จากผลการศึกษานักลงทุนทั่วโลกปี 2022 ของ ชโรเดอร์ส (Schroders) พบว่าสองในสามของนักลงทุนไทย (67% เทียบกับ 66% ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และ 55% ทั่วโลก) ค่อนข้างเชื่อว่าการลงทุนอย่างยั่งยืนเป็นกุญแจสำคัญในการขับเคลื่อนผลตอบแทนระยะยาว
ผลการศึกษาที่สำคัญของ Schroders ที่มุ่งเน้นประเด็นความยั่งยืน และสำรวจผู้คนที่ลงทุนเกือบ 24,000 คน ใน 33 แห่งทั่วโลก ซึ่งรวมถึงอินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ และไทย พบว่านักลงทุนไทยจำนวนมากกว่าสองในสาม (70% เทียบกับ 72% ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และ 68% ทั่วโลก) ที่ถือว่าตัวเองอยู่ในกลุ่มผู้ลงทุนที่มีความชำนาญ เชื่อว่าการลงทุนในธุรกิจที่มุ่งสู่ความยั่งยืนเป็นหนทางสำคัญที่จะนำไปสู่ผลกำไรที่ยั่งยืนในระยะยาว
เมื่อเปรียบเทียบกับนักลงทุนที่มีความชำนาญในระดับปานกลางในประเทศไทย จำนวน 64% (เทียบกับ 60% ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และ 52% ทั่วโลก) ซึ่ง 67% ของนักลงทุนกลุ่มนี้เชื่อว่าตัวเองมีความรู้ด้านการลงทุนในระดับเบื้องต้น(เทียบกับ 62% ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และ 43% ทั่วโลก)
ในทำนองเดียวกัน นักลงทุนที่ มีความชำนาญ จำนวน 70% (เทียบกับ 72% ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และ ทั่วโลก) ให้ความเห็นว่าการลงทุนอย่างยั่งยืนสามารถสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกในเรื่องที่ท้าทายได้ เช่น เรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
กล่าวโดยเฉพาะเจาะจง ผลการศึกษาโดยเรียงลำดับการให้ความสำคัญของนักลงทุนไทยพบว่า เรื่องผลกระทบสิ่งแวดล้อมเป็นเหตุผลหลักที่นักลงทุนไทยหันมาใส่ใจในการลงทุนอย่างยั่งยืน (65% เทียบกับ 56% ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และ 52% ทั่วโลก) รองลงมาคือเรื่อง ประเด็นด้านสังคม 50% (เทียบกับ 44% ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และ 43% ทั่วโลก) และลำดับที่สาม คือ เรื่องผลตอบแทนที่เป็นตัวเงิน(30% เทียบกับ 37% ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และ 36% ทั่วโลก)
อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดใจที่นักลงทุนหลายคนยังคงเน้นผลตอบแทนที่เป็นตัวเงินเป็นลำดับแรกในการพิจารณาการลงทุน โดยจำนวนมากกว่าครึ่ง (65% เทียบกับ 63% ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และ 56% ทั่วโลก) แสวงหากองทุนที่สามารถสร้างผลกำไรจากการลงทุนได้ ในขณะเดียวกันก็นำปัจจัยด้านความยั่งยืนเข้ามาประกอบการพิจารณาร่วมด้วย โดยเฉพาะผู้ลงทุนในแถบเอเชีย (61%) และอเมริกา (60%) ในขณะที่ผู้ลงทุนในยุโรปมีแนวโน้มที่จะเลือกกองทุนที่มีวัตถุประสงค์ชัดเจนในการสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อผู้คนและโลกมากกว่า (51%)
ขับเคลื่อนการลงทุนไปในทิศทางเดียวกับความสนใจของผู้คนเรื่องความยั่งยืน
ผลการศึกษายังพบอีกด้วยว่าผู้ลงทุนมีแนวโน้มที่จะลงทุนเพิ่มขึ้นในกองทุนที่ดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน หากกองทุนเหล่านั้นสามารถลงทุนไปในทิศทางเดียวกับค่านิยมหรือความชื่นชอบส่วนตัวของตนเอง ทั้งนี้นักลงทุนไทยจำนวนมากกว่าครึ่ง (73% เทียบกับ 63% ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และ 57% ทั่วโลก) ที่นิยามตัวเองว่าเชี่ยวชาญในทุกระดับกล่าวว่า ความสามารถในการเลือกการลงทุนที่สอดคล้องกับค่านิยมด้านความยั่งยืนส่วนบุคคลจะสนับสนุนให้เขาจัดสรรการลงทุนแบบยั่งยืนเพิ่มมากขึ้น
สำหรับเป้าหมายเฉพาะในด้านความยั่งยืนของนักลงทุนนั้น การศึกษาที่มีคุณภาพถือว่าเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุดในประเทศไทย โดยผู้ที่ถูกสำรวจจำนวน 19% (เทียบกับ 20% ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และทั่วโลก) ให้ความสำคัญกับข้อนี้เป็นลำดับที่หนึ่ง รองลงมาลำดับที่สอง คือ เรื่องสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี (18% เทียบกับ 17% ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และ 12% ทั่วโลก) และลำดับที่สาม คือ เรื่องการขจัดความยากจน (16% เทียบกับ 15% ทั้งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และทั่วโลก)
การให้ความรู้ การรายงานข้อมูล ตลอดจนความโปร่งใสในเรื่องผลกระทบของการลงทุนอย่างยั่งยืน เป็นปัจจัยสำคัญที่จะกระตุ้นให้คนไทยลงทุนมากขึ้น
นอกเหนือจากความสามารถในการเลือกลงทุนให้เป็นไปในทิศทางเดียวกับความชอบส่วนตัวเรื่องความยั่งยืนแล้ว ประมาณครึ่งหนึ่งของนักลงทุน (57% เทียบกับ 51% ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และ 48% ทั่วโลก) กล่าวว่า การให้ความรู้เกี่ยวกับการลงทุนแบบยั่งยืนที่เพิ่มขึ้นจะช่วยให้เขาจัดสรรการลงทุนได้อย่างยั่งยืนมากขึ้น อย่างไรก็ดี นักลงทุนทุกระดับกล่าวว่า การขาดคำจำกัดความที่ชัดเจนและเป็นที่ยอมรับว่าการลงทุนที่ยั่งยืนหมายถึงอะไร เป็นหนึ่งในอุปสรรคที่สำคัญที่สุดในการเลือกการลงทุนอย่างยั่งยืน
นอกเหนือไปจากสามปัจจัยดังกล่าวแล้ว นักลงทุนไทยจำนวน 55% (เทียบกับ 52% ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และ 44% ทั่วโลก) ได้ระบุว่า หากมีข้อมูลและหลักฐานแสดงว่าผลตอบแทนจากการลงทุนแบบยั่งยืนจะให้ผลตอบแทนสูงขึ้นกว่าการลงทุนโดยทั่วไปจะช่วยสนับสนุนให้เขาตัดสินใจลงทุนเพิ่มมากขึ้น
ลิลี่ โช (Lily Choh) ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ ชโรเดอร์ส สิงคโปร์ได้กล่าวไว้ว่า:
“เรามีความยินดีที่เห็นว่านักลงทุนส่วนใหญ่ในประเทศไทยเชื่อว่า ความยั่งยืนเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างผลตอบแทนจากการลงทุนระยะยาว ทั้งนี้ บทบาทของผู้จัดการกองทุนกำลังทวีความสำคัญขึ้นในการช่วยให้นักลงทุนแยกแยะ และเข้าใจดีขึ้นเกี่ยวกับประโยชน์ของการลงทุนเพื่อโลกที่ยั่งยืน นอกจากนั้น การแสดงให้เห็นถึงความเชื่อมโยงระหว่างผลตอบแทนของการลงทุนแบบยั่งยืนในระยะยาว และการลงทุนในบริษัทที่สร้างผลกระทบในแง่บวกต่อปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมก็กำลังทวีความสำคัญเพิ่มขึ้นทุกวัน
กลยุทธ์แบบยั่งยืนในการสร้างโอกาสเพื่อมุ่งสู่ธุรกิจที่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนต่ำ และการให้ความรู้ด้านการเงิน ล้วนเป็นสิ่งสำคัญในการขับเคลื่อนเม็ดเงินลงทุนไปสู่การลงทุนแบบยั่งยืน เราเชื่อว่าเรากำลังเข้าใกล้จุดสูงสุดที่นักลงทุนปรับทางเลือกในการลงทุนให้เข้ากับค่านิยมของเขา ทั้งนี้ ความเข้าใจที่ดีขึ้นในผลิตภัณฑ์ที่ลงทุน กอปรกับผลกระทบของการลงทุนนั้นที่มีต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม จะช่วยกระตุ้นให้นักลงทุนจัดสรรการลงทุนแบบยั่งยืนเพิ่มขึ้น”
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด