กระทรวงวิทย์ฯ จัดงาน 'Startup Thailand 2018' เผย 7 นโยบายเสริมทัพให้ระบบนิเวศ Startup แข็งแกร่ง | Techsauce

กระทรวงวิทย์ฯ จัดงาน 'Startup Thailand 2018' เผย 7 นโยบายเสริมทัพให้ระบบนิเวศ Startup แข็งแกร่ง

กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้ฤกษ์เบิกโรงจัดงาน 'Startup Thailand 2018'  รองนายกฯ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ มาเป็นประธานกดปุ่มเปิดงานพร้อมแสดงปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “ประเทศไทยกับการเป็น Startup Hub ของภูมิภาคเอเชีย” ระบุการเป็น Open Innovation Nation... ประเทศไทยจะเป็นประเทศสำหรับการลงทุน (Invest) สร้างแรงบันดาลใจและความคิดสร้างสรรค์ (Inspire) ที่นำไปสู่แนวคิดใหม่ที่ไม่สิ้นสุด (Innovate) และพร้อมนำเสนอนวัตกรรมที่สร้างคุณค่าให้กับโลก ให้สมกับคำว่า “Thailand - Endless Opportunities” ส่วน 'สุวิทย์' เผย 7 นโยบายเสริมทัพให้ระบบนิเวศสตาร์ทอัพแข็งแกร่ง

ดร. สมคิด จาตุศรีพิทักษ์  รองนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวในโอกาสที่ได้เดินทางมาเป็นประธานในพิธีเปิดงาน “Startup Thailand 2018” ว่า ดังที่ทุกท่านคงทราบกันดีว่ากระแสการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี ธุรกิจ และสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีชีวภาพ (Bio Technology) เทคโนโลยีหมุนเวียน (Circular Technology) รวมทั้งเทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Technology) การก่อกำเนิดของเศรษฐกิจแพลทฟอร์ม (Platform Economy) ที่ปลาเล็กที่ว่องไวกว่าสามารถเอาชนะปลาใหญ่ได้ การกำเนิดของบริษัทคลื่นลูกใหม่ระดับโลกที่ทศวรรษที่แล้วเราแทบไม่รู้จักชื่อ หรือที่เราเรียกว่า Unicorn ไม่ว่าจะเป็น Alibaba, Tesla, Uber, AirBnb และ Dropbox เป็นต้น

อีกทั้งการเกิดขึ้นของมหานครใหม่ๆ ทำให้เกิดการบริโภคทรัพยากรอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ส่งผลต่อความเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติและสภาพแวดล้อม เหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นแนวโน้มสำคัญที่บ่งชี้ว่าโลกต้องการทางเลือกที่ตอบโจทย์และทันต่อกระแสการเปลี่ยนแปลง  ทั้งนี้ จากความได้เปรียบทางด้านทรัพยากรและศักยภาพพื้นฐานของประเทศ ทำให้ประเทศไทยในอดีตสามารถรับมือความเปลี่ยนแปลงได้เป็นอย่างดี เราสามารถเติบโตในยุคที่เศรษฐกิจถูกใช้เป็นเครื่องมือนำในการแข่งขัน ประเทศตะวันตกขยายฐานการผลิตไปที่ต่างๆ ของโลก และเราก็สามารถอยู่รอดได้แม้ในสภาวะที่โลกประสบภาวะเศรษฐกิจถดถอยอย่างรุนแรง นั่นทำให้ผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก (SMEs) ไทยเข้มแข็งและพร้อมยืดหยัดต่อการแข่งขัน

อย่างไรก็ตามกระแสความเปลี่ยนแปลงอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เป็นสัญญาณสะท้อนให้เห็นว่าประเทศต้องการกลไกการขับเคลื่อนแข่งขันรูปแบบใหม่เพื่อมาเสริมทัพวิสาหกิจไทยแห่งอนาคต ที่อาจเรียกได้ว่า “นักรบเศรษฐกิจใหม่” หรือ “New Economic Warrior” โดยเหล่านักรบเศรษฐกิจใหม่จะเป็นแนวหน้าในการยกระดับธุรกิจไทยที่เติบโตเร็วไปสู่ระดับโลก และพร้อมแก้ปัญหาและสร้างสรรค์แนวคิดใหม่ให้กับเศรษฐกิจและสังคมไทย ให้สามารถตอบรับกระแสความเปลี่ยนแปลงที่กำลังขยายตัวได้ เกิดเป็นแนวคิดการส่งเสริมการธุรกิจแนวใหม่ที่เรียกว่า “Startup” หรือ “วิสาหกิจเริ่มต้น”

ดังนั้นด้วยเหตุนี้ “ Startup Thailand” จึงเกิดขึ้นเพื่อเป็นแพลทฟอร์มสำหรับสตาร์ทอัพในการก่อร่างสร้างตัว การตั้งไข่ การพัฒนาและการเติบโต ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา สตาร์ทอัพไทยเติบโตอย่างต่อเนื่องและได้แสดงศักยภาพทางธุรกิจและความสามารถในการรังสรรค์แพลทฟอร์มใหม่ๆ ที่ตอบโจทย์สังคมด้านต่างๆ แต่ถึงแม้ผู้ประกอบการสตาร์ทอัพรุ่นใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมาย ก็ยังไม่เพียงพอที่จะให้ประเทศไทยเติบโตไปสู่แนวคิดสังคมผู้ประกอบการสตาร์ทอัพ (Startup Society) โดยความท้าทายสำคัญจะอยู่ที่ การพัฒนาระบบนิเวศ ให้เอื้อต่อการเติบโตของสตาร์ทอัพ และ วิสัยทัศน์ที่จะขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่ศูนย์กลางสตาร์ทอัพ (Startup Hub) ของภูมิภาคเอเชีย

ดร.สมคิด ยังกล่าวต่อไปว่า เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายดังกล่าว ทุกภาคส่วนไม่ว่าจะเป็น ภาครัฐ ภาคเอกชน ประชาสังคม ทั้งในไทยและต่างประเทศ ต้องเข้ามามีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายต่างๆ ต้องขอบคุณ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในฐานะหัวเรือใหญ่ในการขับเคลื่อนแพลทฟอร์ม Startup Thailand รวมถึงขับเคลื่อนกฎหมาย นโยบายและมาตรการต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น พ.ร.บ. สตาร์ทอัพ – กฎหมายลดอุปสรรคการเริ่มต้นของธุรกิจสตาร์ทอัพ, พ.ร.บ. Sandbox – ให้สตาร์ทอัพมีพื้นที่ทดลองแนวคิดใหม่ในการแก้ปัญหา , การอนุญาตสตาร์ทอัพร่วมประมูลงานรัฐ – เปิดโอกาสให้สตาร์ทอัพเข้าถึงตลาดและนำแนวคิดไปแก้ปัญหา, Smart Visa – บ่มเพาะความสามารถของสตาร์ทอัพให้ก้าวสู่ระดับโลก, จัดซื้อจัดจ้างเชิงวิจัยภาครัฐ – เปิดโอกาสให้สตาร์ทอัพเข้ามาตอบโจทย์รัฐและสังคม , Bayh-Dole Act – ส่งเสริมการสร้างธุรกิจสตาร์ทอัพบนฐานเทคโนโลยี และย่านนวัตกรรม – กลไกส่งเสริมการนวัตกรรมในระดับพื้นที่

ดร. สมคิด กล่าวอีกว่า แม้ว่าธุรกิจ “สตาร์ทอัพ” ไม่ใช่ “เอส เอ็ม อี” แต่สตาร์อัพเป็นธุรกิจที่แข่งขันบนแนวคิดสร้างสรรค์ เทคโนโลยี และโอกาสใหม่ๆ จึงจำเป็นต้องอาศัยสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเติบโต ไม่ว่าจะเป็นการเริ่มต้นธุรกิจ การเข้าถึงแหล่งเงินทุน การเร่งการเติบโตแบบก้าวกระโดด รวมถึงการเข้าสู่ตลาดที่ใหญ่กว่าทั้งในระดับภูมิภาคหรือโลกได้

ผมเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่า “ประเทศไทย” จะเป็นพื้นที่ที่พร้อมที่จะดึงดูดและส่งเสริมธุรกิจสตาร์ทอัพทั้งในและต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาสตาร์ทอัพให้พร้อมนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาดำเนินธุรกิจ (Enterprise Transformative)  การสร้างกำลังคนที่มีความสามารถสำหรับตอบโจทย์อนาคต (Job for the Future) การพัฒนานวัตกรรมที่ตอบโจทย์อย่างยั่งยืน ทั้งในระดับฐานรากไปถึงระดับแข่งขัน (Innovation for All) การพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ที่สร้างผลกระทบ และสามารถตอบโจทย์เศรษฐกิจและสังคม  (Technology Thailand) ซึ่งด้วยแนวคิดของการเป็น Open Innovation Nation ... ประเทศไทยจะเป็นประเทศสำหรับการลงทุน (Invest) สร้างแรงบันดาลใจและความคิดสร้างสรรค์ (Inspire) ที่นำไปสู่แนวคิดใหม่ที่ไม่สิ้นสุด (Innovate) และพร้อมจะนำเสนอนวัตกรรมที่สร้างคุณค่าให้กับโลก ให้สมกับคำว่า “Thailand - Endless Opportunities” หรือ “โอกาสไม่มีที่สิ้นสุด สำหรับทุกคน โดยการจัดงานในวันนี้ จึงเป็นอีกก้าวที่สำคัญของประเทศไทยในการก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางสตาร์ทอัพ (Startup Hub) ของภูมิภาคเอเชีย และสร้างความเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ” ดร.สมคิด กล่าวในตอนท้าย

ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า “2 ปีของการสร้างนักรบเศรษฐกิจใหม่ก่อให้เกิดกระแสตื่นตัวเรื่องสตาร์ทอัพในประเทศเกิดภาพ THAILAND STARTUP UNIVERSE ที่เป็นความร่วมมือของภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคการศึกษา ภาคสังคม ภาคประชาชน ที่ขยายสู่วงกว้างและ เติบโตอย่างต่อเนื่องที่สำคัญกรุงเทพมหานคร ได้รับการยกให้เป็นเมืองที่ดีที่สุดสำหรับสตาร์ทอัพอันดับ 1 ในเอเชีย และเป็นอันดับ 7 ของโลก ทำให้เกิดพันธมิตร และเครือข่ายในต่างประเทศ มากกว่า 30 หน่วยงาน ใน 25 ประเทศ”

จนถึงวันนี้ สถานะของสตาร์ทอัพ คือนักรบทางเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ขณะที่หน้าที่ของกระทรวงวิทย์ฯ คือ ผู้สร้างและสนับสนุนโอกาสให้เกิดธุรกิจนี้   การสร้าง "ระบบนิเวศ" โดยการปรับปรุงกฎหมายที่เอื้ออำนวยต่อการทำธุรกิจสตาร์ทอัพจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่สุด  เพราะสตาร์ทอัพมีวิธีคิด วิธีการดำเนินธุรกิจที่แตกต่างจากเอสเอ็มอี  ดังนั้น ระบบนิเวศที่ดีจะช่วยลดอุปสรรคต่อการเติบโตของธุรกิจนี้ โดยกระทรวงวิทย์ฯ เผย 7 นโยบายพัฒนาระบบนิเวศสตาร์ทอัพในไทย ดังนี้

7 นโยบายพัฒนาระบบนิเวศสตาร์ทอัพในไทย

นโยบายที่ 1 เสนอแก้กฎหมายส่งเสริมวิสาหกิจเริ่มต้น หรือ พ.ร.บ.สตาร์ทอัพ โดยแยกออกจาก พ.ร.บ.เอสเอ็มอี  พร้อมมุ่งเน้น 4 เรื่อง ได้แก่

  • ลดอุปสรรคในการทำธุรกิจทั้งของไทยและชาวต่างชาติ โดยสตาร์ทอัพต่างชาติสามารถจดทะเบียนได้ 100% เป็นการดึงดูดสตาร์ทอัพต่างชาติมาเริ่มต้นธุรกิจมากขึ้น เกิดการจ้างงานทักษะสูง การเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ๆ ตลอดจนเกิดระบบนิเวศที่เป็นสากล
  • ทำให้สตาร์ทอัพเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่าย สามารถขอแหล่งเงินทุนกับภาครัฐได้
  • ส่งเสริมให้สตาร์ทอัพเติบโตแบบก้าวกระโดดเพื่อให้มีศักยภาพในการเติบโตสู่ตลาดโลก โดยการผลักดันเรื่องโปรแกรมเร่งสร้างการเติบโตและโปรแกรมบ่มเพาะ และ
  • ส่งเสริมการขยายการลงทุนสู่ตลาดต่างประเทศ ทั้งในระดับภูมิภาคเอเชียหรือตลาดโลกให้ได้

นโยบายที่ 2 เสนอกฎหมายอีกฉบับคือ พ.ร.บ. Regulatory sandbox หรือการทดสอบกฎระเบียบสำหรับสตาร์ทอัพ โดยมีข้อกำหนดเฉพาะและระยะเวลาที่จำกัดให้ครอบคลุมสตาร์ทอัพทุกประเภท

นโยบายที่ 3 คือการสร้างตลาดให้แก่สตาร์ทอัพเพื่อเปิดโอกาสให้สตาร์ทอัพเข้าร่วมประมูลงานจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐได้ ซึ่งสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) กำลังหารือกับกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลังเพื่อแก้ไขระเบียบจัดซื้อจัดจ้าง

นโยบายที่ 4  การออก SMARTVISA วีซ่าประเภทพิเศษ ซึ่งครอบคลุมถึงชาวต่างชาติที่จะเข้ามาก่อตั้งสตาร์ทอัพในไทยสามารถอยู่อาศัยได้นาน 1 ปี  ซึ่งจากเดิม 90 วัน เริ่มเปิดให้ขอวีซ่านี้ได้แล้วตั้งแต่ 1 ก.พ. 61   ซึ่งจะช่วยให้สตาร์ทอัพสามารถเติบโตสู่เวทีโลกได้

นโยบายที่ 5 การจัดซื้อจัดจ้างเชิงวิจัยภาครัฐ กำลังจะเสนอเรื่องเข้า ครม.ซึ่งจะทำให้ภาครัฐสามารถออกโจทย์งานวิจัยนวัตกรรมที่ต้องการและออกงบประมาณวิจัย โดยให้สตาร์ทอัพเป็นผู้มาพัฒนา

นโยบายที่ 6  การออกกฎหมายเพื่อส่งเสริมการวิจัยและพัฒนานวัตกรรม (Bayh-Dole Act) - กฎหมายในรูปแบบเดียวกับ Bayh-Dole Act ของสหรัฐฯ ซึ่งอนุญาตให้มหาวิทยาลัย ธุรกิจขนาดเล็ก หรือองค์กรไม่แสวงหากำไร ที่ใช้งบประมาณรัฐในการวิจัย สามารถเป็นเจ้าของสิทธิบัตรนวัตกรรมนั้นๆ ได้ แตกต่างจากเดิมที่นวัตกรรมเหล่านั้นต้องตกเป็นของรัฐ

นโยบายที่ 7 การพัฒนาย่านนวัตกรรม โดยมีย่านต้นแบบคือ ย่านนวัตกรรมโยธีให้เป็นศูนย์กลางทางด้านการบริการทางการแพทย์ และย่านนวัตกรรมปุณณวิถี

ดร.สุวิทย์ ยังได้กล่าวย้ำถึงระบบนิเวศสตาร์ทอัพของไทยว่ามีการเติบโตแบบติดจรวด เป็นที่ยอมรับจากทั่วโลก เริ่มดึงดูดสตาร์ทอัพและนักลงทุนต่างประเทศเข้ามา ซึ่งก้าวต่อไปเราตั้งเป้าว่าสตาร์ทอัพจะเข้ามามีบทบาทพัฒนาและเปลี่ยนแปลงการทำงานของภาคเอกชน มีการนำนวัตกรรมเข้ามาพัฒนาองค์กรให้ก้าวหน้าขึ้น ความสนใจของสตาร์ทอัพจะหันมาสู่เทคโนโลยีขั้นสูง (Deep Tech) ที่สามารถเปลี่ยนแปลงวงการต่างๆ ที่จำเป็นต่อความเป็นอยู่ในประเทศไทย พัฒนาอุตสาหกรรมหลักของประเทศให้ก้าวหน้าขึ้นไป นั่นคือความคาดหวังที่จะเกิดขึ้นในก้าวต่อไปของ STARTUP THAILAND โดยเริ่มต้นจากการสร้างปรากฏการณ์ใหม่ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประเทศไทย และเป็นปรากฏการณ์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในงาน STARTUP THAILAND 2018

สำหรับงานดังกล่าวจะเริ่มขึ้นในวันนี้วันที่ 17 พฤษภาคม ไปจนถึงวันที่ 20 พฤษภาคม  2561  ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ดังนั้นจึงเป็นโอกาสอันดีที่ประชาชนและผู้สนใจทุกคนไม่ควรพลาดงานที่รวม 5 ความยิ่งใหญ่ที่สุด (BIGGEST) ของงานสตาร์ทอัพในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มาไว้ในงานเดียวในครั้งนี้

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

SCBX ไตรมาส 1 ปี 67 กำไร 11,281 ล้านบาท เตรียมลุย 'Virtual Bank' พร้อมก้าวสู่องค์กร AI-First Organization

บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) มีกำไรสุทธิในไตรมาส 1 ของปี 2567 จำนวน 11,281 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.6% จากปีก่อน...

Responsive image

“Money 20/20 Asia” ปักหมุดศูนย์ฯ สิริกิติ์ 3 ปี ส่งเสริมไทยสู่ศูนย์กลางฟินเทคชั้นนำของเอเชีย

เปิดประตูบานใหม่สู่ “Money 20/20 Asia” ครั้งแรกของเอเชีย ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ในวันที่ 23 – 25 เมษายน 2567 ที่ดึงดูดผู้คร่ำหวอดด้านฟินเทค และบริการทางการเงินกว่า 20,00...

Responsive image

เตรียมพบกับงานสัมมนา Social Value thailand Forum 2024 เปลี่ยนผ่านประเทศสู่เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน

งานสัมมนาเปลี่ยนผ่านประเทศสู่เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน ด้วยฐานความรู้ นวัตกรรม และความร่วมมือรัฐ เอกชน สังคม Accelerating Education and Partnership for the SDGs...