Tops ใช้จุดแข็ง Logistics ช่วยเกษตรกรลดค่าส่งรับซื้อสินค้าพร้อมขนส่งผ่านเครือข่าย Backhaul | Techsauce

Tops ใช้จุดแข็ง Logistics ช่วยเกษตรกรลดค่าส่งรับซื้อสินค้าพร้อมขนส่งผ่านเครือข่าย Backhaul

เซ็นทรัล ฟู้ด รีเทล ผู้บริหารท็อปส์ และ แฟมิลี่มาร์ท ในเครือเซ็นทรัล รีเทล ตอกย้ำวิสัยทัศน์ ตามที่กลุ่มเซ็นทรัลเสนอนโยบายต่อรัฐบาล มุ่งเน้นความรับผิดชอบสังคม บูรณาการขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน ผ่านมาตรการสร้างอาชีพ เสริมรายได้ เปิดตัวโครงการ “รับซื้อสินค้าตรงจากเกษตรกรและชุมชน บริหารการขนส่งผ่านเครือข่ายรถส่งสินค้า(Backhaul)” โดยใช้ประโยชน์สูงสุดจากระบบโลจิสติกส์ ช่วยเหลือเกษตรกรทั่วประเทศลดค่าใช้จ่ายในการขนส่งสินค้า ใช้พลังงานอย่างคุ้มค่า บูรณาการให้เกิดความยั่งยืนกับเกษตรกรและเศรษฐกิจของไทยก้าวผ่านวิกฤต COVID-19 

คุณเมทินี พิศุทธิ์สินธพ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ เซ็นทรัล ฟู้ด รีเทล ในเครือเซ็นทรัล รีเทล กล่าวถึงที่มาของ โครงการ “รับซื้อสินค้าตรงจากเกษตรกรและชุมชน บริหารการขนส่งผ่านเครือข่ายรถส่งสินค้าBackhaul” เป็นการนำศักยภาพการบริหารจัดการผ่านเครือข่ายรถขนส่งสินค้าไปยังร้านท็อปส์ทุกสาขาทั่วประเทศ ซึ่งปกติต้องตีรถเที่ยวเปล่ากลับไปยังศูนย์กระจายสินค้าในกรุงเทพฯ ทำให้เกิดแนวคิดเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร ผู้ประกอบการรายย่อย ลดต้นทุนการส่งสินค้า สามารถส่งผลผลิตต่อครั้งได้มากขึ้น ใช้พลังงานเชื้อเพลิงจากการขนส่งให้คุ้มค่า 

โดยนำจุดแข็งด้านระบบโลจิสติกส์ของบริษัทฯ มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งสอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งเราพบว่าเกษตรกรประสบปัญหาต่าง ๆ  เช่น   ช่องทางการจำหน่ายสินค้าลดลง  ความไม่สะดวกในการเดินทางเพื่อขนส่งสินค้าเนื่องจากติดช่วงเวลาเคอร์ฟิว ประสบปัญหาด้านการส่งออก  ปัญหาด้านแรงงาน โครงการดังกล่าวจึงเข้ามาเติมเต็มและแก้ไขปัญหาให้กับเกษตรกรได้อย่างถูกจังหวะและเวลา 

การขนส่งสินค้าโดยใช้รถ backhaul เป็นการใช้อุปกรณ์และองค์ความรู้ ความชำนาญ ที่มีในการบริหารจัดการขนส่ง  ทั้งระบบมีการควบคุมอุณหภูมิที่เหมาะสมเพื่อรักษาคุณภาพจากต้นทาง (เกษตรกร) ไปจนถึงปลายทาง (ผู้บริโภค) โดยเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการจะรวบรวมผลผลิตนำขึ้นรถขนส่งสินค้าท็อปส์ เพื่อนำกลับไปยังศูนย์กระจายสินค้าอาหารสดและรอกระจายไปจำหน่ายยังสาขาต่างๆ  สำหรับปริมาณการขนส่งต่อรอบขึ้นอยู่กับชนิดสินค้า เช่น ผลไม้ ประมาณ 5-6 ตันต่อรอบ หรือผักประมาณ 2-3 ตันต่อรอบ 

จากการดำเนินโครงการที่ผ่านมาพบว่าเกิดประโยชน์ต่อเกษตรกรหลายด้าน ได้แก่ 1. ลดต้นทุนค่าขนส่งสินค้า เกษตรกรสามารถขนส่งสินค้าได้จำนวนมากในเวลาจำกัด 2. ลดต้นทุนด้านแรงงาน ไม่ต้องจ้างคนเพิ่มในการดูแลขนส่งสินค้า 3. ประหยัดเวลา เมื่อมีรถไปรับสินค้าถึงที่ทำให้เกษตรกรมีเวลาเพิ่มขึ้นไปดูแลผลผลิตให้มีคุณภาพ ได้มาตรฐานที่ดีขึ้น 4. สร้างรายได้เพิ่มขึ้น เพราะสามารถส่งผลผลิตไปจำหน่ายได้มากขึ้นต่อการขนส่งแต่ละรอบ 5. ลดความเสี่ยงจากโควิด-19 ไม่ต้องเดินทางข้ามจังหวัดเพื่อขนส่งสินค้า และอีกหนึ่งประโยชน์สูงสุดต่อสิ่งแวดล้อมคือ เกิดการใช้พลังงานอย่างคุ้มค่า ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากการขนส่ง

สำหรับเกษตรกรผู้เข้าร่วมโครงการฯ คุณเสาวนีย์ ทองชิว เจ้าของสวนทุเรียน มังคุด และลองกอง จ.จันทบุรี เล่าถึงการดูแลสวนและข้อดีของการมีคนรุ่นใหม่เข้าร่วมโครงการว่า “เดิมสวนของป้าชื่อว่า ‘ไร่บุญมี’ ก่อตั้งมาตั้งแต่สมัยรุ่นพ่อแม่ ซึ่งป้าก็สานต่อทำสวนมาได้ 20 กว่าปีแล้ว โดยสวนนี้มีพื้นที่ 50 กว่าไร่ ปลูกทุเรียน มังคุด และลองกอง ปัจจุบันมีลูกชายและลูกสาวกลับมาช่วยงาน ปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงวิธีการทำสวนแบบสมัยใหม่ และคัดเลือกผลผลิตส่งไปยังสหกรณ์การเกษตรเขาคิชฌกูฏ จำกัด เพื่อส่งต่อไปจำหน่ายที่ท็อปส์ รวมถึงมีตลาดเจ้าประจำติดต่อมาเพื่อซื้อขาย 

ทำให้มีช่องทางจำหน่ายมากขึ้น จากสถานการณ์โควิด-19 สวนป้าก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน ทั้งด้านแรงงานที่มีการจำกัดการเดินทาง ทำให้ขาดคนงาน ภาวะภัยแล้ง ทำให้มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น เพราะต้องลงทุนกับการวางระบบน้ำ ซึ่งก็ได้ลูกชายที่เรียนจบด้านวิศวกรรมศาสตร์ นำความรู้มาปรับใช้และกล้าลงทุนกับเครื่องทุ่นแรงแม้มีค่าใช้จ่ายสูง เพื่อเพิ่มศักยภาพให้สามารถดูแลผลผลิตให้ดีขึ้น โดยมังคุดของสวนป้าจะมีความโดดเด่นในเรื่องเนื้อขาว รสชาติหวาน กรอบ เปลือกบาง เมล็ดเล็ก รู้สึกดีใจที่มีรถมารับผลผลิตถึงที่ ทำให้ลดค่าใช้จ่ายได้เยอะเลย

ถัดมาที่เกษตรกรรุ่นใหม่ คุณสืบตระกูล วานิชศรี ผู้ผลิตทุเรียนเจ้าอร่อยชื่อดัง สวนไพฑูรย์ วานิชศรี เผยถึงประโยชน์ของการเข้าร่วมโครงการ Backhaul ว่า “ผลผลิตหลักๆ ของเราคือ ทุเรียน ซึ่งได้มาตรฐาน GAP มีคุณภาพ ปลอดภัย ไร้สารเคมี โดยปกติการขนส่งผลผลิตเราจะใช้รถ 6 ล้อ และรถ 4 ล้อ แต่เมื่อมีผลผลิตมากทำให้ไม่สามารถขนส่งสินค้าได้ทัน เพราะรถมีพื้นที่จำกัด การขนส่งข้ามจังหวัดหลายๆ รอบทำให้มีค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นไม่คุ้มทุนและเปลืองเวลา ซึ่งในสถานการณ์โควิด-19 นี้

เราก็ได้รับผลกระทบด้านการขนส่งมากขึ้น เพราะมีการจำกัดเวลา แต่โชคดีได้รับคำแนะนำและความช่วยเหลือจากท็อปส์ ที่รับซื้อสินค้าเราโดยตรงมาร่วม 2 ปี ทำให้ได้เข้าร่วมโครงการ Backhaul ที่ใช้รถบรรทุกขนาดใหญ่มาช่วยขนส่งผลผลิตจำนวนมากของเรา ไปส่งจำหน่ายยังท็อปส์ทุกสาขาทั่วประเทศ ทำให้เราสามารถส่งสินค้าได้ปริมาณมาก ลดต้นทุนค่าขนส่ง ประหยัดเวลาและแรงงาน ทำให้เรามีเวลาเพิ่มขึ้นเพื่อไปดูแลผลผลิต หรือพัฒนาบรรจุภัณฑ์สินค้าให้ดีขึ้น เพื่อให้ผู้บริโภคได้รับสินค้าที่ดี มีคุณภาพ ในราคาที่คุ้มค่า”

ด้าน คุณวิชาญ สายแก้ว เกษตรกรผู้ผลิตทุเรียนหมอนทอง สวนอุดมทรัพย์ กล่าวเสริมถึงการได้รับความสะดวกมากขึ้นหลังเข้าร่วมโครงการในช่วงโควิด-19 ว่า “ผลผลิตของผมคือ ทุเรียน ซึ่งจะปลูกเฉพาะทุเรียนหมอนทองเพียงอย่างเดียว โดยจะมีการส่งออกทุเรียนไปที่จีนเป็นส่วนใหญ่ รวมถึงขายภายในประเทศ ซึ่งผมก็จะมีวิธีดูแลผลผลิตให้ได้คุณภาพตามมาตรฐาน มีการจัดบันทึกวันดอกบาน วันเก็บเกี่ยว หลังจากเก็บเกี่ยวผลผลิตจากในสวนแล้ว ก็จะนำมารวบรวมไว้ที่วิสาหกิจชุมชนชาวสวนทุเรียนจันท์ 

เพื่อขนส่งทางรถยนต์ไปจำหน่าย พอเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ก็เริ่มมีความกังวลว่าจะส่งสินค้าไปขายได้อย่างไร แต่พอมีโครงการของท็อปส์เข้ามาช่วยเหลืออย่างถูกเวลาพอดี  ทำให้เราสะดวกสบายมากขึ้นในการจัดการเรื่องขนส่งผลผลิต เพราะปกติเราจะขับรถข้ามจังหวัดไปส่งเองในกรุงเทพฯ แต่ตอนนี้ก็ได้การบริหารจัดการรถขนส่งของท็อปส์มาช่วยอำนวยความสะดวก ทำให้แม้จะมีการจำกัดเวลาเดินทาง แต่เราก็ยังสามารถนำผลผลิตของเราส่งออกไปจำหน่ายได้ และทำให้ลดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้อีกทางหนึ่งด้วย” 

คุณเมทินีกล่าวเพิ่มเติมว่า เพื่อเป็นไปตามโยบายมาตรการสร้างอาชีพ เสริมรายได้ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของเกษตรกรและชุมชนอย่างยั่งยืนแม้สถานการณ์โควิด-19 จะคลี่คลายแล้วก็ตาม เซ็นทรัล ฟู้ด รีเทล  ยังได้วางแผนช่วยเหลือเกษตรกรในระยะยาว พัฒนาระบบทั้งด้าน supply chain และการตลาด ให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา การวางแผนการผลิตร่วมกัน รูปแบบการแพ็ค การตัดแต่งสินค้า การแปรรูปสินค้าเพื่อเพิ่มมูลค่า การพัฒนาสินค้าให้มีคุณภาพได้มาตรฐาน สร้างโอกาสการขายผ่านออนไลน์และออฟไลน์ พร้อมมีทีมงานจัดซื้อประจำภูมิภาคของท็อปส์ทำหน้าที่ประสานความช่วยเหลือให้ความรู้เกษตรกรซึ่งทำการเกษตรแบบ Traditional หรือคนรุ่นพ่อแม่ที่อาจยังไม่คุ้นเคยกับค้าปลีกสมัยใหม่ก็จะมีทีมงานเข้าไปประสานกับตัวกลางคือสหกรณ์การเกษตร วิสาหกิจชุมชนต่างๆ  สำหรับเกษตรกรคนรุ่นใหม่จะมีความเข้าใจและปรับตัวได้เร็ว โดยในปี 2020 บริษัทฯ ตั้งเป้าหมายจะมีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการฯ 10,000 ครัวเรือน ใน 42 จังหวัด

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

เดลต้า ประเทศไทย ชูธงนวัตกรรม ESG คว้าดัชนี FTSE4Good ตอกย้ำความเป็นเลิศ

เดลต้าได้รับคัดเลือกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของดัชนี FTSE4Good Index Series ซึ่งจัดทำโดย FTSE Russell ผู้ให้บริการด้านดัชนีและข้อมูลระดับโลก...

Responsive image

GMM Music เผย Digital Streaming ตัวเร่งสำคัญในการเติบโตของอุตสาหกรรมเพลงไทย

อุตสาหกรรมเพลงไทยยุคดิจิทัล
อุตสาหกรรมเพลงไทยกำลังเข้าสู่ยุคทองของการเติบโตแบบก้าวกระโดด จากพลังแห่งโลกดิจิทัลที่ทำให้ดนตรีไทยทะยานสู่ระดับโลก โดยปี 2023 ตลาดเพลงไทยขยายตัว 16% เที...

Responsive image

รู้จัก MoneyThunder แก้หนี้นอกระบบด้วย AI แอปสินเชื่อออนไลน์จาก ABACUS Digital

สำรวจปัญหาหนี้นอกระบบในไทยที่ส่งผลกระทบต่อคนกว่า 21 ล้านคน พร้อมทำความรู้จัก MoneyThunder แอปสินเชื่อ AI ที่ช่วยคนไทยเข้าถึงเงินทุนอย่างปลอดภัยและยั่งยืน...