Sea (ประเทศไทย) ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตแพลตฟอร์มชั้นนำ ร่วมกับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) จัดโครงการ “ปลูกทักษะชีวิต คิดทันโลกดิจิทัล” ด้วยจุดประสงค์ในการกระจายความรู้ด้านธุรกิจโดยใช้เทคโนโลยีและอีคอมเมิร์ซในกลุ่มนักเรียนอาชีวศึกษาทั่วประเทศ รวมกว่า 4,000 คน
อีกทั้งยังปลูกทักษะและวิธีคิดแบบผู้ประกอบการ (Entrepreneurial Skills) ตลอดจนทักษะที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้ประกอบการยุคดิจิทัล (Employability Skills) เตรียมความพร้อมสู่การเป็นแรงงานแห่งอนาคต ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อน Digital Nation ในไทย
เป็นที่ทราบกันดีว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อแรงงานไทยอย่างใหญ่หลวง ทั้งในแง่ชั่วโมงทำงานและรายได้ที่ลดลง โดยข้อมูลจาก KResearch ในปี 2563 คาดการณ์ว่ามีแรงงานไทยราว 5.9 แสนคน ที่กลายเป็นผู้ว่างงานและมีผู้เสมือนว่างงาน (ผู้ที่ทำงานน้อยกว่าวันละ 4 ชั่วโมง) ราว 2.1 ล้านคน
นอกจากนี้ การพัฒนาทักษะที่หยุดชะงักไป ยิ่งทำให้แรงงานเหล่านี้ห่างไกลจากการกลับเข้าสู่ตลาดแรงงานในอนาคต ด้วยมีช่องว่างทางทักษะที่มากเกินไป โดยรายงาน The Future of Jobs Report 2020 โดยสภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum) พบว่าแรงงานไทยที่มีองค์ความรู้ด้านทักษะดิจิทัลมีเพียง 54.9% แสดงให้เห็นว่ายังมีแรงงานไทยที่ควรได้รับการพัฒนาทักษะดิจิทัลเพื่อต่อยอดโอกาสการประกอบอาชีพ
นางสาวมณีรัตน์ อนุโลมสมบัติ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Sea (ประเทศไทย) กล่าวว่า “ปัจจุบัน ธุรกิจต่างๆ หันมาประยุกต์ใช้เทคโนโลยีต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอีคอมเมิร์ซ โดยรายงาน e-Conomy SEA 2020 จาก Google, Temasek และ Bain & Company กล่าวถึงการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของอีคอมเมิร์ซไทยว่าในปี 2563 มีมูลค่าถึง 9 พันล้านเหรียญสหรัฐ และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 2.4 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2568
ดังนั้นทักษะด้านอีคอมเมิร์ซและการทำธุรกิจบนโลกดิจิทัล จึงเป็นทักษะสำคัญในการเปิดโอกาสทางด้านอาชีพ โดยเฉพาะอาชีพที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมดิจิทัล ซึ่งเป็นตำแหน่งที่กำลังเป็นที่ต้องการสูงในตลาดแรงงานไทยในปัจจุบัน”
“ทั้งนี้ บทบาทของเทคโนโลยีโดดเด่นขึ้นอย่างกะทันหันอาจยากต่อการปรับตัว ผู้คนบางส่วนยังมองการพัฒนาทักษะดิจิทัลเป็นเรื่องไกลตัวไม่สัมพันธ์กับการหาเลี้ยงชีพ ดังนั้น Sea (ประเทศไทย) จึงริเริ่มโครงการ ‘ปลูกทักษะชีวิต คิดทันโลกดิจิทัล’ เพื่อช่วยยกระดับทักษะดิจิทัลให้กับนักศึกษาสายอาชีพที่มาจากครอบครัวที่มีรายได้น้อย เปิดโอกาสการเข้าถึงช่องทางสร้างรายได้หลักและรายได้รองที่มีความเสี่ยงต่ำและใช้ต้นทุนต่ำ
ในขณะเดียวกันก็มุ่งให้ความรู้ที่ต่อยอดการเติบโตในอนาคตอย่างรอบด้าน อาทิ การทำธุรกิจและการตลาดดิจิทัล การวิเคราะห์กลุ่มลูกค้า การบริหารจัดการต้นทุน เป็นต้น ซึ่งเป็นการปลูกต้นกล้าผู้ประกอบการและทลายเพดานความสามารถให้ผู้ร่วมโครงการเป็นแรงงานแห่งอนาคตที่สามารถมีความเป็นอยู่และรายได้ที่มั่นคง ทั้งยังสามารถเป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนองค์กรและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับอุตสาหกรรมต่างๆ ในประเทศไทยได้เป็นอย่างดี” นางสาวมณีรัตน์กล่าวเสริม
ยิ่งกว่านั้น จากงานวิจัยของ กสศ. พบว่าในอีก 10 ปี ประเทศไทยต้องการแรงงานปริญญาตรีสายเทคโนโลยีหรือสายปฏิบัติการ (ทล.บ.) ที่ต่อยอดมาจากการศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) และประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) มากถึง 1 ใน 3 ของแรงงานทั้งหมด อย่างไรก็ตามจำนวนนักศึกษาสายอาชีพจบใหม่กลับมีแนวโน้มลดลง และมีนักศึกษาสายอาชีพลาออกกลางคันกว่า 80,000 คนต่อปีจากปัญหารายได้ครอบครัว
