ทรู เทเลนอร์ ร่วมเวทีเสวนา โลกปรับ เกมเปลี่ยน พร้อมพลิกโฉมธุรกิจ สู่อนาคต พร้อมเปิดมุมมอง ทำไมต้องปรับตัวสู่บริษัทเทคโนโลยี | Techsauce

ทรู เทเลนอร์ ร่วมเวทีเสวนา โลกปรับ เกมเปลี่ยน พร้อมพลิกโฉมธุรกิจ สู่อนาคต พร้อมเปิดมุมมอง ทำไมต้องปรับตัวสู่บริษัทเทคโนโลยี

ทรู เทเลนอร์ ร่วมเวทีเสวนา “โลกปรับ เกมเปลี่ยน พร้อมพลิกโฉมธุรกิจ สู่อนาคต” ร่วมกับภาคอุตสาหกรรมเปิดมุมมอง ทำไมต้องปรับตัวสู่บริษัทเทคโนโลยี ผู้บริโภคได้ประโยชน์สูงสุด การแข่งขันดุเดือดขึ้น

ทรู เทเลนอร์ ร่วมเวทีเสวนา โลกปรับ เกมเปลี่ยน พร้อมพลิกโฉมธุรกิจ สู่อนาคต พร้อมเปิดมุมมอง ทำไมต้องปรับตัวสู่บริษัทเทคโนโลยีเวทีความคิด “The Disruption of Business, Competition, and Transformation, Ready for the FUTURE.  : โลกปรับ เกมเปลี่ยน พร้อมพลิกโฉมธุรกิจอนาคต” ที่จัดโดย“มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย” ร่วมกับ “สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย” จัดขึ้นเมื่อ 22 มิ.ย.ที่ผ่านมา ทุกองค์กรสะท้อนแนวคิด ตลาด การแข่งขัน และเทคโนโลยีเปลี่ยนไปมากจากอดีต เอกชนทุกขนาดต้องดิ้นรน ปรับตัว ทุกอุตสาหกรรม ไม่ปรับ ก็ไม่รอด มุมมองภาครัฐ นักวิชาการ ต้องทันสมัย ไม่ตกยุค มองเห็นผู้เล่นทางตรง ทางอ้อม ทั้งจากในและจากต่างประเทศ หน่วยงานกำกับ ดูแล ต้องมีทัศนคติทันสมัย ส่งเสริม มาก่อนกีดกัน  

หลายอุตสาหกรรมปัจจุบันบิดเบี้ยว เพราะ มองมิติเก่า ไม่เข้าใจโลกมิติใหม่ ที่เร็ว และเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา นอกจากนี้ นักลงทุนเชื่อมั่นลงทุนในไทย หากทุกภาคส่วน รัฐ นักวิชาการ เอกชน สังคม ผู้บริโภค ปรับมุมมอง ให้ทันสมัย ทันการเปลี่ยนแปลง  ประเทศไทยยังน่าลงทุน และเติบโตได้แข่งขันในระดับภูมิภาคได้ 

ทรูและเทเลนอร์ชี้ชัดถึงเวลายกระดับสู่เทคคอมปานี อย่างเต็มตัว เพื่อสร้างความแข็งแกร่งทั้งอีโคซิสเต็มส์ให้พร้อมพัฒนาบริการที่ดียิ่งขึ้นเป็นการตอบโจทย์ทางเลือกของผู้บริโภคยุคใหม่ เวทีความคิดนี้ ดำเนินรายการโดย คุณสุทธิชัย หยุ่น และ คุณบัญชา ชุมชัยเวทย์ โดยมีผู้รับชมคับคั่ง

"เพราะโลกปรับ ธุรกิจต้องเปลี่ยน"

