ภาคอุตสาหกรรมฯ ผนึกภาครัฐ เปิดมหกรรมดิจิทัล คอนเทนต์ “Bangkok International Digital Content Festival 2020” หรือ BIDC 2020 ครั้งที่ 7 ภายใต้แนวคิด VR BIDC ครั้งสำคัญกับการจัดงานในรูปแบบออนไลน์ ยกทัพนิทรรศการในสู่โลกออนไลน์
อวดโฉมศักยภาพอุตสาหกรรมดิจิทัล คอนเทนต์ไทย ร่วมด้วยการจัดสัมมนาออนไลน์อัดแน่นด้วยวิทยากรระดับโลกและไทย พร้อมการจับคู่เจรจาการค้าระหว่างผู้ประกอบการไทย-เทศกว่า 96 บรืษัท งาน BIDC 2020 นับเป็นการผนึกพลังความร่วมมือระหว่างภาคอุตสาหกรรมและภาครัฐ เพื่อร่วมขับเคลื่อนอุตสาหกรรมดิจิทัล คอนเทนต์ไทยให้เติบโตอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน
คุณกฤษณ์ ณ ลำเลียง นายกสมาคมดิจิทัลคอนเทนต์ไทย และผู้แทนภาคอุตสาหกรรม กล่าวว่า สำหรับการจัดงาน Bangkok International Digital Content Festival หรือ BIDC เป็นงานมหกรรมของอุตสาหกรรมดิจิทัล คอนเทนต์ ที่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐและความร่วมมือของภาคเอกชน ประกอบด้วย กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ สำนักงานส่งเสริมการจัดการประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ (TCEB) สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลหรือ (DEPA) และภาคเอกชนทั้ง 5 สมาคมของอุตสาหกรรมดิจิทัล คอนเทนต์ไทย ประกอบด้วย สมาคมดิจิทัลคอนเทนต์ไทย (DCAT) สมาคมผู้ประกอบการแอนิเมชั่นและคอมพิวเตอร์กราฟิกส์ไทย (TACGA) สมาคมอีเลิร์นนิงแห่งประเทศไทย (e-LAT) สมาคมธุรกิจบางกอกเอซีเอ็มซิกกราฟ (BASA) และสมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์เกมไทย (TGA) ซึ่งที่จัดต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 7 เพื่อส่งเสริมและสนับสนุน รวมถึงการสร้างเครือข่ายให้อุตสาหกรรมดิจิทัล คอนเทนต์ไทยสู่เวทีระดับสากล นับเป็นการผนึกความร่วมมือระหว่างภาคอุตสาหกรรมฯและภาครัฐ ที่ได้ร่วมกันผลักดัน ส่งเสริม และบูรณาการ จนโครงการนี้สำเร็จอย่างต่อเนื่อง โดยงานในปีนี้จัดขึ้นระหว่างวันที่ 18 - 23 สิงหาคม 2563 ทั้งนี้ สอดคล้องกับนโยบายที่รัฐบาลต้องการผลักดันให้เกิดเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ เพื่อกระตุ้นและสร้างเศรษฐกิจประเทศให้แข็งแกร่ง
“อุตสาหกรรมดิจิทัล คอนเทนต์เป็นส่วนหนึ่งและมีความสำคัญในการร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศอย่างมาก ดังที่ประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ ญี่ปุ่น เกาหลี จีน ได้ใช้ธุรกิจดิจิทัล คอนเทนต์ในการขับเคลื่อนและส่งออกเป็นอุตสาหกรรมที่สร้างมูลค่าให้กับเศรษฐกิจประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ยกตัวอย่าง คาแรคเตอร์ “คุมามง” ที่สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับจังหวัดคุมาโมโต้ของประเทศญี่ปุ่นมากกว่า 1.4 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ส่วนเกม Pokemon ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งเมื่อปี 1996 สามารถสร้างรายได้รวมมากกว่า 95,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เป็นต้น ดังนั้นการรวมตัวของกลุ่มคาแรกเตอร์,เกม, แอนิเมชัน, เวอรชวล แอฟเฟ็ก, อี-เลิร์นนิง และเทคโนโลยีใหม่ (emerging technology) ของไทยนับเป็นการนำความสร้างสรรค์ด้านเอกลักษณ์ไทยและความเป็นสากล ผนวกกับความสามารถของคนไทยในอุตสาหกรรมฯ เพื่อให้เกิดการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้แก่ประเทศ และเสริมแกร่งด้านการแข่งขันกับกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านอย่างมีประสิทธิภาพ ในฐานะภาคอุตสาหกรรมดิจิทัล คอนเทนต์ มีความเชื่อมั่นว่าเราจะสามารถพัฒนาและต่อยอดอุตสาหกรรมฯ ซึ่งปัจจุบันมีมูลค่ามากกว่า 25,000 ล้านบาทให้เติบโตยิ่งขึ้น ด้วยความแข็งแกร่งของภาคอุตสาหกรรมและการส่งเสริมจากภาครัฐ” คุณกฤษณ์ กล่าว
อย่างไรก็ตามถึงแม้ว่าในปีนี้จะมีสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เกิดขึ้น ส่งผลให้รูปแบบการจัดการในปีนี้ปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับสถานการณ์จึงเป็นที่มาในแนวคิด “VR BIDC 2020” ซึ่งสอดคล้องกับทิศทางและการเปลี่ยนแปลงในยุควิถีความปกติใหม่ หรือ New Normal โดยกิจกรรมสำคัญที่เคยจัดขึ้นในรูปแบบออฟไลน์เปลี่ยนมาจัดในรูปแบบออนไลน์ทั้งหมด ประกอบด้วย
ทางด้านคุณสมเด็จ สุสมบูรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ กล่าวต่อว่า ถึงแม้ว่าในปีนี้จะมีสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่เกิดขึ้นทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทย ส่งผลให้ภาคธุรกิจมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบสู่วิถีความปกติใหม่ หรือ New Normal กรมส่งเสริมฯ จึงได้ปรับรูปแบบการจัดกิจกรรมเจรจาการค้าในปีนี้เป็นรูปแบบออนไลน์ ซึ่งได้รับความสนใจจากทั้งผู้ประกอบการไทยและต่างประเทศเป็นอย่างมาก โดยได้รับการตอบรับจากผู้ประกอบการดิจิทัล คอนเทนต์ทั่วโลกเข้าร่วมเจรจาการค้าจำนวน 45 บริษัทจาก 15 ประเทศ อาทิ สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส โปแลนด์ อาร์เจนตินา ญี่ปุ่น ไต้หวัน อินเดีย และเวียดนาม และมีผู้ประกอบการไทยจำนวน 51 บริษัทร่วมเจรจาการค้าออนไลน์ครั้งนี้ ประกอบด้วย ผู้ประกอบการแอนิเมชัน 20 ราย คาแรคเตอร์ 12 ราย อี-เลิร์นนิง 7 ราย และเกม 12 ราย ซึ่งเน้นย้ำให้เห็นว่ากิจกรรมดังกล่าวเป็นกลไกสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนและผลักดันการเติบโตของภาคอุตสาหกรรมดิจิทัล คอนเทนต์ไทย ให้เกิดความแข็งแกร่งและเป็นที่ยอมรับบนเวทีการค้าโลก
ทั้งนี้มีความเชื่อมั่นว่า BIDC จะเป็นส่วนสำคัญที่จะประกาศศักยภาพและความเชื่อมั่นในประเทศไทยให้กับผู้ประกอบการด้านดิจิทัล คอนเทนต์ทั่วโลก และหวังเป็นอย่างยิ่งว่า BIDC จะเป็นอีกหนึ่งเวทีสำคัญระดับนานาชาติที่ผู้ประกอบการจากทั่วทุกมุมโลกให้ความสำคัญและเข้าร่วมกันทุกปีที่ประเทศไทย แต่ในปีนี้ด้วยสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีเข้ามาเป็นเครื่องมือและกลไกสำคัญในการจัดงานในรูปแบบออนไลน์แบบครบครัน
ทางด้านนางหริสุดา บุญยวัฒน์ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาการจัดงานเมกะอีเวนท์และเทศกาลนานาชาติ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า ทีเส็บในฐานะองค์กรที่มีบทบาทในการส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการระดับประเทศ รวมถึงการพัฒนาอีเวนท์นานาชาติขนาดใหญ่ของประเทศ เล็งเห็นว่า การผนึกความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนเป็นการสนับสนุนและส่งเสริมให้ภาคอุตสาหกรรมฯ มีความเข้มแข็งและเติบโตได้มากขึ้น โดยนำเสนอเครื่องมือสำคัญ “Virtual Meeting Space” สนับสนุนผู้ประกอบการในการใช้เทคโนโลยีส่งเสริมการจัดงาน
