เรื่องเล่า COVID-19 จาก 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในวันที่วิกฤติคลี่คลาย ด้วยพลังน้ำใจคนไทย | Techsauce

เรื่องเล่า COVID-19 จาก 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในวันที่วิกฤติคลี่คลาย ด้วยพลังน้ำใจคนไทย

ความสามัคคีและเอื้อเฟื้อเกื้อกูลของคนไทยมักส่องสว่างให้เห็นในยามวิกฤติอยู่เสมอ ตลอดระยะเวลา 3 เดือนที่ผ่านมา ทุกภาคส่วนล้วนต้องเผชิญกับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 โดยเฉพาะบุคลากรทางการแพทย์ที่ต้องปฏิบัติหน้าที่อย่างหนักเพื่อรักษาผู้ป่วย ขณะเดียวกันในอีกด้านหนึ่งก็ได้เห็นถึงการขันอาสาของภาคประชาชนและภาคเอกชนเพื่อเข้าไปช่วยเหลือแบ่งเบาภาระของหมอและพยาบาล ตลอดจนส่งน้ำใจเผื่อแผ่ไปยังพี่น้องคนไทยที่ประสบความยากลำบากเนื่องจากสถานการณ์โรคระบาดอย่างไม่ขาดสาย 

สำหรับผู้ที่อาศัยอยู่ในเมืองใหญ่คงจะได้สัมผัสกับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 กันในระดับหนึ่ง แต่หลายคนอาจจะลืมไปว่าความยากลำบากนี้อาจเพิ่มขึ้นเป็นเท่าทวีคูณในพื้นที่ห่างไกล เพราะความช่วยเหลือส่วนใหญ่ยังคงกระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพฯ หรือตามหัวเมืองใหญ่ ในขณะที่พื้นที่ห่างไกลต่างประสบความยากลำบากและรอความช่วยเหลือที่ไม่รู้จะมาถึงเมื่อไหร่

ในวันนี้ที่เมฆหมอกโควิด-19 ในไทยกำลังคลี่คลาย เราลองมาฟังเสียงสะท้อนจากคนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้กันว่า พวกเขาเดินหน้าฝ่าฟันวิกฤติที่ยิ่งใหญ่ครั้งนี้ไปได้อย่างไร

เสียงจากทัพหน้าผู้คอยสกัดการแพร่ระบาด

“ความที่โควิด-19 เป็นโรคอุบัติใหม่ จึงถือเป็นการลงสนามจริงครั้งแรกของบุคลากรในโรงพยาบาลของเรา” นายแพทย์ทศพล ปุสวิโร นายแพทย์ชำนาญการพิเศษ โรงพยาบาลระแงะ จังหวัดนราธิวาส เกริ่นถึงจุดเริ่มต้นของโควิด-19 ก่อนจะเล่าถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในอำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาส ว่า บุคลากรทางการแพทย์และชาวบ้านในอำเภอระแงะไม่เพียงแต่อยู่ห่างไกลความช่วยเหลือจากส่วนกลางเท่านั้น แต่ยังเปรียบเสมือนทีมหน้าด่านที่ต้องทำหน้าที่คัดกรองพี่น้องประชาชนที่เดินทางเข้า-ออกระหว่างพรมแดนประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน รวมไปถึงการรักษาผู้ติดเชื้อโควิด-19 อีกด้วย

“อำเภอเรามีพรมแดนติดกับประเทศมาเลเซีย จึงมีคนผ่านเข้ามาหลายร้อยคนต่อวัน และทุกคนจำเป็นต้องเข้าสู่ระบบกักตัวและตรวจเชื้อก่อนกลับเข้าไปในชุมชน ต้องยอมรับว่าในช่วงเริ่มต้นของการแพร่ระบาดอาจมีอุปสรรคในเรื่องขององค์ความรู้ รวมถึงบุคลากรบางส่วนก็กลัวกันเนื่องจากโควิด-19 เป็นโรคใหม่ และเป็นห่วงว่าตนจะนำเชื้อไปติดคนในครอบครัว” 

สิ่งหนึ่งที่ทำให้บุคลากรทางการแพทย์ในโรงพยาบาลระแงะกังวลไม่น้อยคือการขาดแคลนอุปกรณ์ป้องกัน ซึ่งเป็นเหมือนชุดเกราะสำหรับต่อสู้กับโรคโควิด-19 เช่นเดียวกับโรงพยาบาลชุมชนและโรงพยาบาลอำเภออีกหลายแห่งในพื้นที่ภาคใต้ ที่ไม่ได้ทำหน้าที่แค่ดูแลรักษาผู้ป่วยเพียงอย่างเดียว แต่ยังต้องเฝ้าระวัง และลงพื้นที่ตรวจหาผู้ป่วยในชุมชนอีกด้วย

คุณหมอทศพลเล่าว่า “เดิมทีทางโรงพยาบาลมีชุด PPE สำรองไว้สำหรับดูแลคนไข้โรคเมอร์สที่อาจไปติดจากการไปแสวงบุญที่ตะวันออกกลาง และมีหน้ากาก N95 จำนวนหนึ่งสำหรับดูแลคนไข้วัณโรค แต่เมื่อเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั้งชุด PPE และหน้ากากก็กลายเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องใช้เป็นจำนวนมาก ทั้งการใช้ในโรงพยาบาลเอง รวมถึงการใช้เพื่อลงพื้นที่ในชุมชน อย่างน้อยๆ วันหนึ่งก็ต้องใช้มากกว่า 20 ชุด ซึ่งก็ทำให้เรากังวลเหมือนกันว่าในระยะยาวอุปกรณ์เหล่านี้ก็อาจจะไม่เพียงพอ” 

“แต่ด้วยน้ำใจของคนไทยที่ให้ความช่วยเหลือพวกเรา ทำให้ปัญหาเรื่องการขาดแคลนอุปกรณ์แพทย์หมดไป และทำให้การทำงานของหมอและพยาบาลมีความปลอดภัยและมีความพร้อมมากขึ้น หนึ่งในนั้นคือความช่วยเหลือจากบริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) ที่ได้ส่งมอบอุปกรณ์ทางการแพทย์ ประกอบด้วยชุด PPE และหน้ากากอนามัยรวม 5,700 ชิ้น กระจายไปยัง 19 โรงพยาบาลประจำอำเภอใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ คือ นราธิวาส ปัตตานี และยะลา”

“เราได้รับความช่วยเหลือจากหลายหน่วยงานที่นำอุปกรณ์ทางการแพทย์มามอบให้ ทำให้เราสามารถสู้กับโรคนี้ได้อย่างเข้มแข็ง นอกจากเรื่องการปฏิบัติงานที่ปลอดภัยขึ้นแล้ว ผมคิดว่ามันช่วยในเรื่องของกำลังใจด้วย มันทำให้ทีมแพทย์และพยาบาลที่นี่รู้สึกได้ว่า อย่างน้อยเราไม่ได้สู้อยู่คนเดียว ยังมีคนไทยทั้งประเทศสู้ไปกับเรา” คุณหมอทศพลเล่าด้วยรอยยิ้ม 

คุณหมอทศพลกล่าวทิ้งท้ายถึงแนวโน้มสถานการณ์โควิด-19 ในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้ว่า “สถานการณ์โดยรวมตอนนี้ถือว่าคลี่คลายขึ้นมากแล้ว แต่เรายังต้องเฝ้าระวังผู้ติดเชื้อต่อไป ผู้ที่มาจากพื้นที่เสี่ยงต้องกักตัวเป็นเวลา 14 วัน และทางโรงพยาบาลเองก็จะดำเนินการค้นหากลุ่มเสี่ยงด้วยการเข้าไปสำรวจพื้นที่ที่มีการเคลื่อนย้ายของประชากรมาก เช่น ตลาด หรือในที่ชุมชน ตลอดจนประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนปฏิบัติตามหลักการเปิดเมืองภายใต้วิถี New Normal อย่างปลอดภัย”

ทางด้านคุณชื่นสุมณ เลขะกุล พยาบาลงานป้องกันและควบคุมเชื้อ โรงพยาบาลหนองจิก จังหวัดปัตตานี เล่าถึงสถานการณ์โควิด-19 ในจังหวัดปัตตานีว่า “เรามีการเฝ้าระวังโควิด-19 ในเชิงรุกอยู่ตลอด พอทราบว่ามีคนกลับจากไปปฏิบัติศาสนกิจที่อินโดนีเซียก็ต้องรับเข้ามากักกันตัวเพื่อดูอาการ นอกจากนี้ เรายังร่วมมือกับจังหวัดปัตตานีและจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดำเนินโครงการตรวจภูมิคุ้มกันในร่างกายจากผลเลือดเพื่อให้ค้นหาผู้ติดเชื้อได้เร็วขึ้น ซึ่งหากเราพบเร็วก็จะรักษาได้เร็ว และส่งผู้ป่วยกลับบ้านได้เร็วขึ้นด้วย”

คุณชื่นสุมณกล่าวเสริมว่า “พอมีสถานการณ์โควิด-19 เข้ามา เราจำเป็นต้องปิดตึกไปส่วนหนึ่งเพื่อเปิดเป็นวอร์ดสำหรับคนไข้โควิด-19 อุปกรณ์ป้องกันต่างๆ ก็เริ่มขาดแคลน ต้องจำกัดการใช้บ้าง หรือประยุกต์เอาถุงพลาสติกมาใช้บ้าง แต่ช่วงหลังก็ได้ความช่วยเหลือจากภาคเอกชนทำให้เรามีอุปกรณ์เพียงพอ 

แม้โรงพยาบาลหนองจิกจะเป็นเพียงโรงพยาบาลชุมชนเล็กๆ แต่การได้รับการสนับสนุนอุปกรณ์ทางการแพทย์ก็เป็นกำลังใจสำคัญให้กับพวกเราทุกคน ให้ต่อสู้กันเต็มที่ ไม่ย่อท้อ และทำให้พวกเราหายกังวลในการทำงานไปได้มาก”

เสียงจากศูนย์รวมความช่วยเหลือแก่เพื่อนมนุษย์ที่ตกทุกข์ได้ยาก

ในส่วนของภาคประชาชนนั้น เมื่อความลำบากแร้นแค้นทวีขึ้นเนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 คุณมนูญ แสนไม้ กรรมการมูลนิธิอะมีรุลมุอ์มินีนเพื่อเด็กกำพร้า 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จึงได้ตัดสินใจส่งจดหมายขอความช่วยเหลือไปยังหน่วยงานต่างๆ ซึ่งทันทีที่ได้รับจดหมาย ภาคเอกชนก็ได้ตอบรับเพื่อยื่นมือเข้ามาให้ความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน

คุณมนูญเล่าว่า “เมื่อมีสถานการณ์โควิด-19 เข้ามา ประชาชนหลายคนในพื้นที่ไม่สามารถออกไปทำงานตามปกติ เช่น กรีดยาง หรือออกไปค้าขายได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่สีแดง ที่ทั้งการเข้าและออกจากพื้นที่ยิ่งทำได้ยากขึ้น การให้ความช่วยเหลือของมูลนิธิฯ จึงมุ่งเน้นไปที่การนำข้าวสารอาหารแห้งไปมอบให้กับผู้ที่ได้รับความเดือดร้อน โดยเราได้ประสานกับผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่ต่างๆ เพื่อนับจำนวนครัวเรือนแล้วลงพื้นที่ไปส่งมอบถุงยังชีพ ต้องขอขอบคุณทุกหน่วยงานรวมทั้งทางบ้านปูฯ ที่เห็นถึงความสำคัญของการให้ความช่วยเหลือเด็กๆ และผู้ยากไร้ ผมรับรู้ได้จากแววตาของเด็กๆ และชาวบ้านที่มารับถุงยังชีพจากมูลนิธิฯ ว่าเขามีกำลังใจมากขึ้น และคิดว่าถ้าเขาไม่สวมหน้ากากกันอยู่ เราคงได้เห็นรอยยิ้มของพวกเขาแน่นอน” 

บ้านปูฯ หนึ่งพลังสำคัญของชาติ เพื่อกู้วิกฤติโควิด-19

เพราะการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจังต้องอาศัยความช่วยเหลือจากทุกฝ่ายร่วมด้วยช่วยกัน งานนี้ คุณสมฤดี ชัยมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) จึงได้มาบอกเล่าที่มาที่ไปของการให้ความช่วยเหลือใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า “บ้านปูฯ มีความตั้งใจที่จะร่วมดูแลสังคมไทยและคนไทยอย่างดีที่สุด ถึงแม้ธุรกิจส่วนใหญ่ของเราจะอยู่ในต่างประเทศ แต่บ้านปูฯ เป็นบริษัทของคนไทย และในช่วงวิกฤติโควิด-19 ที่ทุกภาคส่วนล้วนแล้วแต่ได้รับผลกระทบ เราในฐานะองค์กรที่ยังพอมีกำลังก็ไม่อาจนิ่งนอนใจ 

นั่นจึงเป็นที่มาของการตั้งกองทุน ‘มิตรผล-บ้านปู รวมใจช่วยไทยสู้ภัย COVID-19’ มูลค่า 500 ล้านบาท โดยเป็นส่วนของบ้านปูฯ 250 ล้านบาท เพื่อมอบเงินช่วยเหลือให้กับองค์กรด้านการแพทย์และสาธารณสุขเพื่อใช้ในการจัดหาเครื่องมือและวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ รวมทั้งการปรับเปลี่ยนพื้นที่ภายในโรงพยาบาลให้มีศักยภาพสูงสุดด้านการรักษาและป้องกันความปลอดภัยทั้งผู้ติดเชื้อและบุคลากรในโรงพยาบาล”

นอกจากการมอบเงินทุนดังกล่าวแล้ว บ้านปูฯ ได้กระจายความช่วยเหลือไปยัง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยการส่งมอบอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จำเป็นให้กับโรงพยาบาลประจำอำเภอ พร้อมมอบถุงยังชีพ 500 ถุงซึ่งประกอบด้วยข้าวสารอาหารแห้งและสิ่งของจำเป็นให้กับมูลนิธิอะมีรุลมุอ์มินีน เพื่อนำไปแจกจ่ายแก่ครัวเรือนที่ได้รับความเดือดร้อนและเด็กกำพร้าที่ลงทะเบียนไว้กับทางมูลนิธิฯ ซึ่งมีจำนวนมากกว่า 3,000 ราย รวมมูลค่ากว่า 4 ล้านบาท 

“จากการประเมินสถานการณ์ในไทยตอนนี้คิดว่าความพร้อมทางด้านอุปกรณ์การแพทย์น่าจะเพียงพอแล้ว ดังนั้นต่อไปเราจะมุ่งเน้นให้ความช่วยเหลือด้านปากท้องของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจาก

โควิด-19 เป็นหลัก บ้านปูฯ มุ่งหวังว่าความช่วยเหลือในครั้งนี้จะช่วยเพิ่มความพร้อมในการทำงานให้กับบุคลากรทางการแพทย์ พร้อมทั้งบรรเทาความเดือดร้อนให้กับคนไทยในพื้นที่ห่างไกล และจะเป็นการช่วยให้ประเทศชาติและประชาชนชาวไทยผ่านพ้นวิกฤตินี้ไปได้โดยเร็ว" คุณสมฤดี กล่าวทิ้งท้าย

ฟังคำบอกเล่าจากเหล่าผู้ที่อยู่หน้าด่านของการต่อสู้กับโควิด-19 แล้ว พวกเราคนไทยก็ต้องให้ความร่วมมือ ใส่หน้ากากเมื่อออกนอกบ้าน ล้างมือให้สะอาดอย่างสม่ำเสมอ และรักษาระยะห่างต่อไป เพื่อให้คุณหมอและพยาบาลที่กำลังปฏิบัติหน้าที่ไม่ต้องมีภาระเพิ่ม ในส่วนของภาคเอกชนหรือองค์กรใดที่พอจะมีกำลังช่วยเหลือผู้ที่เดือดร้อนในช่วงเวลานี้ ความช่วยเหลือของท่าน อาจเป็นกำลังใจที่ยิ่งใหญ่และแรงใจที่สำคัญ ที่จะส่งผ่านไปถึงคนไทยทุกคนให้ร่วมต่อสู้เพื่อที่จะก้าวผ่านวิกฤติครั้งนี้ไปด้วยกัน 

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

กรุงศรีตั้ง ปาลิดา อธิศพงศ์ นั่งรักษาการกรรมการผู้จัดการของ Krungsri Finnovate เดินหน้าสตาร์ทอัปไทย

ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ประกาศแต่งตั้ง นางสาวปาลิดา อธิศพงศ์ ขึ้นดำรงตำแหน่งรักษาการกรรมการผู้จัดการ Krungsri Finnovate...

Responsive image

ทีทีบี จับมือ databricks ผสานพลัง Data และ AI สร้างอนาคตการเงินที่ดีขึ้นให้คนไทย

ทีทีบี ตอกย้ำความมุ่งมั่นผลักดันดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชัน สร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับวงการธนาคารไทย จับมือพันธมิตร databricks พร้อมเดินหน้าสร้าง Data-driven Culture ปักธงก้าวสู่ธนาคารที...

Responsive image

LINE SCALE UP เปิดรับสตาร์ทอัพทั่วโลก ต่อยอดธุรกิจกับ LINE ก้าวสู่ระดับสากล

LINE SCALE UP เปิดตัวอย่างเป็นทางการในงาน LINE Thailand Developer Conference 2024 ที่ผ่านมา เฟ้นหาสตาร์ทอัพที่มีศักยภาพ และพร้อมต่อยอดธุรกิจร่วมกับ LINE สู่เป้าหมายยกระดับธุรกิจสตา...