ครั้งแรกของการผนึกกำลังของ 4 องค์กรชั้นนำ ไทยพาณิชย์, สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa), ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) และสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT) เปิดตัวโครงการส่งเสริมทักษะด้านปัญญาประดิษฐ์ สำหรับบุคลากรและกำลังคนเพื่อเพิ่มโอกาสในการได้รับการจ้างงาน (Artificial Intelligence for Increasing Job Opportunity) เร่งสร้างคน AI เข้าภาคอุตสาหกรรม สนับสนุน New S-Curve ให้เศรษฐกิจไทย
คุณวรวัจน์ สุวคนธ์ รองผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุด กลุ่มงาน SCB Academy ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า โครงการส่งเสริมทักษะด้านปัญญาประดิษฐ์ สำหรับบุคลากรและกำลังคนเพื่อเพิ่มโอกาสในการได้รับการจ้างงาน จัดทำขึ้นเพื่อสอดรับกับความต้องการแรงงานในโลกปัจจุบัน โดยพบว่า หลายองค์กรได้นำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI มาประยุกต์ใช้ในการทำงานในหลากหลายหน้าที่ ไม่ว่าจะเป็นการตลาด การขาย การค้นคว้าและวิจัย (R&D) การผลิต การบริการลูกค้า การบัญชีและการเงิน และอื่นๆ
ซึ่งทั้งสี่องค์กรเล็งเห็นถึงประโยชน์ของการนำระบบ AI ที่จะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจและช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้ธุรกิจได้ระยะยาว ทั้งนี้ SCB Academy ได้รับความไว้วางใจให้เข้าไปมีส่วนร่วมในการออกแบบพัฒนาหลักสูตรและรูปแบบการเรียนรู้ทั้งในส่วนของเนื้อหา กรณีศึกษา วิธีการฝึกปฏิบัติ ตลอดจนบททดสอบ ในทุกๆ บทเรียน
เพื่อให้มั่นใจว่าความรู้ เทคนิค ตลอดจนทักษะที่ได้รับการพัฒนาจะตอบโจทย์ตรงกับความต้องการของทั้งผู้เรียนและของตลาดแรงงานอย่างแท้จริง โดยคาดหวังว่าเมื่อแรงงานมีทักษะด้าน AI จะช่วยให้เกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้น และมีส่วนสำคัญในการสนับสนุนการบริโภคในประเทศ และการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจหลังวิกฤตCovid 19
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล กล่าวว่า หนึ่งในภารกิจสำคัญของdepa คือ มุ่งส่งเสริมสนับสนุนการดำเนินการเกี่ยวกับการพัฒนาบุคลากรด้านอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล ซึ่งการพัฒนาทักษะด้านAI เป็นอีกหนึ่งเทคโนโลยีดิจิทัลที่ต้องเร่งสร้างความพร้อมให้กับแรงงานไทย เพื่อเสริมความแข็งแกร่งให้แก่ภาคธุรกิจและภาคอุตสาหกรรมของประเทศ โครงการนี้เป็นโครงการนำร่องของดีป้าในการพัฒนาทักษะด้าน AI เพื่อสร้างคนทำงานด้านไอทีให้เข้าสู่ภาคอุตสาหกรรมใหม่
“ปัจจุบันมีคนทำงานด้านไอที 25,000 งาน แต่พบว่าเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรมเพียง 50% และจากผลสำรวจของ depa พบว่า สายงานด้านดิจิทัล อาทิ ดิจิทัล คอนเทนต์ และเทเลคอม มีความต้องการคนทำงานที่มีทักษะไอทีจำนวน 100,000 คนต่อปี แสดงว่า ประเทศยังขาดแคลนบุคลากรด้านนี้ และจากผลสำรวจยังพบว่า บุคลากรด้านไอทีที่มีอยู่ยังไม่ตรงกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม ดังนั้นโครงการส่งเสริมทักษะด้านปัญญาประดิษฐ์ฯ จึงจะมีส่วนสนับสนุนให้เกิดการสร้างบุคลากรที่มีความสามารถด้าน AI ที่ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน”
คุณชนิกานต์ โปรณานันท์ รองกรรมการผู้จัดการ สายงานการตลาดและปฏิบัติการ บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัดกล่าวเสริมว่า ไมโครซอฟท์ ประเทศไทย พร้อมให้การสนับสนุนวิทยากรที่มีความรู้ การสนับสนุนด้านการเรียนและการสอบCertification รวมไปถึงการร่วมสร้าง Learning community เพื่อแบ่งปันความรู้ และเข้าถึงโอกาสในการจ้างงานในอนาคต เพื่อให้เกิดทักษะใหม่ให้ผู้เข้าร่วมโครงการสามารถเข้าใจ ประยุกต์ใช้ และคิดค้นนวัตกรรมใหม่ด้วย AI เพื่อยกระดับและเพิ่มการเติบโตของสินค้าและบริการจากองค์กรไทยสู่เวทีนานาชาติ
ซึ่งโครงการนี้สอดรับกับวิชั่นของบริษัทฯ ที่ตั้งเป้าอยากจะพัฒนาให้แรงงาน 10 ล้านคนในประเทศได้มีทักษะด้านดิจิทัล โดยปัจจุบันไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) ดำเนินการพัฒนาทักษะดิจิทัลขั้นพื้นฐานไปได้แล้ว 3 ล้านคน แต่สุดท้ายแล้วสิ่งสำคัญที่สุด คือ การพัฒนาคนให้มีทักษะดิจิทัลขั้นสูง และใช้เอไอในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล
“เรารู้สึกตื่นเต้นกับโครงการส่งเสริมทักษะด้านปัญญาประดิษฐ์ฯ นี้อย่างมาก เพราะจะเป็นคลื่นลูกแรกที่จะช่วยเพิ่มกำลังคนด้าน AI ไปสู่เป้าหมายของไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) เพราะเราต้องการสร้างนักนวัตกรจำนวนมากในประเทศเข้าไปเสริมในภาคอุตสาหกรรม เพื่อผลักดันให้เกิด New S-Curve ให้แก่เศรษฐกิจไทย”
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด