EIC ประเมินอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยช่วง COVID-19 ภาพรวมหดเล็กน้อย สะท้อนเทรนด์ชะลอตัวอสังหาฯ | Techsauce

EIC ประเมินอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยช่วง COVID-19 ภาพรวมหดเล็กน้อย สะท้อนเทรนด์ชะลอตัวอสังหาฯ

SCB EIC เผยผลการ ประเมินอุตสาหกรรมก่อสร้างของไทย ในช่วงสถานการณ์ COVID-19 เผยอาจหดตัวเล็กน้อยเมื่อเทียบปีต่อปี โดยมีเทรนด์ชะลอตัวในอสังหาฯ และ COVID-19 เป็นปัจจัยลบ พร้อมพบว่าโครงการใหญ่จากรัฐมีส่วนผลักดันให้ภาพรวมอุตสาหกรรมหดตัวไม่มากนัก

  • การแพร่ระบาดของ Covid-19 ในปัจจุบันและปัจจัยลบที่รุมเร้าก่อนหน้าได้ส่งผลต่ออุตสาหกรรมก่อสร้างใน 3 ช่องทาง ได้แก่ อุปสงค์ในการก่อสร้างโดยเฉพาะโครงการก่อสร้างภาคเอกชนที่มีแนวโน้มลดลง การขนส่งและการจัดหาวัสดุก่อสร้างที่มีโอกาสล่าช้า และการขาดแคลนแรงงานในระยะสั้น
  • EIC ประเมินว่า ในปี 2020 มูลค่าตลาดอุตสาหกรรมก่อสร้างจะมีแนวโน้มหดตัวเล็กน้อยราว 1%YOY มาอยู่ที่ราว 1.29 ล้านล้านบาท โดยแบ่งเป็น 1.การก่อสร้างโครงการภาคเอกชนที่มีแนวโน้มหดตัวราว 7.8%YOY มาอยู่ที่ 5.28 แสนล้านบาท สะท้อนได้จากการออกใบอนุญาตก่อสร้างที่อยู่อาศัย อาคารพาณิชยกรรม และโรงงานอุตสาหกรรมที่ปรับตัวลดลงต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังของปี 2019 และ 2.การก่อสร้างโครงการภาครัฐที่ประเมินว่า ยังคงเติบโตราว 4.5%YOY มาอยู่ที่ 7.62 แสนล้านบาท โดยมีแรงผลักดันจากโครงการโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมขนาดใหญ่ และการก่อสร้างโครงการคมนาคมและโครงการสาธารณูปโภคขนาดกลางและเล็กที่มีอย่างต่อเนื่อง รวมถึงปัจจัยฐานต่ำจากความล่าช้าของ ...งบประมาณประจำปี .. 2563 (2020)
  • EIC แนะนำผู้รับเหมาก่อสร้างควรเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของ Covid-19 ที่อาจทวีความรุนแรงขึ้นใน 3 ด้าน ได้แก่ การดูแลและบริการจัดการ บุคลากร แรงงาน และพื้นที่หน้างาน การเตรียมวัสดุก่อสร้างและเงินทุนหมุนเวียนที่เหมาะสม และการเตรียมพร้อมเจรจากับเจ้าของโครงการในการประเมินความก้าวหน้าของการก่อสร้าง เพื่อหาข้อสรุป ซึ่งนำไปสู่การลดข้อพิพาทจากสัญญาว่าจ้าง
  • สำหรับภาครัฐ มาตรการที่ออกมาเพื่อช่วยเหลืออุตสาหกรรมก่อสร้างโดยเฉพาะด้านแรงงานถือว่ามีความเหมาะสม เช่น การว่าจ้างแรงงานก่อสร้างในพื้นที่ต่าง  ของหน่วยงานรัฐที่เพิ่มขึ้น การผ่อนปรนกับผู้ประกอบการให้แรงงานต่างด้าวสามารถอยู่ในราชอาณาจักรได้นานขึ้นเป็นการชั่วคราว
  • ในระยะข้างหน้า EIC มองว่า ภาครัฐควรพิจารณามาตรการเพิ่มเติม โดยเฉพาะ 1.การพิจารณาประเมินผลงานก่อสร้าง ที่อาจมีความล่าช้าในช่วงการแพร่ระบาดของ Covid-19 และ 2.การอัดฉีดเม็ดเงินผ่านโครงการก่อสร้างขนาดกลางและเล็กเพิ่มเติมจากโครงการที่อยู่ใน ..กู้เงินเพื่อการเยียวยาและดูและเศรษฐกิจ เมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของ Covid-19 คลี่คลายลง 

ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของ Covid-19  อุตสาหกรรมก่อสร้างเป็นอีกหนึ่ง
ในอุตสาหกรรมที่ผู้ประกอบการรับเหมาก่อสร้างส่วนใหญ่ยังคงสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ 
โดยมีสาเหตุจากที่ผู้ประกอบการสามารถปรับกระบวนการทำงานต่าง ๆ  เพื่อควบคุมความสะอาดและสุขลักษณะบริเวณไซต์งานก่อสร้างและแคมป์คนงาน ซึ่งโดยทั่วไปเป็นพื้นที่ที่มีลักษณะค่อนข้างปิด บุคคลที่ไม่เกี่ยวข้องกับโครงการก่อสร้าง
ไม่สามารถเข้าถึงได้ง่ายนัก อีกทั้งลักษณะของงานก่อสร้างที่แรงงานก่อสร้างไม่ได้อยู่ใกล้ชิดกันมาก (close contact) 
เมื่อเทียบกับกิจกรรมทางธุรกิจอื่น ๆ เช่น การทำงานในสายการผลิต การบริการอาหาร  จึงทำให้โอกาสการแพร่กระจายของ Covid-19 มีน้อยกว่า

อย่างไรก็ดี การแพร่ระบาดของ COVID-19 ในปัจจุบันและปัจจัยลบที่รุมเร้าก่อนหน้าได้ส่งผลต่ออุตสาหกรรมก่อสร้างใน 3 ช่องทาง ได้แก่ อุปสงค์ในการก่อสร้างโดยเฉพาะโครงการก่อสร้างภาคเอกชนที่มีแนวโน้มลดลง การขนส่งและการจัดหาวัสดุก่อสร้างมีโอกาสล่าช้า และการขาดแคลนแรงงานในระยะสั้น

ช่องทางที่ 1 อุปสงส์การก่อสร้างโดยเฉพาะโครงการภาคเอกชนมีแนวโน้มหดตัวลง ทั้งจากโครงการก่อสร้างที่อยู่อาศัย อาคารพาณิชยกรรม และโรงงาน โดยก่อนหน้านี้ โครงการก่อสร้างที่อยู่อาศัยถูกกดดันจากมาตรการ Loan to Value (LTV) ที่บังคับใช้ตั้งแต่เดือนเมษายน 2019 ซึ่งแม้จะมีการผ่อนปรนภายหลังจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว แต่ได้มีส่วนทำให้การก่อสร้างที่อยู่อาศัยใหม่มีการชะลอตัวลง สะท้อนได้จากข้อมูลการออกใบอนุญาตก่อสร้างของศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ที่พบว่า ในช่วงครึ่งหลังของปี 2019 การออกใบอนุญาตก่อสร้างคอนโดมิเนียมมีการปรับลดลงราว 37%YOY มาอยู่ที่ 1.29 ล้านตารางเมตรและในเดือนมกราคม 2020 ปรับลดลง 70%YOY มาอยู่ที่ 7.2 หมื่นตารางเมตร ขณะที่การออกใบอนุญาตก่อสร้างบ้านเดี่ยวและบ้านแฝดในช่วงครึ่งหลังของปี 2019 
ปรับลดลง 4%YOY มาอยู่ที่ราว 12.6 ล้านตารางเมตร และในเดือนมกราคม 2020 ปรับลดลง 3%YOY มาอยู่ที่ราว 2 ล้านตารางเมตร และที่สำคัญ ในช่วงหลังจากนั้น ซึ่งสถานการณ์การแพร่ระบาดของ Covid-19 เริ่มรุนแรงขึ้นตั้งแต่ราวเดือนกุมภาพันธ์จะกระทบต่อการจ้างงานและรายได้ของผู้บริโภคส่งผลให้กำลังซื้อภายในประเทศลดลงและจะทำให้
การตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัยเลื่อนออกไป รวมถึงกำลังซื้ออสังหาริมทรัพย์จากต่างชาติที่มีแนวโน้มแผ่วลงโดยเฉพาะชาวจีนที่ไม่สามารถเดินทางมาซื้อหรือโอนอสังหาริมทรัพย์ได้ อีกทั้งเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอตัวลงมาก ทำให้ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์บางส่วนเลื่อนการเปิดตัวโครงการใหม่ออกไป ซึ่งจะทำให้การขอใบอนุญาตก่อสร้าง
หดตัวอย่างต่อเนื่องในช่วงปีนี้

สำหรับอาคารพาณิชยกรรมและสำนักงาน ในช่วงครึ่งหลังของปี 2019 การออกใบอนุญาตก่อสร้างอาคาร
พาณิชยกรรมมีการปรับลดลง 26%YOY มาอยู่ที่ 3.05 ล้านตารางเมตร ส่วนในเดือนมกราคม 2020 ปรับลดลง 28%YOY มาอยู่ที่ 4.37 แสนตารางเมตร และคาดว่าจะมีการหดตัวลงต่อเนื่องสืบเนื่องจากผลของการแพร่ระบาดของ Covid-19 
ที่ส่งผลให้กำลังซื้อของผู้บริโภคลดลงจากเศรษฐกิจที่ชะลอตัวและความกังวลในการติดโรคระบาดของผู้บริโภค
เมื่อมาจับจ่ายใช้สอยที่ห้างสรรพสินค้ามีเพิ่มขึ้น รวมถึงการ lockdown ที่ทำให้ห้างสรรพสินค้าสามารถเปิดได้เพียงส่วนซุปเปอร์มาเก็ต และการเติบโตของ e-commerce ที่ให้ผู้บริโภคหันมาซื้อสินค้าออนไลน์มากขึ้น ซึ่งอาจทำให้
ความต้องการพื้นที่ห้างสรรพสินค้าที่ก่อสร้างใหม่ลดลง ส่วนการออกใบอนุญาตก่อสร้างอาคารสำนักงานให้เช่าในช่วง
ครึ่งหลังของปี 2019 ปรับลดลงราว 26%YOY มาอยู่ที่ 5.6 แสนตารางเมตร และในเดือนมกราคม 2020 ปรับลดลงราว 83%YOY มาอยู่ที่ 5.9 หมื่นตารางเมตร และมีแนวโน้มหดตัวจากจำนวนผู้เช่าและค่าเช่าพื้นที่ที่ลดลงเนื่องจากองค์กรภาคเอกชนมีแนวโน้มออกนโยบาย work from home มากขึ้นและภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซา ซึ่งทำให้ความต้องการใช้พื้นที่อาคารสำนักงานให้เช่าลดลงไปด้วย

นอกจากนี้ การก่อสร้างโรงงานมีแนวโน้มหดตัวลงต่อเนื่องโดยได้รับแรงกดดันจากมูลค่าโครงการที่ได้รับการอนุมัติ
ให้การส่งเสริมการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (Thailand Board of Investment: BOI) ที่มีมูลค่าน้อยลง 
ซึ่งขนาดพื้นที่ที่ได้รับการออกใบอนุญาตก่อสร้างโรงงานมีค่าสหสัมพันธ์ (correlation) กับมูลค่าโครงการที่ได้รับการอนุมัติส่งเสริมการลงทุนราว 65% โดยมูลค่าโครงการที่ได้รับการอนุมัติให้การส่งเสริมการลงทุนในครึ่งหลังของปี 2019 
มีการปรับตัวลดลงราว 28%YOY มาอยู่ที่ 2.55 แสนล้านบาท ซึ่งสอดคล้องกับการออกใบอนุญาตก่อสร้างโรงงานในครึ่งหลังของปี 2019 ที่มีการปรับลดลง 27.5%YOY มาอยู่ที่ราว 2.8 ล้านตารางเมตร ที่ทำให้อุปสงค์การก่อสร้างโรงงานลดลงไปด้วย

ส่วนในไตรมาสแรกของปี 2020 มูลค่าโครงการที่ได้รับการอนุมัติให้การส่งเสริมการลงทุนมีการปรับตัวลดลง 34%YOY 
มาอยู่ที่ 8.9 หมื่นล้านบาท ซึ่งมีทิศทางเดียวกันกับการออกใบอนุญาตก่อสร้างโรงงานในเดือนมกราคม 2020 ที่มีปรับตัวลง 3%YOY มาอยู่ที่ 4.45 แสนตารางเมตร และมีแนวโน้มที่จะลดลงต่อเนื่องในช่วงที่เหลือของปีจากการแพร่ระบาดของ Covid-19 ที่ส่งผลให้เศรษฐกิจทั้งภายในและภายนอกประเทศชะลอตัวลง ทำให้การลงทุนและการก่อสร้างโรงงานหดตัวตามไปด้วย อย่างไรก็ดี การออกใบอนุญาตก่อสร้างโรงงานในเดือนมกราคม 2020 ในบางพื้นที่ เช่น จ.ชลบุรี ในภาคตะวันออกยังคงมีการเติบโต โดยมีการปรับเพิ่มขึ้นถึง 117%YOY มาอยู่ที่ 1.31 แสนตารางเมตร เป็นต้น ส่วนในอนาคต เมื่อการแพร่ระบาดของ Covid-19 คลี่คลายลง การกระจายฐานการผลิตจากต่างชาติ โดยเฉพาะจากจีนมาสู่ไทยเพื่อลดความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจถือเป็นปัจจัยบวกต่อการก่อสร้างโรงงานอุตสาหกรรมใหม่ในอนาคตที่ยังต้องจับตามอง

อย่างไรก็ดี อุปสงค์การก่อสร้างโครงการภาครัฐอาจยังไม่ได้รับผลกระทบจาก Covid-19 มากนัก เนื่องจากยังคงมีแรงขับเคลื่อนจากโครงการเมกะโปรเจกต์คมนาคม ขณะที่การโอนงบประมาณจากหน่วยงานรัฐผู้รับงบประมาณไปเป็นงบกลางทำให้งบประมาณในการก่อสร้างโครงการรัฐลดลงเพียงเล็กน้อย สำหรับการก่อสร้างโครงการก่อสร้างภาครัฐ ได้แก่ โครงการก่อสร้างที่ลงทุนโดยหน่วยงานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ รวมถึงโครงการที่รัฐร่วมลงทุนกับเอกชน (Public Private Partnership: PPP) หลังจากการบังคับใช้ พ.ร.บ.งบประมาณประจำปี พ.ศ. 2563 (2020) โครงการก่อสร้างภาครัฐ ยกตัวอย่างเช่น การก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานคมนาคม สาธารณูปโภค ยังคงมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง สะท้อนได้จากงบลงทุนรวมของหน่วยงานรัฐ 4 หน่วยงานหลัก ได้แก่ กรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท กรมชลประทาน และกรมโยธาธิการและผังเมือง ที่ราว 2.34 แสนล้านบาท ประกอบกับการก่อสร้างโครงการเมกะโปรเจกต์ต่อเนื่อง เช่น โครงการรถไฟฟ้า โครงการรถไฟความเร็วสูง โครงการสนามบิน โครงการท่าเรือ โครงการมอเตอร์เวย์ ซึ่งโครงการก่อสร้างเหล่านี้จะเป็นแรงผลักดันสำคัญให้มูลค่าการก่อสร้างภาครัฐเติบโตในปี 2020 และในระยะกลาง

สำหรับนโยบายการโอนงบประมาณรายจ่ายของหน่วยงานรัฐบางส่วนไปเป็นงบกลางเพื่อนำไปใช้จ่ายในการรองรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของ Covid-19 ส่งผลให้งบประมาณในการลงทุนโครงการโครงสร้างพื้นฐานในปี 2020 
และ 2021 ลดลงเพียงเล็กน้อย โดยเมื่อต้นเดือนเมษายน ภาครัฐได้กำหนดเป้าหมายให้หน่วยงานผู้รับงบประมาณเสนอวงเงินไม่น้อยกว่า 10% ของวงเงินคงเหลือที่ไม่มีข้อผูกพันเพื่อนำไปจัดทำร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) โอนงบประมาณรายจ่ายส่งผลกระทบต่อทั้งงบรายจ่ายประจำ งบรายจ่ายลงทุน และงบประมาณเป็นเงินอุดหนุนและทุนหมุนเวียน แต่จากการจัดทำร่างพระราชบัญญัติโอนงบประมาณรายจ่ายพบว่า การโอนงบประมาณรายจ่ายลงทุน ซึ่งเกี่ยวข้องกับการก่อสร้าง มีสัดส่วนเพียงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับงบรายจ่ายลงทุนทั้งหมด ยกตัวอย่างเช่น กระทรวงคมนาคม ซึ่งกำกับดูแลกรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบท มีการโอนงบรายจ่ายลงทุนราว 3,300 ล้านบาทซึ่งคิดเป็นเพียงราว 2% 
ของรายจ่ายลงทุนทั้งหมดไปเป็นเป็นงบประมาณรายจ่ายงบกลาง เป็นต้น

ช่องทางที่ 2 การแพร่ระบาดของ Covid-19 ส่งผลให้เกิดภาวะชะงักของห่วงโซ่อุปทาน (supply chain disruption) ในการจัดหาและการขนส่ง วัสดุอุปกรณ์ก่อสร้าง เครื่องจักร และชิ้นงานที่ใช้ก่อสร้าง รวมถึงระยะเวลาทำงานก่อสร้างที่น้อยลงในแต่ละวันอีกด้วย การออกมาตรการ lockdown ของภาครัฐส่งผลให้ร้านค้าวัสดุก่อสร้างแบบ modern trade ต้องปิดชั่วคราวแล้วหันมาใช้ระบบขาย online มากขึ้น ซึ่งอาจไม่สะดวกสำหรับผู้รับเหมาขนาดกลางและเล็กที่พึ่งพา modern trade ในการจัดซื้อและขนส่งวัสดุก่อสร้างไปยังหน้างานหรืออาจต้องทำการซื้อจากซัพพลายเออร์รายใหม่ ซึ่งอุปสรรคดังกล่าวอาจเป็นสาเหตุให้ผู้รับเหมาต้องรับภาระค่าใช้จ่ายในการจัดหาและขนส่งวัสดุก่อสร้างที่มากขึ้น รวมถึงระยะวลาในการขนส่งสินค้าที่จะมากขึ้นอีกด้วย

นอกจากนี้ แม้ว่าศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Covid-19) หรือ ศบค. 
ได้แถลงเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2020 ให้เลื่อนเวลาของมาตรการห้ามบุคคลใดทั่วประเทศออกนอกเคหสถาน หรือเคอร์ฟิว (curfew) ออกไปเป็นเวลา 23.00-4.00 น. จากเดิมที่กำหนด curfew เวลา 22.00-4.00 น. ตั้งแต่วันที่ 3 เมษายนที่ผ่านมา แต่ยังคงส่งผลโดยตรงต่อการปฏิบัติงานก่อสร้างและการขนย้ายวัสดุก่อสร้างและชิ้นงานคอนกรีตขนาดใหญ่อีกด้วย สำหรับการก่อสร้างที่ส่วนใหญ่ดำเนินการได้ในตอนกลางวัน เช่น การก่อสร้างถนน อาคาร อาจจะไม่ได้ผลกระทบมากนัก ขณะที่การก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่บางประเภทที่ต้องทำทั้งช่วงเวลากลางวันกลางคืนได้มีการหยุดก่อสร้างในช่วงเวลา curfew และให้ปรับแผนและบริหารจัดการไปเร่งสร้างช่วงกลางวันบ้างแล้ว เช่น โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันออก เส้นทางศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี สายสีชมพู เส้นทางแคราย-มีนบุรี สายสีเหลือง เส้นทางลาดพร้าว-สำโรง เป็นต้น ส่วนโครงการที่ไม่สามารถดำเนินการได้ เช่น โครงการซ่อมแซมสาธารณูปโภคที่ต้องทำในเวลากลางคืนมีโอกาสที่จะชะงักงัน รวมถึงการขนส่งวัสดุก่อสร้างที่ต้องขนส่งและชิ้นงานคอนกรีตขนาดใหญ่ เช่น คานสำเร็จรูป (Girder) ซึ่งเดิมสามารถขนส่งได้ในเวลากลางคืน ที่หากผู้รับเหมาไม่มีแผนรองรับในช่วง curfew  โครงการเหล่านี้จะมีแนวโน้มล่าช้า
ในการก่อสร้างโครงการอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ช่องทางที่ 3 ด้านแรงงาน ในระยะสั้น ผู้ประกอบการรับเหมาก่อสร้างมีความเสี่ยงในการได้รับผลกระทบทั้งทางตรงจากการที่แรงงานติดเชื้อไวรัสและความเสี่ยงทางอ้อมจากการที่แรงงานต่างด้าวที่อพยพกลับประเทศ โดยในช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา กระทรวงมหาดไทยได้ประเมินว่า การระบาดของเชื้อ Covid-19  ทำให้แรงงานต่างด้าวสัญชาติเมียนมา กัมพูชา และลาว อพยพกลับประเทศแล้ว ราว 60,000 คน ซึ่งได้ส่งผลกระทบต่อโครงการก่อสร้างแล้ว เช่น โครงการปรับปรุงทางต่างระดับบางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งกรมทางหลวงเปิดเผยว่าได้รับผลกระทบจากแรงงานต่างด้าวที่ได้ขอลากลับประเทศเนื่องจากสถานการณ์การระบาดของเชื้อ Covid-19  ทำให้แรงงานลดลงประมาณ 50% ขณะที่แรงงานส่วนที่เหลือ ซึ่งเป็นแรงงานคนไทยยังทำงานตามปกติ แต่หากสถานการณ์การระบาดของ Covid-19  ยังไม่สามารถควบคุมได้และลุกลามมากขึ้น จะส่งผลให้ความต้องการในการก่อสร้าง โดยเฉพาะโครงการก่อสร้างภาคเอกชนลดลง ส่งผลให้ทำให้แรงงานในภาคก่อสร้างมีโอกาสตกงานมากขึ้น 
โดยสภาอุตสาหกรรมคาดการณ์ว่า ภายในเดือนมิถุนายนนี้ ความต้องการก่อสร้างที่ลดลงจะทำให้แรงงานในอุตสาหกรรมก่อสร้างราว 1 ล้านคนมีโอกาสที่จะตกงาน 

จากภาวะดังกล่าว EIC ประเมินว่า ในปี 2020 มูลค่าตลาดอุตสาหกรรมก่อสร้างจะมีแนวโน้มหดตัวเล็กน้อยราว 1%YOY มาอยู่ที่ราว 1.29 ล้านล้านบาท โดยแบ่งเป็น 1.การก่อสร้างโครงการภาครัฐที่ประเมินว่ายังคงเติบโตราว 4.5%YOY มาอยู่ที่ 7.62 แสนล้านบาท และ 2.การก่อสร้างโครงการภาคเอกชนที่มีแนวโน้มหดตัวราว 7.8%YOY มาอยู่ที่ 5.28 แสนล้านบาท โดย EIC ประเมินว่า โครงการภาครัฐส่วนใหญ่ยังคงสามารถดำเนินการก่อสร้างได้ ยกตัวอย่างเช่น โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันออก เส้นทางศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย - มีนบุรี (มูลค่าโครงการรวม 1.2 แสนล้านบาท) รถไฟฟ้าสายสีเหลือง เส้นทางลาดพร้าว - สำโรง (5.5 หมื่นล้านบาท)  รถไฟฟ้าสายสีชมพู เส้นทางแคราย - มีนบุรี (5.7 หมื่นล้านบาท) รถไฟความเร็วสูงเส้นทาง กรุงเทพฯ - นครราชสีมา (1.2 แสนล้านบาท) และโครงการมอเตอร์เวย์ เส้นทางบางใหญ่ - กาญจนบุรี (5.6 หมื่นล้านบาท) เป็นต้น รวมถึงโครงการที่มีแนวโน้มจะประมูลภายในปี 2020 เช่น โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย -บางขุนนนท์  (1.4 แสนล้านบาท) ซึ่งโครงการเมกะโปรเจกต์เหล่านี้ ประกอบกับโครงการก่อสร้างที่ประมูลใหม่ทั้งขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็กที่มีออกมาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงปัจจัยฐานต่ำในการเบิกจ่ายจากความล่าช้าของพ.ร.บ.งบประมาณประจำปี พ.ศ. 2563 ทำให้การก่อสร้างภาครัฐมีแนวโน้มเติบโตในปี 2020 

