Sea เจาะลึกความคิดเห็นคนรุ่นใหม่ในไทยช่วงโควิด-19 เผยผลสำรวจ Thai Youth 2020 พบ 3 มิติความท้าทาย | Techsauce

Sea เจาะลึกความคิดเห็นคนรุ่นใหม่ในไทยช่วงโควิด-19 เผยผลสำรวจ Thai Youth 2020 พบ 3 มิติความท้าทาย

Sea ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตแพลตฟอร์มระดับโลก ซึ่งดำเนินธุรกิจด้านดิจิทัลเอนเตอร์เทนเมนท์ (Garena) อีคอมเมิร์ซ (Shopee) และบริการด้านการเงินแบบดิจิทัล (SeaMoney) เผยผลสำรวจ Thai Youth 2020 “COVID-19: Challenges & Opportunities for Transformation” ที่เจาะลึกสำรวจคนรุ่นใหม่ไทยซึ่งจะกลายเป็นผู้กำหนดอนาคตของประเทศต่อไปในช่วงโควิด-19 พบ 3 มิติความท้าทายที่คนรุ่นใหม่ต้องเผชิญ พร้อมเสนอแนวทางการอุดช่องโหว่ในการปรับเปลี่ยนสู่ระบบดิจิทัล การเรียนรู้ และการเงิน เพื่อช่วยให้คนรุ่นใหม่สามารถรับมือและต่อสู้กับความท้าทายใหม่นี้ได้ ด้วยความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม

ดร.สันติธาร เสถียรไทย Group Chief Economist, Sea Group กล่าวว่า “ช่วงสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ที่ผ่านมา มีความท้าทายใหม่เกิดขึ้นในหลายด้าน ดังนั้น Sea Insights หน่วยงานที่รับผิดชอบการวิจัยด้านนโยบายสาธารณะภายใต้ Sea Group จึงได้ร่วมกับ สภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum) ทำงานวิจัยที่สำรวจคนรุ่นใหม่ 70,000 คนทั่วอาเซียน อายุระหว่าง 16-35 ปี และยังเจาะลึกเฉพาะคนรุ่นใหม่ของไทย เพื่อค้นหาว่าพวกเขาเผชิญกับความท้าทายอะไรบ้าง อะไรคือสิ่งที่พวกเขารู้สึกว่าเป็นปัญหา อะไรคือสิ่งที่อยากจะปรับตัว และอะไรคือสิ่งที่พวกเราทุกคนทั้งภาครัฐและเอกชนสามารถยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือ ซึ่งผมเชื่อว่าผลกระทบจากโควิด-19 จะมีผลกระทบกับชีวิตของคนรุ่นใหม่มหาศาล ซึ่งจะมีผลไปตลอดในอนาคตด้วย เพราะฉะนั้นการเข้าใจพวกเขาจะเข้าใจอนาคตของประเทศไทยด้วย” 

จากผลสำรวจ Thai Youth 2020 “COVID-19: Challenges & Opportunities for Transformation” พบว่า ความท้าทายของคนรุ่นใหม่ไทยในช่วงโควิด-19 มาจาก 3 มิติ ได้แก่ Disruptions to work/study การเผชิญอุปสรรคในการทำงานหรือการเรียน โดย 76% ระบุว่าการเรียนหรือทำงานทางไกลในสถานการณ์โรคระบาดเป็นเรื่องยาก โดยนักเรียน นักศึกษา และกลุ่มคนในวัยทำงานจากภาคสังคมและเกษตรกรรมพบอุปสรรคมากที่สุด ซึ่งมีสาเหตุมาจากคุณภาพของอินเทอร์เน็ต 36% โดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกล ในขณะที่อุปสรรคที่ขัดขวางการทำงานหรือการเรียนทางไกลมากที่สุดคือความคุ้นเคยกับเครื่องมือดิจิทัล โดย88% ของผู้ที่ขาดทักษะดิจิทัลระบุว่า พบความยากลำบากในการทำงาน นอกจากนี้ ยังพบอุปสรรคในการทำงานจากบ้านอันเป็นผลจากจากกฎระเบียบของภาครัฐ เช่น เอกสารทางราชการ

มิติที่ 2 Downturns in demand เนื่องจากโควิด-19 ทำให้เศรษฐกิจไทยเผชิญสภาวะขาดรายได้อย่างรุนแรงและกะทันหัน เพราะเศรษฐกิจไทยพึ่งพาภาคการท่องเที่ยวในสัดส่วนที่สูงถึง 18% ของ GDP สภาวะความไม่แน่นอนที่สูงขึ้นจากสถานการณ์นี้ ทำให้คนรุ่นใหม่มีการใช้จ่ายอย่างระมัดระวังมากขึ้น โดยจากผลสำรวจเผยให้เห็นว่า 63% ของคนรุ่นใหม่ใช้จ่ายอย่างประหยัดมากขึ้น นอกจากนี้ ยังพบว่า 48% ได้เรียนรู้ถึงความสำคัญของการมีเงินออมเผื่อฉุกเฉินที่เพียงพอ และ 44% ได้เรียนรู้ที่จะซื้อในสิ่งที่จำเป็นเท่านั้น

และมิติสุดท้าย Deficits in funding พบว่า 26% ของคนรุ่นใหม่เผชิญอุปสรรคทางการเงิน ซึ่งนับว่าเป็นสัดส่วนที่สูงกว่าสถิติของภูมิภาค (19%) โดยสิ่งที่น่าสนใจคือ คนรุ่นใหม่ในธุรกิจสตาร์ทอัพและกิจการเพื่อสังคม มีอุปสรรคทางการเงินมากที่สุด ตามมาด้วยผู้ประกอบการและผู้ที่รับจ้างรายได้ไม่แน่นอน ต่างกับสถิติในอาเซียนที่โดยทั่วไปแล้วผู้ประกอบการและผู้ที่ทำงานรับจ้างถือเป็นสองอันดับแรกที่ระบุว่าพบอุปสรรคทางการเงินมากที่สุด ทั้งนี้ ในกรณีของกิจการเพื่อสังคม การขาดเงินทุนส่วนหนึ่งอาจสะท้อนให้เห็นถึงการที่กลุ่มเปราะบางต้องการสิ่งของบริจาคมากขึ้น เนื่องจากกลุ่มนี้ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากสถานการณ์โควิด-19 ในขณะที่ในกรณีของสตาร์ทอัพ ส่วนหนึ่งอาจมาจากเงื่อนไขการเข้าถึงเงินทุนซึ่งมีความเข้มงวดยิ่งขึ้น

นอกจากความท้าทายและอุปสรรคของคนรุ่นใหม่ไทย ยังมีข้อมูลที่น่าสนใจจากผลสำรวจ นั่นคือ กลุ่มคนรุ่นใหม่ไทยมีการปฏิวัติตัวเองใน 3 ด้าน ด้านแรกคือ วิถีดิจิทัล (Digitalization) พบว่า ภาคประชาชนมีการปรับตัวเพื่อรับมือกับสถานการณ์   โควิด-19 อย่างมีนัยยะสำคัญ โดยหันมาใช้เครื่องมือดิจิทัลมากขึ้น ซึ่ง 81% เพิ่มการใช้งานเครื่องมือดิจิทัลขึ้นอีกอย่างน้อยหนึ่งช่องทาง และ 41% เริ่มหันมาใช้เครื่องมือดิจิทัลเป็นครั้งแรก และภายหลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย การเปลี่ยนแปลงไปสู่ระบบดิจิทัลก็จะยังดำเนินต่อไปและกลายเป็นเรื่องปกติที่จำเป็นในชีวิตประจำวัน โดย 60% จะใช้งานโซเชียลมีเดียในการทำธุรกรรมการเงินออนไลน์ อีคอมเมิร์ซ และการส่งอาหาร เป็นพฤติกรรมติดตัวไปตลอด สำหรับในภาคธุรกิจ ช่วงโควิด-19 ผู้ประกอบการหันมาใช้ช่องทางออนไลน์เพื่อกระจายสินค้าและเพิ่มยอดขาย โดย 21% ของผู้ประกอบการ ใช้อีคอมเมิร์ซเป็นช่องทางการขายมากขึ้น และ 33% ของผู้ประกอบการที่ใช้อีคอมเมิร์ซมากขึ้นเป็นผู้ประกอบการที่เริ่มหันมาใช้อีคอมเมิร์ซเป็นครั้งแรก 

ด้านต่อมาคือ การเรียนรู้ (Lifelong Learning) พบว่า การเรียนออนไลน์พุ่งสูงขึ้น โดยเห็นได้ชัดเจนที่สุดในกลุ่มนักเรียน นักศึกษาที่เรียนเต็มเวลา ในขณะที่กลุ่มคนทำงานก็เรียนออนไลน์เพิ่มขึ้นเช่นกัน โดย 49% ของเยาวชนไทยใช้เครื่องมือการเรียนการสอนออนไลน์มากขึ้นในช่วงโควิด-19 แต่ยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของภูมิภาค (64%) โดย 31% ใช้งานเป็นครั้งแรก และแม้หลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย 55% จะยังใช้เครื่องมือการเรียนการสอนออนไลน์ และ 30% ของกลุ่มวัยทำงานได้ใช้เครื่องมือการเรียนการสอนออนไลน์เพิ่มขึ้นในช่วงโควิด-19 

นอกจากการปรับเปลี่ยนไปสู่ระบบดิจิทัลแล้ว กลุ่มคนรุ่นใหม่จำนวนมากยังแสดงให้เห็นถึงสัญญาณแห่งการฟื้นตัวและความสามารถในการปรับตัวท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19 โดย 63% ของกลุ่มคนรุ่นใหม่แสดงให้เห็นถึงความสามารถในการปรับตัวและการฟื้นตัวท่ามกลางสถานการณ์ อาทิ เรียนรู้ที่จะฟื้นตัวในสถานการณ์โรคระบาด เรียนรู้ทักษะใหม่ๆ และ มองหารูปแบบธุรกิจใหม่ๆ โดยทั่วไป เราอาจจะเชื่อกันว่าคนวัยหนุ่มสาวน่าจะมีความสามารถในการฟื้นตัวได้เร็วกว่า แต่ผลสำรวจของเราแสดงให้เห็นว่าคนวัยหนุ่มสาวอาจไม่ได้ฟื้นตัวได้เร็วกว่าเสมอไป ผลสำรวจพบว่า กลุ่มคนในช่วงอายุ 26-35 ปี มีแนวโน้มที่จะแสดงสัญญาณแห่งการฟื้นตัวและความสามารถในการปรับตัวได้ดีกว่ากลุ่มเยาวชนที่อายุต่ำกว่า 25 ทั้งนี้ ผลสำรวจของเราแสดงให้เห็นว่าเยาวชนในช่วงอายุ 16-25 ปียังมีความได้เปรียบเล็กน้อยในการเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ

และด้านสุดท้าย การเงิน (Financing) แหล่งเงินทุนภายนอกมีความสำคัญมากขึ้นสำหรับคนรุ่นใหม่ และมีส่วนน้อยที่เลือกใช้บริการของธนาคาร โดยคนรุ่นใหม่มักจะใช้เงินเก็บของตัวเองและเลือกที่จะขอความช่วยเหลือทางการเงินจากครอบครัวและเพื่อนก่อน โดย 63% เรียนรู้ที่จะบริหารการเงินอย่างระมัดระวังมากขึ้น และมักจะใช้ประโยชน์จากเงินเก็บส่วนตัวก่อน และ 25% ของผู้ที่พบอุปสรรคทางการเงิน ระบุว่ามักจะเลือกใช้ช่องทางการกู้เงินจากธนาคาร ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของภูมิภาค (33%) โดยเฉพาะกลุ่มคนที่มีการศึกษาในระดับไม่สูง และกำลังอยู่ในวัยเรียนยิ่งมีแนวโน้มต่ำที่จะเลือกกู้เงินจากธนาคาร ดังนั้น แหล่งเงินทุนทางเลือกจึงเป็นแหล่งสำคัญสำหรับผู้ที่เผชิญอุปสรรคทางการเงิน การสนับสนุนจากรัฐบาล แหล่งเงินทุนจากออนไลน์ และแหล่งเงินทุนอย่างไม่เป็นทางการเป็นช่องทางสำคัญอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่พบอุปสรรคทางการเงิน ข้อค้นพบดังกล่าวนี้ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการสนับสนุนจากภาครัฐและความต้องการในโอกาสการเข้าถึงแหล่งเงินทุนอย่างทั่วถึงยิ่งขึ้น

จากผลสำรวจในครั้งนี้ แสดงให้เห็นว่ายังมี 3 ช่องโหว่ที่ต้องช่วยกันอุด เพื่อสนับสนุนให้คนรุ่นใหม่สามารถต่อสู้ เอาชนะความท้าทายต่างๆ จากไวรัสและมาตรการระยะห่างทางสังคมได้ ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากทั้งภาครัฐและเอกชน กล่าวคือ ช่องโหว่ในการปรับเปลี่ยนไปสู่ระบบดิจิทัล เมื่อการปรับเปลี่ยนสู่ระบบดิจิทัลกลายเป็นเรื่องจำเป็น การอุดช่องว่างความแบ่งแยกทางดิจิทัลต้องอาศัยการขจัดข้อจำกัดแก่ทุกคน นั่นคือ การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเพื่อให้ทุกคนเข้าถึงอินเทอร์เน็ตที่มีคุณภาพได้ทั่วถึงยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกล การปรับปรุงกฎระเบียบให้เอื้อต่อการเปลี่ยนกระบวนการจากในรูปแบบเอกสารไปสู่ออนไลน์ และกระบวนการที่ไม่ต้องใช้การสัมผัส และการให้ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับดิจิทัลแก่ทุกคน

ช่องโหว่ในการเรียนรู้ การสำรวจนี้แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของการฟื้นตัวและความสามารถในการปรับตัว ซึ่งต้องมีมาตรการมาช่วยสนับสนุนการเรียนรู้ไปตลอดชีวิต โดยสามารถเริ่มได้จากหลักสูตรที่จะช่วยปรับและเพิ่มทักษะที่จำเป็น ทั้งในรูปแบบออฟไลน์และออนไลน์ ที่สำคัญยิ่งกว่าเนื้อหาวิชา คือการปลูกฝังให้คนรุ่นใหม่มีทัศนคติแห่งการเติบโตและความพร้อมทางจิตใจและอารมณ์ในการฟื้นตัวจากความท้าทาย เพื่อฝึกให้พร้อมรับมือกับอนาคตที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอน   

และสุดท้าย ช่องโหว่ในเงินทุน ผลสำรวจเผยว่าเยาวชนในธุรกิจสตาร์ทอัพและกิจการเพื่อสังคม รวมไปถึงกลุ่มเยาวชนที่ทำงานรับจ้าง และเป็นผู้ประกอบการถือเป็นกลุ่มที่มีแนวโน้มสูงกว่าที่จะประสบปัญหาทางการเงิน แม้ในระยะสั้นจะได้รับการสนับสนุนจากนโยบายทางการเงิน แต่ข้อค้นพบจากผลสำรวจบ่งชี้ว่า ในระยะต่อๆ ไป บริการทางการเงินในระบบดิจิทัลจะมีศักยภาพในการช่วยให้ทุกคนเข้าถึงบริการทางการเงินได้อย่างทั่วถึงยิ่งขึ้น โดยเฉพาะสำหรับกลุ่มประชากรที่ยังไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้ 

“ถ้ามองว่าคนรุ่นใหม่เป็นไม้แห่งอนาคต อยากให้เติบโตขึ้นไป ต้นไม้ก็ต้องมีทั้ง น้ำ ดิน และแสงแดด ซึ่งเราก็จะเห็นช่องว่างแต่ละอันอยู่ ดิน เปรียบเทียบกับทักษะแห่งอนาคต ถ้าเรามี Growth Mindset มีทักษะที่เปิดรับความรู้ใหม่ๆ ได้ตลอดเวลา จะทำให้เราสามารถดูดสารอาหารออกมาได้ เรียนรู้อะไรใหม่ๆ ตลอดเวลา แสงแดด เปรียบได้กับดิจิทัลที่ตอนนี้แม้สาดส่องตลอดเวลาแต่ยังไม่ทั่วถึง หลายคนเข้าไม่ถึงอินเทอร์เน็ต ขณะเดียวกันต้องมีทักษะดิจิทัลด้วย เรื่องนี้ต้องช่วยทั้งภาครัฐและเอกชน สุดท้าย น้ำ เปรียบได้กับการเงิน สิ่งที่ค้นพบคือ ในช่วงที่ผ่านมาคนรุ่นใหม่ของไทยพึ่งพาการเงินจากภาครัฐค่อนข้างเยอะ คนที่ยังเข้าไม่ถึงแหล่งการเงินแบบธนาคารในเมืองไทยยังมีค่อนข้างพอสมควร ดังนั้น หน้าที่ให้น้ำ ดิน และแสงแดด เป็นของทุกคน ทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาสังคม ตอนแรกที่ทำงานวิจัยชิ้นนี้มองว่า เป็นบททดสอบของคนรุ่นใหม่ แต่ทำเสร็จแล้วถึงเข้าใจว่า โควิด-19 ไม่ใช่บททดสอบของคนรุ่นใหม่ แต่เป็นบททดสอบของทั้งสังคมไทยว่าสุดท้ายแล้วเราเห็นคนรุ่นใหม่ที่เป็นนักสู้ที่สามารถปรับตัวได้ขนาดนี้ บางคนโต้คลื่น แต่บางคนยังไม่มีแม้กระทั่งกระดาน เราจะหากระดานให้กับคนเหล่านั้นได้อย่างไร ทุกคนต้องมาร่วมทำด้วยกันหมด” ดร.สันติธาร กล่าวเพิ่มเติม

ดูรายงานการสำรวจ Thai Youth 2020 “COVID-19: Challenges & Opportunities for Transformation” เพิ่มเติมได้ที่: https://cdngarenanow-a.akamaihd.net/webth/cdn/corporate/report/th-youth-survey-2020.pdf

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

เดลต้า ประเทศไทย ชูธงนวัตกรรม ESG คว้าดัชนี FTSE4Good ตอกย้ำความเป็นเลิศ

เดลต้าได้รับคัดเลือกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของดัชนี FTSE4Good Index Series ซึ่งจัดทำโดย FTSE Russell ผู้ให้บริการด้านดัชนีและข้อมูลระดับโลก...

Responsive image

GMM Music เผย Digital Streaming ตัวเร่งสำคัญในการเติบโตของอุตสาหกรรมเพลงไทย

อุตสาหกรรมเพลงไทยยุคดิจิทัล
อุตสาหกรรมเพลงไทยกำลังเข้าสู่ยุคทองของการเติบโตแบบก้าวกระโดด จากพลังแห่งโลกดิจิทัลที่ทำให้ดนตรีไทยทะยานสู่ระดับโลก โดยปี 2023 ตลาดเพลงไทยขยายตัว 16% เที...

Responsive image

รู้จัก MoneyThunder แก้หนี้นอกระบบด้วย AI แอปสินเชื่อออนไลน์จาก ABACUS Digital

สำรวจปัญหาหนี้นอกระบบในไทยที่ส่งผลกระทบต่อคนกว่า 21 ล้านคน พร้อมทำความรู้จัก MoneyThunder แอปสินเชื่อ AI ที่ช่วยคนไทยเข้าถึงเงินทุนอย่างปลอดภัยและยั่งยืน...