ผลกระทบของ COVID-19 ต่อผู้สูงอายุ | Techsauce

ผลกระทบของ COVID-19 ต่อผู้สูงอายุ

นับตั้งแต่สถานการณ์โควิด-19 แพร่ระบาดในประเทศไทย ไม่เพียงแต่ส่งผลให้ประชาชนเจ็บป่วยและเสียชีวิต ยังส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ประชาชนทั้งในด้านเศรษฐกิจและสังคมอย่างกว้างขวาง แต่กลุ่มเปราะบางซึ่งเป็นกลุ่มที่มีทุนทางสังคมน้อยกว่ากลุ่มอื่น ย่อมได้รับผลกระทบที่รุนแรงกว่า ซึ่งเป็นข้อค้นพบจากการสำรวจหลายครั้งที่ผ่านมา (ผลกระทบของโควิด-19 ต่อครัวเรือนที่มีเด็กเล็ก,โควิด-19 กระทบใคร กระทบอย่างไร พวกเขารับมือไหวไหม) นอกจากนี้ความสามารถในการปรับตัวของกลุ่มนี้ก็น้อยกว่าหากปราศจากความช่วยเหลือจากภายนอก  

ในบทความนี้จะเน้นไปที่ผลกระทบของโควิด-19 ต่อกลุ่มเปราะบางที่เป็นครอบครัวที่มีผู้สูงอายุ เพราะผู้สูงอายุมีร่างกายที่เสื่อมถอยไปตามอายุจึงมีความเสี่ยงในด้านสุขภาพและต้องการการดูแลที่มากกว่า และเป็นกลุ่มที่อยู่ในวัยเกษียณ ไม่มีรายได้หรือมีรายได้ที่น้อยกว่าในวัยทำงานจึงได้รับผลกระทบที่รุนแรงกว่า โดยจะใช้ข้อมูลจากการสำรวจออนไลน์สองชุดที่ร่วมกันจัดทำโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) และทีมงานด้านข้อมูลขององค์การสหประชาชาติ ชุดแรกคือ  ‘ผลกระทบทางสังคมที่เกิดจากการแพร่ระบาดและมาตรการควบคุมโรคระบาด’ สำรวจระหว่างวันที่ 13-27 เมษายน 2563 โดยมีผู้ตอบแบบสอบถามจำนวน 43,448 ชุด และชุดสอง ‘ผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดจากการแพร่ระบาดและมาตรการควบคุมโรคระบาด’ ระหว่างวันที่ 23 เมษายน ถึงวันที่ 18 พฤษภาคม 2563 มีผู้ตอบแบบสอบถามจำนวน 27,429 ชุด 

ในด้านผลกระทบด้านสังคม การสำรวจมีข้อค้นพบที่สำคัญคือ ผู้สูงอายุได้รับผลกระทบในหลายเรื่องเช่นการดูแลตนเอง (การตัดผม การออกกำลังกาย) การซื้อข้าวของเครื่องใช้ จ่ายตลาด การเดินทางไปยังสถานที่ต่าง ๆ การเข้ารับบริการทางการแพทย์กรณีเจ็บป่วย ในสัดส่วนระหว่างร้อยละ 70.1 – 91.8 และมีจำนวนไม่น้อยที่ระบุว่าได้รับผลกระทบดังกล่าว ‘มาก’ เช่น ร้อยละ 40.9 ระบุว่าได้รับผลกระทบมากในการเดินทางไปยังสถานที่ต่าง ๆ การเข้ารับบริการทางการแพทย์ และการดูแลตนเอง ในสัดส่วนร้อยละ 40.9 29.6 และ 28.2 ตามลำดับ

นอกจากนี้ มาตรการปิดสถานดูแลผู้สูงอายุส่งผลต่อการดูแลผู้สูงอายุโดยเฉพาะกลุ่มผู้มีภาวะพึ่งพิงที่ต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษอย่างใกล้ชิด ทำให้ผู้สูงอายุอาจไม่ได้รับการดูแลอย่างต่อเนื่องและสร้างภาระการดูแลให้แก่ครอบครัวผู้สูงอายุได้ แม้มีบางพื้นที่ เช่น จังหวัดนนทบุรีที่ผ่อนปรนให้เปิดสถานดูแลผู้สูงอายุแบบพักค้างคืน โดยให้ปิดเฉพาะสถานบริการแบบไปเช้าเย็นกลับก็ตาม

ส่วนผลกระทบด้านเศรษฐกิจ พบว่าผู้สูงอายุไม่ค่อยได้รับผลกระทบในด้านการมีงานทำเนื่องจากเป็นช่วงวัยที่เกษียณอายุแล้ว ดังจะเห็นได้จากผู้สูงอายุที่ตอบแบบสอบถามเป็นกลุ่มข้าราชการบำนาญและไม่ได้ทำงาน/หางาน ร้อยละ 16.9 และ 34.6 ตามลำดับ อย่างไรก็ดีมีผู้สูงอายุที่ว่างงานเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 2.9 เป็นร้อยละ 6.6 ซึ่งกลุ่มที่ตกงานมากที่สุดคาดว่าคือกลุ่มรับจ้างทั่วไป/งานไม่ประจำ ซึ่งมีสัดส่วนลดลงจากร้อยละ 9.6 เป็นร้อยละ 6.6 

ส่วนในด้านรายจ่ายนั้น ผู้สูงอายุเป็นวัยที่มีการบริโภคที่น้อยลงและไม่ค่อยมีการเข้าสังคมมากนัก จึงมีรายจ่ายที่ไม่ค่อยสูงและไม่ได้รับผลกระทบมากนัก น่าจะมีรายจ่ายที่เพิ่มขึ้นเพียงไม่กี่ประเภท เช่น ในกรณีที่ต้องมาดูแลที่บ้านเมื่อสถานดูแลผู้สูงอายุปิดลงชั่วคราว การซื้อยาเองในกรณีที่ไม่สามารถไปรับบริการที่สถานพยาบาลได้ 

ความช่วยเหลือและสวัสดิการจากรัฐ

รัฐบาลได้ออกมาตรการต่าง ๆ เพื่อมาช่วยเหลือ และบรรเทาความเดือนร้อนให้ผู้สูงอายุที่ได้รับผลกระทบหลายมาตรการ บางมาตรการก็ได้ผลดี ถูกเป้าหมาย บางมาตรการก็ยังตกหล่นผู้สูงอายุที่ควรได้รับความช่วยเหลือ เริ่มจากมาตรการเยียวยาด้วยเงินจากหลายช่องทาง (โครงการเราไม่ทิ้งกันของกระทรวงการคลัง มาตรการช่วยเหลือเงินเยียวยาเกษตรกรโดยกระทรวงเกษตรฯ หรือมาตรการเยียวยาประกันเงินว่างงานของสำนักงานประกันสังคม) แต่มาตรการเหล่านี้มุ่งเน้นไปยังกลุ่มเป้าหมายที่เป็นประชาชนในวัยแรงงาน จึงไม่ค่อยครอบคลุมผู้สูงอายุที่ส่วนใหญ่ไม่ได้ทำงาน 

ส่วนมาตรการที่เฉพาะเจาะจงในการช่วยผู้สูงอายุประกอบด้วย (ก) เงินให้เปล่าเพิ่มขึ้นจากกรมกิจการผู้สูงอายุคนละ 50 หรือ 100 บาท (ข) การพักชำระหนี้ระยะเวลา 1 ปีสำหรับลูกหนี้กองทุนผู้สูงอายุที่กู้ยืมเงินทุนประกอบอาชีพจากกองทุนผู้สูงอายุทุกคน ซึ่งแม้เป้าหมายถูกตัวเพราะเป็นผู้สูงอายุแต่งบประมาณที่ใช้ก็น้อยมากคือเพียง 689 ล้านบาทสำหรับโครงการแรก ในขณะที่มีเพียงผู้สูงอายุเพียง 4.1 หมื่นรายสำหรับโครงการสอง (ค) การจ่ายเงิน 3,000 บาทครั้งเดียวให้กับผู้ได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุที่ไม่ได้รับการช่วยเหลือจากโครงการเราไม่ทิ้งกัน ซึ่งเป็นโครงการที่ดีเพราะเป็นการอุดช่องโหว่ของการตกหล่นในโครงการเราไม่ทิ้งกัน ซึ่งคาดว่ามีจำนวนไม่น้อย 