คุณพีระวัฒน์ โชติธรรมโม นายกสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ได้กล่าวว่า ธุรกิจสื่อผ่านการถูก Disruption มาแล้วหลายครั้งทั้งจากวิกฤติเศรษฐกิจและความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี ซึ่งเทคโนโลยีดิสรัปชั่น นับเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของอุตสาหกรรมสื่อในปัจจุบัน  โดยเฉพาะทีวีดิจิทัลที่ กสทช.เปิดประมูลแบบเน้นให้มีผู้เล่นจำนวนมาก โดยไม่ได้คำนึงถึงขนาดของตลาดและการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี จนทำให้มีผู้เล่นมากเกินไป และเกิดการแข่งขันโดยไม่มีคุณภาพ 

ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า ทฤษฎีการเกิดผู้เล่นจำนวนมาก เพื่อเปิดให้มีเกิดการแข่งขัน บางครั้งใช้ไม่ได้ในบางธุรกิจเพราะทำลายความเข้มแข็ง เพราะทำให้การแข่งขันนั้นเน้นรายได้และการบริหารต้นทุนเป็นสำคัญ จนละเลยคุณภาพ  ดังนั้นหากต้องการที่จะปรับธุรกิจให้รับกับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต สื่อต้องเข้าใจเทคโนโลยีและนำเทคโนโลยีมาช่วยให้เกิดประโยชน์

ด้าน คุณกัณฑ์พงษ์ พานทองประเสริฐ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.โอกิลวี่ แอนด์ เมเธอร์ (ประเทศไทย) เสริมมุมมองว่า ในช่วงที่ผ่านมา โอกิลวี่ ต้องมองทั้งมุมธุรกิจตัวเอง และมุมธุรกิจลูกค้า เพื่อให้ก้าวผ่านภาวะดิสรัปชั่นไปด้วยกัน โดยโอกิลวี่ได้ปรับตัวเองใน 3 เรื่องหลักคือ 1.คน  ที่ต้องเข้าใจการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้น 

2.วิธีการทำงาน ที่จะนำเทคโนโลยีมาช่วยให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด 

3. ยังคงเน้นความเป็นธุรกิจเอเจนซี่ที่ต้องเน้นความคิดสร้างสรรค์ให้ลูกค้าขยายตัวไปในทุกแพลตฟอร์ม โดยโอกิลวี่ได้ผันตัวเองเป็น Creative Driven Company จากการเป็นพันธมิตรกับเทคคอมปานีที่ผสานจุดแข็งทั้ง 2 ส่วนมาเสริมและสนับสนุนให้ธุรกิจของลูกค้าเติบโตและพลิกโฉมสู่ธุรกิจอนาคตได้อย่างเข้มแข็ง

ขณะที่ คุณนรุตม์ เจียรสนอง รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายการตลาด บริษัท เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ๊ป กล่าวว่า ที่ผ่านมา เมเจอร์เลือกที่จะใช้เทคโนโลยีให้เป็นประโยชน์กับการขยายธุรกิจ โดยเป็นพันธมิตรกับ OTT เพราะ OTT กับโรงภาพยนตร์ถือเป็นคู่ค้าพันธมิตรกัน  ภาพยนตร์ทุกเรื่องที่เข้าฉายโรงภาพยนตร์ ก็จะไปออกอากาศต่อบนแพลตฟอร์ม OTT   ซึ่งทำให้เมเจอร์มีดาต้าของผู้ชมที่ได้จาก OTT และดาต้าดังกล่าวทำให้เมเจอร์สามารถพัฒนา Content ได้ตรงกับความต้องการของผู้ชม ซึ่งปัจจุบันผู้ชมแต่ละภูมิภาคก็มีความต้องการที่แตกต่างกัน อีกทั้งข้อมูลดังกล่าวยังทำให้เมเจอร์สามารถคัดเลือกผู้ผลิตคอนเทนท์ที่มีความสามารถที่ตรงกับรสนิยมผู้บริโภคยุคใหม่

“เกมเปลี่ยน ประเทศไทยต้องปรับ”

มร.จอน โอมุนด์เรฟฮัก Senior Vice President เทเลนอร์กรุ๊ป ภูมิภาคเอเชีย กล่าวว่า เทเลนอร์ยังคงเดินหน้าลงทุนในภูมิภาคเอเชียและยืนยันที่จะทำธุรกิจในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง โดยมองทั้งปัจจัยเรื่องการเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญ รวมทั้งนโยบายของภาครัฐที่ต้องเอื้อต่อการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ มีกฎกติกาที่เป็นธรรม มีความชัดเจน และต่อเนื่องในระยะยาว เนื่องจากการลงทุนด้านเทเลคอมต้องใช้เงินลงทุนสูง ทั้งการขอใบอนุญาตและลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ขณะเดียวกันก็มองว่า 

ปัจจุบันเทคโนโลยีดิจิทัลเป็นแกนหลักของการขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจโลก รวมถึงภูมิภาคเอเชียและประเทศไทย ซึ่งการควบรวมกิจการต่าง  ๆ ของเทเลนอร์ก็เพื่อปรับตัวสู่การเป็นเทคคอมปานี  ถือเป็นวิถีปกติในการปรับตัวทางธุรกิจในยุคดิจิทัล เพราะเป็นแนวทางที่จะเสริมสร้างความเข้มแข็ง และสร้างประโยชน์ให้กับลูกค้ามากกว่าการเป็นผู้ให้บริการมือถือ 

โดยจะนำเทคโนโลยีมาขับเคลื่อนนวัตกรรมที่จะเป็นส่วนสำคัญของชีวิตในการก้าวสู่วิถีดิจิทัลทั้งในเอเชียและประเทศไทย ส่วนสนับสนุนให้ธุรกิจเติบโต โดยเฉพาะบริษัทขนาดกลางและขนาดเล็กที่จะมีโอกาสเติบโตได้อย่างก้าวกระโดด ซึ่งมั่นใจว่าจะเป็นประโยชน์กับทุกภาคส่วนอย่างแน่นอน 

คุณนพเดช กรรณสูต รองกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส  สายงานการลงทุน  นวัตกรรม และความยั่งยืน บมจ.บี.กริม เพาเวอร์  กล่าวว่า รัฐบาลไทยต้องมองไปยังการปรับตัวของประเทศเพื่อนบ้านที่มีนโยบายเปิดกว้าง และรับฟังนักลงทุนต่างชาติมากขึ้น  เพราะบริบทของการดำเนินธุรกิจเปลี่ยนไปในแต่ละยุคสมัย  จนถึงยุคที่มีการสร้างพันธมิตรกันมากขึ้น ต้องเชื่อมโยงกันเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า พฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไป เป้าหมายของแต่ละประเทศ โมเดลธุรกิจเปลี่ยนแปลงไป  รัฐบาลมีความเข้าใจมากน้อยแค่ไหน ต้องมีการศึกษาแนวทางสร้างนโยบายให้เอื้อให้เกิดการพัฒนา ต่อยอดให้เอื้อต่อการเดินหน้าไปได้ ในมุมที่แต่ละประเทศมีกฎกติกาที่แตกต่างกัน แต่อีกมุมเราสามารถเชื่อมโยงถึงกันได้ 

คุณวิธวินท์ อิทธิภาณุวัต  กรรมการบริหาร Vertex Ventures Southeast Asia and India   กล่าวว่า ในฐานะที่ดูแลการลงทุนระดับภูมิภาค จะเห็นได้ว่ามีข้อจำกัดอยู่ ทำให้การลงทุนเทไปประเทศเพื่อนบ้านอย่างเวียดนามและอินโดนีเซียซึ่งเป็นคู่แข่งสำคัญเพราะได้ปรับกฎเกณฑ์กติกาที่เปิดกว้างขึ้น และฟังนักลงทุนต่างชาติมากขึ้น ในส่วนของประเทศไทยนั้น มีความพร้อมในด้านอินฟาสตรัคเจอร์ที่แข็งแรง มีความเร็วอินเทอร์เน็ต เป็นอันดับต้น ๆ ของโลก  

รวมถึงมีการพัฒนาด้านเทคโนโลยีที่เป็นไปตามเทรนด์ของโลก คนใช้เวลากับโทรศัพท์มากขึ้น มีการใช้ mobile banking ในสัดส่วนที่สูงขึ้น แต่เรื่องกฎเกณฑ์กติกาซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่จะสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนนั้น นายวิธวินท์ มองว่า แม้ทุกหน่วยงานรวมถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย  ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และแวดวงสตาร์ทอัพจะได้มีความร่วมมือร่วมกันมากขึ้น แต่อาจจะยังไม่ได้เร็วพอมีจะสร้างความถูกใจกับทุกฝ่ายได้

“ธุรกิจต้องพร้อม พลิกโฉมสู่อนาคต”

คุณณัฐวุฒิ อมรวิวัฒน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ (ร่วม) บมจ. ทรูคอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า ปัจจุบันความก้าวหน้าของเทคโนโลยีเข้ามาอยู่ในมือถือของทุกคน ซึ่งเต็มไปด้วยบริการที่มาจากระดับโลกทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นผู้เล่นในประเทศไทยต้องมีการปรับตัวให้พร้อมรองรับการแข่งขัน ซึ่งนอกเหนือจากการที่ทรูต้องเล่นเกมส์ต่างเพื่อให้ผู้บริโภคเลือกใช้บริการ เนื่องจากเข้ามาเป็นรายที่ 3 ของประเทศแล้ว ทรูยังต้องเพิ่มเรื่องของ Digital เข้าไปอย่างเต็มที่ 

จึงเลือกที่จะเป็น Tech Telecom เพราะเราไม่ต้องการเป็นเพียง ‘ท่อ’ ในการขับเคลื่อนให้คนเข้ามาใช้ประโยชน์เท่านั้น หากเปรียบเทียบกับการเป็นท่อน้ำวันนี้ เราจะให้น้ำที่ไหลมาในท่อเพื่อให้คนไทยได้บริโภค เป็นน้ำที่มาจากต่างประเทศทั้งหมดไม่ได้ หรือถ้าแบ่งเป็น เลเยอร์บนล่าง เราต้องไม่เป็นผู้เล่นที่อยู่ในเลเยอร์ล่างซึ่งเป็นโทรคมนาคมเพียงอย่างเดียว แต่ต้องพยายามพัฒนาขึ้นมาอยู่ในเลเยอร์บน อย่างที่ Google, Facebook, LINE  ครองตลาดอยู่ 

ปัจจุบันทรูก็ขยับขึ้นมาเล่นในเกมนี้เช่นเดียวกัน ทำให้เรามี True ID และ Solution ที่เป็น Entertainment รวมถึงแอปหมอดี ซึ่งเป็น Telemedicine ที่ช่วยให้คนเข้าถึงบริการทางการแพทย์ได้ง่ายขึ้น ดังนั้นทั้งหมดนี้คือ ความสำคัญที่จะมอง ‘โทรคมนาคม’ เป็นเพียง ‘โทรคมนาคม’ ต่อไปไม่ได้ แต่ต้องมองเป็น Tech Telecom ที่ไม่ได้มีผู้เล่นเพียง 3-4 ราย แต่มีผู้เล่นมากกว่า10 ราย ทั้งในและต่างประเทศที่เป็น Global Player แต่อยู่นอกการกำกับดูแลของโทรคมนาคม จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ทรูต้องมีการ Disrupt ธุรกิจ เสริมสร้างความแข็งแกร่งด้วยการควบรวมกับพันธมิตรเพื่อปรับตัวเป็นเทคคอมปานี 

