กระทรวงวิทย์ฯ แถลงก้าวต่อไปของ STARTUP Thailand ปั้น “เด็กอาชีวะ” สู่การเป็น startup รุ่นใหม่ | Techsauce

กระทรวงวิทย์ฯ แถลงก้าวต่อไปของ STARTUP Thailand ปั้น “เด็กอาชีวะ” สู่การเป็น startup รุ่นใหม่

หลังประสบความสำเร็จอย่างสูงจากงาน “Startup Thailand 2017” ที่สร้างกระแสความตื่นตัวในธุรกิจ Startup ให้เป็นที่รู้จักในวงกว้างทั้งประชาชนและนักธุรกิจในภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศ “อรรชกา”เผยแผนปั้น “เด็กช่าง” สู่การเป็น startup นักรบเศรษฐกิจรุ่นใหม่ ตอบสนองนโยบายรัฐบาลที่ส่งเสริมให้เด็กไทยหันมาสนใจและอยากเรียนอาชีวศึกษา และเร่งปรับปรุงกฎหมายและกฎระเบียบเพื่อการทำธุรกิจ startup พร้อมดัน startup ไทยให้เติบโต ในงาน “Startup Thailand 2018 – INVEST NATION” หนุนการลงทุนจากต่างชาติ

ดร. อรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เปิดเผยว่างาน “Startup Thailand 2017” ที่ผ่านมา ประสบความสำเร็จอย่างยิ่งกับการจัดงานที่กรุงเทพฯ หลังจากตระเวนจัดใน 4 ภูมิภาคทั่วประเทศ  นอกจากเกิดกระแสความตื่นตัวในธุรกิจ “สตาร์ทอัพ” เป็นที่รู้จักในวงกว้างทั้งประชาชนและนักธุรกิจในภูมิภาคทั่วประเทศแล้ว ยังเกิดผลเป็นรูปธรรมหลายด้าน อาทิเช่น  เกิดเม็ดเงินลงทุนมูลค่าสูงถึง 6,000 ล้านบาท เกิดสตาร์ทอัพที่มีศักยภาพและเริ่มดำเนินธุรกิจจริงกว่า 700 ราย เกิดการจ้างงานใหม่กว่า 7,500 อัตรา ซึ่งบุคลากรเหล่านี้ถือเป็นคนรุ่นใหม่ที่จะกลายเป็นกำลังแรงงานที่มีทักษะทางเทคโนโลยีและทักษะด้านความเป็นผู้ประกอบการสูง เป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนาประเทศ ยิ่งไปกว่านั้นการเติบโตของการลงทุนในธุรกิจสตาร์ทอัพในประเทศไทยที่เพิ่มขึ้นสูงจากปี 2559 กว่า 50% และสูงกว่าปี 2558 กว่า 200% สร้างความสนใจในธุรกิจสตาร์ทอัพกระจายไปในทุกภาคส่วน

จากวันนั้น เกิดภารกิจเร่งด่วนและความท้าทายหลายประการ เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดกับโครงสร้างเศรษฐกิจประเทศไปสู่การขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม

ความท้าทายแรกประการแรก การปรับปรุงกฎหมายและกฎระเบียบเพื่อลดปัญหาอุปสรรคในการประกอบธุรกิจของสตาร์ทอัพในประเทศไทย โดยคณะกรรมการวิสาหกิจเริ่มต้นแห่งชาติ ได้เห็นชอบ ร่าง “พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์” เพื่อให้เอื้อต่อการประกอบธุรกิจของสตาร์ทอัพในประเทศไทยมากขึ้น ใน 4 ประเด็น ได้แก่ เปิดช่องให้สตาร์ตอัพสามารถออกหุ้นกู้แปลงสภาพได้ สามารถทยอยให้หุ้นแก่พนักงานของสตาร์ตอัพได้ ให้พนักงานมีสิทธิซื้อหุ้นในราคาที่กำหนดได้ และสามารถแก้ไขสิทธิในหุ้นบุริมสิทธิโดยใช้มติที่ประชุมผู้ถือหุ้นได้

อย่างไรก็ตาม สิทธิประโยชน์เหล่านี้ อาจยังไม่เพียงพอที่จะดึงดูดให้นักลงทุนทั้งกลุ่มที่ไม่หวังผลตอบแทน (Angle Investor) และธุรกิจเงินร่วมลงทุน หรือ Venture Capital (VC) มาลงทุนกับสตาร์ทอัพไทยได้  คณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจเริ่มต้นแห่งชาติ จึงมีมติให้ดำเนินการยกร่าง "พระราชบัญญัติส่งเสริมวิสาหกิจเริ่มต้นแห่งชาติ" ขึ้นมาเพื่อให้เกิดความชัดเจนมากยิ่งขึ้น กฎหมายดังกล่าวจะมีทั้งหมด 4 หมวด ประกอบด้วย หมวดที่ 1 นิยามของสตาร์ทอัพ คือกิจการที่จดทะเบียนไม่เกิน 60 เดือน ต้องทำธุรกิจที่มีนวัตกรรม มีการวิจัยและพัฒนา   หมวดที่ 2 จัดตั้งคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจเริ่มต้นแห่งชาติ โดยมีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน หมวดที่ 3 สิทธิประโยชน์ที่จะให้กับสตาร์ทอัพ โดยจะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้ 5 ปี ทั้ง 3 กลุ่ม และหมวดที่ 4 จัดตั้งศูนย์ทดสอบและนวัตกรรม เพื่อรับรองมาตรฐานให้กับผู้ประกอบการสตาร์ทอัพ

ความท้าทายประการที่สอง การวางรากฐานและพัฒนากำลังคนให้เพียงพอต่อการเติบโตของผู้ประกอบการสตาร์ทอัพ ที่ผ่านมากระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ได้เริ่มทำงานร่วมกับ 30 มหาวิทยาลัยทั่วประเทศ ก่อให้เกิดมหาวิทยาลัยแห่งการประกอบการ (Entrepreneurial University) ที่มีการพัฒนาหลักสูตร การสร้างภาวะความเป็นผู้ประกอบการ การพัฒนาศักยภาพบุคลากรในมหาวิทยาลัย การสร้าง Co-working space ในมหาวิทยาลัย 30 แห่ง และการพัฒนาแนวคิดสู่ธุรกิจนวัตกรรมรายใหม่

โดยในปี 2561 นี้ เราได้ขยายโอกาสการเข้าสู่สตาร์ทอัพในกลุ่มนักเรียนอาชีวะ โดยมุ่งผลักดันการสร้างวิธีคิด การสร้างทักษะของการเป็นผู้ประกอบการ เพื่อสร้าง “นักรบใหม่ทางเศรษฐกิจ” ให้เกิดขึ้น  โดยกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ได้ลงนามความร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ เพื่อนำเด็กนักเรียนอาชีวะพัฒนาสู่ความเป็นสตาร์ทอัพ โดยการจัด Thailand Pitching Challenge “อาชีวะ R-League” กำหนด 1,000 ทีมตั้งต้น จัดประกวด 3 รอบ คัดให้เหลือ 50 ทีมสุดท้าย เพื่อเข้าค่ายอบรม เสริมสร้างความรู้ด้านการตลาด การพัฒนาผลิตภัณฑ์ และบ่มเพาะการก้าวเป็นสตาร์ทอัพรายใหม่ จากนั้นแข่งขันคัดเหลือ 10 ทีมสุดท้าย ที่จะเข้าร่วม Thailand Pitching Challenge “อาชีวะ R-League”  ในงาน STARTUP Thailand 2018  หาผู้ชนะ 3 ทีม ก่อนนำไปศึกษาดูงานต่างประเทศ และสนับสนุนต่อยอดการลงทุนเป็นสตาร์ทอัพต่อไป

ดร. ทรรศนะ บุญขวัญ ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคโนโลยีวิศวกรรมแหลมฉบัง EN-TECH กล่าวว่า การแข่งขัน “อาชีวะ R-League” จะเป็นแม่เหล็กสำคัญให้นักเรียนอาชีวะได้ร่วมพัฒนาสร้างนวัตกรรมในสาขาอุตสาหกรรมใหม่ๆ ได้  รวมทั้งการนำนักเรียนอาชีวะเข้าสู่การพัฒนาเป็นสตาร์ทอัพยังเป็นการตอบสนองนโยบายรัฐบาลในการส่งเสริมการศึกษาเพื่อการมีงานทำ และช่วยให้เด็กไทยอยากเรียนอาชีวศึกษามากขึ้นอีกด้วย

และความท้าทายประการสุดท้าย คือ การพัฒนาสตาร์ทอัพไทย ที่ผ่านมาสตาร์ทอัพส่วนใหญ่ยังมองตลาดในประเทศเป็นหลัก และมีจำนวนไม่มากนักที่สามารถเข้าสู่ตลาดต่างประเทศได้   กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ จึงเร่งพัฒนาระบบบ่มเพาะและเร่งการเติบโตของสตาร์ทอัพ ให้มีความสามารถในการขยายตลาดออกสู่ต่างประเทศ

เราจะดำเนินการพัฒนาในรายสาขา (Sector) สำคัญๆ ที่มีบทบาทต่อเศรษฐกิจประเทศ ได้แก่ สุขภาพ (HealthTech) ภาครัฐ (GovTech) เกษตร (AgTech) อาหาร (FoodTech) และท่องเที่ยว (TravelTech) ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะร่วมกันผลักดันและพัฒนาสตาร์ทอัพไทยในรายสาขาให้โดดเด่นขึ้น ให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น และในปี 2561 จะมีการจัดกิจกรรมและประชุมสัมมนาเพื่อพัฒนาสตาร์ทอัพรายสาขา ในรูปแบบของ Festival ได้แก่ Health FEST 2018, Gov FEST 2018, FARM FEST 2018, DREAM FEST 2018

ดร.อรรชกา ได้ตอกย้ำว่า ความชัดเจนของการพัฒนาสตาร์ทอัพไทยสู่ตลาดต่างประเทศคือก้าวสำคัญของการจัดงาน STARTUP Thailand 2018 ที่จะจัดขึ้นในกลางปี 2561 ภายใต้แนวคิด INVEST NATION ที่เน้นเรื่องการลงทุนจากต่างชาติ โดยจะเชิญนักลงทุนจากทั่วโลกมาลงทุนในสตาร์ทอัพไทย  ตั้งเป้าหมายให้เกิดการลงทุนมากกว่า 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ  เพื่อให้งาน STARTUP Thailand กลายเป็นงานสตาร์ทอัพระดับโลก ขยายพื้นที่จัดงานขึ้นเป็น 25,000 ตารางเมตร พร้อมเปิดกิจกรรมใหม่ขึ้นภายในงาน 4 Global Concept ได้แก่ Global Hack ในสตาร์ทอัพ 9 สาขาธุรกิจ  Global Connect เชื่อมโยงกลุ่มประเทศ CLMV และเอเชีย  Global Investment เร่งเป้าหมายการลงทุนจากต่างชาติทั้งเอเชีย อเมริกา และยุโรป และ Global Market Place นำสินค้าของสตาร์อัพมาทำการซื้อขายแก่ประชาชน ตั้งเป้า 600 รายจากทั่วโลก เพื่อเปิดช่องทางการตลาดให้คนรู้จักธุรกิจสตาร์ทอัพมากขึ้น และเป็นช่องทางการซื้อขายสินค้าที่สำเร็จรูปแล้วแก่นักลงทุนด้วย

STARTUP Thailand 2018 จะเป็นเวทีที่แสดงความพร้อมของประเทศไทยที่จะร่วมมือกับทุกประเทศ เป็นเวทีที่เปิดโอกาสให้สตาร์ทอัพจากภูมิภาคเอเชียและจากทั่วโลก เข้ามาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และทำงานร่วมกับผู้ประกอบการสตาร์ทอัพไทย นักลงทุนไทย เพื่อให้ประเทศไทยก้าวไปสู่การเป็นผู้นำด้านสตาร์ทอัพของภูมิภาค  และเพื่อให้ประเทศไทยมี Unicorn รายที่สอง สาม สี่ ต่อจาก OMISE โอมิเซะ สตาร์ทอัพไทยรายแรกที่เป็น Unicorn ระดับพันล้านเหรียญ ได้ในที่สุด

สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม startupthailand

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

แอดวานซ์เทค ติดท็อป 5 ‘Best Taiwan Global Brands’ 7 ปีซ้อน ขับเคลื่อน Edge AI ด้วยมูลค่า 2.8 หมื่นล้าน

แอดวานซ์เทค (Advantech Co., Ltd.) ผู้นำด้านอุตสาหกรรม IoT ได้รับการจัดอันดับให้เป็น 1 ใน 5 แบรนด์ชั้นนำระดับโลกของ "2024 Best Taiwan Global Brands" ด้วยมูลค่าแบรนด์ 851 ล้านดอลลาร์...

Responsive image

PLEX MES ก้าวสู่อนาคต ยกระดับอุตสาหกรรมการผลิต ด้วย Smart Manufacturing Solutions

เมื่อวันที่ 3 ธันวาคมที่ผ่านมา วงการอุตสาหกรรมการผลิตในประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่ยุคใหม่ด้วยการแนะนำ PLEX MES โซลูชันที่เปรียบเสมือน "สมองดิจิทัล" สำหรับโรงงานยุคใหม่ ระบบนี้ถูกออกแบบ...

Responsive image

ทีทีบี คว้ารางวัลธนาคารที่ดีที่สุดเพื่อลูกค้าธุรกิจ Thailand Best Bank for Corporates

ทีเอ็มบีธนชาต (ttb) คว้ารางวัล Thailand Best Bank for Corporates จาก Euromoney Awards 2024 ตอกย้ำความมุ่งมั่นในการสนับสนุนธุรกิจไทยด้วยโซลูชันดิจิทัลและความยั่งยืนผ่านกรอบ B+ESG พร...