ครั้งแรกของไทย Unilever จับมือ SCG พัฒนาขวดบรรจุภัณฑ์จากพลาสติกใช้แล้วจากครัวเรือนหมุนเวียนมาผลิตใหม่ | Techsauce

ครั้งแรกของไทย Unilever จับมือ SCG พัฒนาขวดบรรจุภัณฑ์จากพลาสติกใช้แล้วจากครัวเรือนหมุนเวียนมาผลิตใหม่

Unilever-SCG ประกาศความร่วมมือในการพัฒนาและเปลี่ยนขวดบรรจุภัณฑ์ของยูนิลีเวอร์จากพลาสติกชนิด HDPE (ขวดแกลลอน ขวดน้ำยาซักผ้า น้ำยาปรับผ้านุ่ม ขวดแชมพูและขวดครีมนวด) เป็นพลาสติก HDPE รีไซเคิล (rHDPE) ถือเป็นครั้งแรกในประเทศไทยที่นำพลาสติกใช้แล้วจากครัวเรือนหมุนเวียนกลับมาผลิตเป็นขวดบรรจุภัณฑ์ใหม่ โดยใช้นวัตกรรมเม็ดพลาสติกรีไซเคิลคุณภาพสูง (High Quality Post-Consumer Recycled Resin – PCR) ภายใต้แบรนด์ เอสซีจี กรีน พอลิเมอร์ (SCG Green PolymerTM) เพื่อตอบโจทย์เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) และผู้บริโภคที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม เชื่อมั่นความร่วมมือและการแลกเปลี่ยนวิสัยทัศน์ รวมทั้งการดำเนินงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม จะสามารถนำประเทศไทยก้าวสู่เศรษฐกิจหมุนเวียนอย่างเป็นรูปธรรม (Circular Economy in Actions) พร้อมสร้างมิติใหม่ให้กับอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ รวมทั้งส่งเสริมให้ผู้บริโภค เกิดการคัดแยกพลาสติกใช้แล้วตั้งแต่ต้นทาง เพื่อหมุนเวียนกลับมาเป็นทรัพยากรใหม่ด้วยเทคโนโลยีรีไซเคิลคุณภาพสูง ช่วยสร้างความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อแก้วิกฤติภาวะโลกร้อน

SCG and Unilever

จากปริมาณขยะทั้งหมดในประเทศไทย สัดส่วนของพลาสติกใช้แล้วที่นำมารีไซเคิลมีเพียงประมาณ 5 แสนตัน จากปริมาณทั้งหมดกว่า 2 ล้านตัน และส่วนใหญ่ยังจัดการไม่ถูกวิธี ประกอบกับสถานการณ์โควิด 19  ส่งผลให้มีการใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกเพิ่มขึ้นจำนวนมาก การจัดการขยะตั้งแต่ต้นทางจึงเป็นหัวใจสำคัญที่จะทำให้วัสดุได้หมุนเวียนกลับคืนมาในระบบเศรษฐกิจ และไม่หลุดรอดไปทำลายสิ่งแวดล้อม

ความร่วมมือระหว่างยูนิลีเวอร์และเอสซีจีครั้งนี้มีเป้าหมายสำคัญคือ ลดการใช้เม็ดพลาสติก (Virgin Resin) และเพิ่มปริมาณการใช้เม็ดพลาสติกรีไซเคิลคุณภาพสูง (High Quality Post-Consumer Recycled Resin – PCR) ในบรรจุภัณฑ์ของยูนิลีเวอร์ รวมถึงการตรวจสอบให้แน่ใจว่าบรรจุภัณฑ์นั้น ๆ สามารถนำมารีไซเคิลได้ เพื่อนำกลับมาผลิตเป็นบรรจุภัณฑ์ใหม่ เป็นการสร้างอุปสงค์ให้บรรจุภัณฑ์พลาสติกใช้แล้วชนิด HDPE เพื่อให้เกิดการคัดแยกตั้งแต่ต้นทาง และเก็บกลับเข้าสู่ระบบ

MOU SCG and Unilever

นายโรเบิร์ต แคนเดลิโน ประธานกรรมการบริหารกลุ่ม บริษัทยูนิลีเวอร์ ประเทศไทย กล่าวว่า “ตลอดระยะเวลา 88 ปีที่ยูนิลีเวอร์ดูแลคนไทย ด้วยสินค้าคุณภาพในทุกครัวเรือน ยูนิลีเวอร์มีเป้าหมายที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืนต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมในระดับมหภาค รวมถึงการเปลี่ยนแปลงระบบจัดเก็บพลาสติกใช้แล้วตั้งแต่ต้นทาง เพื่อลดปัญหาขยะในประเทศไทยและสร้างระบบการจัดการที่จะเปลี่ยนพลาสติก

ใช้แล้วเป็นวัตถุดิบหมุนเวียนได้อย่างต่อเนื่อง โดยปี 2561 ยูนิลีเวอร์ประกาศความมุ่งมั่นด้านพลาสติก 3 ด้าน : (1) ลดการใช้เม็ดพลาสติกใหม่ลงครึ่งหนึ่ง หรือ 100,000 ตันทั่วโลก (2) บรรจุภัณฑ์ของเราจะต้องใช้ซ้ำได้ รีไซเคิลได้ หรือ ย่อยสลายได้ (3) เรียกเก็บและแปรรูปบรรจุภัณฑ์ของเราให้ได้มากกว่าที่เราขาย ทั้งหมดภายในปี 2568 โดยยูนิลีเวอร์ได้ดำเนินการเพื่อปฏิวัติบรรจุภัณฑ์พลาสติกมาอย่างต่อเนื่อง เริ่มจากขวดซันไลต์ที่เปลี่ยนเป็นขวด PET รีไซเคิล และความร่วมมือระหว่างยูนิลีเวอร์และเอสซีจีในครั้งนี้ เป็นการนำขวดบรรจุภัณฑ์พลาสติก HDPE ที่ใช้งานแล้ว มาเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล ผลิตเป็นเม็ดพลาสติกรีไซเคิลคุณภาพสูง (High Quality PCR) เป็นครั้งแรกในประเทศไทย โดยจะนำร่องจากบรรจุภัณฑ์ของสินค้าแบรนด์ ซันไลต์ (ขวดแกลลอน) คอมฟอร์ท โดฟ ซันซิล เคลียร์ เทรเซมเม่ และอื่น ๆ ต่อไป ยูนิลีเวอร์จะเปลี่ยนการใช้เม็ดพลาสติกบริสุทธิ์ไปใช้เม็ดพลาสติกรีไซเคิลคุณภาพสูง (High Quality PCR) ในการผลิตบรรจุภัณฑ์ประเภทขวด rHDPE (Recycled HDPE) สำหรับผลิตภัณฑ์ของยูนิลีเวอร์อย่างสมบูรณ์ เพื่อตอบสนองหัวใจหลักของการดำเนินงานด้านความยั่งยืนในประเทศไทย นั่นคือการพัฒนาสภาพแวดล้อมและความเป็นอยู่ที่ดีของโลกและผู้คน เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทยทั้ง 68 ล้านคน และเพื่อขอบคุณที่เปิดรับเราเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในบ้านของคุณมาตลอดระยะเวลา 88 ปี ด้วยความผูกพันอันยาวนานนี้ เราสัญญาว่าจะเรารับผิดชอบที่จะดูแลคนไทยและประเทศไทยซึ่งเป็นเสมือนบ้านของเราเช่นกัน”

นายธนวงษ์ อารีรัชชกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี เผยว่า “ธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี ดำเนินธุรกิจภายใต้กลยุทธ์ “ธุรกิจปิโตรเคมีเพื่อความยั่งยืน” ตามแนวทาง ESG (Environmental, Social and Governance) และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) โดยมีโรดแมปขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน 4 ด้าน ครอบคลุมตลอดทั้ง Supply Chain ได้แก่ (1) การพัฒนาและออกแบบสูตรการผลิตเม็ดพลาสติกและโซลูชันให้รีไซเคิลได้ง่าย ใช้ปริมาณพลาสติกน้อยลง (2) การนำพลาสติกใช้แล้วมาผลิตเป็นเม็ดพลาสติกรีไซเคิลคุณภาพสูง หรือ PCR (Post-Consumer Recycled Resin) (3) การนำพลาสติกใช้แล้วมาผลิตเป็นวัตถุดิบตั้งต้นสำหรับธุรกิจปิโตรเคมี (Advanced Recycling Process) และ (4) การพัฒนานวัตกรรมพลาสติกชีวภาพ (Bioplastics) ทั้งนี้ เพื่อสร้างความยั่งยืนทางธุรกิจควบคู่กับการดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อม”

“ธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจีได้พัฒนาสูตรการผลิตเม็ดพลาสติกรีไซเคิลคุณภาพสูง ชนิด HDPE ภายใต้แบรนด์ เอสซีจี กรีน พอลิเมอร์ (SCG Green PolymerTM)  เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของเจ้าของแบรนด์สินค้า และผู้บริโภคที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม ซึ่งความร่วมมือระหว่างยูนิลีเวอร์และเอสซีจีในครั้งนี้ ทำให้เกิดมิติใหม่ในการผลิตบรรจุภัณฑ์ของกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคและสินค้าที่ใช้ภายในบ้าน ถือเป็นครั้งแรกในประเทศไทยที่ได้นำพลาสติกใช้แล้วจากครัวเรือนกลับมาผลิตเป็นเม็ดพลาสติกรีไซเคิลคุณภาพสูง เพื่อใช้ผลิตขวด HDPE รีไซเคิลสำหรับบรรจุภัณฑ์ของยูนิลีเวอร์  โดยสามารถใช้ส่วนผสมของเม็ดพลาสติกรีไซเคิลคุณภาพสูง (High Quality PCR) ในปริมาณที่เพิ่มขึ้น และคงประสิทธิภาพของบรรจุภัณฑ์ไว้เช่นเดิม” 

“ความร่วมมือกับยูนิลีเวอร์ซึ่งเป็นผู้ผลิตและเจ้าของแบรนด์สินค้าอุปโภคบริโภครายใหญ่ของโลก จะช่วยผลักดันเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียนในประเทศไทยให้เป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น ช่วยลดการใช้ทรัพยากร และเพิ่มอัตราการรีไซเคิลพลาสติกในประเทศไทย ช่วยลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม รวมทั้งลดวิกฤติภาวะโลกร้อนได้อีกทางหนึ่ง”

นอกจากนี้ ยูนิลีเวอร์ ยังร่วมมือกับเอสซีจี ภายใต้โครงการ “แยกดี มีแต่ได้” นำร่องที่ธนาคารขยะเทศบาลเมืองใหม่บางบัวทอง เชิญชวนสมาชิกแยกบรรจุภัณฑ์พลาสติกใช้แล้วชนิด HDPE ขวดใสขุ่น และขาวทึบ เช่น ขวดนม หรือขวดน้ำยาล้างจาน ซึ่งจะนำไปผลิตเม็ดพลาสติกรีไซเคิลคุณภาพสูงสำหรับขวดบรรจุภัณฑ์ใหม่ต่อไป สำหรับบรรจุภัณฑ์หลายชั้น (Multilayer) เช่น ถุงน้ำยาปรับผ้านุ่มหรือ ถุงแบบรีฟิล จะนำไปเข้ากระบวนการ Advanced Recycling Process เทคโนโลยีรีไซเคิลพลาสติกของเอสซีจี เพื่อเปลี่ยนพลาสติกใช้แล้วเป็นวัตถุดิบตั้งต้น หรือ Recycled Feedstock สามารถนำกลับมาผลิตเม็ดพลาสติกใหม่ได้อีกตามหลักเศษฐกิจหมุนเวียน โดยทุก 1 กิโลกรัม แลกรับผลิตภัณฑ์ยูนิลีเวอร์ 1 ชิ้น ตั้งเป้า 60 วัน ในการรวบรวมบรรจุภัณฑ์พลาสติกใช้แล้วให้ได้จำนวน 6,000 กิโลกรัม โดยจะเปิดตัวโครงการอย่างเป็นทางการในวันที่ 5 มิถุนายน 2564 ซึ่งตรงกับวันสิ่งแวดล้อมโลก เป็นการสร้างแรงจูงใจให้คนในชุมชนจัดการขยะอย่างถูกวิธี รู้จักการคัดแยกประเภทพลาสติก สร้างระบบการจัดการขยะรีไซเคิลที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ทำให้เห็นคุณค่าของพลาสติกใช้แล้ว ว่าสามารถนำไปหมุนเวียนสร้างประโยชน์ใหม่ได้อย่างยั่งยืน 

ผู้สนใจสามารถติดตามข่าวสารอื่น ๆ ของเอสซีจีได้ที่ https://www.scg.com/sustainability/circular-economy/ / https://scgnewschannel.com / Facebook: scgnewschannel / Twitter: @scgnewschannel หรือ Line@: @scgnewschannel


ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

Siriraj x MIT Hacking Medicine เปิดทางสู่นวัตกรรมขับเคลื่อนการดูแลผู้สูงอายุในประเทศกำลังพัฒนา

คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ MIT ประสบความสำเร็จในการจัดประชุมวิชาการ Siriraj x MIT Hacking Medicine ภายใต้หัวข้อ “Scaling Aged Care in Developing Countries”...

Responsive image

ttb แบงก์ไทยรายแรก ปฏิวัติบริการ Mobile Banking ด้วย Generative AI

ทีเอ็มบีธนชาต หรือ ttb เตรียมสร้างความฮือฮา ด้วยการเปิดตัว “Yindee” ผู้ช่วยบนมือถือเวอร์ชั่นใหม่ ที่มาพร้อมเทคโนโลยี Generative AI ซึ่งจะช่วยตอบคำถามลูกค้าได้อย่างรวดเร็ว แม่นยำ...

Responsive image

ลอรีอัลเปิดเวที Big Bang Beauty Tech Innovation มุ่งผลักดันนวัตกรรมความงามแห่งอนาคต

ลอรีอัล กรุ๊ป ได้ประกาศรายชื่อสตาร์ทอัพผู้ชนะเลิศจากเวที Big Bang Beauty Tech Innovation การแข่งขันเฟ้นหานวัตกรรมเปลี่ยนโลกความงามที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียใต้แปซิฟิกใต้ ตะวั...