อีกมาตรการความช่วยเหลือที่ดี คือการที่กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจัดทำโครงการอาสาสมัครบริบาลท้องถิ่นเพื่อดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงซึ่งอาจได้รับผลกระทบจากการปิดสถานดูแลผู้สูงอายุในช่วงโควิด โดยให้การดูแลทางร่างกาย จิตใจ อารมณ์ และสังคม มีผลช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของครอบครัวและรัฐในการดูแลรักษา รวมทั้งส่งเสริมให้เกิดการจ้างงานประชาชนเพราะจะช่วยสร้างงานนักบริบาลอาชีพจำนวน 15,548 คนกระจายตัวอยู่ทั่วประเทศ 

ในส่วนผลการสำรวจเรื่องมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐ พบว่ามีผู้สูงอายุต้องการความช่วยเหลือในการดูแลค่าครองชีพ (เช่น คุมราคาสินค้า ลดค่าไฟฟ้า/น้ำประปา) การเพิ่มสวัสดิการแก่กลุ่มเปราะบาง (ผู้สูงอายุ) เงินให้เปล่าจากรัฐบาล (5,000 บาท/เดือน) มากถึงมากที่สุดในสัดส่วนร้อยละ 50.7 44.9 และ 42.6 ตามลำดับ ที่สำคัญพบว่ามีผู้สูงอายุประมาณ 1 ใน 3 ไม่สามารถเข้าถึงบางความช่วยเหลือได้ เช่น กรณีเงินเยียวยาโครงการเราไม่ทิ้งกัน เนื่องจากต้องใช้การกรอกข้อมูลผ่านระบบออนไลน์ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้สูงอายุไม่คุ้นเคย

จะเห็นว่าหลายมาตรการสามารถช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ครอบครัวที่มีผู้สูงอายุได้ผ่านการให้เงินเยียวยามาชดเชยในกรณีที่คนในครอบครัวขาดรายได้จากสถานการณ์โควิด-19 ดังนั้น อย่างไรก็ตามรัฐบาลควรให้ความสำคัญกับคุณภาพชีวิตโดยตรงของผู้สูงอายุเป็นหลัก เช่น การเปิดให้บริการสถานดูแลผู้สูงอายุ ระบบการดูแลผู้สูงอายุระยะยาว การอำนวยความสะดวกในการเดินทางและการเข้าถึงบริการทางการแพทย์ ส่วนด้านเศรษฐกิจอาจต้องคำนึงถึงการหางานที่เหมาะสมกับผู้สูงวัยที่ยังต้องการและสามารถทำงานได้


ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

กรุงศรีตั้ง ปาลิดา อธิศพงศ์ นั่งรักษาการกรรมการผู้จัดการของ Krungsri Finnovate เดินหน้าสตาร์ทอัปไทย

ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ประกาศแต่งตั้ง นางสาวปาลิดา อธิศพงศ์ ขึ้นดำรงตำแหน่งรักษาการกรรมการผู้จัดการ Krungsri Finnovate...

Responsive image

ทีทีบี จับมือ databricks ผสานพลัง Data และ AI สร้างอนาคตการเงินที่ดีขึ้นให้คนไทย

ทีทีบี ตอกย้ำความมุ่งมั่นผลักดันดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชัน สร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับวงการธนาคารไทย จับมือพันธมิตร databricks พร้อมเดินหน้าสร้าง Data-driven Culture ปักธงก้าวสู่ธนาคารที...

Responsive image

LINE SCALE UP เปิดรับสตาร์ทอัพทั่วโลก ต่อยอดธุรกิจกับ LINE ก้าวสู่ระดับสากล

LINE SCALE UP เปิดตัวอย่างเป็นทางการในงาน LINE Thailand Developer Conference 2024 ที่ผ่านมา เฟ้นหาสตาร์ทอัพที่มีศักยภาพ และพร้อมต่อยอดธุรกิจร่วมกับ LINE สู่เป้าหมายยกระดับธุรกิจสตา...