รองเลขาธิการ กสทช. เผยหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้สิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียม | Techsauce

รองเลขาธิการ กสทช. เผยหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้สิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียม

พล.อ.ท.ดร.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ รองเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (รองเลขาธิการ กสทช.) กล่าวว่า วันนี้ (2 ธันวาคม 2563) สำนักงาน กสทช. ได้จัดการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะต่อ (ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้สิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมในลักษณะจัดชุด (Package) เพื่อรับฟังความคิดเห็นตามมาตรา 28 แห่ง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 ซึ่งได้ผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุม กสทช. เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2563 

พล.อ.ท.ดร.ธนพันธุ์ กล่าวว่า สาระสำคัญของร่างประกาศฉบับนี้ คือ การนำสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมหรือที่เรียกว่าเอกสารข่ายงานดาวเทียม (Satellite Network Filing) ทั้งหมดที่ประเทศไทยมีอยู่ ทั้งในขั้นสมบูรณ์และขั้นต้น มาจัดเป็นชุด (Package) ตามวงโคจร (Slot) ทั้งหมด 4 ชุด พร้อมกำหนดราคาขั้นต่ำ เพื่อจะนำสิทธิดังกล่าวมาอนุญาตตามหลักเกณฑ์และวิธีการ โดยชุดข่ายงานดาวเทียมทั้ง 4 ชุด ได้แก่

  • ชุดที่ 1 ประกอบด้วย วงโคจร 50.5E (ข่ายงาน C1, N1 และ P1R) และ วงโคจร 51E (ข่ายงาน 51) ราคาขั้นต่ำ 728.199 ล้านบาท 
  • ชุดที่ 2 ประกอบด้วย วงโคจร 78.5E (ข่ายงาน A2B และ LSX2R) ราคาขั้นต่ำ 366.488 ล้านบาท 
  • ชุดที่ 3 ประกอบด้วย วงโคจร 119.5E (ข่ายงาน IP1, P3 และ LSX3R) และ วงโคจร 120E (ข่ายงาน 120E) ราคาขั้นต่ำ 748.565 ล้านบาท 
  • ชุดที่ 4 ประกอบด้วย วงโคจร 126E (ข่ายงาน 126E) และ วงโคจร 142E (ข่ายงาน G3K และ N5) ราคาขั้นต่ำ 364.687 ล้านบาท 

ทั้งนี้การประเมินราคาขั้นต่ำนั้น คำนวณตามต้นทุนที่เกิดขึ้นจริงในการให้ได้มาซึ่งเอกสารข่ายงานดาวเทียมในแต่ละข่ายงาน เช่น มูลค่าเริ่มต้นในการขอข่ายงาน หรือ ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นกับ ITU เป็นต้น รวมกับมูลค่าโอกาสในการเข้าสู่ธุรกิจ ทำให้ข่ายงานที่อยู่ในขั้นสมบูรณ์มีมูลค่ามากกว่าขั้นต้น เนื่องจากสามารถสร้างและส่งดาวเทียมเข้าสู่วงโคจรเพื่อประกอบการได้ทันที อย่างไรก็ตามนอกเหนือจากผู้ที่ได้รับการคัดเลือกต้องชำระค่าธรรมเนียมตามราคาที่เสนอสูงสุดแล้ว ยังต้องชำระค่าธรรมเนียมการอนุญาตให้ใช้สิทธิการใช้วงโคจรดาวเทียมรายปีในอัตรา 0.25 % ของรายได้ก่อนหักค่าใช้จ่าย รวมทั้งค่าธรรมเนียมใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมแบบที่ 3 ในอัตราไม่เกิน 1.5 % และ ค่าธรรมเนียม USO ในอัตรา 2.5 % ของรายได้ก่อนหักค่าใช้จ่าย ตลอดจนค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริงที่เกี่ยวกับการประสานงานคลื่นความถี่ และตามที่ ITU เรียกเก็บอีกด้วย

พล.อ.ท.ดร.ธนพันธุ์ กล่าวว่า สำหรับวิธีการคัดเลือกนั้นแม้ตามกฎหมายไม่ได้กำหนดว่าต้องใช้วิธีการประมูล อย่างไรก็ตามเพื่อให้เกิดความโปร่งใส และสร้างสมดุลในเรื่องการรักษาสิทธิและประโยชน์ที่ประเทศชาติ และประชาชนจะได้รับ จึงได้กำหนดวิธีการคัดเลือกเป็น 2 ขั้นตอน คือ 

ขั้นตอนที่ 1 การพิจารณาข้อเสนอด้านประสบการณ์และความสามารถในการดำเนินการ

โดยมีเกณฑ์ เช่น ประสบการณ์การดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับกิจการดาวเทียม แผนการใช้งานข่ายงานดาวเทียม ข้อเสนอช่องสัญญาณสำหรับบริการสาธารณะ หรือข้อเสนอการลงทุนเพื่อการวิจัยและพัฒนา เป็นต้น ทั้งนี้ต้องมีการวางหลักประกัน 10% ของราคาขั้นต่ำในแต่ละชุด โดยผู้เข้าร่วมการคัดเลือกจะต้องได้รับคะแนนในแต่ละเกณฑ์ไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 และได้คะแนนประเมินรวมเฉลี่ยไม่น้อยกว่าร้อยละ 75 จึงจะผ่านเข้าสู่ขั้นตอนที่สอง 

ขั้นตอนที่ 2 การพิจารณาข้อเสนอด้านราคา โดยเลือกผู้ชนะจากการยื่นข้อเสนอด้านราคาสูงสุด

โดยผู้ชนะในแต่ละชุดจะได้รับการอนุญาตให้ใช้สิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียม มีอายุการอนุญาต 20 ปี โดยมีเงื่อนไขที่สำคัญ เช่น ต้องมีดาวเทียมใช้งานจริงกับข่ายงานขั้นสมบูรณ์เพื่อเป็นการรักษาไว้ซึ่งสิทธิตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติ และจะได้รับการคุ้มครองสิทธิโดย กสทช.จะไม่อนุญาตให้มีการมาขอส่งเอกสารข่ายงานใหม่สำหรับวงโคจรนั้นอีกเป็นระยะเวลา 5 ปี อย่างไรก็ตามต้องมีแผนปฏิบัติการเพื่อรองรับเหตุฉุกเฉินและประกันการใช้งานต่อเนื่อง รวมทั้งการจัดให้มีช่องสัญญาณเพื่อบริการสาธารณะและประโยชน์ของรัฐไม่ต่ำกว่า 10% ของความจุของดาวเทียม รวมทั้งต้องรับผิดชอบแทนภาครัฐกรณีที่ก่อให้เกิดความเสียหายตามข้อตกลงระหว่างประเทศ เป็นต้น

สำหรับข้อคิดเห็นที่ได้รับจากการรับฟังความคิดเห็นในเบื้องต้นโดยสรุปนั้น ผู้ประกอบการยังมีความกังวลในเรื่องราคาขั้นต่ำและค่าธรรมเนียมที่เกรงว่าจะเป็นภาระทำให้ไม่สามารถแข่งขันกับดาวเทียมต่างชาติได้ เนื่องจากการเปลี่ยนมาสู่ระบบการอนุญาตครั้งนี้ไม่ใช่ในลักษณะให้สิทธิแบบระบบสัมปทานและในอนาคตยังมีการเข้ามาแข่งขันจากดาวเทียมต่างชาติที่ กสทช. กำหนดค่าธรรมเนียมไว้เพียง 3.2% เท่านั้น ในขณะเดียวกันกับภาครัฐที่กังวลกับรายได้ที่จะได้ว่าน้อยเกินไปหรือไม่จากราคาขั้นต่ำทั้ง 4 ชุดรวมกัน 2,207.939 ล้านบาท แต่เมื่อเปรียบเทียบกับสัญญาสัมปทานเดิมที่รัฐได้รับประกันรายได้ขั้นต่ำเพียง 1,415 ล้านบาท กับระยะเวลาผูกขาด 30 ปี รวมทั้งในประเด็นข้อจำกัดด้านเวลาของบางข่ายงานที่ต้องรีบดำเนินการสร้างและส่งดาวเทียมเข้าสู่วงโคจรทำให้ต้องมั่นใจได้ว่าผู้ชนะและได้รับการอนุญาตต้องมีความพร้อมจริงในการดำเนินการไม่มีการทิ้งงานเพราะจะส่งผลเสียหายต่อสิทธิวงโคจรของประเทศไทยจึงควรมีบทลงโทษที่ชัดเจนหรือป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาดังกล่าว

พล.อ.ท.ดร.ธนพันธุ์ฯ กล่าวทิ้งท้ายว่า “กิจการดาวเทียมไทยจะเปลี่ยนจากระบบสัมปทานมาสู่ระบบใบอนุญาตอย่างเป็นรูปธรรม และเป็นการแก้ไขปัญหาการเกิดสุญญากาศหลังดาวเทียมไทยคม 8 นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2559 ที่ไม่สามารถนำดาวเทียมไทยขึ้นสู่วงโคจรได้ อย่างไรก็ตาม สำนักงาน กสทช.พร้อมที่จะนำข้อคิดเห็นต่างๆ มาพิจารณาและปรับปรุงให้มีความเหมาะสม เนื่องจากต้องยอมรับว่า กสทช.แม้มีประสบการณ์ในการประมูลคลื่นความถี่ แต่คลื่นความถี่และสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมนั้นมีความแตกต่าง ดังนั้น ครั้งนี้จึงเป็นครั้งแรกที่จะเกิดการอนุญาตหรือเปิดตลาดเสรีดาวเทียมไทย และส่งผลให้กิจการดาวเทียมไทยมีการเดินหน้าต่อยอดต่อไปได้อย่างโปร่งใสและเป็นธรรม เพื่อที่จะให้ประชาชนได้รับบริการจากเทคโนโลยีใหม่ที่มีความก้าวกระโดดของดาวเทียมทั้งในส่วนของ Broadcast และ Broadband ต่อไป”

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

ทีทีบี จับมือ databricks ผสานพลัง Data และ AI สร้างอนาคตการเงินที่ดีขึ้นให้คนไทย

ทีทีบี ตอกย้ำความมุ่งมั่นผลักดันดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชัน สร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับวงการธนาคารไทย จับมือพันธมิตร databricks พร้อมเดินหน้าสร้าง Data-driven Culture ปักธงก้าวสู่ธนาคารที...

Responsive image

LINE SCALE UP เปิดรับสตาร์ทอัพทั่วโลก ต่อยอดธุรกิจกับ LINE ก้าวสู่ระดับสากล

LINE SCALE UP เปิดตัวอย่างเป็นทางการในงาน LINE Thailand Developer Conference 2024 ที่ผ่านมา เฟ้นหาสตาร์ทอัพที่มีศักยภาพ และพร้อมต่อยอดธุรกิจร่วมกับ LINE สู่เป้าหมายยกระดับธุรกิจสตา...

Responsive image

MarTech MarTalk 2024 EP.3 จากต้นกล้าสู่ความสำเร็จ ด้วยการพัฒนาคนและ MarTech

ChocoCRM จัดงานใหญ่ส่งท้ายปีกับงาน MarTech MarTalk 2024 EP.3 From Seeds to Success: Driving Business Growth with People and Marketing Technology ได้รับการตอบรับดีอย่างต่อเนื่องเป็น...