สิงคโปร์ ขึ้นอันดับหนึ่งด้านความพร้อมใช้ยานยนต์ไร้คนขับในช่วงที่ความต้องการสูงขึ้นจากพิษโควิด-19 | Techsauce

สิงคโปร์ ขึ้นอันดับหนึ่งด้านความพร้อมใช้ยานยนต์ไร้คนขับในช่วงที่ความต้องการสูงขึ้นจากพิษโควิด-19

งานวิจัยของเคพีเอ็มจีด้านดัชนีชี้วัดความพร้อมใช้ยานยนต์ไร้คนขับของแต่ละประเทศและเขตปกครองชี้ให้เห็นถึงความพร้อมของอุตสาหกรรมรถยนต์ไร้คนขับ

งานวิจัยของเคพีเอ็มจีด้านดัชนีชี้วัดความพร้อมใช้ยานยนต์ไร้คนขับ (KPMG Autonomous Vehicles Readiness Index – AVRI) ชี้ให้เห็นว่าแม้ว่ากระแสการประชาสัมพันธ์ยานยนต์ไร้คนขับจะลดน้อยลงแต่ความก้าวหน้ากลับมีเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากผู้มีอำนาจที่เกี่ยวข้องได้มุ่งเน้นความสำคัญไปในด้านกฎหมาย/กฎระเบียบในการรองรับ และการยอมรับทางสังคม  ทั้งนี้จากในปัจจุบันที่เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ความต้องการด้านคมนาคมที่เปลี่ยนไปของผู้บริโภค และการมุ่งเน้นด้านการรักษาสิ่งแวดล้อมอาจเป็นปัจจัยเร่งให้ทั่วโลกเกิดการพัฒนา และใช้ยานยนต์ไร้คนขับอย่างรวดเร็วมากยิ่งขึ้น

งานวิจัย 2020 KPMG AVRI ครั้งที่ 3 นี้ ได้มีการประเมินความก้าวหน้าของ 30 ประเทศและเขตปกครองในการปรับใช้และพัฒนาเทคโนโลยียานยนต์ไร้คนขับ ซึ่งงานวิจัยได้พบว่าส่วนใหญ่มีความพร้อมเพิ่มมากขึ้นจากปีที่ผ่านมา

“เราเริ่มเห็นศักยภาพในการพลิกโฉมด้านต่างๆ จากเทคโนโลยียานยนต์ไร้คนขับ” ริชาร์ด เธรลฟอลล์ ประธานฝ่ายโครงสร้างพื้นฐาน เคพีเอ็มจี อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าว “การพัฒนายานยนต์ไร้คนขับให้เกิดความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพมีความก้าวหน้ามากขึ้น ในอนาคตยานยนต์ไร้คนขับสามารถมีบทบาทเพิ่มขึ้นในการขนส่งผู้โดยสาร และสินค้าเนื่องจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ยกตัวอย่างเช่น การใช้มินิบัสไร้คนขับเพื่อการขนส่งสาธารณะซึ่งสามารถให้บริการได้ตามความต้องการของผู้โดยสาร (on-demand) เพื่อสนับสนุนต่อมาตรการ social distancing หรือการใช้ยานยนต์ไร้คนขับในการขนส่งสินค้าเพื่องดการติดต่อระหว่างผู้ส่งและผู้รับ (contactless delivery) เป็นต้น”

อย่างไรก็ตาม ความรวดเร็วในการนำยานยนต์ไร้คนขับมาใช้ในชีวิตประจำวันของผู้บริโภคนั้นขึ้นอยู่กับการพัฒนา และการปรับใช้ยานยนต์ไร้คนขับของแต่ละประเทศและเขตการปกครอง

ดัชนี AVRI มีการประเมินประเทศและเขตการปกครองด้วย 28 หัวข้อชี้วัด เพื่อดูความพร้อมและพัฒนาการในการใช้และสร้างนวัตกรรมยานยนต์ไร้คนขับ หัวข้อชี้วัดเหล่านี้ถูกจัดอยู่ภายใต้ 4 ด้านหลัก คือ 1) นโยบายและกฎหมาย 2) เทคโนโลยีและนวัตกรรม 3) โครงสร้างพื้นฐาน 4) การยอมรับของผู้บริโภค

อันดับประเทศและเขคปกครองในด้านความพร้อมสำหรับยานยนต์ไร้คนขับ

โดยรวมแล้ว ดัชนี 2020 AVRI ชี้ให้เห็นว่าประเทศและเขตปกครองส่วนใหญ่มีการพัฒนาความพร้อมในการใช้ยานยนต์ไร้คนขับ โดยที่ 17 ใน 25 ประเทศและเขตปกครองที่ได้ถูกวิจัยในครั้งที่แล้วได้คะแนนค่าชี้วัดเพิ่มขึ้นในปีนี้ ซึ่งส่วนใหญ่จะมีการพัฒนาด้านการทดลองใช้และสถานที่ทดลองยานยนต์ไร้คนขับ โดยพบว่าประมาณ 2 ใน 3 ของทั้งหมด 30 ประเทศและเขตการปกครองในงานวิจัยครั้งนี้ ได้มีการกำหนดสถานที่ที่ได้รับอนุญาตในการทดสอบรถยนต์ไร้คนขับโดยเฉพาะ

ในปีนี้สิงคโปร์เฉือนชนะเนเธอร์แลนด์ ซึ่งเป็นแชมป์สองสมัยในสองปีที่ผ่านมา แสดงให้เห็นว่าตั้งแต่ปี 2562 ที่ผ่านมาสิงคโปร์ได้มีมาตรการหลายด้านในการขับเคลื่อนการใช้ยานยนต์ไร้คนขับ โดยในปัจจุบันสิงคโปร์ได้มีการออกมาตรฐานระดับประเทศสำหรับการใช้รถยนต์ไร้คนขับ และยังอนุญาตให้มีการทดสอบการใช้ยานยนต์ไร้คนขับได้บนท้องถนนถึง 1 ใน 10 ของถนนสาธารณะทั้งหมดของประเทศ

ทั้งสิงคโปร์และเนเธอร์แลนด์ต่างเป็นผู้นำในการขับเคลื่อนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (electric vehicles – EVs) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีนำร่องของยานยนต์ไร้คนขับ สิงคโปร์วางแผนที่จะเพิ่มปริมาณสถานีชาร์จยานยนต์ไฟฟ้าจาก 1,600 สถานี เป็น 28,000 สถานีภายในปี 2573 ส่วนเนเธอร์แลนด์เป็นประเทศที่มีสถานีชาร์ยานยนต์ไฟฟ้ามากที่สุดต่อจำนวนประชากร  นอกจากนี้นอร์เวย์ซึ่งเป็นผู้นำของโลกในด้านการใช้ EVs ได้มีการทดลองใช้ยานยนต์ไร้คนขับอย่างกว้างขวาง โดยมีการใช้รถบัสไร้คนขับในเส้นทางรถบัส 3 สายในกรุงออสโล

สหรัฐอเมริกามีจุดเด่นคือเป็นที่ตั้งสำนักงานใหญ่ของบริษัทด้านยานยนต์ไร้คนขับถึง 420 บริษัทด้วยกัน ซึ่งนับเป็น 44% ของบริษัทด้านยานยนต์ไร้คนขับ โดยครอบคลุมทั้งบริษัทเทคโนโลยี เช่น Waymo ของ Google และบริษัทผู้ผลิตยานยนต์ไร้คนขับ เช่น General Motors และ Ford เป็นต้น

เกาหลีใต้มีการพัฒนาด้านความพร้อมด้านยานยนต์ไร้คนขับมากที่สุดในปีที่ผ่านมา โดยไต่อันดับขึ้นมา 6 ขั้นด้วยกัน ซึ่งในการวิจัยครั้งนี้เกาหลีใต้อยู่ในอันดับที่ 7 เกาหลีใต้ได้มีการประกาศยุทธศาสตร์ระดับประเทศด้านยานยนต์ไร้คนขับในเดือนตุลาคม 2562 ที่ผ่านมา ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อลดการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางท้องถนนถึง 3 ใน 4  ในขณะเดียวกันไต้หวันเพิ่งได้รับการจัดอันดับเป็นครั้งแรก และอยู่ในอันดับที่ 13 ของดัชนีชี้วัดในครั้งนี้

ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมีการพัฒนาอย่างเห็นได้ชัดในด้านยานยนต์ไร้คนขับ โดยมีถึง 8 ประเทศและเขตปกครองในภูมิภาคที่ได้รับการจัดอันดับในดัชนีการชี้วัดครั้งนี้ “เราได้เห็นหลายท้องที่เปิดรับเทคโนโลยียานยนต์ไร้คนขับและได้รับการยอมรับมากขึ้นจากผู้กำหนดนโยบาย สังคม และนักวิจัย รวมไปถึงภาคธุรกิจ” ชาราด โซมานี่ ประธานฝ่ายโครงสร้างพื้นฐาน เคพีเอ็มจี เอเชียแปซิฟิก กล่าว “จีนและอินเดียได้แสดงให้เห็นถึงความตั้งใจในการพัฒนาในหลายๆ ด้านที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมยานยนต์ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า การใช้ยานยนต์ไร้คนขับและ EVs นับว่าเป็นส่วนสำคัญที่ขาดไม่ได้สำหรับรัฐบาลที่ต้องการจะปรับเปลี่ยนเมืองให้เป็น Smart City โดยเทคโนโลยีเหล่านี้จะสามารถทำให้โครงสร้างพื้นฐานของเมืองมีประสิทธิภาพและมีความยั่งยืนมากขึ้น”

ในขณะที่สิงคโปร์เองก็เป็นต้นแบบให้กับหลายๆ ประเทศ เขตปกครอง และเมือง ถึงความมุ่งมั่นที่จะสร้างบรรยากาศที่เอื้อต่อการส่งเสริมนวัตกรรมและการใช้ยานยนต์ไร้คนขับ ทั้งนี้ โอกาสที่แท้จริงขึ้นอยู่กับการใช้ยานยนต์ไร้คนขับและ EV ให้เป็นปัจจัยหลักในการพลิกโฉมด้านการขนส่งสาธารณะ และการขนส่งสินค้า 

โซมานี่ ได้กล่าวต่อไว้ว่า “การพัฒนานโยบาย มาตรการในการจัดการข้อมูล รวมไปการถึงกำหนดนโยบายด้านการจดทะเบียนและการทำประกันเป็นเรื่องสำคัญ นอกจากนี้เนื่องจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจส่วนใหญ่จะกระจุกตัวในเขตเมือง และการขนส่งสาธารณะเป็นหน้าที่ของส่วนปกครองในท้องที่ เราจึงเห็นส่วนปกครองท้องที่ของเมืองใหญ่ๆ เช่นปักกิ่ง มีการสนับสนุนมาตรการการใช้รถยนต์ไร้คนขับมากขึ้น”

“ถึงแม้ว่าประเทศไทยยังไม่มีการทดลองใช้รถยนต์ไร้คนขับในเชิงพาณิชย์อย่างชัดเจน แต่พบว่าได้มีโครงการริเริ่มจากภาครัฐ เอกชน และมหาวิทยาลัยในหลายโครงการด้วยกัน” ธิดารัตน์ ฉิมหลวง ประธานฝ่ายดูแลลูกค้ากลุ่มอุตสาหกรรม เคพีเอ็มจี ประเทศไทย กล่าว “เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงาน กสทช. ร่วมกับโรงพยาบาลศิริราช และภาคเอกชน ดำเนินโครงการนำร่องรถอัจฉริยะไร้คนขับเพื่อยกระดับการแพทย์ของประเทศไทยสู่ยุค 5G เพื่อขนส่งยาเวชภัณฑ์และอุปกรณ์ทางการแพทย์โดยไร้การติดต่อระหว่างผู้ส่งและผู้รับ ซึ่งถือว่าเป็นอีกก้าวสำคัญสำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ไร้คนขับของไทย รวมไปถึงอุตสาหกรรมการแพทย์และสาธารณสุขในอนาคต ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความพร้อมต่อการใช้ยานยนต์ไร้คนขับของประเทศไทย เราควรพัฒนา และดำเนินการใน 4 ด้านหลักด้วยกัน ได้แก่ นโยบายและกฎหมาย เทคโนโลยีและนวัตกรรม โครงสร้างพื้นฐาน และการสร้างการยอมรับจากผู้บริโภค”

เจาะลึกเมืองสำคัญ

ดัชนีชี้วัด 2020 AVRI ครั้งนี้ เป็นครั้งแรกที่มีการสำรวจโครงการริเริ่มเกี่ยวกับยานยนต์ไร้คนขับในระดับเขตเทศบาลเมือง โดยมีการวิเคราะห์โครงการการพัฒนาใน 5 เมือง ได้แก่ ปักกิ่ง ดีทรอยต์ เฮลซิงกิ พิตต์สเบิร์ก และโซล

“โครงการที่ผลักดันการพัฒนายานยนต์ไร้คนขับที่น่าสนใจหลายโครงการเป็นโครงการระดับท้องถิ่น นำโดยเทศบาลเมือง หรือระดับรัฐ” เธรลฟอลล์กล่าว “ขนส่งสาธารณะ ซึ่งรวมถึงแท็กซี่และรถบัสส่วนใหญ่เป็นหน้าที่ของหน่วยปกครองท้องถิ่นมากกว่ารัฐบาลกลาง เพราะฉะนั้นการได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานในท้องที่ในบางครั้งก็สำคัญกว่านโยบายของภาครัฐเท่านั้น”

อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับงานวิจัย AVRI และอนาคตของยานยนต์ไร้คนขับได้ที่ home.kpmg/AVRI

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

ทีทีบี จับมือ databricks ผสานพลัง Data และ AI สร้างอนาคตการเงินที่ดีขึ้นให้คนไทย

ทีทีบี ตอกย้ำความมุ่งมั่นผลักดันดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชัน สร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับวงการธนาคารไทย จับมือพันธมิตร databricks พร้อมเดินหน้าสร้าง Data-driven Culture ปักธงก้าวสู่ธนาคารที...

Responsive image

LINE SCALE UP เปิดรับสตาร์ทอัพทั่วโลก ต่อยอดธุรกิจกับ LINE ก้าวสู่ระดับสากล

LINE SCALE UP เปิดตัวอย่างเป็นทางการในงาน LINE Thailand Developer Conference 2024 ที่ผ่านมา เฟ้นหาสตาร์ทอัพที่มีศักยภาพ และพร้อมต่อยอดธุรกิจร่วมกับ LINE สู่เป้าหมายยกระดับธุรกิจสตา...

Responsive image

MarTech MarTalk 2024 EP.3 จากต้นกล้าสู่ความสำเร็จ ด้วยการพัฒนาคนและ MarTech

ChocoCRM จัดงานใหญ่ส่งท้ายปีกับงาน MarTech MarTalk 2024 EP.3 From Seeds to Success: Driving Business Growth with People and Marketing Technology ได้รับการตอบรับดีอย่างต่อเนื่องเป็น...