ส่องวิธีการปรับตัวของมหาวิทยาลัยในช่วงเรียนออนไลน์ พร้อมแนวทางคงมาตรฐานการศึกษา | Techsauce

ส่องวิธีการปรับตัวของมหาวิทยาลัยในช่วงเรียนออนไลน์ พร้อมแนวทางคงมาตรฐานการศึกษา

ในช่วงเกือบ 2 ปี โลกได้พูดถึง “การปรับตัว” และได้ผลักดันให้เรื่องดังกล่าวเป็นประเด็นสำคัญของทุกภาคส่วน ซึ่งหน่วยหนึ่งที่มีการปรับตัวอย่างเข้มข้นก็คือ “สถาบันอุดมศึกษา” หลายมหาวิทยาลัยได้มีการยกระดับทั้งในเรื่องคุณภาพ การผลิตหลักสูตรเพื่อป้อนคนให้ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน รวมถึงวิกฤตที่ถาโถมของ COVID-19 ที่ส่งผลกระทบต่อการจัดการเรียนการสอนให้เข้าไปอยู่ในรูปแบบออนไลน์ของ อีกทั้งยังทำให้ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องได้ส่งสัญญาณความห่วงใยถึงทิศทางการปรับตัวของสถาบันการอุดมศึกษาทุกแห่งในประเทศไทย และการปรับตัวของนักศึกษา โดยเฉพาะระบบการเรียนการสอนรูปแบบใหม่ ๆ ที่เอื้อต่อประสิทธิภาพของผู้เรียน ไปจนถึงมาตรฐานและคุณภาพที่ตอบโจทย์กับบริบทโลก

เรียนออนไลน์

วันนี้จะพาไปชมตัวอย่างและเจาะลึกการปรับตัวของมหาวิทยาลัยที่หยิบนำการประเมิน และแนวทางการจัดการเรียนการสอนให้เกิดประสิทธิภาพและเอื้อต่อตัวผู้เรียนในช่วงการเรียนออนไลน์อย่าง มหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรี ที่ ผศ.ดร.ศศิธร วชิรปัญญาพงศ์ รองอธิการบดีฝ่ายประกันคุณภาพองค์การ และกิจกรรมสภามหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรี ได้ให้ข้อมูลว่า มหาวิทยาลัยได้มีการเตรียมความพร้อมสำหรับการเรียนในยุคดิจิทัลมาตลอดเวลา แต่ในช่วงที่เกิด COVID-19 ระบาดทำให้มหาวิทยาลัยมีความตื่นตัว และต้องปรับตัว รวมถึงปรับเปลี่ยนรูปแบบการสอนให้อยู่ในแพลตฟอร์มออนไลน์เร็วยิ่งขึ้น ช่วงแรก ๆ ของการเรียนออนไลน์ยังไม่เข้าที่เข้าทางมากนัก เพราะทั้งอาจารย์ผู้สอน - นักศึกษาต้องปรับตัวกันแบบกะทันหัน โดยสิ่งแรกที่ทางมหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรีดำเนินการ คือ  การปลดล็อคระเบียบ วิธีการเรียนการสอน รวมไปถึงแนวทางการอนุมัติเกรดของนักศึกษา เพื่อให้สอดรับการเรียนการสอนในรูปแบบออนไลน์ เพราะการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยมีข้อกฎหมายกำกับอยู่ 

การปรับตัวของมหาวิทยาลัย

ดังนั้นจะต้องเริ่มปรับตั้งแต่ต้นทางก่อนเพื่อให้เป็นไปตามกฎระเบียบ และเพื่อป้องกันปัญหาหลังจากที่เด็กเรียนจบออกไปแล้ว สิ่งต่อมาที่มหาวิทยาลัยต้องเร่งทำก็คือ วางระบบการสอนโดยใช้ศูนย์นวัตกรรมของมหาวิทยาลัยเป็นศูนย์กลางในการอบรมอาจารย์ประจำรายวิชา ให้มีความเชี่ยวชาญด้านการใช้โปรแกรมไลฟ์สดต่าง ๆ ในช่วงแรกมหาวิทยาลัยมีการสอนออนไลน์ผ่านทางเฟซบุกไลฟ์ ไลน์วิดีโอคอล เพราะแต่ละคณะ สาขาวิชา และแต่ละชั้นปีอาจารย์จะมีไลน์กลุ่มของนักศึกษาอยู่ แต่ปัญหาที่พบ คือ นักศึกษาไม่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ทุกคน บางคนสภาพแวดล้อมไม่เอื้อต่อการเรียนออนไลน์ แต่เพื่อให้นักศึกษาทุกคนได้เข้าถึงการเรียนอย่างทั่วถึงและเป็นไปตามมาตรฐานทางมหาวิทยาลัยได้มีการซื้อตัวเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตให้ พร้อมทั้งมีการจับคู่นักศึกษาที่อยู่บ้านใกล้กันให้มาเรียนด้วยกัน เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างที่ต้องเรียนออนไลน์  

 ผศ.ดร.ศศิธร กล่าวต่อว่า ในส่วนของการติดตามและประเมินผล ถือว่าเป็นส่วนที่สำคัญที่สุด เพราะจะช่วยให้เราทราบว่าการเรียนออนไลน์มีข้อดี หรือมีจุดใดที่ต้องปรับเพิ่มเพื่อให้นักศึกษาได้ความรู้เท่ากับการมาเรียนในห้องเรียน ซึ่งทางมหาวิทยาลัยใช้ศูนย์นวัตกรรมสำหรับติดตามและประเมินผลการเรียนผ่านการทำแบบสอบถาม การประเมินครูผู้สอน และนำข้อมูลที่ได้มาพัฒนาระบบต่าง ๆ และแผนการสอน โดยเฉพาะในรายวิชาที่ต้องเน้นการปฏิบัติ เพราะวิชาเหล่านี้ไม่สามารถสอนผ่านออนไลน์ได้ จึงต้องปรับแผนให้นักศึกษาสลับกันเข้ามาเรียนในห้องแลป ส่วนนักศึกษาที่ไม่ได้เข้ามาเรียนในห้องแลปก็ให้ดูเพื่อน ๆ ผ่านออนไลน์ โดยการจัดการในรูปแบบดังกล่าวช่วยให้นักศึกษาได้เรียนรู้อย่างเต็มที่ และสามารถเรียนไปพร้อม ๆ กันได้ อย่างไรก็ตามเชื่อว่าการเรียนการสอนในระดับมหาวิทยาลัยจำเป็นจะต้องปรับให้เข้าสถานการณ์อยู่ตลอดเวลา เนื่องจากเราไม่สามารถหยุดการสอนได้ตลอดทั้งเทอม และการเรียนของนักศึกษาไม่สามารถรอให้สถานการณ์ทุกอย่ากลับเข้าสภาวะปกติได้ อีกทั้งตนยังเชื่อว่าสถานการณ์ที่ไม่ปกติเช่นนี้มีโอกาสที่จะเกิดขึ้นซ้ำได้อีก ดังนั้นการเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือจึงเป็นอีกหนึ่งประเด็นที่มหาวิทยาลัยต้องเตรียมความพร้อมเสมอ

“อีกหนึ่งประเด็นที่สำคัญที่มีส่วนช่วยให้การเรียนการสอนในระยะนี้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น คือ ระบบการประเมินไม่ว่าจะเป็นการประเมินทั้งภายในและภายนอก เพราะการประเมินจะทำให้มหาวิทยาลัยรู้จึงจุดดี จุดเด่น และจุดที่ต้องปรับปรุงในระหว่างที่มีการจัดการเรียนการสอนออนไลน์ หรือแม้แต่ช่วงที่สถานกการณ์ปกติ เพื่อให้คุณภาพในด้านต่าง ๆ ดียิ่งขึ้น” ผศ.ดร.ศศิธร กล่าวสรุป

นักศึกษาชั้นปีที่ 2 คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยเริ่มจัดการสอนออนไลน์ตั้งแต่ช่วงต้นปี 2564 ที่เกิดการระบาดของ COVID-19 ในระลอกสองจนถึงขณะนี้ตนและเพื่อน ๆ ในคณะเรียนผ่านออนไลน์มานานกว่า 1 เทอมแล้วสำหรับปัญหาที่พบในระยะแรก คือ ความไม่แน่นอนของคลาสเรียนในบางรายวิชา และเนื้อหาที่ยังไม่เหมาะกับการเรียนผ่านออนไลน์ แต่ช่วงหลังการเรียนผ่านออนไลน์เริ่มมีเสถียรภาพมากยิ่งขึ้น อาจารย์ประจำรายวิชาเริ่มปรับรูปแบบให้เหมาะสมทั้งเรื่องของรายละเอียด เนื้อหา และระยะเวลาในการสอน ซึ่งคาดว่าทางมหาวิทยาลัยอาจจะมีการติดตามประเมินการทำงาน และประสิทธิภาพการเรียนการสอน ของอาจารย์ และนักศึกษาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ขณะนี้ห้องเรียนออนไลน์ของวิชาเอก และวิชาเลือก ใช้เนื้อหาสำหรับการสอนออนไลน์ได้เข้าใจมากยิ่งขึ้น 

“ในฐานะที่ตนเป็นนักศึกษา ตนเห็นว่าการประเมิน และติดตามผลการเรียนการสอนอย่างสม่ำเสมอ ช่วยให้การทำงานของอาจารย์ และการเรียนของนักศึกษามีการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีมากยิ่งขึ้น เพราะระหว่างการประเมินจะช่วยให้ทุกฝ่ายเห็นจุดบกพร่องที่ต้องพัฒนา และแก้ปัญหาให้ตรงจุด หากประเมินแล้วพบจุดเด่นก็จะได้ส่งเสริมให้ดีมากกว่าเดิม ดังนั้นสำหรับตนแล้วไม่ว่าจะเป็นการประเมินภายในของมหาวิทยาลัย หรือการรับการประเมินภายนอกจากหน่วยงานอื่นย่อมเป็นผลดีทั้งต่อตัวนักศึกษา และมหาวิทยาลัยทั้งสิ้น” 