ดร.ไกรยส ภัทราวาท รองผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวว่า “กสศ. มุ่งลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา โดยได้ดำเนินการโครงการทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง ส่งเสริมโอกาสให้เยาวชนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาสที่มีความยากจน 20% ล่างสุดของประเทศได้เรียนต่อในระดับที่สูงขึ้น
จากข้อมูลพบว่าในประเทศไทยมีเด็กเกิดปีละราว 7 แสนคน และในจำนวนนี้ มีเพียง 5% หรือประมาณ 8,000 คน ที่มีโอกาสเรียนสูงกว่าระดับ ม.6 ดังนั้นโครงการทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง จึงมุ่งส่งเสริมการศึกษาต่อที่เน้นในสายอาชีพสำคัญของประเทศที่ต้องการกำลังคน ตอบโจทย์การพัฒนาประเทศตาม 10 อุตสาหกรรม S Curve และ New S Curve สาขา STEM (วิทยาศาสตร์เทคโนโลยี) รวมถึงเทคโนโลยีดิจิทัล
นอกจากนี้หากเด็กกลุ่มนี้จบการศึกษาและได้รับการจ้างงานก็จะสามารถช่วยให้ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของครอบครัวดีขึ้น ซึ่งจะเป็นเครื่องพิสูจน์ให้เห็นว่าโอกาสทางการศึกษาทำให้ความเหลื่อมล้ำลดลง เราเชื่อว่าเด็กทุกคนมีศักยภาพและจะมีชีวิตที่ดี หลุดพ้นจากความยากจนได้ หากได้รับการศึกษา”
“นอกจากการมอบทุนการศึกษาดังกล่าว กสศ. ยังร่วมมือกับ Sea (ประเทศไทย) ในโครงการ “ปลูกทักษะชีวิต คิดทันโลกดิจิทัล” เพื่อส่งเสริมให้นักศึกษาทุนอาชีวะในกลุ่มเปราะบางจากครอบครัวที่มีรายได้น้อย สามารถมีรายได้ระหว่างเรียนและยังคงอยู่ในระบบการศึกษาต่อไปได้ ทั้งยังเป็นการเปิดโลกทัศน์ นำองค์ความรู้และทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 มาสู่นักเรียนนักศึกษา ถือเป็นการเรียนรู้นอกห้องเรียนที่ช่วยเสริมทักษะชีวิตเพิ่มเติมให้น้องๆ” ดร.ไกรยสกล่าว
ในระยะแรกโครงการ ‘ปลูกทักษะชีวิต คิดทันโลกดิจิทัล’ จะนำร่องด้วยโครงการ ‘เสริมแกร่งอาชีวะสู่ผู้ประกอบการดิจิทัล’ ผู้ร่วมโครงการทุกคนจะได้ร่วมเรียนคอร์สออนไลน์จากผู้เชี่ยวชาญบน Shopee Bootcamp ซึ่งครอบคลุมความรู้พื้นฐานที่จำเป็นสำหรับการเปิดร้านค้าออนไลน์ รวมถึงการจัดการบริหารร้านค้า ไม่ว่าจะเป็นการจัดสินค้าบนร้าน การจัดการคำสั่งซื้อและการขนส่ง การทำโฆษณาและโปรโมชั่น เพิ่มยอดขายด้วยเครื่องมือการตลาดของช้อปปี้ที่หลากหลาย การวิเคราะห์ข้อมูลยอดขาย รวมถึงการขายสินค้าผ่านไลฟ์สตรีม (Shopee Live) ที่ตอบโจทย์เมกะเทรนด์ Live Streaming Economy ที่แผ่ขยายไปทั่วโลก
หลังจากนั้น โครงการฯ จะเปิดรับสมัครทีมนักศึกษาทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง ระดับ ปวช. ปวส. และอนุปริญญา ตั้งแต่วันนี้จนถึง 15 กรกฎาคม 2564 ที่หน้าโครงการ “ปลูกทักษะชีวิต คิดทันโลกดิจิทัล” บนเว็บไซต์ ทุนสายอาชีพ.com ของกสศ. เพื่อร่วม ‘การแข่งขันทำธุรกิจบนช้อปปี้’ เพื่อต่อยอดความรู้อย่างต่อเนื่อง
โดยทีมที่ผ่านการคัดเลือกจะได้ร่วมอบรมอีคอมเมิร์ซมาสเตอร์คลาสที่จัดโดย Sea (ประเทศไทย) ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญและผู้มีประสบการณ์ความสำเร็จในวงการอีคอมเมิร์ซไทย ต่อยอดความรู้ให้ครอบคลุมยิ่งขึ้น ทั้งการบริหารจัดการต้นทุน การทำการตลาดออนไลน์ การวางแผนกลยุทธ์การตลาด การวิเคราะห์ลูกค้าเป้าหมาย และการวางแบรนด์ให้ตอบโจทย์ลูกค้า รวมถึงได้ลงมือปฏิบัติจริงด้วยการเปิดร้านค้าบนช้อปปี้ ซึ่งเปิดพื้นที่ให้นักศึกษาได้เรียนรู้จากประสบการณ์จริง โดยได้รับคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญระหว่างดำเนินกิจกรรม
นอกจากนี้ ทุกทีมจะได้รับทุนสนับสนุนเพื่อจัดหาผลิตภัณฑ์จาก Sea (ประเทศไทย) เป็นมูลค่า 10,000 บาท และทีมที่ชนะการแข่งขันจะได้รับเงินรางวัลรวมกว่า 60,000 บาท เพื่อส่งเสริมการต่อยอดธุรกิจต่อไป
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด