PwC เผย CEO กว่า 3 ใน 4 คาดการณ์เศรษฐกิจกลับมาเติบโตในปี 2564 | Techsauce

PwC เผย CEO กว่า 3 ใน 4 คาดการณ์เศรษฐกิจกลับมาเติบโตในปี 2564

  • ผลสำรวจซีอีโอมากกว่า 5,000 คนทั่วโลกโดย PwC เผยให้เห็นมุมมองเชิงบวกที่แตะระดับสูงเป็นประวัติการณ์
  • 76% ของซีอีโอเชื่อว่าการเติบโตของเศรษฐกิจโลกจะดีขึ้นในปี 2564
  • บรรดาซีอีโอเริ่มกลับมาเชื่อมั่นอีกครั้งว่ารายได้ของบริษัทจะเติบโตขึ้น
  • สหรัฐนำห่างจีนมากขึ้น ในฐานะจุดหมายปลายทางการเติบโตอันดับหนึ่งในสายตาของซีอีโอ
  • การประชุม COP26 จะมีขึ้นในปีนี้ แต่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศยังคงไม่ได้รับการจัดการอย่างเร่งด่วน
  • การเผยแพร่ข้อมูลที่ผิดเลื่อนขึ้นมาเป็นหนึ่งใน 10 อันดับแรกที่ซีอีโอมองว่าเป็นภัยคุกคามต่อการเติบโต

หนึ่งปีหลังจากที่องค์การอนามัยโลกประกาศให้โควิด-19 เป็นโรคระบาดใหญ่ เหล่าซีอีโอต่างแสดงความคิดเห็นเชิงบวกต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกในระดับที่สูงเป็นประวัติการณ์ โดย 76% ของผู้นำธุรกิจทั่วโลกคาดการณ์ว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจจะดีขึ้นในปี 2564

ตัวเลขดังกล่าวมาจากการสำรวจซีอีโอทั่วโลก (Global CEO Survey) ประจำปีครั้งที่ 24 ของ PwC ซึ่งในปีนี้ PwC ได้สำรวจความคิดเห็นของซีอีโอ 5,050 คนใน 100 ประเทศและดินแดนในช่วงเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ 2564

อัตราร้อยละของซีอีโอที่แสดงความเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจจะเติบโต เพิ่มขึ้นจาก 22% ในปี 2563 และ 42% ในปี 2562 และเป็นระดับที่สูงที่สุดนับตั้งแต่เริ่มมีการถามคำถามนี้ในการสำรวจเมื่อปี 2555 

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอเมริกาเหนือและยุโรปตะวันตก พบว่าซีอีโอมีมุมมองเชิงบวกอย่างมากเกี่ยวกับการเติบโตของเศรษฐกิจโลก โดยซีอีโอ 86% ในอเมริกาเหนือ และ 76% ในยุโรปตะวันตกคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจทั่วโลกจะเติบโตดีขึ้นในช่วงหนึ่งปีข้างหน้า

"หลังจากปีแห่งโศกนาฏกรรมของมวลมนุษย์และภาวะเศรษฐกิจฝืดเคืองทั่วโลก จึงนับเป็นเรื่องน่ายินดีที่ได้เห็นว่าผู้ที่มีอำนาจตัดสินใจด้านการลงทุนและการจ้างงานค่อนข้างมีความหวังเกี่ยวกับช่วงเวลาหนึ่งปีข้างหน้า ซีอีโอมีความเชื่อว่าการเติบโตจะกลับคืนมา ซึ่งได้รับแรงหนุนจากการพัฒนาที่รวดเร็วของวัคซีนและการเริ่มฉีดวัคซีนในหลายประเทศ" Bob Moritz ประธาน PwC Network กล่าว

"ในช่วงปีแห่งความวุ่นวายที่ผ่านมา ซีอีโอต้องคิดใหม่ ทำใหม่ พร้อมทั้งจัดการกับงบดุลที่ตึงตัว และให้การสนับสนุนพนักงานที่ต้องเคว้งคว้างท่ามกลางสถานการณ์ที่ไม่ปกติเหล่านี้

"ตอนนี้ซีอีโอต้องเผชิญกับความท้าทายพื้นฐาน 2 ประการ ประการแรกคือ จะทำอย่างไรให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียไว้วางใจในขณะที่พวกเขามีความคาดหวังในธุรกิจสูงยิ่งขึ้นกว่าเดิม และประการที่สอง จะทำอย่างไรให้ธุรกิจสามารถปรับตัวและมอบผลลัพธ์ที่ยั่งยืนท่ามกลางสภาพแวดล้อมภายนอกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว องค์กรที่เข้าใจและรับมือกับความท้าทายเหล่านี้จะสามารถหลุดพ้นจากวิกฤตโรคระบาด พร้อมก้าวเป็นธุรกิจที่แข็งแกร่ง ยืดหยุ่น และมีประสิทธิภาพ สามารถทนต่อเหตุการณ์ที่สร้างแรงสั่นสะเทือนในอนาคตได้"

ความเชื่อมั่นของซีอีโอที่มีต่อการเติบโตของรายได้ ดีดตัวกลับสู่ค่าเฉลี่ยระยะยาว

ซีอีโอมีมุมมองเชิงบวกมากขึ้นเกี่ยวกับแนวโน้มธุรกิจของตนเอง โดย 36% ของซีอีโอที่ตอบแบบสำรวจกล่าวว่าพวกเขา "มั่นใจมาก" ว่ารายได้ขององค์กรมีโอกาสที่จะเติบโตในอีก 12 เดือนข้างหน้า ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 27% ในปี 2563

อย่างไรก็ดี ในขณะที่ความเชื่อมั่นทั่วโลกเพิ่มสูงขึ้น แต่ก็ยังมีความแตกต่างกันอยู่มากในอุตสาหกรรมต่างๆ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงผลกระทบของการแพร่ระบาดที่มีต่อพฤติกรรมของผู้บริโภคในระดับที่แตกต่างกันในแต่ละอุตสาหกรรม โดยซีอีโอในภาคอุตสาหกรรมเทคโนโลยีและโทรคมนาคมมีความเชื่อมั่นสูงสุดที่ 45% และ 43% ตามลำดับ ในขณะที่ซีอีโอในภาคการขนส่งและโลจิสติกส์ (29%) และภาคบริการและการท่องเที่ยว (27%) เป็นกลุ่มที่มีความเชื่อมั่นน้อยที่สุดเกี่ยวกับการเติบโตของรายได้ในช่วง 12 เดือนข้างหน้า

สหรัฐนำห่างจีนมากขึ้น ในฐานะจุดหมายปลายทางอันดับหนึ่งสำหรับการเติบโต

ผลการสำรวจแสดงให้เห็นว่า สหรัฐยังคงความเป็นผู้นำในฐานะตลาดอันดับหนึ่งที่ซีอีโอแสวงหาการเติบโตในช่วง 12 เดือนข้างหน้า โดยอยู่ที่ 35% นำห่างจีนซึ่งอยู่ที่ 28% ออกไป 7% ขณะที่ในปี 2563 สหรัฐนำจีนเพียงหนึ่งเปอร์เซ็นต์เท่านั้น

เหตุการณ์ใหม่ ๆ ทางด้านการเมืองและความตึงเครียดที่มีอยู่เดิมส่งผลต่อมุมมองของซีอีโอในสหรัฐ โดยซีอีโอในสหรัฐลดการให้ความสำคัญกับจีน ในแง่ของการเป็นตลาดที่ขับเคลื่อนการเติบโต และเพิ่มความสนใจไปที่แคนาดาและเม็กซิโก โดยเมื่อเทียบกับปี 2563 ความสนใจของซีอีโอสหรัฐที่มีต่อสองประเทศหลังเพิ่มขึ้น 78% ในขณะเดียวกันซีอีโอของจีนแสดงความสนใจเพิ่มขึ้นในประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ เช่น สหรัฐ เยอรมนี และญี่ปุ่น ในฐานะที่เป็นจุดหมายการส่งออก

เยอรมนียังคงครองอันดับสามในรายชื่อจุดหมายปลายทางการเติบโต ที่ 17% ในขณะที่สหราชอาณาจักร ยุคหลัง Brexit ขยับขึ้นเป็นอันดับสี่ (11%) แซงหน้าอินเดีย (8%) ส่วนญี่ปุ่นไต่อันดับขึ้นเช่นกันมาอยู่ในอันดับที่หก เบียดแซงออสเตรเลียซึ่งครองอันดับดังกล่าวเมื่อปีที่แล้ว

การประชุม COP26 จะมีขึ้นในปีนี้ แต่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศยังคงไม่ได้รับการจัดการอย่างเร่งด่วน

อัตราร้อยละของซีอีโอที่แสดงความกังวลเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเพิ่มขึ้นจาก 24% ในปี 2563 เป็น 30% ในปี 2564 ซึ่งเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยในบริบทของ COP26 ซึ่งมีกำหนดจัดขึ้นในปีนี้ที่เมืองกลาสโกว์ สหราชอาณาจักร ขณะเดียวกัน ผลสำรวจพบว่าซีอีโอมีความวิตกกังวลเพิ่มขึ้นเกี่ยวกับภัยคุกคามเกือบทุกประเภท

ในการรับรู้ของเหล่าซีอีโอเกี่ยวกับภัยคุกคามต่อการเติบโตนั้น ปรากฏว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอยู่ที่เพียงอันดับเก้า ยิ่งไปกว่านั้น ซีอีโออีก 27% ตอบว่า "ไม่กังวลเลย" หรือ "ไม่ค่อยกังวล" เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งอาจเป็นเพราะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไม่ได้ถูกมองว่าเป็นภัยคุกคามต่อการเติบโตในทันทีเมื่อเทียบกับปัญหาอื่น ๆ เช่น โรคระบาด การกำกับดูแลที่มากเกินไป และภัยคุกคามทางไซเบอร์

ในขณะเดียวกัน 39% ของซีอีโอเชื่อว่าองค์กรของพวกเขาจำเป็นต้องทำมากกว่านี้เพื่อ 'ประเมิน' ผลกระทบของการดำเนินธุรกิจที่มีต่อสิ่งแวดล้อม และ 43% เชื่อว่าองค์กรของพวกเขาต้องทำมากกว่านี้เพื่อ 'รายงาน' ผลกระทบดังกล่าว ซึ่งเป็นสัดส่วนที่มากกว่าการเปิดเผยข้อมูลด้านอื่น ๆ และถือเป็นเรื่องที่น่ายินดี เนื่องจากการที่องค์กรเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับผลกระทบของการดำเนินธุรกิจที่มีต่อสิ่งแวดล้อมได้มากขึ้นและดีขึ้นนั้น จะเป็นกุญแจสำคัญในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงไปสู่เศรษฐกิจที่ปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Economy)

อย่างไรก็ตาม 60% ของซีอีโอยังไม่ได้รวมความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศเข้าเป็นส่วนหนึ่งในแผนงานบริหารความเสี่ยงเชิงกลยุทธ์ ซึ่งนับว่าน่ากังวล เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศก่อให้เกิดความเสี่ยงเพิ่มขึ้น ทั้งความเสี่ยงทางกายภาพและความเสี่ยงจากการเปลี่ยนผ่านทางธุรกิจ โดยในระดับประเทศ พบว่าซีอีโอในประเทศที่มีความเสี่ยงสูงต่อภัยธรรมชาติ เช่น อินเดีย และ จีน กลับมีการเตรียมความพร้อมรับความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศน้อยที่สุด

นอกจากนี้ ในขณะที่โควิด-19 ส่งผลให้ซีอีโอ 23% วางแผนที่จะเพิ่มการลงทุนอย่างมีนัยสำคัญในโครงการด้านความยั่งยืน แต่ซีอีโอเกือบหนึ่งในสามกลับไม่ได้วางแผนที่จะเพิ่มการลงทุนดังกล่าวเลย

Bob Moritz กล่าวว่า "เพื่อรับมือกับความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ที่สุดที่โลกของเราเผชิญอยู่ในปัจจุบัน เราจำเป็นต้องเปลี่ยนแรงจูงใจใหม่ที่จะผลักดันให้เกิดการตัดสินใจ ซึ่งการที่จะทำได้นั้น ตลาดการเงินจะต้องมีมุมมองที่กว้างขึ้นในเรื่องของคุณค่า โดยไม่จำกัดอยู่แค่เพียงผลตอบแทนทางการเงินและมูลค่าระยะสั้นเท่านั้น เพื่อที่เงินทุนจะได้ไหลไปยังที่ที่เหมาะสม การที่องค์กรรายงานข้อมูลที่ไม่ใช่ข้อมูลทางการเงิน และเป็นการรายงานที่ดีขึ้นและสามารถเปรียบเทียบได้ก็นับว่ามีความสำคัญเช่นกัน เพื่อที่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจะได้เห็นว่าบริษัทสร้างคุณค่าแก่สังคมและโลกของเรา ตลอดจนบรรลุวัตถุประสงค์ทางการเงินของบริษัทได้อย่างไร บริษัทที่ทำสิ่งนี้ได้จะสามารถยกระดับแบรนด์ และสร้างความไว้วางใจให้กับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง"

ความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ นโยบายภาษี และการเผยแพร่ข้อมูลที่ผิด เป็นประเด็นที่สร้างความกังวลมากขึ้น

ไม่น่าแปลกใจที่สถานการณ์การแพร่ระบาดและวิกฤตด้านสุขภาพ[1] ติดอันดับหนึ่งในการสำรวจภัยคุกคามต่อแนวโน้มการเติบโต แซงหน้าความกังวลเรื่องการออกกฎระเบียบที่เข้มงวดเกินไป ซึ่งเป็นความกังวลอันดับหนึ่งของซีอีโอทั่วโลกอย่างต่อเนื่องยาวนานมาตั้งแต่ปี 2557

กระแสการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลกำลังเพิ่มความเสี่ยงที่เกิดจากภัยคุกคามทางไซเบอร์ เมื่อรวมกับเหตุการณ์ด้านความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ที่เพิ่มขึ้นอย่างมากในปี 2563 ซึ่งรวมถึงการโจมตีด้วยไวรัสเรียกค่าไถ่ (ransomware) จึงส่งผลให้ภัยคุกคามทางไซเบอร์กระโดดขึ้นมาเป็นความกังวลอันดับสอง โดยซีอีโอ 47% แสดงความกังวลในเรื่องดังกล่าว เพิ่มขึ้นจากระดับ 33% ในปี 2563 โดยเฉพาะอย่างยิ่งซีอีโอในอเมริกาเหนือและยุโรปตะวันตก มองว่าความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์เป็นภัยคุกคามที่น่ากังวลยิ่งกว่าโรคระบาด

นอกจากนี้ อีกหนึ่งความกังวลที่ไต่อันดับขึ้นอย่างรวดเร็วคือ การแพร่กระจายของข้อมูลที่ผิด (28% เพิ่มขึ้นจาก 16% ในปี 2563) ซึ่งส่งผลกระทบต่อการเลือกตั้ง ชื่อเสียง และสาธารณสุข อันจะส่งผลสืบเนื่องให้ความไว้วางใจในสังคมลดลง

ในปี 2563 ความไม่แน่นอนเกี่ยวกับนโยบายภาษีไม่ติดสิบอันดับแรกในการสำรวจความกังวลของซีอีโอ โดยมีซีอีโอเพียง 19% เท่านั้นที่กังวลในเรื่องนี้ อย่างไรก็ดี ประเด็นดังกล่าวถูกให้ความสำคัญเพิ่มขึ้นอย่างมากในปีนี้ โดยพุ่งขึ้นมาอยู่ในอันดับที่เจ็ด (31%) เนื่องจากซีอีโอต่างจับตาหนี้สาธารณะสะสม และตระหนักดีว่าภาษีธุรกิจมีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้น

การลงทุนดิจิทัลสำหรับอนาคต

เมื่อถามเกี่ยวกับการใช้จ่ายเพื่อการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล ซีอีโอเกือบครึ่งหนึ่ง (49%) คาดการณ์ว่าจะเพิ่มการใช้จ่าย 10% หรือมากกว่านั้น อย่างไรก็ตาม แม้ว่าซีอีโอจะแสดงความกังวลเกี่ยวกับการโจมตีทางไซเบอร์เพิ่มมากขึ้น แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะมีการดำเนินการใด ๆ เพื่อรับมือ ผลสำรวจยังพบด้วยว่า ซีอีโอไม่ถึงครึ่งหนึ่งที่วางแผนลงทุนดิจิทัลเพิ่มขึ้น กำลังวางแผนที่จะเพิ่มการใช้จ่ายอย่างน้อย 10% ในด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์และความเป็นส่วนตัวของข้อมูลด้วย

ในขณะเดียวกัน ซีอีโอจำนวนมากขึ้นที่ 36% วางแผนที่จะใช้ระบบอัตโนมัติและเทคโนโลยีเพื่อทำให้บุคลากรมีความสามารถในการแข่งขันสูงขึ้น ซึ่งเพิ่มขึ้นสองเท่าจากเมื่อปี 2559

Bob Moritz กล่าวเพิ่มเติมว่า "ในโอกาสครบรอบหนึ่งปีของการแพร่ระบาด เรากำลังมาถึงจุดเปลี่ยนเนื่องจากการฉีดวัคซีนเริ่มต้นขึ้นแล้วในหลายประเทศทั่วโลก แม้ว่ารูปแบบของการฟื้นตัวจะยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด แต่สิ่งที่ชัดเจนคือ เราไม่สามารถย้อนกลับไปสู่วิถีทางแบบเดิม ๆ ได้ ทั้งนี้ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการเปลี่ยนแปลง ซีอีโอจะต้องคิดต่าง และประเมินการตัดสินใจและการกระทำของตนอย่างต่อเนื่องเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบทางสังคมในวงกว้าง ซึ่งการที่จะทำดังกล่าว ซีอีโอจะเป็นต้องกำหนดแนวทางที่สร้างความไว้วางใจและมอบผลลัพธ์ที่ยั่งยืนให้แก่ผู้ถือหุ้น สังคมและโลกของเรา"

หมายเหตุ :

PwC สำรวจความคิดเห็นซีอีโอจำนวน 5,050 คนใน 100 ประเทศและดินแดนในเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ 2564 ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 3,501 คนในการสำรวจเมื่อปีที่แล้ว ตัวเลขระดับโลกและระดับภูมิภาคในรายงานฉบับนี้อ้างอิงจากซีอีโอ 1,779 คน ซึ่งได้จากการคัดเลือกกลุ่มตัวอย่างย่อยให้ได้สัดส่วนกับ GDP ของแต่ละประเทศ เพื่อให้แน่ใจว่าความคิดเห็นของซีอีโอกลุ่มนี้สะท้อนมุมมองของซีอีโอทั่วทุกภูมิภาคหลัก ๆ สำหรับผู้ที่ต้องการรายละเอียดเพิ่มเติมเป็นรายภูมิภาค ประเทศและอุตสาหกรรม สามารถติดต่อเพื่อขอข้อมูลได้

ซีอีโอ 1,779 คน ซึ่งให้คำตอบที่ถูกนำมาใช้เป็นตัวเลขอ้างอิงในระดับโลกและระดับภูมิภาคนั้น ประกอบด้วย

  • 6% มาจากองค์กรที่มีรายได้ตั้งแต่ 25 พันล้านดอลลาร์สหรัฐขึ้นไป

  • 9% มาจากองค์กรที่มีรายได้ระหว่าง 1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐถึง 2.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ

  • 35% มาจากองค์กรที่มีรายได้ระหว่าง 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐถึง 1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ

  • 34% มาจากองค์กรที่มีรายได้ระหว่าง 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐถึง 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

  • 14% มาจากองค์กรที่มีรายได้ไม่เกิน 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

  • 60% มาจากองค์กรที่เป็นของเอกชน



ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

SCB 10X เปิดเวที “Typhoon 2 Unveiled: Advancing AI Research in Thailand” เดินหน้าวิจัย AI ไทย พร้อมเปิดตัว ‘ไต้ฝุ่น 2.0’ เวอร์ชั่นใหม่ล่าสุด

SCB 10X เปิดตัว "ไต้ฝุ่น 2" โมเดลภาษาไทยขนาดใหญ่สุดล้ำในงาน Typhoon 2 Unveiled: Advancing AI Research in Thailand พร้อมยกระดับวิจัย AI ไทยสู่เวทีโลก...

Responsive image

จุฬาฯ จับมือ KBTG เปิดตัว AI LUCA และ Virtual Patient ในงาน Chula the Impact ครั้งที่ 29 ภายใต้หัวข้อ “Chula-KBTG: AI for the Future”

จุฬาฯ จับมือ KBTG เปิดตัว AI LUCA และ Virtual Patient ในงาน Chula the Impact ครั้งที่ 29 มุ่งขับเคลื่อนอนาคตการศึกษาไทยด้วยเทคโนโลยี AI สู่ยุคดิจิทัล...

Responsive image

ส.อ.ท. เตรียมจัด FTI EXPO 2025 รวมสุดยอดนวัตกรรมอุตสาหกรรมไทย

สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ผนึกกำลังพันธมิตรองค์กรชั้นนำ จัดงาน FTI EXPO 2025 ภายใต้แนวคิด “4GO” ที่ครอบคลุม 4 ด้านสำคัญ ได้แก่ ดิจิทัล นวัตกรรม การขยายตลาดสู่ต่างประเทศ แ...