เปิดหน้าต่างบานใหม่ของการส่งออกไทย ในยามเศรษฐกิจโลกชะลอตัว | Techsauce

เปิดหน้าต่างบานใหม่ของการส่งออกไทย ในยามเศรษฐกิจโลกชะลอตัว

การส่งออกสินค้าที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาเริ่มหดตัวตามอุปสงค์โลกที่ชะลอลง ในระยะต่อไปการส่งออกไทยดูไม่สดใสนัก สะท้อนจากดัชนี Global Manufacturing PMI ในเดือนมกราคมที่ยังหดตัว กอปรกับยอดคำสั่งซื้อใหม่และยอดคำสั่งซื้อจากต่างประเทศยังอยู่ในระดับต่ำ 

นอกจากนี้ การส่งออกไทยจะเผชิญแรงกดดันเพิ่มเติมจากการเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์ทางการค้าโลก เช่น การเริ่มใช้ภาษี Carbon Border Adjustment Mechanism (CBAM) และกฎหมายสินค้าปลอดการตัดไม้ทำลายป่าของสหภาพยุโรป รวมถึงการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าฟุ่มเฟือยของอินเดียที่จะส่งผลต่อสินค้าส่งออกไทยหลายชนิด โดย SCB EIC คาดว่าการส่งออกสินค้าไทยจะขยายตัวได้เพียง 1.2% ในปี 2023 (ตัวเลขในระบบดุลการชำระเงิน) 

ท่ามกลางวิกฤตยังมีโอกาสสำหรับการส่งออกสินค้าไทยไปตลาดตะวันออกกลาง CLMV และลาตินอเมริกา

ท่ามกลางเศรษฐกิจโลกที่จะขยายตัวชะลอลงเป็น 1.7% ความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์โลก และการเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์ทางการค้าโลกที่กำลังเกิดขึ้น จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อการส่งออกไทย ภาคเอกชนและภาครัฐจึงจำเป็นต้องหาตลาดส่งออกใหม่ SCB EIC ประเมินว่า มีตลาดสามแห่งที่มีศักยภาพน่าจับตา ได้แก่ ตลาดตะวันออกกลางที่อาจได้รับอานิสงส์จากการฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างไทยและซาอุดีอาระเบีย ตลาด CLMV ที่เศรษฐกิจมีแนวโน้มเติบโตดีและได้รับการผลักดันจากหน่วยงานภาครัฐ และตลาดลาตินอเมริกาที่เป็นตลาดส่งออกเป้าหมายใหม่ในเชิงนโยบายของไทย 

ตลาดตะวันออกกลาง

SCB EIC ประเมินการส่งออกจากไทยไปตะวันออกกลางอาจขยายตัวได้มากถึง 7-10% ในปี 2023 เนื่องจากได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐอย่างจริงจัง โดยเฉพาะหากการฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างไทยและซาอุดีอาระเบียดำเนินต่อไปด้วยดี อีกทั้ง เศรษฐกิจกลุ่มประเทศตะวันออกกลางมีแนวโน้มขยายตัวดีกว่าเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะสินค้า เครื่องปรับอากาศ ข้าว ยานยนต์ ทำให้ตลาดตะวันออกกลางจะมีส่วนช่วยสนับสนุนการส่งออกของไทยและมีศักยภาพสูงในการขับเคลื่อนการส่งออกของไทยในระยะปานกลาง 

ตลาด CLMV

SCB EIC ประเมินว่า การส่งออกจากไทยไป CLMV จะขยายตัวได้ในช่วง 6-8% ในปี 2023 โดยมีแนวโน้มที่ดีทั้งในระยะสั้นและระยะปานกลางตามเศรษฐกิจ CLMV ที่จะเติบโตได้สูงกว่าเศรษฐกิจโลก อีกทั้ง ไทยมีความสามารถในการแข่งขันสูงจากตำแหน่งทางภูมิศาสตร์และวัฒนธรรมที่คล้ายคลึงกัน รวมถึงตลาดนี้ยังได้รับการส่งเสริมจากภาครัฐต่อเนื่อง

การส่งออกสินค้าของไทยในระยะต่อไป 

การส่งออกสินค้าของไทยเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจสำคัญในช่วงปี 2021 และครึ่งแรกของปี 2022 โดยขยายตัวถึง 17.4% ในปี 2021 และ 12.6% ในครึ่งปีแรกของปี 2022 (ตัวเลขในระบบศุลกากร) จากอุปสงค์สินค้าส่งออกไทยที่มีมากขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศผู้นำเข้าหลักทั่วโลก อีกทั้ง สถานการณ์การระบาดที่มีความรุนแรงลดลงและการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรคในไทยทำให้การผลิตสินค้าภายในประเทศดำเนินไปได้อย่างปกติ อย่างไรก็ดี มูลค่าการส่งออกสินค้าของไทยเริ่มชะลอตัวลงในครึ่งหลังของปี 2022 และหดตัวลงเป็นครั้งแรกในรอบ 20 เดือนตั้งแต่เดือนตุลาคม 2022 และหดตัวมากถึง -14.6% ในเดือนธันวาคม เนื่องจากเศรษฐกิจโลกมีทิศทางชะลอลงมาก โดยเฉพาะประเทศคู่ค้าสำคัญ เช่น ยุโรปและสหรัฐฯ 

มูลค่าการส่งออกไทยชะลอลงในครึ่งหลังของปี 2022 ตามทิศทางเศรษฐกิจโลกที่ชะลอลงมาก (รูปที่ 1)

แนวโน้มการส่งออกสินค้าของไทยในระยะถัดไปไม่ค่อยสดใสนัก โดยอุปสงค์ในตลาดโลกยังคงซบเซาสะท้อนจาก 

(1) ตัวเลขคาดการณ์อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกปี 2023 ต่ำลงมาก โดยธนาคารโลกคาดว่าจะขยายตัวได้เพียง 1.7% ในปี 2023 ชะลอตัวจาก 2.9% ในปี 2022 

(2) ดัชนี Global Manufacturing PMI ยังอยู่ในระดับต่ำที่  49.1 ในเดือนมกราคม 2023 ลดจากระดับสูงสุดหลังวิกฤติโควิดที่ 56.0 ในเดือนพฤษภาคม 2021 นอกจากนี้องค์ประกอบของดัชนี ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อใหม่ ยอดคำสั่งซื้อจากต่างประเทศ และระดับงานคงค้างยังคงหดตัว บ่งชี้ถึงความต้องการสินค้าอุตสาหกรรมที่ไม่สดใสนักในระยะข้างหน้า 

(3) ข้อมูลเร็วการส่งออกของเกาหลีใต้แย่ลงต่อเนื่อง ข้อมูล 20 วันแรกของเดือนมกราคม 2023 หดตัว -2.7% ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 ซึ่งเป็นสัญญาณเร็วสะท้อนสถานการณ์ด้านการค้าโลกในเดือนมกราคม 

และ (4) การส่งออกและนำเข้าของจีนหดตัวแรงเช่นกัน โดยเริ่มหดตัวตั้งแต่เดือนเมษายน 2022 และหดตัวมากถึง -20.8% ในเดือนธันวาคม ทั้งนี้การยกเลิกมาตรการ Zero-COVID ของจีน อาจมีส่วนช่วยให้แนวโน้มความต้องการสินค้าจากจีนเพิ่มสูงขึ้น แต่การฟื้นตัวจะเป็นไปแบบค่อยเป็นค่อยไปเนื่องจากความไม่แน่นอนยังมีอยู่สูง อีกทั้ง เศรษฐกิจและอุปสงค์ในจีนยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ ข้อมูลข้างต้นนี้สะท้อนให้เห็นอุปสงค์ของตลาดโลกที่ลดลงและสะท้อนให้เห็นอุปสงค์สินค้าส่งออกไทยที่จะลดลงเช่นเดียวกัน 

รูปที่ 2 : เครื่องชี้อุปสงค์ในตลาดโลกยังซบเซา แนวโน้มการส่งออกสินค้าไทยไม่สดใสนัก

ที่มา : การวิเคราะห์โดย SCB EIC จากข้อมูลของศุลกากรจีนและเกาหลีใต้, JP Morgan และ CEIC

นอกจากนี้ ภาคการส่งออกไทยอาจเผชิญแรงกดดันเพิ่มเติมจากการเปลี่ยนแปลงด้านกฎเกณฑ์ทางการค้าโลก เช่น การจัดเก็บภาษี Carbon Border Adjustment Mechanism (CBAM) และกฎหมายสินค้าปลอดการตัดไม้ทำลายป่าของสหภาพยุโรป รวมถึงภาษีนำเข้าสินค้าฟุ่มเฟือยของอินเดีย (อ่านเพิ่มเติมได้ที่บทความ Flash : ส่งออกไทยหดตัวแรงส่งท้ายปีเสือ แต่ทั้งปียังโตได้ 5.5% ส่งออกในระยะต่อไปอาจได้อานิสงส์จากจีนเปิดประเทศ) อีกทั้ง ภาคการส่งออกสินค้าของไทยยังต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนจากปัญหาทางภูมิรัฐศาสตร์ โดยเฉพาะสงครามการค้าและเทคโนโลยีระหว่างสหรัฐฯ และจีน สงครามในยูเครน และความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยุโรป ก่อให้เกิดแนวโน้มการสวนกระแสโลกภิวัตน์ (Deglobalization) และการแบ่งขั้วทางเศรษฐกิจ (Decoupling) ที่จะส่งผลต่อการค้า การลงทุน และเศรษฐกิจของโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ SCB EIC ประเมินว่า การส่งออกสินค้าของไทยจะขยายตัวได้เพียง 1.2% ในปี 2023

อ่านต่อได้ที่ SCB EIC

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

Wavemaker และ กรุงศรี ฟินโนเวต ลงทุน Series B ใน 24X เดินหน้ายกระดับตลาดซ่อมบำรุง

24X ประกาศความสำเร็จครั้งใหม่ในการระดมทุนรอบซีรีส์ บี โดยสองกลุ่มนักลงทุนระดับชั้นนำอย่าง เวฟเมคเกอร์ เวนเจอร์สและกรุงศรี ฟินโนเวต ในเครือกรุงศรี ตอกย้ำถึงความมุ่งมั่นของ 24X ในการ...

Responsive image

ทีทีบี ยกระดับ "ยินดี-Yindee" ผู้ช่วย AI อัจฉริยะ ตอบทุกคำถามฉับไว บน Mobile Banking ด้วย Azure OpenAI ครั้งแรกในไทย

ทีทีบี มุ่งขับเคลื่อนองค์กรด้วย Digital Transformation โชว์ความสำเร็จการพัฒนาผู้ช่วยบนมือถือ “ยินดี-Yindee” เวอร์ชันใหม่ ถือเป็นธนาคารไทยแห่งแรกที่นำ Generative AI ผ่าน Microsoft A...

Responsive image

สำรวจ KPMG เผย ซีอีโอพลังงานเดินหน้าลงทุนเทคโนโลยี แม้เศรษฐกิจผันผวน

การสำรวจ CEO Outlook ของเคพีเอ็มจี (KPMG) แสดงให้เห็นว่าซีอีโอร้อยละ 78 มั่นใจในการเติบโตทางเศรษฐกิจในสามปีข้างหน้า สะท้อนความเชื่อมั่นในระดับสูง แม้จะต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนทางเ...