ในสัปดาห์ที่ผ่านมา (28 ก.ย.-2 ต.ค.) ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปรับเพิ่มขึ้น ตามตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ยังออกมาดี เช่น ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค และการจ้างงานภาคเอกชน ประกอบกับความคาดหวังมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่ หลังสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ เห็นชอบร่างกฎหมายงบประมาณวงเงิน 2.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม ดัชนีฯ ลดช่วงบวกลง ตามความไม่แน่นอนในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่เพิ่มขึ้น หลังการโต้วาทีระหว่างประธานาธิบดีทรัมป์ และนายไบเดนเป็นไปอย่างสูสี ประกอบกับได้มีรายงานการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ของประธานาธิบดีทรัมป์ ด้านตลาดหุ้นยุโรปปิดบวกเช่นกัน จากแรงซื้อหุ้นกลุ่มธนาคาร หลังธนาคารผิง อันของจีน ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุดของเอชเอสบีซี ได้เพิ่มการถือหุ้นเอชเอสบีซี นอกจากนี้ ดัชนีฯ ยังได้แรงหนุนจากนางอังเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีเยอรมนี แสดงความเชื่อมั่นเกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่อังกฤษ และสหภาพยุโรป จะสามารถบรรลุข้อตกลงการค้าได้ก่อนสิ้นปีนี้ สำหรับตลาดหุ้นจีน (A-Share) ปรับลดลง จากความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่เพิ่มขึ้น หลังทางการสหรัฐฯ ได้สั่งควบคุมการส่งออกอุปกรณ์ให้กับ SMIC บริษัทผลิตชิปรายใหญ่ที่สุดของจีน ประกอบกับมีแรงขายกำไรออกมาบางส่วน ก่อนที่ตลาดหุ้นจีนหยุดยาวในช่วงวันชาติจีน ตั้งแต่วันที่ 1 ถึง 8 ต.ค. ด้านราคาน้ำมันดิบปรับลดลงค่อนข้างมาก จากความกังวลด้านอุปทานที่เพิ่มขึ้น หลังมีรายงานว่าลิเบียและอิหร่านได้เพิ่มการส่งออกน้ำมัน รวมทั้งกำลังการผลิตของกลุ่มโอเปกในเดือน ก.ย.เพิ่มขึ้น 1.6 แสนบาร์เรล นอกจากนี้ ความกังวลเกี่ยวกับยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่ยังเพิ่มขึ้นทั่วโลก อาจส่งผลกระทบต่อความต้องการใช้น้ำมันโลกในระยะต่อไป
มุมมองของเราในสัปดาห์นี้
ในสัปดาห์นี้ ตลาดหุ้นโลกมีแนวโน้มฟื้นตัว แต่ยังเคลื่อนไหวผันผวน ได้รับปัจจัยสนับสนุนมาจากแนวโน้มการส่งสัญญาณคงการดำเนินนโยบายการเงินเชิงผ่อนคลายของธนาคารกลางหลักต่างๆ ทั้งจากรายงานการประชุมธนาคารกลางของสหรัฐฯ (Fed) และยุโรป (ECB) และจากถ้อยแถลงของประธาน และสมาชิกของ Fed และ ECB รวมทั้ง สัญญาณความคืบหน้าการพัฒนาวัคซีนและยาต้านโควิด-19 หลังบริษัท AstraZeneca ประกาศเริ่มการทดลองวัคซีนต้านโควิด-19 อีกครั้งในญี่ปุ่น และบริษัทยังเปิดเผยว่า อยู่ในระหว่างการหารือกับสำนักงานอาหารและยาสหรัฐฯ (FDA) เพื่อทำการทดลองในสหรัฐฯ อีกครั้ง อย่างไรก็ตาม ข้อพิพาทระหว่างสหรัฐฯ-จีน โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยี ที่มีแนวโน้มตึงเครียดมากขึ้น โดยเฉพาะหากการโต้วาทีกันระหว่างนายไมค์ เพนซ์ รองประธานาธิบดี และนางคามาลา แฮริส วุฒิสภาพรรคเดโมแครต ในวันที่ 7 ต.ค.นี้ ต่างมีการเน้นย้ำถึงประเด็นนี้ รวมทั้ง ความล่าช้าในการออกมาตรการกระตุ้นทางการคลังรอบใหม่ของสหรัฐฯ ความกังวลการระบาดระลอกใหม่ในสหรัฐฯ โดยเฉพาะเมื่อเข้าใกล้ช่วงฤดูหนาว และความไม่แน่นอนในการเลือกตั้งสหรัฐฯ ที่มีมากขึ้น จะส่งผลกระทบต่อภาพการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในระยะถัดไป ตลอดจนความเสี่ยงของประเด็น No-Deal Brexit ที่ยังมีอยู่ จะสร้างความผันผวน และยังคงกดดันการปรับเพิ่มขึ้นของตลาดหุ้นโลกโดยรวม
เหตุการณ์สำคัญ (KEY EVENTS)
