The Stanford Thailand Research Consortium จัดงานสัมมนาออนไลน์ ถ่ายทอดผลการศึกษาเบื้องต้นในโครงการวิจัย Innovative Teaching Scholars (ITS) พร้อมสำรวจมุมมองของภาคอุตสาหกรรมในการส่งเสริมการเตรียมความพร้อมของนักศึกษาในระดับมหาวิทยาลัย เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของประเทศไทยสู่ระบบเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม
งานสัมมนาออนไลน์ครั้งนี้ จัดขึ้นภายใต้หัวข้อ “Future Thailand — Innovation in Education and Workforce Development” โดยมีผู้ร่วมอภิปราย ได้แก่ คณาจารย์และนักวิจัยในโครงการ ITS จากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ร่วมกับผู้บริหารจากองค์กรชั้นนำในประเทศไทย มุ่งเน้นการอภิปรายเรื่องกลยุทธ์ในการยกระดับความพร้อมของแรงงานในประเทศไทย ตลอดจนการพัฒนาแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุดเพื่อสนับสนุนบุคลากรด้านการศึกษาในการสร้างการมีส่วนร่วมและเตรียมพร้อมเยาวชนของชาติให้ประสบความสำเร็จในการประกอบอาชีพในอนาคต
ทางด้านมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ได้รับเกียรติผู้ร่วมอธิปรายโดย ศาสตราจารย์แชรี แชพเพิร์ด ริชาร์ด วีลแลนด์ ศาสตราจารย์จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด และ ดร. ลาติเซีย บริทอส คาแวคแนโร ศาสตราจารย์พิเศษ จากสถาบันการออกแบบ แฮซโซ่ แพลทเนอร์ ซึ่งรับหน้าที่เป็นผู้ดำเนินรายการด้วย
ดร. ลาติเซีย บริทอส คาแวคแนโร ได้กล่าวว่า “มหาวิทยาลัยทั่วโลกต่างกำลังเผชิญกับปัญหาด้านความไม่สอดคล้องระหว่างการเตรียมความพร้อมของนักศึกษากับทักษะและวิธีคิด (Mindset) ที่จำเป็นต่อความสำเร็จในการประกอบอาชีพในอนาคต ความพิเศษของโครงการ ITS คือการมุ่งสร้างความร่วมมือระหว่างบุคลากรทางการศึกษาไทยที่สนใจปรับมุมมองสู่การศึกษายุคใหม่ และผู้นำเชิงนวัตกรรมจากภาคองค์กรระดับประเทศ ซึ่งกำลังมองหาคนรุ่นใหม่ที่พร้อมจะสร้างความก้าวหน้าในองค์กรไทยในอนาคต ขณะนี้โครงการวิจัยของ ITS กำลังติดอาวุธให้แก่คณาอาจารย์มหาวิทยาลัยไทยจำนวน 50 ท่าน ด้วยการทดลองการนำแนวทางการสอนแบบใหม่ในการเตรียมความพร้อมนักศึกษาเพื่อมุ่งสร้างความสำเร็จในการประกอบอาชีพ ตลอดจนช่วยส่งเสริมให้อาจารย์เหล่านั้นให้เป็นผู้นำที่สามารถสร้างแรงบันดาลใจให้เพื่อนร่วมงานและสถาบันของพวกเขาได้ทำในสิ่งเดียวกัน”
ศาสตราจารย์ แชรี แชพเพิร์ด เป็นผู้นำในการวิจัยเพื่อทำความเข้าใจผลกระทบของโครงการที่มีต่อผู้สอนและวิธีการสอนของอาจารย์ผู้ร่วมโครงการ โดยศาสตราจารย์แชรีรายงานว่าข้อมูลทั้งจากการสำรวจและการสัมภาษณ์ชี้ให้เห็นว่าอาจารย์กลุ่มแรกที่เข้าร่วมโครงการ ITS ประสบความสำเร็จในการทดลองในการนำกลยุทธ์แนวทางการสอนในรูปแบบใหม่ไปใช้ อาทิ เปิดโอกาสให้นักศึกษามีอิสระในการตัดสินใจมากขึ้นในห้องเรียน ซึ่งเป็นความท้าทายสำหรับอาจารย์บางส่วน แต่แนวทางนี้กลับเพิ่มการมีส่วนร่วมในชั้นเรียนได้อย่างมีนัยยะสำคัญ สำหรับงานวิจัย ITS ในอนาคตจะมุ่งสำรวจต่อไปว่าอาจารย์ที่เข้าร่วมโครงการจะยังคงช่วยสนับสนุนกันและกันในการยกระดับชั้นเรียนของพวกเขาสู่มิติใหม่หรือไม่ ตลอดจนสำรวจไปถึงระดับที่เขาเหล่านั้นสามารถสร้างแรงบันดาลใจให้เพื่อนร่วมงานคนอื่นๆ ในสถาบันการศึกษาของตน เพื่อลองนำแนวทางการสอนแบบใหม่นี้ไปใช้สอนในวิชาของตนเอง
นอกจากนี้ นักวิจัยในโครงการ ITS กำลังทำงานร่วมกับบุคลากรทางการศึกษาที่เข้าร่วมโครงการ บุคลากรสายอาชีพเฉพาะทาง (Early-career professional) และตัวแทนจากภาคอุตสาหกรรมที่จะช่วยระบุทักษะเฉพาะที่จำเป็นเต่อความสำเร็จในการประกอบอาชีพในอนาคต ตลอดจนมุ่งหาแนวทางเพิ่มเติมว่าโครงการ ITS นี้จะสามารถช่วยเหลือเหล่าอาจารย์ในการบูรณาการทักษะเฉพาะเหล่านั้นให้เข้ากับหลักสูตรของตนเองได้ดียิ่งขึ้นอย่างไร
“เพื่อให้เข้าใจถึงสาเหตุของช่องว่างหรือความทับซ้อนที่เกิดขึ้นระหว่างวิธีการวางแนวคิดของผู้สอนถึงสิ่งสำคัญสำหรับนักเรียนในการเรียนรู้ และทักษะที่บริษัทไทยเห็นความสำคัญว่าพนักงานในอนาคตควรมี จึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่ในวันนี้ ที่เราต้องการพันธมิตรจากภาคองค์กรธุรกิจเข้ามามีส่วนในการร่วมหารือด้วยกัน” ดร. ลาติเซีย เสริม
งานครั้งนี้ได้รับเกียรติจาก คุณกานติมา เลอเลิศยุติธรรม หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านทรัพยากรบุคคล บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) (เอไอเอส) และกลุ่มอินทัช คุณวิทการ จันทวิมล รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานกลยุทธ์องค์กรและการสร้างสรรค์ บริษัท เอพี (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) และ คุณเรืองโรจน์ พูนผล ประธาน กสิกร บิซิเนส - เทคโนโลยี กรุ๊ป (KASIKORN Business-Technology Group: KBTG) ร่วมแบ่งปันมุมมองจากภาคธุรกิจในเรื่องทักษะที่จำเป็นในการประกอบอาชีพในอนาคตและการพัฒนากำลังคนในด้านความสามารถทางการเรียนรู้และความสามารถเชิงนวัตกรรมในประเทศไทย ที่กำลังเป็นที่ต้องการในวงกว้าง
โดย คุณกานติมา เลอเลิศยุติธรรม จากเอไอเอส ให้ความเห็นว่า ในบริบทของโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างไม่หยุดยั้ง ส่งผลกระทบในทุกมิติอย่างรวดเร็วและรุนแรง สิ่งสำคัญอย่างยิ่งคือการพัฒนาศักยภาพใหม่ๆ ให้กับคนไทย เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของประเทศให้ก้าวหน้าและแข่งขันได้ในเวทีดิจิทัลระดับโลก และนี่คือ “พันธสัญญาที่สำคัญยิ่ง (vital obligation)” ในการร่วมกันสร้างโอกาสเพื่อส่งเสริมความแข็งแกร่งของคนไทย และความร่วมมือในการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐ องค์กรภาคการศึกษาตลอดจนภาคเอกชน คือสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง งานวิจัยภายใต้ the Stanford Thailand Research Consortium โดยผู้เชี่ยวชาญระดับโลกจากมหาวิทยาสแตนฟอร์ด ซึ่งทำงานร่วมกันกับศูนย์พัฒนาและส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตแห่งภูมิภาคอาเซียน (Southeast Asia Center หรือ SEAC) ในประเทศไทย ถือเป็นก้าวสำคัญในการวางรากฐานเพื่อยกระดับความรู้ของคนไทยอย่างเป็นรูปธรรม เพิ่มขีดความสามารถของคนไทยและขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศต่อไปในอนาคต
ด้าน คุณเรืองโรจน์ พูนผล กล่าวถึงการสนับสนุนงานวิจัยครั้งนี้ว่า จากการส่งเสริมการทำงานร่วมกันกับสถาบันศึกษาและองค์กรวิจัยชั้นนำระดับประเทศ ทางกสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป สามารถช่วยสนับสนุนด้านการสร้างนวัตกรรมแบบครบวงจร ตั้งแต่ขั้นตอนการวิจัยจนถึงการผลิต ตลอดจนการรวบรวมองค์ความรู้ความเชี่ยวชาญเข้ามาช่วยพัฒนาบุคลากรด้านเทคโนโลยียุคใหม่ให้มีทักษะที่สำคัญในงานด้าน Data Science, AI, OCR, และ Blockchain
โดยการสนับสนุนแรงงานรุ่นใหม่นั้น มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องสร้างพลังและส่งเสริมนวัตกรรมให้กับผู้สอน ซึ่งเป็นผู้สร้างประสบการณ์ที่เชื่อมโยงสำหรับนักเรียนและผู้เรียนรู้ เช่น การสร้างประสบการณ์การเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง อันเป็นหัวใจสำคัญของโครงการ ITS ที่ the Stanford Thailand Research Consortium มุ่งหวังจะสร้างให้เกิดขึ้นผ่านงานวิจัยเชิงวิชาการ
ขณะที่ คุณวิทการ จันทวิมล จาก เอพี ไทยแลนด์ แสดงความเห็นผ่านมุมมองของเขาว่า การเตรียมนักศึกษาให้มีความพร้อมในการทำงานในยุคปัจจุบันนั้น นอกจากนักศึกษาเองจะต้องเชี่ยวชาญในสาขาวิชาชีพของตนเองแล้ว พวกเขายังต้องมีความสามารถในการคิดวิเคราะห์ การแก้ปัญหา การสื่อสาร และการทำงานร่วมกับผู้อื่น โดยสามารถที่จะหาข้อมูลที่ดีได้อย่างรวดเร็ว รวมถึงมีความสามารถในการปรับตัวให้เข้ากับเทคโนโลยีใหม่ ๆ อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ การทำงานร่วมกับผู้อื่น และการพัฒนานวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง ถือเป็นพื้นฐานสำคัญที่จะทำให้บัณฑิตผู้สำเร็จการศึกษาประสบความสำเร็จได้ในยุคที่เศรษฐกิจโลกขับเคลื่อนอย่างรวดเร็ว โดยมีโครงการ AP Open House ช่วยเสริมสร้างแนวทางที่เปิดโอกาสให้นิสิตนักศึกษาได้พัฒนาทักษะดังกล่าว
โดยงานสัมมนาออนไลน์วันนี้ ถูกจัดขึ้นเป็นภาษาอังกฤษ และมีล่ามแปลเป็นภาษาไทยตลอดทั้งงาน โดยเปิดให้นักเรียนนักศึกษา ประชาชนทั่วไป และสื่อมวลชนเข้าร่วมงาน
โครงการ Innovative Teaching Scholars program เป็นโครงการริเริ่มของ the Stanford Thailand Research Consortium (STRC) เพื่อสนับสนุนงานวิจัยของคณาจารย์มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ซึ่งมุ่งเน้นเกี่ยวกับการพัฒนาที่สำคัญสำหรับอนาคตของประเทศไทย ภายใต้ความร่วมมือของ STRC มีโครงการวิจัยและผลการศึกษาของสแตนฟอร์ด มากกว่า 12 โครงการ ซึ่งมุ่งเน้นให้ความสำคัญในหลากหลายหัวข้อ ไม่ว่าจะเป็น การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligent – AI) มาช่วยสนับสนุนการดูแลผู้สูงอายุให้ดีขึ้น โครงการลดการตัดไม้ทำลายป่าพร้อมช่วยเหลือเกษตรกรรายย่อยในเขตจังหวัดน่านของประเทศไทย รวมทั้งการสร้างข้อมูลเชิงลึกขององค์กรโดยใช้ประโยชน์จากชุดข้อมูลที่ไม่มีโครงสร้าง (Unstructured Data) และการทำความเข้าใจนวัตกรรมผ่านการพัฒนาความรู้บุคลากร
The Stanford Thailand Research Consortium (STRC) ตั้งอยู่ที่ Stanford’s Office of the Vice Provost and Dean of Research ซึ่งบริหารโดยศูนย์พัฒนาวิชาชีพแห่งมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด (Stanford Center for Professional Development) โดยได้ร่วมมือกับศูนย์พัฒนาและส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตแห่งภูมิภาคอาเซียน (Southeast Asia Center: SEAC) ภายใต้การสนับสนุนเงินทุนจาก เอไอเอส เอพี (ไทยแลนด์) และธนาคารกสิกรไทย
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด