สืบเนื่องจากปัญหาเหตุการณ์ความรุนแรงทางเพศต่อสตรีและเด็กผู้หญิง (gender-based violence) ทั่วโลกที่เพิ่มสูงขึ้นในช่วงมาตรการล็อคดาวน์เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทวิตเตอร์จึงเปิดตัวฟีเจอร์บริการแจ้งเตือนรองรับ 7 ภาษารวมถึงภาษาไทย โดยเมื่อผู้ใช้ทวิตเตอร์ค้นหาคีย์เวิร์ดภาษาไทยที่เกี่ยวข้องกับความรุนแรงทางเพศ จะได้รับการแจ้งเตือนอัตโนมัติภาษาไทยเป็นเบอร์สายด่วนขององค์กรที่ช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงดังกล่าวในประเทศไทยและสามารถโทรติดต่อเพื่อขอความช่วยเหลือได้ทันที
ดร.รัชดา ไชยคุปต์ นักวิจัยอาวุโส/อาจารย์สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้แทนไทยด้านสิทธิสตรีในคณะกรรมาธิการอาเซียนว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิสตรีและสิทธิเด็ก เผยว่า “ในช่วงมาตรการล็อคดาวน์เพื่อป้องกันและควบคุมการระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้เกิดความรุนแรงในครอบครัวเพิ่มสูงขึ้นถึง 66% ในประเทศไทย ซึ่งประเด็นดังกล่าวยังคงเกิดขึ้นมาโดยตลอด และการเพิ่มขึ้นนี้ทำให้น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง โดยการที่ทวิตเตอร์ได้ร่วมทำงานกับหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเปิดให้บริการแจ้งเตือน #ThereIsHelp นี้ เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะช่วยให้ผู้ได้รับผลกระทบได้รับความช่วยเหลืออย่างทันท่วงทีและลดปัญหาความรุนแรงในครอบครัวทั่วประเทศไทย”
แคทเธอรีน รีน ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายนโยบายสาธารณะ และการให้เพื่อสังคม ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกของทวิตเตอร์ กล่าวว่า “ทวิตเตอร์มีความยินดีในการเปิดตัวฟีเจอร์พิเศษนี้ จากความมุ่งมั่นของเราในการแก้ไขปัญหาความรุนแรงต่อสตรีและเด็กผู้หญิง และรู้สึกเป็นเกียรติเป็นอย่างยิ่งที่ได้ร่วมงานกับพันธมิตรสำคัญต่างๆ ทั่วทั้งภูมิภาค โดยทวิตเตอร์ยังคงมุ่งมั่นในการสนับสนุนการทำงานของพันธมิตรต่างๆ เพื่อเข้าถึงและช่วยเหลือผู้คนและชุมชนต่างๆ ทั้งในช่วงของการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และสถานการณ์อื่นๆ ต่อไป”
ทวิตเตอร์ จึงได้ต่อยอดฟีเจอร์ #ThereIsHelp บริการค้นหาทันทีที่ได้นำมาใช้ในการช่วยป้องกันการฆ่าตัวตาย, การให้ความรู้เรื่องวัคซีน, การต่อต้านการแสวงหาประโยชน์ทางเพศจากเด็ก และอัปเดตข้อมูลจากแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้ในช่วงสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ในก่อนหน้านี้ ซึ่งทวิตเตอร์นับเป็นบริษัททางด้านเทคโนโลยีแห่งแรกที่เปิดตัวฟีเจอร์ในการช่วยค้นหาความช่วยเหลืออย่างทันทีในเรื่องความรุนแรงทางเพศต่อเด็กและสตรี เพื่อช่วยแจ้งเบอร์โทรติดต่อสายด่วนและรองรับการค้นหาแต่ละภาษาท้องถิ่นในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก รวมถึงภาษาไทย
ทวิตเตอร์ตระหนักดีว่าการทำงานร่วมกับทั้งภาครัฐและภาคเอกชนรวมถึงองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรคือหัวใจสำคัญในการต่อสู้กับปัญหาความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็กผู้หญิงที่มีความซับซ้อนและยังเชื่อว่าการร่วมเป็นพันธมิตรผ่านบริการแจ้งเตือน #ThereIsHelp จะช่วยองค์กรในแต่ละประเทศสามารถเข้าถึงผู้ได้รับผลกระทบและได้รับความช่วยเหลือได้ทันที
สำหรับในประเทศไทย ทวิตเตอร์ได้ร่วมเป็นพันธมิตรกับองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่เชื่อถือได้ รวมถึงองค์กรภาครัฐที่สำคัญในบริการการแจ้งเตือน #ThereIsHelp ดังต่อไปนี้
• มูลนิธิปวีณาหงสกุลเพื่อเด็กและสตรี เป็นองค์กรสาธารณประโยชน์ที่มีจุดประสงค์หลักในการช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนของเด็กรวมทั้งผู้หญิงที่ถูกข่มขืนหรือถูกบังคับให้ค้าประเวณีทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ
• มูลนิธิเพื่อนหญิง องค์กรสาธารณประโยชน์ที่ให้ข้อมูล ให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนทางการเงินแบบฉุกเฉินแก่ผู้หญิงที่ตกเป็นเหยื่อจากการแสวงหาผลประโยชน์ทางเพศ ถูกกระทำรุนแรง และการค้ามนุษย์
• ศูนย์ช่วยเหลือสังคม สายด่วน 1300 เป็นศูนย์ให้บริการที่ดำเนินงานภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ที่ให้บริการความช่วยเหลือตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อรับรายงานเกี่ยวกับปัญหาสังคมรวมถึงความรุนแรงทางเพศ การค้ามนุษย์ การทารุณกรรมเด็ก การถูกทอดทิ้ง และการถูกแสวงหาผลประโยชน์ต่างๆ
อันโตนิอู กูแตเรซ เลขาธิการสหประชาชาติ ได้ออกมาเรียกร้องให้เกิดการตระหนักถึงเรื่องดังกล่าวนี้อีกครั้ง โดยจากการประกาศล็อกดาวน์ป้องกันและลดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทั่วโลก ได้ก่อให้เกิด “กระแสความหวาดกลัวที่พุ่งสูงขึ้น” ต่อความรุนแรงทางเพศต่อผู้หญิงและเด็กหญิง ที่ยิ่งทำให้ความไม่เท่าเทียมทางเพศทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้นในการที่ผู้หญิงต้องรับภาระดูแลบุคคลอื่นๆ ที่มีความเสี่ยงที่บ้าน เช่น เด็กเล็ก หรือ สมาชิกผู้สูงอายุในครอบครัวที่กำลังเจ็บป่วย
จากรายงานล่าสุดของ UN Women พบว่าในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมาสตรีและและเด็กทั่วโลกที่มีอายุระหว่าง 15-49 ปี ต้องเผชิญกับปัญหาความรุนแรงทางเพศ ความรุนแรงทางกายภาพจากผู้ที่อยู่ใกล้ชิด โดยข้อมูลใหม่ที่เกิดขึ้นนี้แสดงว่านับตั้งแต่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ความรุนแรงต่อสตรีและเด็กผู้หญิง โดยเฉพาะอย่างยิ่งความรุนแรงทางเพศนั้นทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้นทั่วโลก
เมลิสสา อัลวาราโด ผู้จัดการประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก UN Women Asia Pacific (@unwomenasia)
เปิดเผยว่า “ความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็กผู้หญิงเกิดขึ้นทั่วทั้งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก แต่ในขณะเดียวกันกลับไม่มีรายงานหรือมีการรายงานน้อยกว่าความเป็นจริง โดยทั่วโลก ผู้หญิง 1 ใน 3 คนเคยมีประสบการณ์การได้รับความรุนแรงทางเพศอย่างน้อยหนึ่งครั้งในชีวิต แต่ความเป็นจริงแล้ว รายงานว่าในบางประเทศ ผู้หญิง 2 คนใน 3 คนเคยตกเป็นเหยื่อความรุนแรงทางเพศ อีกด้วย โดยผู้หญิงไม่ถึง 4 คนจาก 10 คน ที่ประสบกับความรุนแรงดังกล่าวแล้วมีการรายงานถึงอาชญากรรมเหล่านี้หรือมีการขอความช่วยเหลือ โดยในช่วงเวลาที่มีการล็อกดาวน์และมีคำสั่งให้อยู่บ้าน หลายๆ ประเทศทั่วโลกได้ยืดระยะเวลาออกไปเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของไวรัสโควิด-19 ทำให้ผู้หญิงที่อาศัยอยู่กับคู่ครองที่มีความรุนแรงพบว่าตัวเองถูกโดดเดี่ยวออกจากผู้คนและหนทางต่างๆ ที่จะสามารถให้ความช่วยเหลือพวกเธอได้”
ด้านดร.สนองวิชญ์ ภูวันทมาตย์ ผู้อำนวยการศูนย์ช่วยเหลือสังคม สายด่วน 1300 เผยว่า "ศูนย์ช่วยเหลือสังคม สายด่วน 1300 มีความยินดีที่ได้ทำงานร่วมกับทวิตเตอร์ ในการเปิดให้บริการ #ThereIsHelp ระบบการแจ้งเตือนบนทวิตเตอร์ที่จะช่วยแจ้งเบอร์โทรสายด่วนเพื่อสตรีและเด็กที่ต้องการความช่วยเหลือ ซึ่งนับเป็นเรื่องสำคัญที่ผู้ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงทางเพศได้รับความช่วยเหลือเมื่อยามต้องการ”
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด