Microsoft ได้จับมือกับองค์กรพันธมิตร 13 รายจาก 9 ประเทศทั่วภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เพื่อประกาศเปิดตัวโครงการ Code; Without Barriers ในวันนี้ ภายใต้จุดมุ่งหมายในการลดช่องว่างทางโอกาสระหว่างผู้หญิงและผู้ชาย ในสายงานด้านคลาวด์ ปัญญาประดิษฐ์ (AI) และเทคโนโลยีดิจิทัล โดยโครงการนี้จะเปิดโอกาสให้ผู้หญิงในสายงานนักพัฒนาซอฟต์แวร์และตำแหน่งงานเชิงเทคนิคอื่นๆ ได้เข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้นในการขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม
“นักพัฒนาซอฟต์แวร์ในยุคนี้ นับว่าเป็นบุคลากรระดับแถวหน้าในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมให้ก้าวไปข้างหน้า และด้วยแนวคิดที่จุดประกายได้อย่างถูกจังหวะ คนในสายงานนี้ก็อาจเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตและการทำงานของเราในอนาคตไปอย่างสิ้นเชิง อุตสาหกรรมไอทีในปัจจุบันมีศักยภาพและโอกาสมากมายที่จะเปลี่ยนโลกของเราให้ดีกว่าเดิม ดังนั้น เราจึงยิ่งต้องสนับสนุนให้บุคลากรในสายงานนี้มีความหลากหลาย สะท้อนมุมมองและแนวคิดของภาคส่วนต่างๆ ในสังคมได้อย่างเท่าเทียมยิ่งขึ้น และด้วยโครงการ Code; Without Barriers นี้ เราก็มีความยินดีและภูมิใจที่จะได้เสริมศักยภาพให้ผู้หญิงทั่วภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกได้มาร่วมกำหนดทิศทางของโลกดิจิทัลไปด้วยกัน” ธนวัฒน์ สุธรรมพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ไมโครซอฟท์ ประเทศไทย กล่าว
องค์กรที่ร่วมเป็นพันธมิตรในโครงการนี้ ประกอบไปด้วย สถาบันส่งเสริมการวิเคราะห์และบริหารข้อมูลขนาดใหญ่ภาครัฐ (GBDi) จากประเทศไทย พร้อมด้วย Accenture, AvePoint, HCL Technologies, Just Analytics, MetLife, NTT Ltd, PALO IT, Petroliam Nasional Berhad (PETRONAS), Simbiotik Technologies, Thoughtworks, มหาวิทยาลัย Malaysia Kelantan (UMK) และ มหาวิทยาลัย Tun Hussein Onn Malaysia (UTHM) โดยองค์กรเหล่านี้ครอบคลุมอุตสาหกรรมต่างๆ มากมาย ทั้งภาคการศึกษา พลังงาน การเงินการธนาคาร ภาครัฐ และเทคโนโลยี ใน 9 ประเทศ ได้แก่ ไทย สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ เกาหลีใต้ ศรีลังกา และบังคลาเทศ
ไมโครซอฟท์จะให้การสนับสนุนโครงการนี้ในรูปของการเสริมทักษะความสามารถ และการมอบใบรับรองศักยภาพเชิงเทคนิคในด้านระบบคลาวด์และปัญญาประดิษฐ์ (AI) ภายใต้จุดมุ่งหมายที่จะขยายกลุ่มคนทำงานที่มีทักษะเชิงเทคนิคในแต่ละประเทศ ทั้งนี้ องค์กรทั้ง 13 แห่งได้ให้คำมั่นสัญญาว่าจะเดินหน้ายกระดับความหลากหลายและเท่าเทียมภายในองค์กรของตน และสร้างโอกาสการจ้างงานให้กับนักสร้างสรรค์และนักพัฒนาซอฟต์แวร์หญิงต่อไป ขณะที่ผู้ประกอบการหญิงในเอเชียแปซิฟิกก็จะได้พบกับกิจกรรมต่างๆ มากมาย นับตั้งแต่การจัดอีเวนท์สำหรับผู้ที่หางาน กิจกรรมแฮกกาธอน และการให้คำปรึกษาและการสนับสนุนจากผู้นำในภาคธุรกิจ
นอกจากนี้ โครงการ Code; Without Barriers ยังจะดำเนินงานภายใต้ความร่วมมือกับชุมชนนักพัฒนากว่า 21 แห่งทั่วภูมิภาค เพื่อให้เข้าถึงนักพัฒนาได้มากกว่า 407,000 คน ทั้งในสายงานด้านข้อมูล, AI, DevOps, Java, JavaScript, Python และกลุ่มนักพัฒนาหญิง
“เราพบว่าตลาดแรงงานสายไอทีในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก จำเป็นจะต้องมีความหลากหลายที่สูงขึ้นโดยเร็ว เนื่องจากในปัจจุบัน มีคนทำงานด้านข้อมูลและ AI เพียง 26% เท่านั้นที่เป็นผู้หญิง ขณะที่ในด้านระบบคลาวด์ ก็มีผู้หญิงคิดเป็นอัตราส่วนเพียง 12% เท่านั้น การจะแก้ไขสถานการณ์นี้ และผลักดันให้ประเทศในภูมิภาคนี้มีวาระแห่งชาติด้านดิจิทัลที่ให้โอกาสกับทุกคนอย่างเท่าเทียมกันนั้น จะต้องเริ่มต้นด้วยการทําลายอุปสรรค พร้อมเพิ่มความหลากหลายของกลุ่มนักพัฒนาในแต่ละองค์กรและอุตสาหกรรม โดยในฐานะผู้นำด้านเทคโนโลยี เรามีความรับผิดชอบที่จะช่วยกำหนดทิศทางการเปลี่ยนแปลงนี้ในอนาคต และเน้นย้ำให้ทุกภาคส่วนได้ตระหนักถึงความเป็นไปได้มากมายที่รออยู่ หากโลกดิจิทัลของเราสามารถสะท้อนถึงความหลากหลายของสังคมได้อย่างแม่นยำและเหมาะสม” อันเดรีย เดลลา แมทเทีย ประธานของไมโครซอฟท์ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก กล่าวเสริม
โครงการ Code; Without Barriers ได้เริ่มต้นเปิดตัวโครงการนำร่องกว่า 18 โครงการภายใต้ชื่อ Women in AI เพื่อเสริมทักษะและมอบประกาศนียบัตรรับรองทักษะด้าน AI ใน 8 ประเทศทั่วเอเชียแปซิฟิก ครอบคลุมการฝึกอบรมผู้หญิงราว 480 คน และการมอบใบรับรองทักษะให้กับนักพัฒนาอีก 203 คน นอกจากนี้ ไมโครซอฟท์ยังได้จัดกิจกรรม Cloud Skill Challenge ขึ้น โดยมีนักพัฒนาเข้าร่วมกว่า 7,617 คน
“ทีมที่มีความหลากหลายทางเพศมักจะมีความสามารถและศักยภาพในการทำงานที่ดีกว่า” จินา สมิธ, PhD นักวิเคราะห์อาวุโสด้าน DevOps และนวัตกรรมดิจิทัลของไอดีซี ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก กล่าว “การเลือกผู้หญิงเข้ามาทำงานในด้านเทคโนโลยี ไม่ได้เพียงเพิ่มมุมมองใหม่ให้กับทีมงานเท่านั้น โดยงานวิจัยในระยะหลังต่างแสดงให้เห็นว่าองค์กรที่มีความหลากหลายทางเพศจะมีศักยภาพด้านนวัตกรรมสูงกว่า และสร้างผลตอบแทนได้ดีกว่าค่าเฉลี่ยในภาพรวม โดยโครงการอย่าง Code; Without Barriers ของไมโครซอฟท์นี้ นับเป็นก้าวสำคัญในการลดช่องว่างด้านความหลากหลายนี้”
“การที่ผู้หญิงเข้ามาทำงานสายเทคโนโลยีมากขึ้น เป็นสิ่งที่ดีกับทั้งตัวองค์กรเองและสังคมในภาพกว้างด้วย แต่การสร้างสภาพแวดล้อมในด้านต่างๆ ให้เอื้อต่อตลาดแรงงานที่มีความหลากหลายมากขึ้นนี้ นับเป็นโจทย์ที่ท้าทายและซับซ้อนไม่น้อย โดยองค์กรใดองค์กรหนึ่งคงไม่สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงในระดับนี้ได้ เราทุกคนต่างมีความรับผิดชอบที่จะต้องช่วยกันลดอุปสรรค เพิ่มศักยภาพให้ผู้หญิงได้ก้าวเข้าสู่โลกของเทคโนโลยี และเราก็มีความยินดีที่ได้เห็นทั้งธุรกิจและองค์กรหลายแห่งมาร่วมแรงร่วมใจกัน ภายใต้โครงการ Code; Without Barriers” ลีแอน โรเบอร์ส ผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มนักพัฒนา She Loves Tech เผย
“ที่ GBDi เราตระหนักถึงความสําคัญของคนหนุ่มสาวในอนาคตของโลกเทคโนโลยี หนึ่งในสิ่งที่เราให้ความสําคัญคือการให้โอกาสที่เท่าเทียมกันในการพัฒนาทักษะและทัศนคติไม่ว่าพวกเขาจะเป็นเพศใด ในการเป็นพันธมิตรกับโครงการ Code; Without Barriers เราหวังว่าจะจัดให้คนรุ่นใหม่รวมทั้งสนับสนุนให้พวกเขาเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างโลกที่พวกเขาเองต้องการอยู่อาศัย” รศ.ดร. ธีรณี อจลากุล ผู้อํานวยการสถาบันส่งเสริมการวิเคราะห์และบริหารข้อมูลขนาดใหญ่ภาครัฐ (GBDi) กล่าวเสริม
พันธมิตรทางธุรกิจของเรา
“โครงการนี้ไม่ใช่สิ่งที่เราจะทำได้ด้วยตัวเองคนเดียว และเราก็ต้องขอขอบคุณองค์กรจากอุตสาหกรรมต่างๆ มากมายที่ได้มาร่วมแรงร่วมใจกันยกระดับทักษะความสามารถ พร้อมเปิดประตูสู่โอกาสใหม่ๆ ให้กับผู้หญิงในสายงานเชิงเทคนิคทั่วทั้งภูมิภาคนี้” คุณแมทธิวเสริม
ก้าวต่อไปสู๋ความหลากหลาย ผ่านการสร้างสรรค์ AI อย่างรับผิดชอบ
ทีมงานในโครงการ Code; Without Barriers ของไมโครซอฟท์กำลังดำเนินการจัดทำเอกสารที่จะให้แนวทางกับกลุ่มนักพัฒนาในการก้าวข้ามอุปสรรคต่างๆ ในด้านความเท่าเทียมสำหรับนวัตกรรมใหม่อย่าง AI
“กลุ่มนักพัฒนาและผู้ใช้งานต่างคาดหวังที่จะเห็นไมโครซอฟท์ให้คำแนะนำเกี่ยวกับแนวทางปฏิบัติในด้านการสร้างสรรค์และใช้งาน AI อย่างมีความรับผิดชอบ เพื่อให้พวกเขาสามารถส่งเสริมความหลากหลาย ลดอคติ และเพิ่มความโปร่งใสในงานที่ทำอยู่ และเราก็มั่นใจว่าโครงการ Code; Without Barriers นี้จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถให้กับผู้หญิงรุ่นใหม่ในโลกของเทคโนโลยีได้สำเร็จ” คุณแมทธิวสรุป
ภาคผนวก: พันธมิตรของเรา
- Accenture
“Code; Without Barriers เป็นโครงการที่ถือว่ามาได้ถูกที่ ถูกเวลา ในสภาพสังคมปัจจุบัน ความเท่าเทียมกันที่แท้จริงจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อผู้หญิงมีโอกาสและแรงสนับสนุนให้เดินหน้าต่อไปในสายอาชีพของตนเอง และที่ Accenture เราก็มุ่งมั่นที่จะสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่ส่งเสริมความเท่าเทียมและหลากหลาย เปิดให้ผู้หญิงทุกคนได้เป็นตัวของตัวเอง และเติบโตอย่างมั่นใจในสายงานเทคโนโลยี เราต้องการให้เพื่อนร่วมงานหญิงทุกคนรู้สึกว่าพวกเขาเป็นส่วนหนึ่งของที่นี่โดยสมบูรณ์ และมั่นใจที่จะพัฒนาตัวเองให้พร้อมสำหรับอนาคตต่อไป หากเราต้องการที่จะเฟ้นหาและรักษาผู้หญิงเก่งไว้ ก็จะต้องมีการร่วมมือกันทั่วทั้งอุตสาหกรรมภายใต้เป้าหมายนี้ และเราก็หวังว่าความร่วมมือระหว่างเรากับไมโครซอฟท์จะช่วยเปลี่ยนเป้าหมายนี้ให้กลายเป็นความจริง ด้วยการสร้างโอกาสที่เปิดกว้างมากขึ้นให้กับผู้หญิง วางกรอบการพัฒนาศักยภาพบุคลากรให้ชัดเจน และสร้างเส้นทางอาชีพที่ก้าวสู่ความสำเร็จ ในสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมความเท่าเทียมและหลากหลาย” – Ng Wee Wei กรรมการผู้จัดการ Accenture สิงคโปร์ - AvePoint
“AvePoint มีความยินดีที่ได้ร่วมมือกับไมโครซอฟท์ในโครงการ Code; Without Barriers ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งของความมุ่งมั่นของเราในการเสริมสร้างความหลากหลายในวงการเทคโนโลยี บริษัทของเรามีที่มาจากการรวมตัวกันของผู้เชี่ยวชาญที่มีภูมิหลังแตกต่างกันไป โดยที่แต่ละคนต่างมุ่งเป้าไปที่การสร้างโซลูชั่นที่ดีกว่าให้กับลูกค้า ความหลากหลายนับเป็นปัจจัยสำคัญที่ขับเคลื่อนธุรกิจของ AvePoint และเราก็พร้อมที่จะผลักดันให้ทุกภาคส่วนส่งเสริมให้เกิดความหลากหลาย ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งของความสำเร็จ” – Elisa Pang ผู้อํานวยการฝ่ายการตลาดผลิตภัณฑ์ของ AvePoint EduTech - สถาบันส่งเสริมการวิเคราะห์และบริหารข้อมูลขนาดใหญ่ภาครัฐ (GBDi)
“ที่ GBDi เราตระหนักถึงความสําคัญของคนหนุ่มสาวในอนาคตของโลกเทคโนโลยี หนึ่งในสิ่งที่เราให้ความสําคัญคือการให้โอกาสที่เท่าเทียมกันในการพัฒนาทักษะและทัศนคติไม่ว่าพวกเขาจะเป็นเพศใด ในการเป็นพันธมิตรกับโครงการ Code; Without Barriers เราหวังว่าจะจัดให้คนรุ่นใหม่รวมทั้งสนับสนุนให้พวกเขาเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างโลกที่พวกเขาเองต้องการอยู่อาศัย” – รศ.ดร. ธีรณี อจลากุล ผู้อํานวยการสถาบันส่งเสริมการวิเคราะห์และบริหารข้อมูลขนาดใหญ่ภาครัฐ (GBDi) - Just Analytics
“ผู้นำยุคใหม่ต่างพากันเน้นย้ำถึงความสำคัญของการสร้างทีมงานที่หลากหลาย ครอบคลุมแนวคิดที่แตกต่างอย่างรอบด้าน ครบถ้วนด้วยศักยภาพในทุกทิศทาง และแนวทางในการบริหารจัดการความเสี่ยงอย่างสร้างสรรค์ ทุกวันนี้ วัฒนธรรมในการทำงานของเราได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง และเราก็จำเป็นต้องมีทั้งความฉลาดทางอารมณ์และความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น คุณสมบัติทั้งสองนี้ สามารถปลูกฝังได้ด้วยการสนับสนุนให้ทุกคนเปิดรับความคิดที่หลากหลาย การยกระดับให้บุคลากรของบริษัทมีความคล่องตัว พร้อมรับความเปลี่ยนแปลงนั้น ต้องอาศัยการเปิดรับความหลากหลายนี้เช่นกัน ก่อนจะผลักดันให้เกิดระบบนิเวศแห่งการเติบโตรอบๆ องค์กรต่อไป การแบ่งปันความรู้ความสามารถอย่างทั่วถึงในโครงการอย่าง Code; Without Barriers นี้ จะช่วยเปิดโอกาสให้เราได้พบกับแนวคิดใหม่ๆ สำหรับการสร้างสภาพแวดล้อมการทำงานที่เท่าเทียมกันมากยิ่งขึ้น” – Nisha Sullia หัวหน้าฝ่ายวิศวกรรมโซลูชันของ Just Analytics - MetLife