คุณณัฐวุฒิ กล่าวเสริมว่า ผู้บริโภคจะได้ประโยชน์เมื่อมีทางเลือกที่แข็งแกร่งใกล้เคียงกัน สู้กัน จนเกิดเป็นทางเลือกที่น่าสนใจ หากมีผู้เล่นมากมาย แต่ใหญ่เพียงรายเดียว ก็จะไม่ทำให้เกิดนวัตกรรม เพราะนวัตกรรมจะเกิดก็ต่อเมื่อคู่ต่อสู้มีขนาดที่ใกล้เคียงกัน จึงจะมีความสามารถในการนำเสนอสิ่งใหม่ ๆ ได้ ดังนั้นเมื่อต้องแข่งกับต่างชาติ หรือผู้เล่นรายใหญ่ ต้องทำให้มีขนาดที่ใกล้เคียงเพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่ง 

เหมือนการเสริมสร้างกล้ามเนื้อให้พร้อมกับคู่ต่อสู้ที่ใหญ่กว่า เพื่อพัฒนานวัตกรรมตอบโจทย์ความพึงพอใจและเป็นทางเลือกของลูกค้า  ในส่วนเรื่องการกฎหมายและการกำกับดูแล ต้องไม่จำกัดแค่เรื่องที่เกี่ยวข้องกับโทรคมนาคม เพราะทุกเรื่องถูกดิสรัปโดยเทคโนโลยีทั้งหมด เพราะเทคโนโลยีจะมาเร็วกว่าทุกปัจจัยเสมอ ดังนั้นเมื่อเทคโนโลยีมาแล้ว regulator จะต้องปรับมุมมองเพื่อให้สอดรับกับความเจริญของประเทศ

คุณพุฒิกานต์ เอารัตน์ Head of People & Branding, SCB 10X และ กรรมการผู้จัดการ Chief Digital Asset Officer บริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จำกัด  กล่าวว่า ไทยพาณิชย์เล็งเห็นความเปลี่ยนแปลงมาตั้งแต่ปี 2015 ว่าธุรกิจธนาคารมีโอกาสถูก Disrupt ทั้งจาก Fintech และ Finance ดังนั้นสิ่งที่กลุ่มธนาคารไทยพาณิชย์ทำการทดลองคือ ตั้งหน่วยงานเล็ก ๆ ขึ้นมา ตั้งแต่ Digital Venture, SCB Abacus ดูเรื่องของ AI มีการทดลองบริษัทเล็ก ๆ จนเห็นแนวทางความเป็นไปได้จึงตั้งบริษัท SCB 10X ขึ้นมาเพื่อวัตถุประสงค์ที่จะทำให้ ‘ไทยพาณิชย์’ 

1. ไม่ได้ถูกมองว่าเป็นธนาคาร แต่เป็น ‘ผู้ให้บริการทางการเงิน’ 

2. ทำให้ลูกค้าของธนาคารไม่ได้ถูกมองเป็น ‘ลูกค้า’ แต่ถูกมองเป็น ‘พาร์ทเนอร์’ ที่ทำอย่างอื่นต่อยอดได้ เช่น แอปพลิเคชั่น ‘Robinhood’ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเงิน แต่ด้วยฐานข้อมูล จากการเป็นแอปพลิเคชั่นส่งอาหาร ที่พัฒนาเพิ่มเรื่องของการจองที่พัก ทำให้ในอนาคตจะมี Data มากเพียงพอ ที่จะเป็นฐานลูกค้า ที่ต่อยอดสู่การสร้าง Credit Scoring ที่แม่นยำเพื่อรองรับธุรกิจสินเชื่อในอนาคต   

อย่างไรก็ตามการเป็นเทคคอมปานีที่ประสบความสำเร็จ มีแนวทางที่สร้างเทคโนโลยีใหม่ ๆ ซึ่งทำได้ 3 อย่างคือ สร้างเอง ซื้อเอง และการร่วมกับพาร์ทเนอร์ เพราะปัจจัยทั้งสามอย่างนี้จะนำพาไปสู่ความสำเร็จในระดับต่อไปเพื่อพร้อมในการแข่งขันกับผู้เล่นต่างชาติที่เข้ามาในประเทศ และเพื่อวิสัยทัศน์ในการขยายฐานลูกค้าไปยังต่างประเทศให้ได้ถึง 100 ล้านคน เพราะตัวเลขนี้จะการขับเคลื่อนกลยุทธ์ของไทยพาณิชย์จากเป็นแค่ผู้เล่นในประเทศ สู่การเป็นผู้เล่นในระดับภูมิภาค  

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. มยุรี ศรีกุลวงศ์ อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย  กล่าวว่า  หากประเทศไทยต้องการที่จะเป็นส่วนหนึ่งในเวทีโลกและไม่อยากจะเป็นเพียงแค่คนที่ใช้บริการของต่างชาติ รวมถึงมีความหวังที่จะให้ประเทศไทยมี unicorn ซึ่งมีการให้บริการหลักที่ตรงตามความต้องการของผู้บริโภค และมี Culture ที่เข้มแข็งเพื่อความยั่งยืนและความได้เปรียบทางการแข่งขัน ที่ทำให้ประเทศไทยนั้นไม่แพ้ชาติอื่น ๆ บนเวทีโลกนั้น สิ่งสำคัญคือการรวมกันของ ecosystem ที่ต้องเอื้อให้คนไทยหลาย ๆ คนที่มีความสามารถ มีฝีมือในแต่ละองค์กรกล้าที่จะแสดงความคิดสร้างสรรค์ออกมา

นอกจากนี้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.มยุรี ก็ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า ธุรกิจ SME ก็ถูก Disrupt ด้วยเช่นกัน ดังนั้นต้องมีการเปลี่ยนแปลงเพื่อความอยู่รอดในอนาคต ต้องมีความคิดสร้างสรรค์ใหม่เกิดขึ้นอยู่ตลอด ขณะเดียวกันต้องมีการวาง Ecosystem ในหลายระดับ เพื่อที่จะเรียนรู้จาก SME ในระดับที่ใกล้เคียงกันและนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง ซึ่งหากเทียบเคียงกับการปรับตัวของ True และ SCB10X ต้องเริ่มต้นการเปลี่ยนแปลงจากการปรับ Mindset ก่อน และให้เรียนรู้จากสถาบันการศึกษาหรือองค์กรที่ประสบความสำเร็จ เพื่อถอดรหัสความสำเร็จในการเริ่มต้นก้าวเดินและปรับเปลี่ยนองค์กรพร้อมพลิกโฉมธุรกิจตัวเองสู่อนาคต

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

มันนี่ทันเดอร์พลิกโฉมสินเชื่อไทย ด้วย AI ฝีมือคนไทย แก้ปัญหาหนี้นอกระบบ

“อบาคัส ดิจิทัล” (ABACUS digital) ผู้พัฒนาแอปพลิเคชัน "มันนี่ทันเดอร์" (MoneyThunder) ได้สร้างปรากฎการณ์ในวงการสินเชื่อด้วยการใช้เทคโนโลยี AI ที่พัฒนาจากทีมคนไทยที่เข้าใจถึงความต้อ...

Responsive image

iNT: พันธมิตรเพื่ออนาคต พร้อมเปิดประตูสู่นวัตกรรมและธุรกิจ Start-Up

สถาบันบริหารจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม หรือ iNT (อิ๊นท์) ตอกย้ำบทบาทผู้นำ ด้านการสนับสนุนธุรกิจ Start-Up และการส่งเสริมการต่อยอดผลงานวิจัย นวัตกรรม ไปสู่การใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์...

Responsive image

5 ประโยชน์จาก DUSCAP เครื่องมือ AI อัจฉริยะ ยกระดับองค์กรสู่ความสำเร็จในทุกมิติ

เมื่อเทคโนโลยีกลายเป็นปัจจัยสำคัญในการเพิ่มขีดความสามารถขององค์กร การค้นหาโซลูชันที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ ลดต้นทุน และตอบโจทย์การทำงานในยุคดิจิทัลเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ DUSCAP ...