‘นวัตกรรม’ ทางออกสำคัญของสิ่งแวดล้อม เมื่อธุรกิจช่วยแก้ปัญหาการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพใน APAC ได้ | Techsauce

‘นวัตกรรม’ ทางออกสำคัญของสิ่งแวดล้อม เมื่อธุรกิจช่วยแก้ปัญหาการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพใน APAC ได้

เอเชียแปซิฟิก ภูมิภาคที่อุดมไปด้วยความหลากหลายทางชีวภาพประจำท้องถิ่นที่หาที่ไหนไม่ได้ในโลก กลายเป็นศูนย์กลางของวิกฤตการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพและธรรมชาติ เนื่องจากภูมิภาคนี้มีจุดร้อนที่กระจุกตัวในวงกว้างที่สุดในโลกโดยมีทุนทางธรรมชาติลดลง และหากสถานการณ์นี้ยังไม่เปลี่ยน อาจส่งผลให้สัตว์ทุกสายพันธุ์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สูญพันธุ์ถึง 42% โดยครึ่งหนึ่งจากตัวเลขนี้จะสูญพันธุ์จากโลกเลยทีเดียว ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นระบบเพื่ออนาคตที่ยั่งยืนสำหรับเอเชียแปซิฟิก และโซลูชันที่เป็นนวัตกรรมจะสามารถปลดล็อกการลงทุนที่จำเป็นต่อการรีเซ็ตความสัมพันธ์ระหว่างเรากับโลกใบนี้

ภาพจาก: Ecosperity Week 2021

ข้อมูลเหล่านี้เป็นผลการค้นพบในรายงานฉบับใหม่ของ AlphaBeta, Temasek และ World Economic Forum หัวข้อ "New Nature Economy: Asia's Next Wave" ซึ่งเปิดตัวในงาน Ecosperity Week ประจำปีพ.ศ. 2564 รายงานดังกล่าวจัดทำกรณีศึกษาทางธุรกิจเพื่อการแก้ปัญหาที่เป็นมิตรต่อธรรมชาติในภูมิภาค โดยการสำรวจความเสี่ยง โอกาส และการจัดหาเงินที่จำเป็นสำหรับเศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อธรรมชาติ

ภัยต่อธรรมชาติคือภัยต่อธุรกิจ

ระบบเศรษฐกิจและสังคมหลัก 3 ระบบในเอเชียแปซิฟิกเป็นภัยคุกคามต่อธรรมชาติที่ใหญ่ที่สุด แต่ก็เป็นโอกาสที่ใหญ่ที่สุดสำหรับการเติบโตทางเศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อธรรมชาติเช่นกัน ซึ่งโอกาสเหล่านี้มีมูลค่ารวมกันอยู่ที่ 4.3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็น 14% ของ GDP เอเชียแปซิฟิกในปีพ.ศ. 2562

  • แนวปฏิบัติตามปกติในระบบการใช้อาหาร ที่ดิน และมหาสมุทรของเรานั้นไม่ยั่งยืน เราจึงจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงทั้งวิธีเพาะปลูกและจับปลา รวมถึงปริมาณอาหารและเสื้อผ้าที่เราใช้ เมื่อประเมินจากความท้าทายในการรักษาความเป็นอยู่ประชากรในภูมิภาค ซึ่งคาดว่าจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นแตะหลัก 5.5 พันล้านคนภายในปี 2593

    ด้วยเหตุนี้ เราจึงต้อง "สงวน" ธรรมชาติ โดยอนุรักษ์ดินและน้ำให้ไว้ตามสภาพธรรมชาติมากขึ้น เพื่อให้ระบบนิเวศทางธรรมชาติเจริญเติบโต และ "แบ่งปัน" พื้นที่กับธรรมชาติ โดยทำให้พื้นที่ทำกินและการใช้น้ำเอื้ออำนวยต่อความหลากหลายทางชีวภาพมากขึ้น การบรรลุวัตถุประสงค์ 2 ประการนี้จะต้องมีการดำเนินการและขยายโอกาสทางธุรกิจ 28 รายการ โดยจะสามารถสร้างมูลค่าทางธุรกิจได้มากกว่า 1.6 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีการจ้างงานราว 118 ล้านตำแหน่ง

  • ขณะเดียวกันการเติบโตของเมืองกระตุ้นให้เกิดการขยายตัวของโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งแวดล้อมสรรค์สร้างอย่างรวดเร็วและมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ ซึ่งนำไปสู่ความเสียหายอย่างมากต่อธรรมชาติและมนุษยชาติ ปัจจุบัน เมืองที่เผชิญกับความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมมากที่สุด 100 แห่งนั้นอยู่ในเอเชียถึง 99 แห่ง[4] และในขณะที่การขยายตัวของเมืองยังคงทวีความรุนแรงขึ้น การสูญเสียทางธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพอันเป็นผลจากสิ่งแวดล้อมสรรค์สร้าง จะเพิ่มขึ้นต่อไปหากปล่อยไว้โดยไม่ได้รับการดูแล

    สิ่งแวดล้อมสรรค์สร้างจะต้องเป็นมิตรกับธรรมชาติและสัตว์ป่ามากขึ้น และเปลี่ยนแปลงผลกระทบด้านลบต่อสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติโดยรอบในคราวเดียวกันด้วย ซึ่งการบรรลุเป้าหมายนี้จำเป็นต้องมีการดำเนินการและขยายโอกาสทางธุรกิจ 16 รายการ โดยจะสามารถสร้างมูลค่าทางธุรกิจได้กว่า 1.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และสร้างงานใหม่ราว 65 ล้านตำแหน่ง

  • ในขณะที่ระบบพลังงานและการนำทรัพยากรธรรมชาติไปใช้ประโยชน์ (Extractives) คือตัวขับเคลื่อนการเติบโตของภูมิภาคนั้น ภาคพลังงาน ไฟฟ้า และอุตสาหกรรม คิดรวมเป็น 79% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในเอเชียแปซิฟิก ดังนั้น การเสนอการเข้าถึงพลังงานที่เชื่อถือได้พร้อมกับบรรลุเป้าหมายการลดการปล่อยคาร์บอนในภูมิภาคจึงเป็นความท้าทายที่สำคัญ และการตอบสนองความต้องการของภูมิภาคตามภาวะของโลก จะต้องทบทวนระบบพลังงานและการนำทรัพยากรไปใช้ทั้งหมดอย่างสิ้นเชิง

    เราจำเป็นต้องปรับปรุงประสิทธิภาพการบริโภคเพื่อลดการใช้ทรัพยากร พัฒนาวิธีการนำทรัพยากรเหล่านั้นไปใช้เพื่อลดผลกระทบต่อระบบนิเวศให้เหลือน้อยที่สุด และเปลี่ยนไปใช้พลังงานหมุนเวียนมากขึ้นโดยที่ไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อระบบนิเวศอีก ซึ่งการจะบรรลุเป้าหมายเหล่านี้จะต้องมีการดำเนินการและขยายโอกาสทางธุรกิจ 15 รายการ โดยจะสามารถสร้างมูลค่าทางธุรกิจได้มากกว่า 1.4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และสร้างงานใหม่ราว 49 ล้านตำแหน่ง

โดยรวมแล้ว การปลดล็อกโอกาสทางธุรกิจที่เป็นมิตรต่อธรรมชาติ 59 รายการในทั้ง 3 ระบบนี้จะต้องใช้เงินลงทุน 1.1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี แม้จะเป็นจำนวนเงินที่มากแล้ว แต่ก็เป็นเพียงส่วนหนึ่งในเงินลงทุนทั้งหมด 31.1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐที่ประกาศโดยประเทศสมาชิก 45 ประเทศของธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชียในการต่อสู้กับการแพร่ระบาดของโควิด-19

"เราต้องลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนลงครึ่งหนึ่ง เริ่มรื้อฟื้นธรรมชาติให้กลับสู่สภาพเดิมภายในปีพ.ศ. 2573 เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบร้ายแรง และเราสามารถบรรลุเป้าหมายนี้ได้ด้วยรูปแบบธุรกิจใหม่ที่มีความยืดหยุ่นและสามารถพึ่งพาตนเองทางเศรษฐกิจได้" ดร. Steve Howard ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายความยั่งยืนของ Temasek กล่าว "กลุ่มธุรกิจและการลงทุนต้องทำงานร่วมกับรัฐบาลและภาคประชาสังคม เราจึงจะสามารถปลดล็อกเงินทุนเพื่อช่วยขับเคลื่อนการเติบโตที่จะส่งมอบให้กับผู้คน โลก และเศรษฐกิจร่วมกัน"

นวัตกรรมและความร่วมมือที่จำเป็นต่อการเร่งการลงทุนสำหรับการเปลี่ยนแปลงที่เป็นมิตรต่อธรรมชาติ

ในการสำรวจพิเศษที่จัดทำขึ้นเพื่อรายงานฉบับนี้ นักลงทุนและผู้นำธุรกิจทั่วเอเชียแปซิฟิกได้ระบุความท้าทายหลักที่ต้องเอาชนะเพื่อที่จะบรรลุรูปแบบธุรกิจที่เป็นมิตรต่อธรรมชาติ โดยอุปสรรคเหล่านี้สามารถแบ่งเป็น 4 ด้านกว้าง ๆ ได้แก่ ความท้าทายด้านกฎระเบียบ อุปสรรคทางตลาด ช่องว่างของข้อมูล และการขาดปัจจัยสนับสนุนการลงทุน

ผู้นำธุรกิจและชุมชนได้เสนอโซลูชันนวัตกรรมมากมาย เพื่อกระตุ้นการลงทุนที่จำเป็นในทศวรรษหน้าเพื่อเอาชนะอุปสรรคเหล่านี้ ซึ่งคำแนะนำ 3 อันดับแรก มีดังนี้

  • โมเดลการกำหนดราคาภายนอกแบบใหม่ เพื่อจับต้นทุนที่แท้จริงของทุนทางธรรมชาติและผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม
  • มาตรฐานการรายงานความหลากหลายทางชีวภาพที่สอดคล้องกัน เพื่อรับรองความรับผิดชอบต่อเป้าหมายด้านความหลากหลายทางชีวภาพ และ
  • ผลิตภัณฑ์และกลไกทางการเงินรูปแบบใหม่ เช่น โมเดลการเงินแบบผสมผสาน ตลอดจนกฎระเบียบเพื่อบังคับใช้การปฏิบัติตามนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมในปัจจุบันและในอนาคต

นอกจากนี้ การวิจัยและพัฒนาที่มากขึ้น รวมถึงการเจรจาระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนที่มากขึ้น จะมีความสำคัญต่อการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการลงทุนในเศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อธรรมชาติ

"การแพร่ระบาดของโควิด-19 สร้างความตกตะลึงจนทำให้เราต้องทบทวนอย่างหนักเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ เราต้องจัดสรรการลงทุนอย่างเหมาะสมสำหรับการปกป้อง การฟื้นฟู และการจัดการต้นทุนทางธรรมชาติที่ยั่งยืน รวมถึงการประเมินมูลค่าบริการของระบบนิเวศเพื่อฟื้นคืนสู่อนาคตที่ยืดหยุ่น" Akanksha Khatri หัวหน้าฝ่าย Nature Action Agenda ของ World Economic Forum กล่าว "การวิจัยของเราและการมีส่วนร่วมกับรัฐบาล ภาคเอกชน นักลงทุน และภาคประชาสังคม เน้นย้ำถึงความจำเป็นในการสร้างเส้นทางความร่วมมือใหม่ ๆ สำหรับเศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อธรรมชาติ"

"การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพและธรรมชาติ เป็นความกังวลหลักสำหรับธุรกิจในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และหลักฐานที่มีอยู่ทั้งหมดบ่งชี้ว่า การดำเนินงานตามปกติไม่ใช่ทางเลือกอีกต่อไป" ดร. Fraser Thompson ผู้ก่อตั้งและกรรมการผู้จัดการของ AlphaBeta กล่าว "อย่างไรก็ตาม ข่าวดีก็คือรายงานฉบับนี้แสดงให้เห็นว่า ธุรกิจมีแนวทางที่ไม่เพียงแค่ช่วยเสริมสร้างความยืดหยุ่นในการดำเนินงานและมีส่วนร่วมกับธรรมชาติโดยตรงเท่านั้น แต่ยังสร้างโอกาสการเติบโตใหม่ที่สำคัญด้วย ซึ่งความร่วมมือหลายฝ่ายระหว่างธุรกิจ ภาครัฐ และภาคประชาสังคมในเอเชียแปซิฟิก จะปลดล็อกโอกาสที่เป็นมิตรต่อธรรมชาติเหล่านี้ได้"

ดาวน์โหลดรายงานของ AlphaBeta, World Economic Forum และ Temasek ได้ที่ https://bit.ly/NewNatureEconomy 



ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

NIA เปิดเวที AGROWTH เร่งการเติบโตดีพเทคสตาร์ทอัพเกษตร

NIA เดินหน้าสร้างสตาร์ทอัพ สายเกษตรให้เพิ่มขึ้น โดยมุ่งเน้นการใช้เทคโนโลยีเชิงลึก เพื่อเร่งการเติบโตและแก้ไขปัญหาซ้ำซ้อนในภาคเกษตร ที่ต้องการปรับเปลี่ยนการทำเกษตรแบบเดิมไปสู่การพึ่...

Responsive image

ไทยมี ‘ผู้บริหารหญิง’ นั่งบอร์ด แค่ 19% ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยโลก-อาเซียน

มีผู้หญิงจำนวนน้อยกว่าหนึ่งในสี่ (ร้อยละ 23.3) ดำรงตำแหน่งคณะกรรมการทั่วโลก โดยเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.6 นับตั้งแต่รายงานฉบับล่าสุดที่เผยแพร่ในปี 2565...

Responsive image

EVAT จับมือ กฟผ. และ ม.กรุงเทพธนบุรี จัดแข่งรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง พร้อมลงนาม MOU พัฒนายานยนต์ไฟฟ้า

สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย จับมือการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และมหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี พร้อมเดินหน้าจัดงานแข่งขันรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลงเพื่อธุรกิจแห่งอนาคต ครั้งที่ 3 พร้อมลงนามบั...