34% ของคนทำงานยอมรับ ‘ไม่อยากเป็นหัวหน้า’ เพราะพอใจกับงานปัจจุบันที่ทำ | Techsauce

34% ของคนทำงานยอมรับ ‘ไม่อยากเป็นหัวหน้า’ เพราะพอใจกับงานปัจจุบันที่ทำ

เมื่อก่อนใครๆ ก็อยากก้าวหน้าในหน้าที่การงาน อยากเป็นหัวหน้า อยากมีตำแหน่งใหญ่โต แต่เดี๋ยวนี้เหมือนจะไม่ใช่แล้ว โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่ดูเหมือนจะ "ไม่สนใจ" กับการเลื่อนตำแหน่ง ซึ่งถ้าเป็นแบบนี้ต่อไปองค์กรอาจจะขาดผู้นำกันเลยทีเดียว

แล้วอะไรที่ทำให้คนยุคนี้ไม่อยากเลื่อนตำแหน่ง? สเตฟานี นีล ผู้เชี่ยวชาญจาก DDI บอกว่า "ช่วงหลังๆ มานี้บทบาทของผู้นำยากขึ้นเยอะ ทำให้การเลื่อนตำแหน่งไม่น่าดึงดูดเหมือนแต่ก่อน" หัวหน้าต้องเจอความกดดันมหาศาล ทั้งสภาวะเศรษฐกิจผันผวน  การบริหารทีม ทรัพยากรที่มีจำกัด แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่ค่อยได้รับการสนับสนุนอย่างเพียงพอจากผู้บริหารระดับสูง สภาพแวดล้อมแบบนี้ทำให้การเป็นหัวหน้ามันดูเหนื่อยเกินไป ไม่คุ้มที่จะทำ ด้วยคนรุ่นใหม่ที่เห็นอะไรแบบนี้มาตั้งแต่เด็กเลยคิดว่า "ชีวิตส่วนตัวและงานอดิเรกสำคัญกว่าเยอะ" การเลื่อนขั้นเลยดูไม่น่าสนใจ

หลายคนมองว่าการเป็นหัวหน้ามันเครียด ไม่มีอะไรน่าตื่นเต้น แถมยังไม่คุ้มกับความรับผิดชอบที่เพิ่มขึ้น พวกเขาเลยอยากทำงานแบบไม่ต้องเป็นหัวหน้า ทำงานของตัวเองไปก็พอ นีลกล่าว

Randstad ได้ทำการสำรวจพนักงานจำนวน 27,000 คนใน 34 ประเทศทั่วโลกพบว่า 47% ของพนักงานรู้สึกพึงพอใจกับบทบาทปัจจุบันของตนเอง โดยไม่ได้สนใจความก้าวหน้า และอีก 34% บอกตรง ๆ ว่าไม่เคยคิดที่อยากขึ้นเป็นผู้บริหาร

เหตุผลที่คนทำงานไม่อยากเลื่อนตำแหน่งมีอยู่ 3 อย่างหลักๆ คือ

  1. เป็นหัวหน้าแล้วเครียดกว่าเดิม: คนที่ได้เป็นหัวหน้าใหม่ๆ มักจะเจอปัญหาหมดไฟง่ายมากกว่า 70% ของคนที่อายุไม่ถึง 35 ที่เป็นหัวหน้าบอกว่ามีอาการหมดไฟ ซึ่งคนสมัยนี้เครียดกับการใช้ชีวิตเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว การเป็นหัวหน้ายิ่งอาจทำให้เครียดกว่าเดิม
  2. งานเยอะ ไม่คุ้มค่า: คนยุคนี้ให้ความสำคัญกับชีวิตส่วนตัวมากกว่าเงินเดือนที่เพิ่มขึ้น พวกเขาคาดหวังว่าบริษัทจะเคราพเวลาส่วนตัวของพวกเขา เช่น การหมอบหมายงานที่เหมาะสม ไม่ประชุมอะไรที่ไม่จำเป็น  ไม่ติดต่อเรื่องงานนอกเวลา ถ้าพวกเขาเห็นว่าหัวหน้าของเขาไม่มีชีวิตส่วนตัวที่ดี พวกเขาก็จะไม่อยากเป็นหัวหน้าเลย
  3. ไม่มั่นใจว่าตัวเองเก่งพอ: หลายคนรู้สึกว่าตัวเองยังขาดทักษะสำคัญๆ เช่น การจัดการซึ่งมีแค่ 12% ของคนที่อยากเป็นหัวหน้าเท่านั้นที่มีทักษะด้านนี้ดี ยิ่งใครที่เพิ่งเป็นหัวหน้าใหม่ๆ ยิ่งยาก เพราะต้องเปลี่ยนจากคนทำงานธรรมดาไปเป็นหัวหน้าทีม ถ้าไม่ได้รับการช่วยเหลือที่ดีก็อาจจะไปไม่รอด

ถ้าไม่มีใครอยากเป็นหัวหน้า แล้วใครจะนำองค์กร?

การที่คนไม่อยากเป็นหัวหน้า ทำให้องค์กรเสี่ยงที่จะไม่มีผู้นำในอนาคต การทำงานก็จะติดขัด ไม่ราบรื่น แถมกำไรก็จะลดลงตามไปด้วย ยิ่งถ้าต้องรีบหาคนมาเป็นหัวหน้าแบบด่วนๆ ก็อาจจะทำให้ได้คนที่ไม่เก่งจริงมาหรือทำให้เสียเงินเสียเวลาไปเปล่าๆ

รายงานของ Glassdoor บอกว่า 65% ของพนักงานรู้สึกว่าตัวเองไม่มีความก้าวหน้าในงานที่ทำอยู่ ซึ่งสำหรับคนรุ่นใหม่ที่ต้องการความก้าวหน้าและต้องการการทำงานที่มีความหมาย ความรู้สึกแบบนี้มันจะทำให้พวกเขา "ลาออกเงียบ" หรือทำงานแบบไม่เต็มที่ ถ้าองค์กรไม่เข้าใจความต้องการของพนักงานจริงๆ ก็อาจจะเสียพนักงานเก่งๆ ไป

สร้างผู้นำ..ก่อนจะสายเกินไป

แม้ว่าคนรุ่นใหม่จะไม่อยากเป็นหัวหน้าตอนนี้ แต่พวกเขาก็อยากพัฒนาตัวเอง หลายคนก็หาทางเรียนรู้ด้วยตัวเอง ไม่รอให้บริษัทมาช่วย "หลายคนกำลังหาทางเรียนรู้ด้วยตัวเอง โดยการหาพี่เลี้ยง หรือแม้แต่การศึกษาด้วยตัวเอง และการขอความเห็นจากคนอื่น" 

เพราะฉะนั้นบริษัทควรจะลงทุนพัฒนาพนักงานที่เป็นคนรุ่นใหม่ตั้งแต่เนิ่นๆ นีล กล่าวว่าหลายบริษัทมักจะพัฒนาผู้นำแต่ในระดับสูง แต่จริงๆ ควรเริ่มตั้งแต่เนิ่นๆ  

สิ่งที่ควรจะเน้นคือทักษะที่จำเป็น เช่นการสื่อสาร การรับฟังความคิดเห็น และการจัดการ หัวหน้าควรพูคุยกับพวกเขาเป็นประจำ เพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น และให้คำแนะนำอย่างทันท่วงที นอกจากนี้ ควรจะให้พวกเขาได้มีโอกาสแสดงความสามารถ ได้ทำงานที่สำคัญๆ ที่มีผลกระทบต่อองค์กร เพื่อให้พวกเขารู้สึกว่าตัวเองมีส่วนร่วมในการพัฒนาองค์กร เมื่อพวกเขาเชื่อว่าบริษัทเห็นคุณค่าและให้โอกาสพวกเขา พวกเขาอาจจะเริ่มสนใจที่จะเป็นผู้นำก็ได้ 

อ้างอิง: forbes

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

4 สัญญาณพนักงาน Red Flag จากความเห็นของ CEO ชั้นนำ

หลายครั้งที่เราพยายามสร้างความประทับใจในการสัมภาษณ์งานอย่างเต็มที่หรือตั้งใจเป็นพนักงานที่ดีที่สุด แต่บางทีก็มีอะไรที่เราอาจมองข้ามไป ซึ่งสิ่งเหล่านี้อาจเป็น Red Flag ที่ทำให้ CEO ...

Responsive image

เปิดลิสต์ 9 หนังสือเล่มโปรด ของ Sam Altman ที่แนะนำให้ทุกคนอ่าน

บทความนี้รวบรวม 9 หนังสือเล่มโปรดที่ Sam Altman แนะนำ ที่เต็มไปด้วยมุมมองและแรงบันดาลใจที่เขาได้รับจากหนังสือเหล่านี้ ที่จะช่วยให้คุณมองโลกได้กว้างขึ้น พร้อมตั้งคำถามที่ท้าทายความค...

Responsive image

20 อาชีพทางไกลที่เติบโตเร็วที่สุด คาดโตเกิน 17% ในปี 2025

จากผลสำรวจของ FlexJobs ในปี 2024 พบว่า 81% ของคนทำงานในสหรัฐฯ มองว่าการทำงานแบบรีโมทเป็นเงื่อนไขที่สำคัญที่สุดในการหางานใหม่ แต่ที่น่าสนใจ คือมีคนจำนวนมากวางแผนที่จะลาออกในปีนี้ แต...