Toshiba กับบทบาทด้านเทคโนโลยีขั้นสูงในการเชื่อมโยงการสื่อสารปลอดภัยระดับควอนตัม | Techsauce

Toshiba กับบทบาทด้านเทคโนโลยีขั้นสูงในการเชื่อมโยงการสื่อสารปลอดภัยระดับควอนตัม

ไม่ว่าจะเป็นการถ่ายโอนข้อมูลด้านจีโนมที่มีความละเอียดอ่อนสูง การถ่ายโอนข้อมูลระหว่างโครงสร้างพื้นฐานอุตสาหกรรมที่สำคัญ ไปจนถึงการแลกเปลี่ยนข้อมูลที่ระบุตัวตนได้ในภาคการเงินและการดูแลสุขภาพ การสื่อสารดิจิทัลล้วนเป็นดั่งเส้นเลือดหลักที่หล่อเลี้ยงพัฒนาการสำคัญใหม่ๆ ของมนุษยชาติ

แต่ถึงแม้จะมีการใช้วิธีเข้ารหัสขั้นสูงต่างๆ เพื่อช่วยให้การแลกเปลี่ยนข้อมูลได้อย่างปลอดภัยแล้ว อย่างไรก็ตาม โลกในปัจจุบันกำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านไปสู่ยุคควอนตัมคอมพิวเตอร์ ซึ่งทำงานได้รวดเร็วกว่าซูเปอร์คอมพิวเตอร์ที่มีอยู่ในปัจจุบันอย่างมหาศาลและสามารถถอดรหัสที่แน่นหนาที่สุดภายในกรอบเวลาที่เป็นไปได้จริง

ระหว่างที่รอให้ทรัพยากรคอมพิวเตอร์ควอนตัมแพร่หลายเข้าถึงได้นี้ อาชญากรไซเบอร์บางคนก็เริ่มขโมย (หรือ‘ดักฟัง’) และเก็บข้อมูลละเอียดอ่อนแล้วแม้ว่าตอนนี้จะยังถอดรหัสไม่ได้ โดยหวังว่าข้อมูลเหล่านี้จะเป็นประโยชน์ในอนาคตอันใกล้เมื่อสามารถไขรหัสข้อมูลที่ขโมยมาเก็บไว้ได้ โดยอาชญากรไซเบอร์ในจำนวนนี้อาจมีกลุ่มที่รัฐสนับสนุนอยู่ด้วย

ระบบ QKD ผ่านไฟเบอร์ สู่ระบบสื่อสารดาวเทียม (ในอนาคตอันใกล้)

ย้อนกลับไปในปี พ.ศ. 2546 Toshiba Corporation ซึ่งเป็นกลุ่มบริษัทข้ามชาติ ตระหนักดีว่าการประมวลผลควอนตัม มีศักยภาพในการสร้างนวัตกรรม แต่ก็อาจถูกผู้มีอำนาจนำไปใช้ในทางที่ผิดได้เช่นกัน จึงได้เริ่มบุกเบิกค้นคว้าวิจัยวิทยาการเข้ารหัสเชิงควอนตัมที่ห้องปฏิบัติการวิจัยเคมบริดจ์ (Cambridge Research Laboratory) และก้าวขึ้นเป็นบริษัทเทคโนโลยีรายแรกที่ประกาศว่าสามารถทำ Quantum Key Distribution (QKD) ผ่านสายไฟเบอร์ได้ระยะทางเกิน 100 กิโลเมตร ทั้งยังเป็นบริษัทรายแรกที่ทำความเร็วได้ในอัตราต่อเนื่องเกิน 1 Mbps ในปี พ.ศ. 2553 ก่อนจะเพิ่มเป็น 10 Mbps ในปีพ.ศ. 2560 (อ่านเรื่องนวัตกรรม QKD ของ Toshiba ได้ที่นี่)

แม้ QKD จะช่วยป้องกันเหล่าอาชญากรไซเบอร์ที่ทรงพลังด้านควอนตัมหรือผู้ไม่หวังดีที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐได้ แต่ปัจจุบันยังมีความท้าทายด้านการนำไปใช้อยู่ นั่นคือการนำไปใช้เข้ารหัสในระยะทางที่ไกลกว่าที่กล่าวไปข้างต้น โดยเฉพาะในพื้นที่ชนบท ซึ่งคำตอบของความท้าทายนี้ก็คือเทคโนโลยีการสื่อสารด้วยดาวเทียม 

ด้วยเหตุนี้ SpeQtral ซึ่งเป็นบริษัทสื่อสารควอนตัมในสิงคโปร์ จึงได้นำโซลูชัน QKD ภาคพื้นดินของ Toshiba ที่ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าใช้ได้จริงไปใช้เพื่อส่งข้อมูลเข้ารหัสเชิงควอนตัมจากสิงคโปร์ไปยังยุโรปผ่านดาวเทียม SpeQtral-1 ที่จะเริ่มใช้งานในปีพ.ศ. 2567

เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565 SpeQtral ได้จัดงานเปิดตัว Quantum Networks Experience Center (QNEX) เพื่อแสดงผลงานความสำเร็จร่วมกับ Toshiba ซึ่งเป็นพันธมิตรกันมายาวนาน ศูนย์ประสบการณ์แห่งนี้จัดแสดงนิทรรศการมัลติมีเดียที่ช่วยให้บุคคลทั่วไปเข้าใจหลักการทำงานของการประมวลผลควอนตัมและ QKD ทั้งยังจัดแสดงระบบ QKD ของจริงที่เชื่อมเซิร์ฟเวอร์ข้อมูลปลอดภัย 2 เซิร์ฟเวอร์เข้าด้วยกันเพื่อจำลองผู้ส่งและผู้รับปลายทางที่อยู่ในสถานที่ห่างไกลกันในโลก นอกจากนั้น นิทรรศการที่จัดแสดงในงาน QNEX ยังช่วยอธิบายขั้นตอนอันซับซ้อนละเอียดอ่อนในการใช้เทคโนโลยีล้ำสมัยมาย่อส่วนอุปกรณ์เข้ารหัสเชิงควอนตัมขนาดเทอะทะให้เล็กพอที่จะติดตั้งในดาวเทียมสื่อสารได้

สารจากงานเปิดตัว

ในพิธีเปิดตัวศูนย์ QNEX ที่ผ่านมา นายชุนสุเกะ โอคาดะ ประธานและประธานกรรมการบริหาร ของ Toshiba Digital Solutions Corporation ได้ประกาศว่า “QNEX เป็นโครงการสำคัญที่มุ่งสร้างความตระหนักและความเข้าใจให้แก่รัฐบาลและธุรกิจในภูมิภาคว่าโซลูชันการเข้ารหัสเชิงควอนตัมช่วยปกป้องข้อมูลละเอียดอ่อนและโครงสร้างพื้นฐานที่อาจมีจุดอ่อนจากภัยทั้งในปัจจุบันและอนาคตได้อย่างไร เราดีใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการที่สำคัญยิ่งนี้และพร้อมทำงานร่วมกับ SpeQtral ต่อไปเพื่อขยายภาคีเครือข่าย QNEX ในสิงคโปร์และภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้”

นายลัม ชุน หยาง ประธานกรรมการบริหาร ของ SpeQtral กล่าวว่า “การสื่อสารปลอดภัยเป็นพื้นฐานในการสร้าง ‘โครงข่ายแห่งความไว้ใจ’ ระหว่างผู้ซื้อ ผู้ขาย และคนกลาง ในเศรษฐกิจดิจิทัลสมัยใหม่ เมื่อโครงข่ายนี้ตกเป็นเป้าเนื่องจากความก้าวหน้าด้านการประมวลผลทั้งแบบดั้งเดิมและแบบควอนตัม องค์กรต่างๆ จะต้องเปลี่ยนแปลงวิธีการปกป้องข้อมูลละเอียดอ่อนของตนให้ปลอดภัยเสียใหม่อย่างสิ้นเชิง ภารกิจของ SpeQtral คือการใช้ความก้าวหน้าด้านการเข้ารหัสควอนตัมและเทคโนโลยีดาวเทียมเพื่อสร้างเครือข่ายสื่อสารปลอดภัยระดับควอนตัมเครือข่ายแรกในโลก ศูนย์ QNEX เป็นเครื่องสะท้อนความมุ่งมั่นของทั้ง Toshiba และ SpeQtral ในการสร้างความตระหนักและส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีดังกล่าวทั้งในสิงคโปร์และในระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้”

ส่วนในระดับทางการทูต ฯพณฯ ฮิโรชิ อิชิคาวะ เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศสิงคโปร์ กล่าวว่า “ญี่ปุ่นได้เริ่มใช้นโยบายเทคโนโลยีควอนตัมระดับชาติฉบับใหม่เพื่อสร้างโอกาสในการเติบโตและเปลี่ยนแปลงทางสังคม รวมถึงเพื่อแก้ปัญหาสังคมต่างๆ ทั้งนี้ สิงคโปร์เป็นหนึ่งในศูนย์กลางนวัตกรรมของโลก เราภูมิใจอย่างยิ่งที่ SpeQtral และ Toshiba จะผนึกกำลังด้านเทคโนโลยีของสิงคโปร์และญี่ปุ่นเข้าด้วยกันเพื่อสร้างเครือข่ายการสื่อสารที่ปลอดภัยระดับควอนตัมเพื่อรับมือกับภัยคุกคามด้านความปลอดภัย รัฐบาลญี่ปุ่นจะให้การสนับสนุนที่จำเป็นอย่างต่อเนื่องเพื่อกระชับความสัมพันธ์ญี่ปุ่น-สิงคโปร์ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น”

เส้นทางสู่ QKD ภาคพื้นดิน (และผ่านระบบดาวเทียม)

Toshiba Long Distance QKD Terminal มีระยะไกลถึง 120 กม. และเพิ่งได้รับ 2 รางวัลจาก DESIGN AWARD 2022

เนื่องจาก Toshiba ได้ลงทุนด้านงานวิจัยควอนตัมและการเข้ารหัสควอนตัมเป็นมูลค่าหลายพันล้านเหรียญก่อนบริษัทอื่นๆ การลงทุนลงแรงตลอด 30 ปีที่ผ่านมาจึงทำให้ Toshiba สามารถช่วยเหลือสถาบันวิจัยแห่งชาติและสตาร์ทอัพเอกชนต่างๆ ให้ก้าวผ่านขั้น Proof-of-Concept หรือการทดสอบความเป็นไปได้ และไปสู่การนำไปใช้จริงทั้งในสิงคโปร์และที่อื่นๆ  

ทั้งนี้ ภาครัฐและภาคการเงินน่าจะเป็นภาคแรกๆ ที่นำโซลูชัน QKD ไปใช้เพื่อสร้างเครือข่ายการสื่อสารที่ปลอดภัยระดับควอนตัม ดังที่เห็นได้จากที่รัฐบาลสิงคโปร์ได้แสดงความสนใจในการสนับสนุนเทคโนโลยีควอนตัมและการสร้างอุตสาหกรรมควอนตัมมาเป็นเวลานานแล้ว นอกจากนั้น สิงคโปร์ยังเป็นศูนย์การเงินโลกและมีศักยภาพตลาดในด้าน QKD สูง ทั้งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และทั่วโลก

แขกผู้มีเกียรติในงาน อาทิ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีประสานงานด้านนโยบายเศรษฐกิจ ของสิงคโปร์ นายเฮ็ง สวี เคต ผู้เป็นประธานมูลนิธิวิจัยแห่งชาติ  กล่าวว่า “ตลอดช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา สิงคโปร์ได้ลงทุนและเสริมสร้างขีดความสามารถด้านเทคโนโลยีควอนตัม ในอนาคตเมื่อมีการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลแพร่หลายยิ่งขึ้น ความสามารถในการปกป้องและแลกเปลี่ยนข้อมูลทั่วโลกได้อย่างปลอดภัยจะยิ่งทวีความสำคัญ เราจะยังคงเดินหน้าลงทุนในเครือข่ายปลอดภัยระดับควอนตัมแห่งชาติ ซึ่งเป็นโครงการวิจัยระดับชาติที่มุ่งพัฒนาการสื่อสารปลอดภัยระดับควอนตัมและการนำไปใช้ อย่างต่อเนื่อง ในขณะเดียวกัน เรากำลังสร้างความร่วมมือทั้งในระดับประเทศและระหว่างประเทศ ความร่วมมือล่าสุดระหว่าง SpeQtral และ Toshiba จะเป็นการผสานความเชี่ยวชาญของทั้งสองฝ่ายเพื่อพัฒนาความสามารถในการรับมือและฟื้นตัวจากภัยต่างๆ ของเครือข่ายสื่อสารระดับโลกและภูมิภาค”การสาธิต QKD ของ Toshiba ให้แก่แขกผู้มาร่วมงาน QNEX

ด้วยนวัตกรรมเทคโนโลยี เช่น QKD และความมุ่งมั่นต่อโลกสีเขียวที่ดีกว่าเดิม Toshiba จะเดินหน้าพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานและข้อมูลที่มั่นคงปลอดภัย อย่างมีเสถียรภาพมากขึ้นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 

อ่านเพิ่มเติมเรื่องการ ขับเคลื่อนความยั่งยืน และ พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล ของโตชิบาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บทความต้นฉบับเผยแพร่ครั้งแรกใน DigiconAsia

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

foodpanda เดินหน้ารุกตลาดขนส่ง C2C ครองใจผู้ใช้ เผยสถิติ pandago รับ - ส่งพัสดุด่วน ทะลุ 1 ล้านกิโลเมตร

นอกเหนือจากการเป็นแพลตฟอร์มที่มีบริการส่งอาหารแล้ว foodpanda ยังมีบริการ pandago ทั้งบริการส่งของกินของใช้จากซูเปอร์มาร์เก็ตชั้นนำ ร้านค้าขนาดกลาง และร้านค้าขนาดเล็กทั่วประเทศด้วย...

Responsive image

SCG ส่งเสริมการใช้และพัฒนาทักษะ ด้วย Generative AI เพื่อสร้างสรรค์ไอเดียใหม่ ๆ ผ่านกิจกรรม Prompt-A-Thon

การเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมองค์กร (Culture Transformation) เป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจให้สามารถอยู่รอดและเติบโตได้อย่างยั่งยืน ซึ่งที่ SCG ได้ให้ความสำคัญเป็นพิเศษในการปรับตัวเข...

Responsive image

รู้จัก “Talent Identification” เทคโนโลยี AI ใหม่จาก Banpu ตัวช่วยที่ทำให้ HR บริหารคนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

“Talent Identification” เป็นนวัตกรรม HR สุดล้ำจาก Banpu NEXT ที่พัฒนาขึ้นด้วยเทคโนโลยี Narrow AI โดยทีม AI ของบ้านปู เพื่อช่วยประเมินพนักงานอย่างแม่นยำ นำข้อมูลศักยภาพและผลงานของพน...