รวมถึงการเพิ่มทักษะความรู้ในการใช้แพลตฟอร์มออนไลน์ให้ผู้ประกอบการ ที่ผ่านมาตั้งแต่เกิดวิกฤตไวรัสระบาด ทีเส็บได้พัฒนาและจัดรูปแบบออกเป็น 3 กิจกรรม ได้แก่ 1. Webinar หรือ การประชุมสัมมนาเสมือนจริงผ่านระบบออนไลน์ 2. O2O (Offline to Online) หรือ การจัดงานแสดงสินค้าผ่านระบบออนไลน์ และ 3. E-Learning Platform หรือศูนย์การเรียนรู้ คอร์สฝึกอบรมออนไลน์สำหรับผู้ประกอบการไมซ์ เพื่อเพิ่มทักษะและทบทวนความรู้ที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการทำงานได้ในช่วงที่งานได้รับผลกระทบ ทั้งนี้ทีเส็บมีความเชื่อมั่นว่าจะช่วยสนับสนุนและเอื้ออำนวยคณะผู้จัดงาน ผู้เข้าร่วมสัมมนาออนไลน์สามารถเข้าฟังและรับความรู้ในแขนงต่างๆ ของดิจิทัล คอนเทนต์ได้มากขึ้นด้วยระบบที่มีประสิทธิภาพของทีเส็บ
ทางด้านคุณฉัตรชัย คุณปิติลักษณ์ รองผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) กล่าวว่า อุตสาหกรรมดิจิทัล คอนเทนต์ ประกอบด้วย ธุรกิจด้านเกม แอนิเมชัน คาร์แรคเตอร์ไทย อี-เลิร์นนิง VR&CG และVFX กำลังเติบโตอย่างรวดเร็วตามพัฒนาการของเทคโนโลยีโลกและไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปอยู่ตลอดเวลา และในสภาวะการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ปัจจุบัน รัฐบาลในหลายประเทศต้องการควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อ ส่งผลให้เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทและเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตอย่างที่ปฏิเสธไม่ได้ ประชาชนใช้เทคโนโลยีในชีวิตประจำวันมากยิ่งขึ้น
ในส่วนของอุตสาหกรรมอี-เลิร์นนิงได้รับอานิสงค์ที่ขับเคลื่อนให้กลุ่มนี้มีการขยายตัว เนื่องจากทุกภาคส่วนรวมไปถึงประชาชนมีการปรับตัวและใช้การเรียนการสอนรวมไปถึงการทำงานผ่านรูปแบบ Online Live Streaming มากยิ่งขึ้น จึงถือเป็นโอกาสสำคัญในการพัฒนาและต่อยอดผลิตภัณฑ์ใหม่ๆให้แก่อุตสาหกรรม ทั้งนี้จะเห็นได้ว่าในหลายปีที่ผ่านมาโครงการ Bangkok International Digital Content Festival มีผู้ประกอบการดิจิทัล คอนเทนต์จากต่างประเทศเข้าร่วมมากกว่า 200 บริษัท และผู้เข้าร่วมงานมากกว่า 100,000 คน โดยสร้างมูลค่าการเจรจาธุรกิจให้แก่อุตสาหกรรมดิจิทัล คอนเทนต์ไทยมากกว่า 2 พันล้านบาท
คุณกฤษณ์ ณ ลำเลียง นายกสมาคมดิจิทัลคอนเทนต์ไทย และผู้แทนภาคอุตสาหกรรม กล่าวต่อว่า สำหรับในวันนี้ขอร่วมแสดงความยินดีกับผู้ประกอบการไทยที่มีผลงานโดดเด่นในรอบปีกับเวที BIDC AWARD 2020 ซึ่งถือว่าเป็นรางวัลของคนในอุตสาหกรรม เพื่อแสดงให้เห็นถึงผลงาน และการพัฒนาของบริษัทไทย อีกทั้งยังเป็นเวทีนำเสนอผลงานที่มีความคิดสร้างสรรค์ และต่อยอดเชิงธุรกิจในอนาคตรวม 23 รางวัลจาก 5 กลุ่มอุตสาหกรรม เพื่อเป็นต้นแบบในอุตสาหกรรมฯ โดย หวังกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาและต่อยอดความสำเร็จในอนาคต ทั้งนี้ในฐานะตัวแทนภาคอุตสาหกรรมขอขอบคุณทุกหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคอุตสาหกรรมที่ให้การสนับสนุนการจัดงานในครั้งนี้ โดยหวังว่าทุกความร่วมมือจะเป็นจิ๊กซอร์ในการสนับสนุนและผลักดันอุตสาหกรรมดิจิทัล คอนเทนต์ไทยให้มีความเข้มแข็ง เป็นหนึ่งในฟันเฟื่องของการขับเคลื่อนและกระตุ้นเศรษฐกิจไทยอย่างยั่งยืน สามารถเข้าไปติดตามรายละเอียดกิจกรรมต่างๆ ได้ที่ เฟสบุ๊คเพจ Bangkok International Digital Content Festival ลิงค์ https://www.facebook.com/bidc.fest/
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด