปอร์เซ็นต์ หรือจำนวน 116,222 อัตรา ดังนั้น ไมโครซอฟท์จึงมุ่งมั่นที่จะพัฒนาบุคลากรที่มีประสิทธิภาพเพื่อรองรับความต้องการดังกล่าวและขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ในการพัฒนาทักษะดิจิทัลแก่เยาวชนเพื่อเตรียมความพร้อมสู่ความสำเร็จในการประกอบอาชีพในอนาคตของไมโครซอฟท์

โครงการฝึกอบรมทักษะเชิงดิจิทัลดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ ASEAN Digital Innovation โครงการระดับภูมิภาคของไมโครซอฟท์ที่จัดขึ้นใน 7 ประเทศในภูมิภาคอาเซียน ได้แก่ ประเทศไทย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม มาเลเซีย พม่า และกัมพูชา ที่ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมทักษะให้แก่เยาวชนผ่านบุคลากรทางการศึกษา (train the trainer) โดยใช้หลักสูตรการเรียนรู้ที่ออกแบบขึ้นเป็นพิเศษผ่านเว็บไซต์ Future Ready ASEAN ซึ่งถูกจัดทำขึ้นภายใต้ความร่วมมือกับมูลนิธิอาเซียน

นายธนวัฒน์ สุธรรมพันธุ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “ในปัจจุบัน เราปฏิเสธไม่ได้เลยว่าการปฏิรูปสู่ธุรกิจดิจิทัลนั้นเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งต่อการอยู่รอดของธุรกิจ ซึ่งหัวใจสำคัญของการปฏิรูปดังกล่าวคือการพัฒนาแรงงานให้มีทักษะเชิงดิจิทัลที่จำเป็นในอนาคต โดยในอีก 4 ปีข้างหน้าจะมีความต้องการแรงงานที่มีทักษะด้านดิจิทัลในตลาดถึง100,000 คนตามผลการศึกษาที่จัดทำขึ้นโดยสกพอ. ไมโครซอฟท์จึงมุ่งมั่นที่จะเดินหน้าเสริมทักษะนั้นแก่เยาวชนอย่างเท่าเทียมและทั่วถึง เพื่อให้แน่ใจว่าพวกเขาจะสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพตามความต้องการของตลาด และนำไปสู่การเติบโตของเศรษฐกิจไทยในอนาคต”

รัฐบาลให้ความสำคัญกับการพัฒนาโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกอย่างต่อเนื่อง ด้วยความมุ่งมั่นในการเติมเต็มภาพรวมของการส่งเสริมการลงทุน ซึ่งจะเป็นการยกระดับอุตสาหกรรมและเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศในอนาคต โดยมีการกำหนดเป้าหมายการเติม 5 อุตสาหกรรมอนาคต (New S-curve) ที่รวมถึงอุตสาหกรรมดิจิทัล ซึ่งสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลด้วยการพัฒนาอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล พร้อมสนับสนุนการนำเทคโนโลยีดิจิทัลไปใช้ เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และความมั่นคงของประเทศ

ดร.รัฐศาสตร์ กรสูต รองผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล กล่าวว่า “หนึ่งในภารกิจที่สำคัญของสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลคือการส่งเสริมและดำเนินการพัฒนากำลังคนและบุคลากรด้านอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัลให้สอดคล้องกับความต้องการของประเทศ ดังนั้น ความร่วมมือกับไมโครซอฟท์ในการอบรมทักษะเชิงดิจิทัลแก่เยาวชนในพื้นที่ EEC ในครั้งนี้จึงมีความสอดคล้องกับภารกิจของเราโดยตรง และสอดคล้องกับโครงการ Coding Thailand ที่มุ่งเน้นในการพัฒนาเว็บไซต์เพื่อการเรียนรู้วิทยาการคอมพิวเตอร์สำหรับนักเรียนและครูชาวไทยโดยไม่มีค่าใช้จ่าย และเราเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่าความร่วมมือดังกล่าวจะทำให้เราสามารถพัฒนาบุคลากรที่มีคุณภาพและสามารถตอบสนองความต้องการของตลาดได้สำเร็จ”

นอกจากความร่วมมือกับสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลแล้ว ไมโครซอฟท์ยังได้ร่วมมือกับวิทยาลัยเทคโนโลยีพระมหาไถ่ พัทยา ในโครงการอบรมทักษะเชิงดิจิทัลแก่เยาวชนในครั้งนี้ โดยวิทยาลัยเทคโนโลยีพระมหาไถ่ พัทยา ซึ่งมีประสบการณ์ในการสอนการเขียนโค้ดมาเป็นเวลากว่า 30 ปี มีบทบาทสนับสนุนวิทยากรในการสอนเพื่อฝึกอบรมทักษะเชิงดิจิทัลแก่อาจารย์ที่สอนในระดับชั้นประถมศึกษา 10 รุ่น และอาจารย์ที่สอนในระดับชั้นมัธยมศึกษา 10 รุ่น เป็นจำนวนทั้งหมดกว่า 500 คน จากโรงเรียนในพื้นที่ EECซึ่งประกอบด้วย 3 จังหวัด ได้แก่ ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา โดยหลักสูตรที่นำมาสอนจะเกี่ยวข้องกับการพัฒนาทักษะการเขียนโค้ดผ่าน Minecraft และ MakeCode ของทางไมโครซอฟท์ ไปจนถึงการเรียนรู้ภาษาไพทอน (Python) และการเขียนด้วยภาษาHTML5 และ CSS เพื่อสร้างเว็บไซต์ โดยวิทยากรในการสอนจากวิทยาลัยเทคโนโลยีพระมหาไถ่ พัทยา เป็นผู้พิการทั้งหมด

นางสาวโสภิตา จันทรส วิทยากรผู้สอนจากวิทยาลัยเทคโนโลยีพระมหาไถ่ พัทยา กล่าวว่า “ดิฉันเชื่อว่าทักษะดิจิทัลเป็นทักษะที่จะช่วยเพิ่มโอกาสในการประกอบอาชีพของเด็กๆ ได้ ส่วนหน้าที่หลักของครูคือทำอย่างไรให้พวกเขาหันมาสนใจเรียนรู้ทักษะเหล่านั้น ซึ่งดิฉันจะเน้นวิธีการเรียนการสอนที่ทำให้เด็กๆ รู้สึกสนุก เช่น การสอนเขียนโค้ดผ่านเกม รวมถึงทำให้พวกเขารู้สึกว่าทักษะเหล่านั้นเป็นเรื่องที่ใกล้ตัว อย่างการสอนเขียนโค้ดเพื่อเขียนตัวอักษรบนป้ายไฟ ซึ่งดิฉันเชื่อว่าเมื่อเด็กๆ ได้สั่งสมทักษะและเก็บเกี่ยวความรู้เหล่านี้เอาไว้ตั้งแต่เด็ก มันจะทำให้พวกเขาได้รับโอกาสที่ดีกว่าเมื่อพวกเขาโตขึ้น เพราะการเรียนรู้ทักษะดิจิทัลเหล่านี้ก็เปรียบเสมือนกับการรู้ภาษาที่สามของยุคอนาคต”

นอกจากนี้ โรงเรียนเมืองพัทยา 7 (บ้านหนองพังแค) ยังเป็นโรงเรียนต้นแบบของโครงการดังกล่าว โดยนักเรียนกลุ่มที่ได้รับการคัดเลือกจากทางโรงเรียนจะได้รับการฝึกอบรมทักษะเชิงดิจิทัลแบบเข้มข้นและใกล้ชิดจากวิทยากรผู้สอนของวิทยาลัยเทคโนโลยีพระมหาไถ่ พัทยา ผ่านกิจกรรมการเรียนรู้ “ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้” ตามนโยบายของภาครัฐ สัปดาห์ละ 2 ครั้ง ไปจนถึงสิ้นปี 2562

เด็กหญิงถมทอง กิจวิสาละ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 จากโรงเรียนเมืองพัทยา 7 (บ้านหนองพังแค) กล่าวว่า “หนูเพิ่งได้มีโอกาสเรียนเขียนโค้ดเป็นครั้งแรก แล้วรู้สึกว่ามันไม่ใช่เรื่องยากอย่างที่หลายคนเคยบอกไว้ พอได้เรียนการเขียนโค้ดเพื่อเขียนตัวอักษรบนป้ายไฟก็รู้สึกว่ามันสนุก และทำให้หนูรู้สึกภูมิใจเวลาที่เขียนโค้ดได้สำเร็จ ที่สำคัญคือหนูรู้สึกว่าการเรียนเขียนโค้ดมีประโยชน์ตรงที่ช่วยให้หนูได้ฝึกจัดลำดับความคิดว่าต้องการอะไร และจะต้องออกแบบคำสั่งอย่างไร ซึ่งหนูเชื่อว่าหนูสามารถนำทักษะนี้ไปใช้ได้กับทุกเรื่องในชีวิตประจำวันของหนู ไม่ใช่แค่เพียงการเรียนรู้เทคโนโลยีเท่านั้น ที่จริงแล้ว หนูชอบเรียนศิลปะ และมีความฝันว่าโตขึ้นอยากเป็นสถาปนิก แต่หนูรู้สึกว่าทักษะในการคิดอย่างเป็นระบบที่ได้จากการเรียนเขียนโค้ดจะเป็นประโยชน์ต่อการประกอบอาชีพสถาปนิกได้เช่นกัน”

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

กรุงศรี ผนึกพันธมิตรสายเทค จัดงาน Krungsri Tech Day 2024 นวัตกรรมเพื่อธุรกิจและการใช้ชีวิตภายใต้แนวคิด Technology for People

กรุงศรี (ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) และบริษัทในเครือ) หนึ่งในผู้นำด้านเทคโนโลยีทางการเงินของไทย ประกาศจัดงาน Krungsri Tech Day 2024 ต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 ชูแนวคิด “Technology...

Responsive image

ไทย-สวีเดน ผนึกกำลังเร่งเครื่อง Startup สู่เวทีโลก ด้วย The Scaleup Impact! Thailand-Sweden Global Startup Acceleration Program

ประเทศไทยและสวีเดนได้ประกาศความร่วมมือครั้งสำคัญในการส่งเสริมสตาร์ทอัพไทยให้ก้าวไกลสู่ตลาดโลกผ่านโครงการ 'The Scaleup Impact! Thailand-Sweden Global Startup Acceleration Program' ณ...

Responsive image

STelligence ผลักดันองค์กรไทยสู่ยุค AI ด้วย 5 โซลูชันใหม่

STelligence บริษัทผู้เชี่ยวชาญด้าน Digital Transformation ของไทย เปิดตัว 5 โซลูชัน AI ใหม่ มุ่งตอบโจทย์ความต้องการเฉพาะของธุรกิจไทยและช่วยให้องค์กรไทยสามารถนำ AI มาใช้ได้อย่างมีประ...