ดร.นันทา หงวนตัด

ด้านดร.นันทา หงวนตัด รักษาการผู้อำนวยการสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา หรือ สมส. กล่าวว่า สมศ. ในฐานะหน่วยงานประเมินคุณภาพการศึกษา มีความพร้อมที่จะส่งเสริมการเรียนระดับอุดมศึกษาในประเทศไทยให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เพราะมหาวิทยาลัยของบ้านเรามีความโดดเด่นในหลาย ๆ ด้าน และมีโดนเด่นในด้านที่แตกต่างกันออกไป  ดังนั้นการเข้าไปประเมินคุณภาพภายนอกในระดับอุดมศึกษาในครั้งนี้ สมศ. จะยังคงดำเนินการภายใต้การประเมินเพื่อพัฒนาคุณภาพระบบการศึกษาให้ดียิ่งขึ้น เนื่องจากการประเมินคุณภาพและการประกันคุณภาพในระดับอุดมศึกษา ถือว่าเป็นอีกหนึ่งแนวทางที่จะช่วยสร้างความมั่นใจให้กับประชาชน องค์กรต่าง ๆ การปฏิบัติงานของทุกภาคส่วนในสถาบันเป็นไปอย่างเต็มที่และเต็มความสามารถเพื่อให้บัณฑิตที่จบออกมามีคุณภาพ รวมทั้งเป็นการสร้างความมั่นใจให้แก่สาธารณชนว่ามหาวิทยาลัย คณะ ภาควิชา ได้ผลิตบัณฑิต หรือผลงานวิจัย ฯลฯ ที่มีประสิทธิภาพ  

อย่างไรก็ตาม เบื้องต้น สมศ. ได้มีการกำหนดรูปแบบการประเมินคุณภาพภายนอกในระดับอุดมศึกษาไว้เป็นที่เรียบร้อย หากสถาบันอุดมศึกษาที่ต้องการเข้ารับการประเมินคุณภาพภายนอก สามารถส่งรายงานการประเมินตนเอง (SAR) และ ตารางข้อมูลเบื้องต้น (CDS) ย้อนหลัง 3 ปี มายัง สมศ. ได้จนถึงวันที่ 3 ตุลาคม 2564 เพื่อที่ สมศ. จะได้เตรียมการประเมินในรอบปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ต่อไป  ด้านแนวทางการประเมินภายนอกในระดับอุดมศึกษานั้นได้กำหนดไว้ 2 ขั้นตอนประกอบด้วย ขั้นตอนที่ 1 เป็นการประเมินแบบวิเคราะห์รายงานการประเมินตนเอง (Pre-analysis) และขั้นตอนที่ 2 เป็นการประเมินแบบลงพื้นที่ตรวจเยี่ยม (Site-visit) ในรูปแบบออนไลน์ ร่วมกับการลงพื้นที่จริงไม่เกิน 1-3 วัน โดยสถาบันอุดมศึกษาจะต้องเข้ารับการประเมินทั้ง 2 ขั้นตอนจึงจะได้รับการรับรองมาตรฐานจาก สมศ.ไป 

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

ทีทีบี จับมือ databricks ผสานพลัง Data และ AI สร้างอนาคตการเงินที่ดีขึ้นให้คนไทย

ทีทีบี ตอกย้ำความมุ่งมั่นผลักดันดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชัน สร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับวงการธนาคารไทย จับมือพันธมิตร databricks พร้อมเดินหน้าสร้าง Data-driven Culture ปักธงก้าวสู่ธนาคารที...

Responsive image

LINE SCALE UP เปิดรับสตาร์ทอัพทั่วโลก ต่อยอดธุรกิจกับ LINE ก้าวสู่ระดับสากล

LINE SCALE UP เปิดตัวอย่างเป็นทางการในงาน LINE Thailand Developer Conference 2024 ที่ผ่านมา เฟ้นหาสตาร์ทอัพที่มีศักยภาพ และพร้อมต่อยอดธุรกิจร่วมกับ LINE สู่เป้าหมายยกระดับธุรกิจสตา...

Responsive image

MarTech MarTalk 2024 EP.3 จากต้นกล้าสู่ความสำเร็จ ด้วยการพัฒนาคนและ MarTech

ChocoCRM จัดงานใหญ่ส่งท้ายปีกับงาน MarTech MarTalk 2024 EP.3 From Seeds to Success: Driving Business Growth with People and Marketing Technology ได้รับการตอบรับดีอย่างต่อเนื่องเป็น...