“ความหลากหลายและเท่าเทียมกันนับเป็นส่วนสำคัญของพันธกิจของเราในการช่วยให้ทุกคนก้าวเดินสู่อนาคตอย่างมั่นใจ หากเราต้องการสร้างนวัตกรรมที่ตอบสนองกับความต้องการที่หลากหลายของลูกค้าได้ เราก็ต้องมีวัฒนธรรมที่มุ่งเน้นความเท่าเทียม เห็นคุณค่าของบุคลากรที่มีความหลากหลาย ทั้งในด้านแนวคิดและประสบการณ์ สามารถคาดการณ์ เข้าใจความต้องการ พร้อมออกแบบและพัฒนาโซลูชั่นที่ตอบโจทย์ตรงนี้ได้ ทั้งหมดนี้ ทำให้เราภูมิใจเป็นอย่างยิ่งที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Code; Without Barriers ของไมโครซอฟท์” – Vikrant Tripathi รองประธานฝ่าย Solutions Delivery ประจำภูมิภาคเอเชียของ MetLife Asia - PALO IT
“เรามีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้รับเลือกให้เป็นพันธมิตรของไมโครซอฟท์ในโครงการ Code; Without Barriers เนื่องจากโครงการนี้สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของบริษัท ในการนำความหลากหลายและเท่าเทียมกันมาเป็นรากฐานของทุกโครงการและกิจกรรมที่เราริเริ่ม เส้นทางสู่ความเท่าเทียมกันทางเพศนั้น มีความซับซ้อนในหลากหลายด้าน และจำเป็นต้องอาศัยการสร้างความรับรู้และเข้าใจในทุกภาคส่วน เพื่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทั้งในองค์กรและสภาพแวดล้อมภายนอกด้วย ความร่วมมือกับไมโครซอฟท์นี้จะช่วยให้เราและชุมชนรอบตัวเรามีเวทีในการสื่อสารเรื่องนี้ออกไปให้กว้างขวางยิ่งขึ้น” – Eugene Yang ผู้อำนวยการฝ่ายนวัตกรรมทางธุรกิจของ PALO IT - Petroliam Nasional Berhad (PETRONAS)
“ปิโตรนาสภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของความเคลื่อนไหวระดับโลกในการสร้างชีวิตที่ดีกว่าด้วยข้อมูล และยกระดับพันธกิจด้านดิจิทัลของเราต่อไป บุคลากรที่มีความสามารถด้านข้อมูล เป็นทรัพยากรสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนให้เราปรับเปลี่ยนการทำงานสู่ความเป็นองค์กรแห่งข้อมูลอย่างแท้จริง” – Datin Habsah Nordin ผู้จัดการทั่วไปฝ่ายข้อมูลองค์กรของปิโตรนาส - Simbiotik Technologies
“SimbiotikTech มีความยินดีมากที่ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของโครงการนี้ภายใต้การนำของไมโครซอฟท์ เพื่อยกระดับความเท่าเทียมกันทางเพศ เราเชื่อว่าการแก้ไขปัญหาในด้านนี้ จำเป็นต้องอาศัยแนวคิดที่ถูกต้องเป็นสำคัญ ไม่ว่าจะลงมือทำจากในบทบาทใดก็ตาม และการเปิดรับความหลากหลาย ส่งเสริมความเท่าเทียม ก็อาจนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงที่พลิกโฉมหน้าขององค์กรได้ในอนาคต” – Dipankar Mitra กรรมการผู้จัดการและซีอีโอของ Simbiotik Technologies ประเทศมาเลเซีย - Thoughtworks
“ความหลากหลาย ความเท่าเทียม และการเปิดโอกาสให้กับทุกคน ล้วนเป็นพลังที่สามารถเปลี่ยนแปลงสังคมของเราได้ ที่ Thoughtworks เรามุ่งมั่นที่จะทำงานเพื่อทุกภาคส่วนของสังคม ไม่ว่าจะเป็นในชุมชนของเราเองหรือขยายขอบเขตต่อไปผ่านเทคโนโลยีของเรา เราเชื่อว่าการสร้างความหลากหลายและเท่าเทียมเป็นหน้าที่ของทุกคน ทั้งยังเป็นเหมือนจุดมุ่งหมายร่วมกันของทุกคน และช่วยให้ทุกคน ทุกทีม สามารถทำงานได้เต็มศักยภาพมากยิ่งขึ้นเพื่อเปลี่ยนโลกของเรา เราภูมิใจมากที่ได้มีโอกาสร่วมโครงการ Code; Without Barriers ซึ่งนับเป็นก้าวสำคัญบนเส้นทางสู่อุตสาหกรรมไอทีที่มีความหลากหลายอย่างทั่วถึง” – Wen Shun Wong กรรมการผู้จัดการของ Thoughtworks Southeast Asia - มหาวิทยาลัย Malaysia Kelantan (UMK)
“ความร่วมมือครั้งนี้เป็นโอกาสครั้งสำคัญของ UMK ในการเปิดเวทีให้เราได้ร่วมมือกับไมโครซอฟท์เพื่อลดช่องว่างระหว่างคนทำงานทั้งสองเพศ ในระบบนิเวศ IR4.0 โครงการนี้จะช่วยให้เรา ในฐานะสถาบันการศึกษา ได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของหลักสูตรการเรียนการสอนด้านเทคโนโลยี และการเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างมหาวิทยาลัย ภาคธุรกิจ และชุมชนให้แน่นแฟ้น ในฐานะที่ UMK เป็นมหาวิทยาลัยที่มุ่งเสริมศักยภาพให้กับผู้ประกอบการ เราจึงมีโอกาสมากขึ้นที่จะขยายบทบาทในการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงทั้งเศรษฐกิจและสังคมในโลกดิจิทัล ครอบคลุมพื้นที่ชายฝั่งตะวันออกของมาเลเซีย ด้วยหลักสูตร คำแนะนำ และการโค้ชที่มุ่งเน้นทักษะด้าน AI และเทคโนโลยี ทั้งนักศึกษาและคณาจารย์จะมีความพร้อมเต็มที่ในการใช้นวัตกรรมทั้ง AI, IoT, คลาวด์ และข้อมูล มาแก้ไขปัญหาที่พบเจอในชีวิตจริง ซึ่งจะส่งผลให้นักศึกษามีโอกาสในการทำงานมากขึ้นเมื่อเรียนจบ การมอบโอกาสให้ได้เรียนรู้ด้าน IR4.0 และทักษะดิจิทัลนี้ จะช่วยให้ความหลากหลายทางเพศในวงการเทคโนโลยีเพิ่มสูงขึ้น และนำไปสู่ภาพรวมที่เท่าเทียมมากขึ้นอีกด้วย” – Dr. Hasyiya Karimah Binti Adli, นักวิชาการผู้ทรงคุณวุฒิประจำสถาบันเพื่อ AI และ Big Data (AIBIG) มหาวิทยาลัย Malaysia Kelantan - มหาวิทยาลัย Tun Hussein Onn Malaysia (UTHM)
“หัวใจสำคัญของทักษะด้านเทคโนโลยี ไม่ใช่ความสามารถในการใช้เทคโนโลยี แต่เป็นการนำไปใช้แก้ไขปัญหา โจทย์ที่เราต้องเผชิญคือการถอดรหัสปัญหา ไม่ใช่เขียนโค้ดให้กับวิธีแก้ปัญหา ความร่วมมือระหว่าง UTHM กับไมโครซอฟท์ในโครงการ Code; Without Barriers นี้ มุ่งเน้นไปที่การแก้ไขปัญหาที่พบเจอในชีวิตจริง โดยเริ่มจากการส่งเสริมความหลากหลายในโลกเทคโนโลยี นับตั้งแต่ในขั้นการเรียนการสอนเพื่อป้อนบุคลากรเข้าสู่สายงาน การสร้างทักษะที่จำเป็นเพื่อการทำงานในโลกดิจิทัล และการสร้างโอกาสที่เท่าเทียมกันสำหรับผู้หญิงและนักศึกษาทุกคน” – Dr. Aida Binti Mustapha หัวหน้าศูนย์คณิตศาสตร๋เชิงคิดคำนวณ (CERCOM) และคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีประยุกต์ มหาวิทยาลัย Tun Hussein Onn Malaysia