· ติดตามการระบาดของโควิด-19 และการใช้มาตรการ lockdown ในยุโรป โดยเฉพาะในสเปนและฝรั่งเศส ที่อัตราผู้ติดเชื้อใหม่ในระยะเวลา 14 วัน สูงถึง 330 และ 237 รายต่อประชากร 100,000 คน ตามลำดับ และส่งผลให้รัฐบาลสเปนกำหนดให้ร้านค้าและบริการสาธารณะให้บริการได้เพียง 50% ของความสามารถในการให้บริการตามปกติ รัฐบาลฝรั่งเศสมีแผนที่จะปิดร้านอาหารและสถานบันเทิงเป็นเวลา 15 วัน และนายกรัฐมนตรีอังกฤษได้เตือนว่า การระบาดของโควิด-19 ในอังกฤษยังไม่น่าไว้ใจยาวไปจนถึงช่วงคริสต์มาส
· ติดตามประเด็นเกี่ยวกับการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดยนายไมค์ เพนซ์ รองประธานาธิบดี และนางคามาลา แฮริส วุฒิสภาพรรคเดโมแครต มีกำหนดการโต้วาทีกัน ในวันที่ 7 ต.ค.นี้ ขณะที่ ภายหลังจากที่ประธานาธิบดีทรัมป์ติดเชื้อโควิด-19 (แม้ว่า มีรายงานล่าสุด จากแพทย์ประจำทำเนียบขาวว่า อาการของประธานาธิบดีทรัมป์ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องก็ตาม) ส่งผลให้ผลสำรวจบ่งชี้ว่า โอกาสที่ประธานาธิบดีทรัมป์จะชนะการเลือกตั้งปรับลดลง สวนทางกับโอกาสของนายไบเดนที่ปรับเพิ่มขึ้น
· ติดตามประเด็น Brexit โดยคณะกรรมาธิการยุโรปได้เตรียมดำเนินการทางกฎหมายกับอังกฤษ หลังจากที่สมาชิกฝ่ายนิติบัญญัติของอังกฤษได้ผ่านร่างกฎหมาย Internal Market Bill ทั้งนี้ ประเด็นความขัดแย้งดังกล่าว อาจส่งผลกดดันการเจรจาข้อตกลงทางการค้าระหว่างกัน ทั้งนี้ ทางสหภาพยุโรป และอังกฤษจะต้องบรรลุข้อตกลงทางการค้ากันในการประชุม European Council ในวันที่ 15-16 ต.ค.นี้ เนื่องจากนายกรัฐมนตรีอังกฤษได้มีการยื่นคำขาดว่า หากไม่ได้ข้อสรุปร่วมกันภายในวันดังกล่าว จะขอแยกตัวออกจากอังกฤษ แบบไม่มีข้อตกลง (No-deal Brexit) ในวันที่ 1 ม.ค.2021
· ติดตามความคืบหน้าในการออกมาตรการกระตุ้นทางการคลังรอบใหม่ของสหรัฐฯ หลังสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ มีมติเห็นชอบร่างกฎหมายกระตุ้นเศรษฐกิจวงเงิน 2.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม ร่างดังกล่าวอาจไม่ผ่านการเห็นชอบจากทางวุฒิสภาสหรัฐฯ ในระยะอันใกล้ ตามที่นายมิทซ์ แมคคอนเนลล์ ผู้นำเสียงข้างมากในวุฒิสภาออกมาคัดค้าน และระบุว่า วุฒิสภาจะไม่ผ่านร่างกฎหมายที่ใช้งบประมาณเกิน 2 ล้านล้านดอลลาร์ สหรัฐฯ ขณะที่ ประธานาธิบดีทรัมป์ได้ออกมาเรียกร้องทั้งสองฝ่ายให้บรรลุข้อตกลงบนมาตรการกระตุ้นทางการคลังรอบใหม่ให้สำเร็จก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ
· รายงานการประชุมธนาคารยุโรป (ECB) เมื่อวันที่ 9 – 10 ก.ย. (6 ต.ค.) โดยคาดว่า ในรายงานฯ จะบ่งชี้ถึง ความกังวลที่เพิ่มขึ้นของที่ประชุมฯ ต่อแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อที่อ่อนแอลง (ตัวเลขอัตราเงินเฟ้อทั่วไปของยูโรโซนล่าสุดในเดือน ก.ย.ติดลบ -0.3%YoY และเป็นระดับต่ำสุดตั้งแต่เดือน ก.พ.) ทั้งนี้ ตลาดคาดว่า ECB จะออกมาตรการผ่อนคลายเพิ่มเติมในการประชุมเดือน ธ.ค. โดยเพิ่มวงเงินในมาตรการการเข้าซื้อพันธบัตรตามโครงการ Pandemic Emergency Purchase Programme (PEPP) และต่ออายุมาตรการดังกล่าว
· รายงานการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) เมื่อวันที่ 15 – 16 ก.ย. (8 ต.ค.) โดยคาดว่า รายงานฯ อาจให้รายละเอียดเกี่ยวกับเงื่อนไขที่จำเป็นในการขึ้นอัตราดอกเบี้ย และยังเน้นถึงความสำคัญของมาตรการกระตุ้นทางการคลังต่อการใช้จ่ายภาคครัวเรือน นอกจากนี้ อาจเปิดเผยว่าที่ประชุมฯ มีการหารือเกี่ยวกับการเพิ่มการเข้าซื้อสินทรัพย์, แนวโน้มการจำกัดการจ่ายเงินปันผลของธนาคารพาณิชย์สหรัฐฯ และการยอมให้อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้นและอัตราการว่างงานลดลงมากกว่าที่เจ้าหน้าที่ Fed เคยอ้างถึงก่อนหน้านี้ หรือไม่
· ตัวเลขเศรษฐกิจ ได้แก่ ตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรก ดุลการค้า และตัวเลขการเปิดรับสมัครงาน (JOLTS) ของสหรัฐฯ, ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคบริการ โดยไฉซิน ของจีน, การผลิตภาคอุตสาหกรรมของเยอรมนี, GDP ของอังกฤษ
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด