Sasol บริษัทพลังงานและเคมีภัณฑ์ระดับโลก ตั้งเป้าเลิกปล่อยก๊าซเรือนกระจก ภายในปี 2050 เร่งเปลี่ยนผ่านสู่โลกคาร์บอนต่ำ | Techsauce

Sasol บริษัทพลังงานและเคมีภัณฑ์ระดับโลก ตั้งเป้าเลิกปล่อยก๊าซเรือนกระจก ภายในปี 2050 เร่งเปลี่ยนผ่านสู่โลกคาร์บอนต่ำ

Sasol Limited (Sasol) ประกาศความมุ่งมั่นปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2050 ซึ่งสอดคล้องกับพันธกิจของ Sasol ในการเร่งเปลี่ยนผ่านสู่โลกคาร์บอนต่ำเพื่อสนับสนุนเป้าหมายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศตามความตกลงปารีส (Paris Agreement)

เพื่อที่จะบรรลุพันธกิจในปี 2050 Sasol ได้เพิ่มเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHG) ทางตรง (Scope 1) และทางอ้อมจากการใช้พลังงาน (Scope 2) ในปี 2030 เดิมประกาศเมื่อปีที่แล้วว่า การดำเนินงานของบริษัทในภูมิภาคแอฟริกาตอนใต้จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 10% ภายในปี 2030 เพิ่มเป็น 30% สำหรับธุรกิจพลังงานและเคมีภัณฑ์ เทียบกับปีฐาน 2017 นอกจากนี้ บริษัทยังกำหนดเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อมจากกิจกรรมอื่นๆ (Scope 3) สำหรับธุรกิจพลังงาน เทียบกับปีฐาน 2019 ซึ่งเป็นเป้าหมายที่สอดคล้องกับบริษัทอื่นๆ ในอุตสาหกรรม

Fleetwood Grobler ประธานและประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ Sasol กล่าวว่า "จากการประเมินโดยละเอียดและการสร้างแบบจำลอง เราจะสามารถบรรลุเป้าหมายปี 2030 ได้โดยไม่ต้องยกเลิกหรือถอนการลงทุน แต่เราสามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้โดยตรงจากสินทรัพย์ที่เรามีอยู่ในปัจจุบัน"

"สิ่งนี้จะสำเร็จได้ด้วยการผสมผสานพลังงานและประสิทธิภาพของกระบวนการผลิต การลงทุนในพลังงานหมุนเวียน และการเปลี่ยนไปใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นวัตถุดิบตั้งต้นในห่วงโซ่คุณค่าของเราในภูมิภาคแอฟริกาตอนใต้ โซลูชันเหล่านี้เป็นที่รู้จักกันดีและส่วนใหญ่อยู่ภายใต้การควบคุมของเรา และการลงทุนจะต้องมีความคุ้มค่า ด้วยการรักษาผลตอบแทนที่แข็งแกร่ง และให้สูงกว่าต้นทุนของเงินทุน"

หลังจากปี 2030 Sasol มีเส้นทางที่เป็นไปได้มากกว่าหนึ่งเส้นทางเพื่อไปสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ภายในปี 2050 โดยบริษัทมีทางเลือกต่างๆ ในการเปลี่ยนแปลงห่วงโซ่คุณค่าของแอฟริกาตอนใต้ ด้วยการเปลี่ยนวัตถุดิบตั้งต้นจากถ่านหินไปเป็นก๊าซให้มากขึ้น จากนั้นจึงค่อยๆ เปลี่ยนไปใช้ไฮโดรเจนสีเขียวและคาร์บอนที่ยั่งยืนในระยะยาว ในขณะที่เศรษฐกิจจะปรับตัวดีขึ้นสำหรับทางเลือกเหล่านี้

"ในอนาคตที่ไม่แน่นอน แนวทางนี้จะทำให้เรามีความคล่องตัวและสามารถปรับตัวได้ เมื่อเรามีตัวช่วยที่คุ้มทุน นอกจากนี้ เรายังหลีกเลี่ยงการถูกจำกัดด้วยโครงสร้างพื้นฐานและการใช้จ่ายด้านทุน" Grobler กล่าว

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เทคโนโลยี Fischer-Tropsch (FT) ที่เป็นกรรมสิทธิ์ของ Sasol จะมีบทบาทสำคัญในอนาคตคาร์บอนต่ำ ด้วยการนำเสนอคุณค่าใหม่ๆ ที่น่าสนใจ

"กล่าวคือ เรากำลังจะจัดตั้งธุรกิจใหม่ที่ชื่อว่า Sasol ecoFT ด้วยความตั้งใจที่จะต่อยอดความเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีของเรา เพื่อสร้างตำแหน่งทางการตลาดที่สำคัญในระดับสากล หนึ่งในการใช้งานแรกๆ สำหรับเทคโนโลยีนี้น่าจะเป็นน้ำมันอากาศยานแบบยั่งยืน (SAF) เนื่องจากกฎระเบียบใหม่ๆ ทำให้เชื้อเพลิงชนิดนี้เป็นที่ต้องการมากขึ้น ประกอบกับเทคโนโลยีและวัตถุดิบตั้งต้นในปัจจุบันมีข้อจำกัดที่ FT สามารถจัดการรับมือได้"

การเปลี่ยนแปลงที่เป็นธรรม

จากการที่เศรษฐกิจทั่วโลกเปลี่ยนแปลงระบบพลังงาน สถานการณ์นี้จะพลิกโฉมอุตสาหกรรม เปลี่ยนกลุ่มของคุณค่าและตลาดแรงงาน ตลอดจนทำให้เกิดความต้องการทักษะและความสามารถที่หลากหลายในภูมิศาสตร์ที่แตกต่างกัน Sasol จะดำเนินการเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรมผ่านรอยเท้าทางภูมิศาสตร์ โดยมีเป้าหมายเพื่อปกป้องและส่งเสริมโอกาสการจ้างงานผ่านการพัฒนากลุ่มของคุณค่าสำหรับพลังงานใหม่

โดยเฉพาะอย่างยิ่งแอฟริกาใต้ที่ให้คำมั่นผลิตพลังงานหมุนเวียนและไฮโดรเจนสีเขียวต้นทุนต่ำสำหรับใช้เองและเพื่อโอกาสในการส่งออก ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในอุตสาหกรรมและรัฐบาลจึงต้องร่วมกันจัดทำแผนระดับชาติ เพื่อพัฒนาโอกาสและเพิ่มการกระจายสู่ท้องถิ่น เพื่อสร้างงานและความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ

"แม้ผลกระทบของแรงงานมีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นหลังปี 2030 แต่เราจำเป็นที่จะต้องป้องกันล่วงหน้าตั้งแต่ตอนนี้ ด้วยการวางแผนทุนมนุษย์ในระยะยาวที่เหมาะสม ซึ่งรวมถึงการบริหารจัดการแรงงานที่อยู่ในภาคเชื้อเพลิงฟอสซิล และการลงทุนในการสร้างทักษะใหม่ (reskill) เพื่อตอบสนองเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำในอนาคต" Grobler กล่าว

ธุรกิจของ Sasol ในอนาคต

ธุรกิจพลังงานของ Sasol ถือเป็นผู้นำการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานในภูมิภาคแอฟริกาใต้ตอนใต้ ด้วยฐานสินทรัพย์ที่ได้เปรียบ โดยราคาน้ำมัน ณ จุดคุ้มทุนเงินสดอยู่ที่ต่ำกว่า 35 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และในฐานะหนึ่งในผู้ผลิตไฮโดรเจนสีเทารายใหญ่ที่สุดของโลก Sasol จะใช้ประโยชน์จากความเชี่ยวชาญนี้ในการกำจัดเชื้อเพลิงคาร์บอนผ่านการใช้วัตถุดิบตั้งต้นที่มีคาร์บอนต่ำลง ขณะที่เพิ่มการผลิตเชื้อเพลิงและพลังงานที่ยั่งยืนในราคาที่แข่งขันได้

ในส่วนของธุรกิจเคมีภัณฑ์ Sasol จะเดินหน้าคว้าโอกาสการเติบโตผ่านคุณสมบัติทางเคมีที่มีลักษณะเฉพาะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเทคโนโลยี FT และ Ziegler-Alumina-Guerbet ทั้งนี้ ด้วยโรงงานในเลกชาร์ลส์ที่เปิดดำเนินการอย่างเต็มรูปแบบแล้วในตอนนี้ Sasol จึงมีเส้นทางที่ชัดเจนในการสร้างกระแสเงินสดเมื่อกำลังการผลิตเพิ่มขึ้น ซึ่งจะช่วยเร่งการเติบโตในส่วนของสารเคมีชนิดพิเศษและสารเคมีที่ยั่งยืน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Essential Care Chemicals และ Advanced Materials ซึ่ง Sasol เป็นผู้นำตลาดอยู่แล้ว

Sasol ecoFT จะมุ่งเน้นไปที่การสร้างธุรกิจใหม่ที่ยั่งยืนโดยใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี FT ปัจจุบัน FT ใช้ไฮโดรเจนและคาร์บอนที่ได้จากเชื้อเพลิงฟอสซิล อย่างไรก็ดี เทคโนโลยีนี้มีศักยภาพที่จะเปลี่ยนไปใช้ไฮโดรเจนสีเขียวและคาร์บอนที่ยั่งยืนเป็นวัตถุดิบตั้งต้น เช่น ชีวมวล คาร์บอนที่ได้จากกระบวนการที่มีการปล่อยคาร์บอนเข้มข้น ไปจนถึงการดักจับอากาศโดยตรง

"เทคโนโลยี FT ถือเป็นหัวใจสำคัญของห่วงโซ่คุณค่าในภูมิภาคแอฟริกาตอนใต้ และทำให้เรามีความพร้อมที่จะดำเนินการแยกคาร์บอนออกจากวัตถุดิบที่มีคาร์บอนต่ำ ตลอดจนเพิ่มการผลิตเชื้อเพลิงและสารเคมีที่ยั่งยืนซึ่งแข่งขันได้ในด้านต้นทุน" Grobler กล่าว

ใช้เงินทุนของตนเองในการเดินหน้าการเปลี่ยนผ่าน พร้อมส่งมอบผลตอบแทนที่ยั่งยืน

กลยุทธ์ที่มีการกำหนดเป้าหมายใหม่ของ Sasol ได้รับการสนับสนุนโดยกรอบการทำงานทางการเงินที่จะช่วยให้บริษัทสามารถเพิ่มมูลค่าร่วมกัน ควบคู่ไปกับการเดินหน้าเร่งการเปลี่ยนผ่าน ตลอดจนกลับมาจ่ายเงินปันผลที่ยั่งยืนและยืดหยุ่นให้แก่ผู้ถือหุ้นของเรา

"ด้วยกรอบการจัดสรรทุน ตลอดจนโครงสร้างการกำกับดูแลที่มีความชัดเจนและได้รับการปรับปรุงใหม่ให้ทันสมัย เราจะมั่นใจได้ว่าการตัดสินใจทั้งหมดที่เกี่ยวกับเงินทุนจะมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลเพื่อนำทางไปสู่อนาคตของ Sasol" Paul Victor ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงินของกลุ่มบริษัท Sasol กล่าว

ในช่วงแรกของแผนระยะสั้นถึงระยะกลาง หรือจนถึงปี 2025 Sasol จะเสริมความแข็งแกร่งให้กับงบดุล ควบคู่ไปกับการปรับปรุงความสามารถในการแข่งขันด้านต้นทุนและความสามารถในการเพิ่มการสร้างกระแสเงินสดในสถานการณ์ราคาน้ำมันตกต่ำ โดย Sasol ตั้งเป้าเพิ่มอัตราส่วนผลตอบแทนต่อเงินลงทุน (ROIC) เป็น 12-15% ในช่วงเวลานี้

สำหรับในช่วงที่สองของแผนระยะสั้นถึงระยะกลาง หรือจนถึงปี 2030 บริษัทจะมุ่งให้ความสำคัญในเรื่องความสมดุลระหว่างผลตอบแทนกับการลงทุนในแผนการเปลี่ยนผ่านของ Sasol โดยในช่วงนี้ Sasol วางแผนที่จะลงทุนราว 20-25 พันล้านแรนด์ต่อปีเพื่อรักษาฐานสินทรัพย์ ปฏิบัติตามกฎระเบียบด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อมและอากาศที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ตลอดจนสนับสนุนเงินทุนในการเปลี่ยนผ่านเพื่อให้บรรลุเป้าหมายลดการปล่อย GHG 30% โดยในส่วนนี้รวมเงินทุนเพื่อการเปลี่ยนแปลงโดยรวมจนถึงปี 2030 ที่ 15-25 พันล้านแรนด์ ในขณะที่คาดการณ์ว่า ROIC จะสูงกว่า 15%

"ภาพรวมผลตอบแทนของกลุ่ม Sasol โดยรวมจะยังคงดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญและยังคงน่าดึงดูด โดยมีเส้นทางที่ชัดเจนไปสู่ผลตอบแทนที่สูงขึ้น ในขณะที่เราบรรลุเป้าหมายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ" Victor กล่าวเสริม

บริษัทจะกลับมาจ่ายเงินปันผลอีกครั้งเมื่อบรรลุเงื่อนไขสำคัญที่กำหนดไว้ และมีความมั่นใจว่าผลตอบแทนที่มอบให้แก่ผู้ถือหุ้นจะมีความยั่งยืน เมื่อพิจารณาจากแนวโน้มที่เกิดขึ้น ณ ขณะนั้น โดยจะมีการจ่ายเงินขั้นต่ำ 2.8 เท่า หรือ 36% ของ Core Headline Earnings Per Share (CHEPS) เมื่ออัตราส่วนความสามารถในการชำระหนี้สินแตะที่ 1.5 เท่าของหนี้สินสุทธิต่อ EBITDA และระดับหนี้ที่แน่นอนต่ำกว่า 5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ จากนั้นจะเพิ่มขึ้นสูงสุด 2.5 เท่า หรือ 40% ของ Core HEPS เมื่อระดับหนี้สุทธิลดลงต่ำกว่า 4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่เงินปันผลปกติจะคงอยู่ในช่วงนี้


ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

ทรู ไอดีซี ดาต้าเซ็นเตอร์ คว้ารางวัลนานาชาติ ด้านออกแบบและพลังงาน พร้อมรองรับเทคโนโลยี AI

ทรู อินเทอร์เน็ต ดาต้า เซ็นเตอร์ จำกัด หรือ ทรู ไอดีซี ผู้ให้บริการดาต้าเซ็นเตอร์ชั้นนำภายใต้เครือเจริญโภคภัณฑ์ ประกาศความสำเร็จของโครงการ ทรู ไอดีซี อีสต์ บางนา แคมปัส ที่สร้างปรา...

Responsive image

ซีพี แอ็กซ์ตร้า จับมือพันธมิตร พัฒนาโซลูชัน "Smart Restaurant" พลิกโฉมร้านอาหารยุคใหม่ สู่ความสำเร็จยุคดิจิทัล

ซีพี แอ็กซ์ตร้า ร่วมกับพันธมิตรในเครือ ได้แก่ บริษัท ทรู มันนี่ จำกัด บริษัท ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป จำกัด และ บริษัท แอสเซนด์ กรุ๊ป จำกัดจัดงานสัมมนา ‘Smart Restaurant ถอดรหัสความสำเร็...

Responsive image

noBitter ผนึกกำลัง 3 มหาวิทยาลัยชั้นนำ พัฒนา “ฟาร์มนวัตกรรม” ยกระดับเกษตรไทยสู่เวทีโลก

noBitter ผนึกกำลัง 3 มหาวิทยาลัยชั้นนำ จุฬาฯ ลาดกระบัง และปัญญาภิวัฒน์ ผนึกความร่วมมือ เดินหน้าพัฒนางานวิจัยเกษตรนวัตกรรมเพื่อยกระดับเกษตรไทยสู่เวทีโลกโดยมุ่งเน้นผลผลิตจากเทคโนโลย...