ขณะที่การลงทุนก่อสร้างโครงการภาคเอกชนมีแนวโน้มลดลงสะท้อนจากการปรับลดลงของการออกใบอนุญาตก่อสร้างในช่วงครึ่งหลังของปี 2019  และเดือนมกราคมที่ผ่านมา โดยการลงทุนก่อสร้างโครงการที่อยู่อาศัยยังถูกกดดันจาก
อุปสงค์ทั้งจากชาวไทยและชาวต่างชาติที่หดตัวลงจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ขณะที่การก่อสร้างอาคารพาณิชยกรรมและอาคารสำนักงานมีแนวโน้มลดลงเนื่องจากผลกระทบการแพร่ระบาดของ Covid-19 โดยอาคารพาณิชยกรรม เช่น ห้างสรรพสินค้า ที่ได้รับผลกระทบจากกำลังซื้อของผู้บริโภคลดลงจากเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ความกังวลในการติดโรคระบาดเมื่อใช้บริการห้างสรรพสินค้า และการเติบโตของ e-commerce ทำให้ความต้องการในก่อสร้างเพิ่มหรือขยายห้างสรรพสินค้าลดลง ส่วนอาคารสำนักงานได้รับผลกระทบจากการ Work from Home ทำให้ความต้องการในการใช้พื้นที่สำนักงานในอนาคตมีแนวโน้มลดลง และสุดท้าย ความต้องการสร้างโรงงานมีแนวโน้มหดตัวเนื่องจากมูลค่าการขอส่งเสริมและการอนุมัติให้การส่งเสริมการลงทุนที่ลดลงจากสภาพเศรษฐกิจภายในและภายนอกประเทศ 

EIC ประเมินว่า ผู้รับเหมาก่อสร้างควรเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของ Covid-19 ที่อาจทวีความรุนแรงขึ้นใน 3 ด้าน ได้แก่ 1.การดูแลและบริการจัดการ บุคลากร แรงงาน และพื้นที่หน้างาน 2.การเตรียมวัสดุก่อสร้างและเงินทุนหมุนเวียนที่เหมาะสม และ 3.การเตรียมพร้อมเจรจากับเจ้าของโครงการในการประเมินความก้าวหน้าของการก่อสร้างเพื่อหาข้อสรุป ซึ่งนำไปสู่การลดข้อพิพาทจากสัญญาว่าจ้าง 

1. การดูแลและบริการจัดการบุคลากร แรงงาน และพื้นที่หน้างานถือเป็นพื้นฐานในการรับมือกับการแพร่ระบาดของ Covid-19 โดยเบื้องต้นผู้รับเหมาควรมีการตั้งจุดคัดกรองเพื่อตรวจวัดไข้ สังเกตการณ์ และคัดแยก ทั้งยังต้องมีการทำความสะอาดพื้นที่ พ่นยา
ฆ่าเชื้อโรคอย่างสม่ำเสมอ และควรออกมาตรการที่ชัดเจนในการเคลื่อนย้ายบุคลากรระหว่างการเดินทางไป/กลับจากไซต์งาน แคมป์ที่พัก หรือสำนักงาน มาตรการการเคลื่อนย้ายบุคลากรกรณีที่เกิดการติดเชื้อ รวมถึงการเตรียมแผนบุคลากรให้เพียงพอ เพื่อให้การก่อสร้างดำเนินต่อไปได้

2. ผู้รับเหมาควรมีการบริหาร supply chian ที่เหมาะสม เพื่อป้องกันปัญหาจากการขนส่งที่ล่าช้าหรือสินค้าขาดแคลน รวมถึงเงินสดรองรับ (cash cushion) เพื่อเพิ่มสภาพคล่องทางการเงิน จากมาตรการ lockdown ที่ทำให้ร้านค้าวัสดุก่อสร้าง modern trade ต้องอาศัยการค้า online มากขึ้น รวมถึงมาตรการ curfew ที่ทำให้การเดินทางและขนส่งวัสดุก่อสร้างทำได้ในเวลาจำกัด ผู้รับเหมาที่พึ่งพา modern trade เป็นหลักจึงควรเตรียมพร้อมกับการซื้อขาย online หรืออาจต้องพิจารณาหาแหล่งซื้อวัสดุก่อสร้างแหล่งใหม่ทดแทนในปริมาณที่เหมาะสมกับงานที่มีอยู่ในมือ (backlog) รวมถึงทำการบริหารจัดการวัสดุก่อสร้างให้เหมาะสมกับปริมาณและเวลาที่ต้องการอีกด้วย นอกจากนี้ สถานการณ์การแพร่ระบาดของ Covid-19 และมาตรการข้างต้นมีแนวโน้มที่จะก่อให้เกิดความล่าช้าในการก่อสร้าง ซึ่งส่งผลถึงการเบิกจ่ายเงินตามงวดงานยาวนานขึ้นตามไปด้วย ผู้รับเหมาโดยเฉพาะรายกลางและรายเล็กที่มีสภาพคล่องต่ำ จึงควรมีการเตรียมความพร้อมด้านเงินทุนหมุนเวียนสำหรับการใช้จ่ายที่เหมาะสม เช่น การติดต่อกับธนาคารพาณิชย์เพื่อพิจารณาจัดการกับวงเงินสินเชื่อเก่าและวงเงินสินเชื่อใหม่ที่มีดอกเบี้ยต่ำ (soft loan) การบริหารลูกหนี้การค้า (account recievable) และเจ้าหนี้การค้า (account payable) การปรับแผนชำระหนี้ การปรับโครงสร้างหนี้ เป็นต้น 

ในกรณีที่โครงการมีแนวโน้มจะได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ Covid-19 ผู้รับเหมาควรเตรียมพร้อมเจรจาชี้แจงกับเจ้าของโครงการ เพื่อหาข้อสรุป ซึ่งนำไปสู่การลดข้อพิพาทจากสัญญาว่าจ้าง โดยผู้รับเหมาควรทำการประเมินระยะเวลาที่จะล่าช้าออกไป พร้อมทั้งอธิบายสาเหตุของการส่งมอบงานล่าช้าให้ชัดเจน รวมถึงค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นจากการส่งมอบงานที่ช้าลง เช่น ค่าเช่าเครื่องจักร ค่าแรง ราคาวัสดุก่อสร้างที่มีโอกาสปรับตัวขึ้นชั่วคราวในภาวะ lockdown และค่าขนส่งที่อาจเพิ่มขึ้นจากระยะเวลาขนส่งที่มีจำกัด เป็นต้น จากนั้นจึงนำข้อมูลทั้งหมดเสนอต่อเจ้าของโรงการเพื่อพิจารณาหาข้อสรุปเพื่อเจรจาหรือปรับเปลี่ยนสัญญาก่อสร้างต่อไป

สำหรับภาครัฐมาตรการที่ออกมาเพื่อช่วยเหลืออุตสาหกรรมก่อสร้างโดยเฉพาะด้านแรงงาน ถือว่า
มีความเหมาะสม เช่น การว่าจ้างแรงงานก่อสร้างในพื้นที่ต่าง ๆ ของหน่วยงานรัฐที่เพิ่มขึ้น การผ่อนปรนให้แก่ผู้ประกอบการในการให้แรงงานต่างด้าวสามารถอยู่ในราชอาณาจักรได้นานขึ้นเป็นการชั่วคราว ในด้านแรงงานไทย ภาครัฐได้มีมาตรการช่วยเหลือแรงงานในพื้นที่และผู้ประกอบการแล้ว โดยปัจจุบัน หน่วยงานรัฐได้เริ่มวางแผนการจ้างแรงงานในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศเพื่อดำเนินการก่อสร้างโครงการตามนโยบายของรัฐเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนแล้ว เช่น กรมชลประทานได้ดำเนินการจัดจ้างแรงงานทั่วประเทศไปแล้วรวมกว่า 10,700 คน เพื่อทำงานก่อสร้างและบำรุงรักษาโครงการของหน่วยงาน และตั้งเป้าว่าจะจ้างแรงงานเพิ่มขึ้นถึง 58,000 คน โดยมีระยะเวลาในการจ้าง 3-7 เดือนและคาดว่าจะใช้งบประมาณ 4,050 ล้านบาท กรมทางหลวงชนบทวางแผนที่จะการจ้างแรงงานราว 8,175 คน เพื่อทำงานก่อสร้างทาง งานบำรุงรักษาโครงข่ายทาง และงานอำนวยความปลอดภัย โดยคาดว่าจะใช้งบประมาณราว 810 ล้านบาท สำหรับผู้ประกอบการที่มีการจ้างแรงงานต่างด้าว เมื่อปลายเดือนที่ผ่านมา ภาครัฐได้มีการผ่อนผันให้แรงงานต่างด้าวและผู้ติดตามสัญชาติกัมพูชา ลาว และเมียนมา อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวได้ต่อไปจนถึงวันที่ 30 มิ.ย.2020 และให้ยกเว้นค่าเปรียบเทียบปรับการอยู่เกินกำหนด 
ซึ่งมาตรการด้านแรงงานไทยและแรงงานต่างด้าวทั้งสอง ถือเป็นการบรรเทาการขาดแคลนแรงงานของผู้รับเหมา อีกทั้งยังเป็นการกระจายรายได้เพื่อประคับประคองเศรษฐกิจชุมชนในพื้นที่ต่าง ๆ อีกด้วย 

EIC มองว่า ในระยะข้างหน้า ภาครัฐควรพิจารณาออกมาตรการเพิ่มเติม โดยเฉพาะ 1.การพิจารณาประเมินผลงานก่อสร้างในช่วงการแพร่ระบาดของ Covid-19 และ 2.การอัดฉีดเม็ดเงินผ่านโครงการก่อสร้างขนาดกลางและเล็กเพิ่มเติมจากโครงการที่อยู่ใน พ.ร.ก. กู้เงินเพื่อการเยียวยาและดูและเศรษฐกิจ เมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของ Covid-19 คลี่คลายลง โดย 

1. การพิจารณาการประเมินความก้าวหน้าผลงานก่อสร้างที่มีแนวโน้มล่าช้าลงร่วมกับผู้รับเหมาก่อสร้างเพื่อขยายระยะเวลาก่อสร้าง เนื่องจาก
การระบาดของ Covid-19 เป็นสาเหตุที่อยู่เหนือการคาดการณ์ของทุกฝ่าย ซึ่งทำให้ได้รับผลกระทบทั้งในด้านแรงงาน
ต่างด้าวที่ลดลง ด้านระยะเวลาปฎิบัติการก่อสร้างน้อยลงจากการประกาศ curfew ด้านการขนส่งเครื่องจักร 
ทั้งการนำเข้าจากต่างประเทศ โดยเฉพาะการนำเข้าเครื่องจักรจากจีนที่ระบบขนส่งและโลจิสติกส์ได้รับผลกระทบจาก
การระบาดของ Covid-19 และการเคลื่อนย้ายเครื่องจักรภายในประเทศ รวมถึงการเดินทางไปเพื่อตรวจรับงานที่ทำได้ไม่สะดวกนัก ทำให้ทั้งภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องกับโครงการต้องพิจารณาเพื่อหาข้อสรุปแนวทางการดำเนินการที่ชัดเจน

2. เมื่อสถานการณ์การระบาดของ Covid-19 ดีขึ้น การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานทั้งในด้านคมนาคมและสาธารณูปโภคทั่วประเทศเพิ่มเติมจากแผนงานฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมตามพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค
ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 ถือเป็นประเด็นที่ภาครัฐต้องให้ความสำคัญ โดยเฉพาะการลงทุนก่อสร้างโครงการขนาดกลางและเล็กที่ผู้รับเหมาขนาดกลางและเล็กสามารถรับงานได้ เนื่องจากการลงทุนก่อสร้างเหล่านี้เป็นการสร้างงานและกระจายรายได้สู่ภูมิภาค ซึ่งเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างรายได้ให้ประชาชนหลังภาวะโรคระบาด ซึ่งแนวทางดังกล่าวคล้ายคลึงกับทางจีน ที่มีแผนจะกระจายการลงทุนลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานเพิ่มเติม เช่น ถนน ระบบน้ำ ไปยังจังหวัดต่างๆ กว่า  3.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในระยะเวลา 2-3 ปีข้างหน้า 

การระบาดของ Covid-19 ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมก่อสร้างทั้งทางตรงและทางอ้อม ซึ่งถือเป็นความท้าทายที่สำคัญต่อผู้ประกอบการที่จะผ่านวิกฤตินี้ไปได้ รวมถึงใช้โอกาสนี้ในการถอดบทเรียนเพื่อสร้าง ทบทวน และปรับปรุงแผนรองรับการดำเนินธุรกิจอย่างต่อเนื่อง (Business Continuity Planning: BCP) เพื่อเป็นแผนสำรองการทำงานในภาวะฉุกเฉินในอนาคตต่อไป

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

ทีทีบี จับมือ databricks ผสานพลัง Data และ AI สร้างอนาคตการเงินที่ดีขึ้นให้คนไทย

ทีทีบี ตอกย้ำความมุ่งมั่นผลักดันดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชัน สร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับวงการธนาคารไทย จับมือพันธมิตร databricks พร้อมเดินหน้าสร้าง Data-driven Culture ปักธงก้าวสู่ธนาคารที...

Responsive image

LINE SCALE UP เปิดรับสตาร์ทอัพทั่วโลก ต่อยอดธุรกิจกับ LINE ก้าวสู่ระดับสากล

LINE SCALE UP เปิดตัวอย่างเป็นทางการในงาน LINE Thailand Developer Conference 2024 ที่ผ่านมา เฟ้นหาสตาร์ทอัพที่มีศักยภาพ และพร้อมต่อยอดธุรกิจร่วมกับ LINE สู่เป้าหมายยกระดับธุรกิจสตา...

Responsive image

MarTech MarTalk 2024 EP.3 จากต้นกล้าสู่ความสำเร็จ ด้วยการพัฒนาคนและ MarTech

ChocoCRM จัดงานใหญ่ส่งท้ายปีกับงาน MarTech MarTalk 2024 EP.3 From Seeds to Success: Driving Business Growth with People and Marketing Technology ได้รับการตอบรับดีอย่างต่อเนื่องเป็น...