เส้นทางสู่ความสำเร็จ เดินคนเดียวอาจไปถึงช้า จะดีกว่าไหมถ้ามีคนที่ใช่เคียงข้างไปด้วย บทความนี้จะชวนทุกคนตามหา 5 ความสัมพันธ์ที่เราควรมี เพื่อเส้นทางสู่ความสำเร็จ
ประสบการณ์มีค่ากว่าคำสอน แต่คำสอนจากคนมีประสบการณ์ก็ดีไม่แพ้กัน พี่เลี้ยงที่ดีจะเป็นเหมือนดาวเหนือส่องแสงนำทางให้เรา เพราะหลายทักษะและประสบการณ์ชีวิตไม่ได้มีอยู่ในตำรา คนที่อาบน้ำร้อนมาก่อนและให้คำปรึกษากับเราได้จึงจำเป็น และแม้แต่คนเก่งที่สุดก็ยังต้องมีผู้ชี้แนะ ทั้ง Mark Zuckerberg หรือ Steve Job สอง CEO ผู้เปลี่ยนโลก ก็เคยผ่านการมีพี่เลี้ยงมาทั้งนั้น
การเลือกพี่เลี้ยงก็สำคัญ เราควรเลือกคนที่พิสูจน์ตัวเองมาแล้วทั้งในด้านชีวิตและการงาน ซึ่งต้องสอดคล้องกับเป้าหมายระยะยาวของเราด้วย คนคนนั้นต้องยินดีที่จะสร้างความสัมพันธ์นี้กับเรา เพราะการเป็นเมนเทอร์ให้ใครสักคนก็ต้องสละเวลาและใช้ความพยายามเช่นกัน
เมื่อมีเมนเทอร์ที่ดีแล้ว ตัวเราก็ต้องหมั่นที่จะเรียนรู้จากเขาเช่นกัน ควรติดต่อเมนเทอร์เป็นประจำ เพื่ออัปเดตว่าเรากำลังทำอะไร เราทำอะไรสำเร็จบ้าง
“ถ้าไม่มีผู้สนับสนุน เราจะเติบโตไม่ได้เลย ไม่ว่าอยู่องค์กรไหน” เป็นคำพูดของ Carla Harris ที่ปรึกษาอาวุโสของ Morgan Stanley บริษัทผู้ให้บริการด้านการเงินระดับโลกบนเวที Ted Talk ของเธอ
งานวิจัยชิ้นหนึ่งพบว่า Junior manager ที่มีผู้สนับสนุน 21% มีแนวโน้มที่จะไต่เต้าขึ้นไปในสายอาชีพมากกว่าคนที่อยู่ในตำแหน่งเดียวกันแต่ไม่มีใครคอยดันหลัง
การวิจัยของ Coqual องค์กรไม่แสวงผลกำไรพบว่ามีสิ่งที่เรียกว่า “sponsor effect” ในองค์กร และมันเป็นประโยชน์กับผู้ชายมากกว่าผู้หญิง สะท้อนถึงความไม่เท่าเทียมของโอกาสการเลื่อนตำแหน่ง แต่ก็ชี้ว่าคนมีแบ็คดีได้เปรียบมากกว่า
ถ้าเราอยากมีคนสนับสนุน เราก็ต้องพิสูจน์ตัวเอง ให้ผู้ใหญ่ในบริษัทเห็นว่าเราควรค่า ด้วยการแสดงความเก่งในสิ่งที่เราทำ และทำให้งานของเรามีคนเห็น เพราะสปอนเซอร์เหล่านี้ไม่ใช่ว่าจ้างได้ด้วยเงิน (บางกรณีอาจใช่) และไม่ได้หาง่ายๆ เหมือนเมนเทอร์ที่ปัจจุบันมีอยู่ทั่วไป
เพื่อนคู่คิดจะคอยเป็นเสียงสะท้อนให้กับเรา เพื่อขยายมุมมองความคิด ร่วมด้วยช่วยกันจัดการปัญหา และอาจเป็นสะพานให้เราก้าวไปรู้จักคนใหม่ๆ เป็นความสัมพันธ์ที่ทั้งเราและเขาได้ประโยชน์ร่วมกัน มีความไว้ใจต่อกัน และสิ่งที่สำคัญที่สุดคือ แต่ละคนต้องเชื่อว่าเราจะเป็นแรงผลักดันไปสู่ความสำเร็จให้กัน
การหาเพื่อนคู่คิดก็เหมือนเวลานักธุรกิจตามหา Co-founder ต้องมองหาคนที่มีบุคลิกและ Work ethic ที่จะสามารถเติมเต็มเราได้ เช่น ถ้าเราเป็นคนเก็บตัว พูดน้อย พรีเซนต์ไม่เก่ง ก็ควรหาคนที่พูดเก่ง พรีเซนต์คล่องมาช่วยเรา หรือถ้าเราเป็นนักคิด เพื่อนก็ต้องเป็นนักปฏิบัติ
โลกธุรกิจเต็มไปด้วยการแข่งขัน และหลายครั้งการแข่งขันนำมาซึ่งความก้าวหน้า การแข่งขันในองค์กร ช่วยกระตุ้นให้พนักงานพยายามทำงานกันอย่างสุดความสามารถ ส่งผลดีต่อภาพรวมขององค์กร แต่ข้อควรระวังก็คือ อย่าสร้างการแข่งขันแบบ Toxic ที่เราต้องห้ำหั่นกันทุกวิถีทางเพื่อเอาชนะ
คู่แข่งที่ดีคือคู่แข่งที่เปิดโอกาสให้เราแข่งกันแบบ Win-Win คือต่างคนต่างได้ประโยชน์จากการประลองนี้ ไม่ใช่แบบ Win-lose ที่มีคนชนะและมีคนแพ้ และมีผลเสียตามใครสักคนไป เมื่อเราแข่งขันกันอย่าง Win-Win มันจะช่วยเพิ่มทั้งทักษะ ประสบการณ์ และกระตุ้นให้มีแรงจูงใจมากขึ้น
เมื่อมีพี้เลี้ยงแล้ว ก็ต้องมีน้องเลี้ยงหรือลูกศิษย์ด้วย ดั่งคำกล่าวของ ศาสตราจารย์ Richard Feynman นักฟิสิกส์เจ้าของรางวัลโนเบลว่า “ถ้าคุณต้องการเชี่ยวชาญบางสิ่ง จงสอนมัน”
การที่คุณผันตัวมาเป็นเมนเทอร์เองจะช่วยพัฒนา Soft Skills ที่ผู้นำทุกคนควรมี เช่น การสื่อสาร ความคิดสร้างสรรค์ และความเห็นอกเห็นใจ ซึ่งเป็นทักษะที่ตลาดกำลังต้องการ และการเป็นเมนเทอร์ให้ใครสักคน ไม่ได้แปลว่าเราต้องฉลาดที่สุด เราทุกคนคงเคยผ่านประสบการณ์การถ่ายทอดวิชามาแล้วสักครั้งในชีวิต ไม่ว่าจะสอนเพื่อนเล่นเกม สอนลูกขี่จักรยาน แม้จะเป็นเรื่องใกล้ตัว แต่ก็เป็นการถ่ายทอดความรู้อย่างหนึ่ง
การจะหาใครสักคนมาเป็นน้องเลี้ยงเราก็ไม่ยาก ถ้าคุณเป็นรุ่นใหญ่ในบริษัท อาจจะมองหาพนักงานใหม่ หรือน้องฝึกงานที่กำลังต้องการความช่วยเหลือ และเข้าไปสอนหรือแนะนำพวกเขา
เราจะเห็นได้ว่าบางครั้งความสัมพันธ์แบบนี้ก็เกิดขึ้นโดยไม่ต้องพยายามเลย แต่จะสำเร็จและเกิดประโยชน์ได้ ต้องใช้ความพยายาม ตั้งใจ และเปิดใจด้วย
แปลและเรียบเรียงจาก : Harvard Business Review
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด