หลายท่านคงเคยได้ยินคำกล่าวของ Benjamin Franklin ที่ว่า nothing is certain except death and taxes วลีนี้ทำให้นักลงทุนหลายท่านพอเข้าใจได้ว่า ที่ใดมี economic wealth เกิดขึ้น ที่นั่นย่อมมีภาระภาษีไม่ว่าทางใดทางหนึ่ง
ด้วยเทคโนโลยีบล๊อกเชนและความคิดอันล้ำสมัย ทำให้ปัจจุบันสินทรัพย์ดิจิทัลได้เข้ามามีบทบาทและเป็นเรื่องใกล้ตัวที่ทุกคนไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ในบทความนี้จะขอพูดถึงการจัดเก็บภาษีสำหรับสินทรัพย์ดิจิทัลที่ใครหลาย ๆ คนกำลังให้ความสนใจและอยากที่จะลงทุน เพราะแม้จะมีความผันผวนและความเสี่ยงสูง แต่ก็อาจให้ผลตอบแทนการลงทุนในอัตราที่สูงด้วยเช่นเดียวกัน
ในหลาย ๆ ประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา สิงคโปร์ หรือออสเตรเลีย ต่างก็มีการออกและปรับปรุงกฎหมายและแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการจัดเก็บภาษีอากรสำหรับสินทรัพย์ดิจิทัลเพื่อให้ทันต่อเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว อันจะทำให้แนวทางการจัดเก็บภาษีมีความชัดเจนให้ได้มากที่สุด
สำหรับประเทศไทยนั้นมีการออกกฎหมายภาษีอากรเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลมาตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ปี 2561 แต่ในทางปฏิบัติยังมี "ความไม่แน่นอน" ทางภาษีอากรในหลาย ๆ ประเด็น เดี๋ยวเรามาค้นหาคำตอบไปพร้อมกัน
"สินทรัพย์ดิจิทัล" ตามกฎหมายไทย คืออะไร ? สินทรัพย์ดิจิทัลเป็นหน่วยข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ที่ถูกสร้างขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกันออกไปแบ่งได้ 3 รูปแบบ กล่าวคือ
คริปโทเคอร์เรนซี (Crypto Currency) เช่น Bitcoin Ethereum cETH Cardano CADA XRP มีวัตถุประสงค์ที่จะใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนสินค้า บริการ สินทรัพย์ดิจิทัลอื่น ๆ หรือสิทธิอื่นใด หากผู้ใช้ยอมรับ นอกจากนี้ นักลงทุนสามารถซื้อขายกันในตลาดรองและอาจมีผลกำไรหรือผลขาดทุนการกรณีดังกล่าว
โทเคนดิจิทัลเพื่อการใช้ประโยชน์ (Utility Token) เช่น Bitkub Coin ถูกสร้างขึ้นเพื่อแสดงถึงสิทธิในการได้รับสินค้า บริการ หรือสิทธิอื่น ๆ เป็นการเฉพาะเจาะจง โดยนักลงทุนอาจได้รับหรือเข้าถึงสินค้าหรือบริการดังกล่าว หรือมีผลกำไรหรือผลขาดทุนจากการซื้อขายกันในตลาดรอง
โทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุน (Investment Token) เช่น Sirihub Token ถูกสร้างขึ้นเพื่อกำหนดสิทธิในการร่วมลงทุนในโครงการหรือกิจการใด ๆ โดยนักลงทุนอาจได้ผลตอบแทนจากโครงการ หรือมีผลกำไรหรือผลขาดทุนจากการซื้อขายกันในตลาดรอง
นอกจากนี้ เราต้องทำความเข้าใจกันก่อนว่า ตามกฎหมายไทยแล้วสินทรัพย์ดิจิทัลจะไม่ใช่ "เงินตรา" ดังนั้น นำเอาสินทรัพย์ดิจิทัล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบัน คือ คริปโทเคอร์เรนซี มาใช้ชำระค่าสินค้าหรือบริการ จึงถือเป็นการชำระหนี้ด้วยของอย่างอื่น หากคู่สัญญายอมรับก็ถือเป็นการชำระหนี้โดยชอบด้วยกฎหมาย แต่ที่สำคัญคือการนำเอาสินทรัพย์ดิจิทัลมาชำระหนี้ดังกล่าวถือการแลกเปลี่ยน (barter trade) ระหว่างสินทรัพย์ดิจิทัลกับสินค้าและบริการ
ภาระภาษีอากรตามกฎหมายไทยสำหรับสำหรับสินทรัพย์ดิจิทัลเป็นอย่างไรกันบ้าง ? คำถามหลัก ๆ เลย คือ
รายได้จากสินทรัพย์ดิจิทัลอาจแบ่งได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ ได้แก่
กำไร (Capital Gain) จากการขายโทเคนดิจิทัลหรือคริปโทเคอร์เรนซีในตลาดรอง ซึ่งรวมถึงกรณีที่นำโทเคนดิจิทัลหรือคริปโทเคอร์เรนซีมาชำระค่าสินค้าหรือบริการ (ซึ่งถือเป็นเป็น barter trade) แล้วส่งผลให้ผู้โอนมีผลกำไรจากการโอน เช่น นาย ก. ใช้ 1 Bitcoin คิดเป็นมูลค่า 1.62 ล้านบาท ชำระค่าซื้อ Lamborghini แต่ นาย ก. มีต้นทุนการได้มา 1 Bitcoin ที่ 1.2 ล้านบาท กรณีนี้ นาย ก. จะมีกำไร 0.42 ล้านบาท และ
ผลตอบแทนที่ได้รับจากการถือครองโทเคนดิจิทัล เช่น นาย ก. ลงทุน Sirihub Token ไว้และได้รับผลตอบแทนรายได้มาสจากผู้ออกโทเคนดิจิทัล จำนวน 80,000 บาท เช่นนี้ถือว่า นาย ก. มีเงินได้จากการถือครองโทเคนดิจิทัล ซึ่งจะเห็นว่ามีความคล้ายคลึงเงินปันผลจากการถือครองหุ้น หรือเงินได้ดอกเบี้ยจากการถือพันธบัตรหรือหุ้นกู้ นั่นเอง
หากนักลงทุนมีเงินได้กำไร (Capital Gain) จากการขายโทเคนดิจิทัลหรือคริปโทเคอร์เรนซี และผลตอบแทนที่ได้รับจากการถือครองโทเคนดิจิทัล นักลงทุนบุคคลธรรมดาจะถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย ในอัตราร้อยละ 15 ของรายได้ดังกล่าว ซึ่งหลาย ๆ อาจเข้าใจว่า นักลงทุนบุคคลธรรมดาสามารถเสียภาษีเท่ากับภาษีที่ถูกหักไว้นั้นเป็น final tax แบบเดียวกับเงินปันผลหรือดอกเบี้ยพันธบัตรหรือหุ้นกู้ได้ แต่แท้จริงแล้วนักลงทุนบุคคลธรรมดายังจะต้องนำรายได้ดังกล่าวไปรวมยื่นแบบตอนสิ้นปีและเสียภาษีตามอัตราก้าวหน้า จากตัวอย่างข้างต้น นาย ก. ได้รับผลตอบแทนรายได้มาสจากการถือครอง Sirihub Token จำนวน 80,000 บาท ผู้ออกโทเคนดิจิทัลจะมีหน้าที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ ร้อยละ 15 คิดเป็น 12,000 บาท เมื่อสิ้นปี นาย ก. ต้องนำผลตอบแทนรายได้มาสไม่รวมคำนวณกับรายได้อย่างอื่นที่ นาย ก. มี และคำนวณเสียภาษีตามอัตราก้าวหน้าต่อไป โดยสามารถนำภาษีหัก ณ ที่จ่ายมาใช้เป็นเครดิตได้ ดังนั้น นักลงทุนบุคคลธรรมดาอาจต้องพิจารณาถึงภาระภาษีที่เกิดขึ้นจากผลตอบแทนจากการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลในส่วนนี้ประกอบด้วย ส่วนนักลงทุนบริษัทไทยแม้จะไม่ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย แต่นักลงทุนบริษัทไทยยังคงต้องนำรายได้ดังกล่าวไปรวมคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในอัตราร้อยละ 20 ตามปกติ
ประเด็นนี้ถือเป็นความไม่เท่าเทียมกันระหว่างนักลงทุนบุคคลธรรมดาและนักลงทุนบริษัทไทย เพราะบุคคลธรรมดาไม่สามารถนำผลขาดทุนมาหักเป็นรายจ่ายในทางภาษีได้ แต่บริษัทไทยสามารถนำผลขาดทุนนั้นมาหักเป็นรายจ่ายทางภาษีได้ นอกจากนี้ หากยังมีผลขาดทุนคงเหลืออยู่ บริษัทไทยยังสามารถยกผลขาดทุนสะสมไปใช้หักเป็นรายได้ได้อีกไม่เกิน 5 ปี ปัญหานี้เป็นสิ่งที่ควรได้รับการแก้ไขเพื่อให้ภาระภาษีมีสอดคล้องกับความเป็นจริงและมีความเท่าเทียมกันระหว่างบุคคลธรรมดาและบริษัทไทย
นักลงทุนที่ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลในตลาดรองต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ? ในส่วนนี้จะขอกล่าวถึงภาระภาษีมูลค่าเพิ่มของนักลงทุนกันก่อน สำหรับภาระภาษีมูลค่าเพิ่มของบุคคลที่เกี่ยวข้องกับสินทรัพย์ดิจิทัลในส่วนอื่น ๆ เช่น ผู้ออกโทเคนดิจิทัล จะขอกล่าวในส่วนของปัญหาและความไม่แน่นอนทางภาษีอากรอันเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัล โดยหลักการพื้นฐานนั้น ภาษีมูลค่าเพิ่มจัดเก็บจากการขายสินค้าหรือการให้บริการในราชอาณาจักรที่มีลักษณะดังต่อไปนี้
(ก) เป็นการขายสินค้าหรือการให้บริการโดยผู้ประกอบการ กล่าวคือ ต้องมีการขายสินค้าหรือให้บริการอย่างเป็นปกติธุระในทางการค้าหรือวิชาชีพ พูดง่าย ๆ คือ นักลงทุนต้องมีการ trade สินทรัพย์ดิจิทัลอย่างสินค้าโดยทำเป็นปกติทางการค้า เช่น ซื้อซื้อขายขายคริปโทเคอร์เรนซีหรือโทเคนดิจิทัลในตลาดรองเป็นปกติ ดังนั้น หากผู้ลงทุนเพียงแต่ซื้อและถือครองทรัพย์ดิจิทัลไว้ยาว ๆ เช่น นาย ก. ลงทุนใน Sirihub Token ไว้และถือครองไปจนกระทั่งจบโครงการ แบบนี้ นาย ก. ย่อมไม่เข้าลักษณะของผู้ประกอบการที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม และ
(ข) มีรายรับ (ก่อนหักรายจ่ายใด ๆ) จากการขายสินค้าหรือให้บริการเกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี ดังนั้น แม้จะมีการ trade สินทรัพย์ดิจิทัลอย่างสินค้าเป็นปกติธุระในทางการค้าหรือวิชาชีพก็ตาม แต่หากนักลงทุนมีรายรับจากการ trade ดังกล่าว (รวมถึงรายรับจากการขายสินค้าหรือบริการอื่น ๆ ด้วย) ไม่เกิน 1.8 ล้านบาท ต่อปี แล้ว เช่นนี้นักลงทุนก็ไม่มีหน้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มเช่นเดียวกัน
โดยหลักการแล้ว กฎหมายกำหนดให้ "ผู้จ่ายเงินได้" ที่เป็นกำไร (Capital Gain) จากการขายโทเคนดิจิทัลหรือคริปโทเคอร์เรนซีให้แก่ผู้รับที่เป็น "บุคคลธรรมดา" มีหน้าที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย ในอัตราร้อยละ 15 ของผลกำไรดังกล่าว คำว่า "ผู้จ่ายเงินได้" หมายถึง บุคคลที่เป็นคู่สัญญาที่เข้าทำธุรกรรมกับผู้มีรายได้โดยตรง บุคคลอื่นที่มิใช่คู่สัญญาซึ่งแม้จะเป็นผู้จ่ายในความเป็นจริง ก็มิใช่ผู้จ่ายเงินได้ที่จะมีหน้าที่ในการหักภาษี ณ ที่จ่ายแต่อย่างใด ยกตัวอย่างเช่น นาย ก. ให้กู้ยืมเงินแก่บริษัท ข. จำนวน 1 ล้านบาท คิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 10 เช่นนี้ เมื่อบริษัท ข. ชำระคืนต้นเงิน จำนวน 500,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ย 50,000 บาท บริษัท ข. ในฐานะผู้จ่ายเงินได้จะต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ในอัตราร้อยละ 15 ของดอกเบี้ย คิดเป็น 7,500 บาท และนำส่งภาษีที่หักไว้ให้แก่กรมสรรพากรต่อไป ทั้งนี้ หากบริษัท ข. แจ้งให้บริษัท ค. ลูกหนี้ของตนส่งเงิน จำนวน 550,000 บาท ให้แก่นาย ก. เช่นนี้ก็มิได้ทำให้บริษัท ค. กลายมาเป็นผู้มีหน้าที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย แต่อย่างใด ดังนั้น หากตีความโดยเคร่งครัดแล้ว กรณีของการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลในตลาดรองนั้น "ผู้จ่ายเงินได้" ควรจะหมายถึงผู้ซื้อสินทรัพย์ดิจิทัลต่อจากนักลงทุนนั่นเอง ในการนี้ Exchange Platform ทำหน้าที่เพียงเป็นตัวกลางในการอำนวยความสะดวกให้ผู้ซื้อและผู้ขายเข้าทำธุรกรรมระหว่างกันเท่านั้น ไม่ได้มีหน้าที่จ่ายเงินได้หรือค่าตอบแทนให้แก่นักลงทุน จึงไม่ควรถูกถือว่าเป็นผู้จ่ายเงินได้
อย่างไรก็ตาม หากตีความอย่างกว้าง Exchange Platform อาจถูกเหมารวมว่าเป็นผู้จ่ายเงินได้ให้กับนักลงทุนได้เช่นกัน กล่าวคือ แม้ว่า Exchange Platform จะไม่ได้เป็นคู่สัญญาในการซื้อขาย หรือแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัลกับนักลงทุนก็ตาม แต่ในทางปฏิบัติ Exchange Platform ก็ทำหน้าที่เป็นตัวแทนของนักลงทุนในการส่งมอบสินทรัพย์ หรือรับจ่ายเงินในการทำธุรกรรมดังกล่าวผ่านระบบแพลตฟอร์มของตน กรณีนี้อาจเทียบเคียงได้กับกรณีที่บริษัทต่างประเทศมิได้ประกอบกิจการในประเทศไทยและมีกำไรจากการขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยซึ่งเป็นเงินได้พึงประเมินที่ต้องหักภาษีเงินได้นิติบุคคลในอัตราร้อยละ 15 แม้ว่าบริษัทตัวแทนค้าหลักทรัพย์จะเพียงทำหน้าที่ในการอำนวยความสะดวกในการซื้อขายหลักทรัพย์และมิได้เข้าไปเป็นคู่สัญญาในการซื้อขายหลักทรัพย์กับนักลงทุนก็ตาม แต่จากแนวทางการตีความของกรมสรรพากรซึ่งวินิจฉัยว่า บริษัทตัวแทนค้าหลักทรัพย์ (Broker) ของผู้ขายซึ่งมีข้อมูลเกี่ยวกับผู้ขายหลักทรัพย์มีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้นิติบุคคล จึงอาจมีความเป็นไปได้ในอนาคตที่กรมสรรพากรจะออกหลักเกณฑ์กำหนดให้ทั้งผู้ซื้อสินทรัพย์ดิจิทัล และ Exchange Platform ถือเป็นผู้จ่ายเงินได้ และเป็นผู้มีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายในกรณีนี้ร่วมกัน
การออกโทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุนซึ่งผู้ออกจะต้องเสนอขายโทเคนดิจิทัลผ่านกระบวนการ Initial Coin Offering (ICO) ถือเป็นการระดมทุนรูปแบบหนึ่งที่อาศัยเทคโนโลยีบล็อกเชนเข้ามาช่วยดำเนินการ และใช้ smart contract บนเทคโนโลยีบล็อกเชนในการกำหนดและบังคับสิทธิที่นักลงทุนจะได้รับตามโครงการร่วมลงทุน
โทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุนถือเป็นทรัพย์สินไม่มีรูปร่างอย่างหนึ่งที่สามารถนำไปซื้อขายแลกเปลี่ยนระหว่างกันได้ ประกอบกับสินทรัพย์ดิจิทัลไม่ถือเป็นเงินตราและไม่ถือเป็นหลักทรัพย์ตามกฎหมายของประเทศไทยที่ใช้บังคับในปัจจุบัน จึงทำให้อาจถูกตีความว่าการออกและเสนอขายโทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุนถือเป็นการจำหน่ายจ่ายโอนทรัพย์สินไม่มีรูปร่างและเข้าข่ายที่ถือว่าเป็นการขายสินค้าหรือให้บริการที่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่ทั้งนี้ ท่านผู้อ่านก็ต้องอย่าลืมว่า ภาษีมูลค่าเพิ่มมีหลักการในการจัดเก็บจากมูลค่าส่วนที่เพิ่มขึ้นในแต่ละขั้นตอนการผลิตและการจำหน่ายสินค้าและบริการ และภาษีมูลค่าเพิ่มไม่ได้จัดเก็บจากการนำเงินไปหาประโยชน์โดยการลงทุนหรือการประกอบธุรกิจที่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะหรือการประกอบกิจการเฉพาะอย่างที่เกี่ยวเนื่องโดยตรงกับกิจการที่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะแต่ไม่ได้มีกฎหมายกำหนดให้เป็นกิจการที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม
คราวนี้เรามาพิจารณากันถึงเนื้อหาสาระของการระดมทุนโดยการออกและเสนอขายโทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุนกันบ้าง ในมุมมองของนักลงทุน นักลงทุนเพียงแต่ประสงค์ที่จะเข้าร่วมลงทุนในโครงการที่ถูกนำเสนอไว้ในหนังสือชี้ชวนเพื่อให้ได้รับสิทธิในการรับผลตอบแทนจากการลงทุน โดยได้รับโทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุนเป็นหลักฐานแสดงสิทธิในการเข้าร่วมลงทุนที่อยู่ในรูปแบบดิจิทัลเช่นเดียวกับการลงทุนเข้าซื้อหุ้นหรือหุ้นกู้จากบริษัทผู้ออก ซึ่งมิใช่การซื้อใบหุ้นหรือใบหุ้นกู้อย่างสินค้าแต่อย่างใด ดังนั้น นักลงทุนจึงมิได้รับหรือบริโภค (consumption) สินค้าหรือบริการใด ๆ ตอบแทนจากผู้ออกโทเคนดิจิทัลอันเนื่องมาจากการเข้าร่วมลงทุนในโครงการ
ในส่วนของผู้ออกโทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุนนั้น ผู้ออกจะมิได้รับเงินระดมทุนจากนักลงทุนมาโดยเด็ดขาด หากแต่ผู้ออกมีหนี้สินและภาระผูกพันที่คล้ายคลึงกับการกู้ยืมเงินหรือการออกหุ้นกู้ (debt like) กล่าวคือ ต้องนำเงินที่ได้รับจากการระดมทุนไปลงทุนตามหนังสือชี้ชวนและต้องนำผลตอบแทนที่ได้รับจากการลงทุนรวมทั้งเงินที่นักลงทุนได้ลงทุนไว้มาจ่ายคืนให้แก่นักลงทุนต่อไป ผู้ออกไม่มีการขายสินค้าหรือให้บริการใด ๆ ให้แก่นักลงทุนในทางทางธุรกิจหรือวิชาชีพ ในจุดนี้อาจมีความแตกต่างจากกรณีของการออกโทเคนดิจิทัลเพื่อการใช้ประโยชน์ กล่าวคือ ผู้ออกอาจมีการขายสินค้าหรือให้บริการให้แก่นักลงทุนเพื่อตอบแทนเงินที่ผู้ออกได้รับจากนักลงทุนมาโดยเด็ดขาด โทเคนดิจิทัลเพื่อการใช้ประโยชน์จึงเปรียบเสมือนการออกบัตรหรือคูปองที่แสดงสิทธิที่ผู้ซื้อจะได้มาซึ่งสินค้าหรือบริการในอนาคต และในส่วนของคริปโทเคอร์เรนซีอาจถูกโตแย้งได้ว่า เป็นกรณีที่ผู้ซื้อมีการบริโภค (consumption) ตัวคริปโทเคอร์เรนซีอย่างสินค้า ส่วนผู้ขายหรือผู้โอนก็มีการขายคริปโทเคอร์เรนซีอย่างสินค้าเช่นเดียวกัน
นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาถึงหลักการของการลงทุนในโทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุน ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้นักลงทุนจำนวนมากได้เข้าร่วมลงทุนในโครงการหรือกิจการโดยนักลงทุนจะได้รับผลตอบแทนจากการลงทุน รวมทั้ง อาจได้รับคืนเงินลงทุน ทำให้น่าคิดว่า การลงทุนในโทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุนมีลักษณะที่คล้ายคลึงกับการลงทุนในหุ้นกู้หรือตราสารแสดงสิทธิในหนี้ อันเป็นเงินได้พึงประเมินที่มีลักษณะ (nature) เช่นเดียวกับเงินได้พึงประเมินประเภทอื่น ๆ ตามมาตรา 40(4) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งการลงทุนในรูปแบบทุน หรือ หนี้ หรือ financial products อย่างหนึ่งอย่างใด ล้วนแต่อยู่ในขอบข่ายการจัดเก็บเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ ทั้งนี้ ตามแต่ประเภทและการประกอบกิจการของผู้ลงทุนในแต่ละกรณี
จากกรณีข้างต้นจึงอาจกล่าวได้ว่า ผู้ออกโทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุนไม่ได้การกระทำการขายสินค้าหรือให้บริการใด ๆ แก่นักลงทุนในลักษณะเป็นผู้ประกอบการ และไม่ควรต้องนำเงินที่ได้รับจากการระดมทุนซึ่งเป็นหนี้สินอย่างหนึ่งมาเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่อย่างใด
แม้ว่ากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการจัดเก็บภาษีบนสินทรัพย์ดิจิทัลจะมีผลใช้บังคับมากว่าสามปีแล้วก็ตาม จะเห็นได้ว่าในทางปฏิบัติกรมสรรพากรยังไม่สามารถจัดเก็บภาษีจากนักลงทุนตามกฎหมายดังกล่าวได้จริง ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น ? ปัญหาอยู่ที่ตรงไหน ? คำถามเหล่านี้คงอยู่ในใจของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่ายในเรื่องนี้
จากการพิเคราะห์ การจัดเก็บภาษีบนสินทรัพย์ดิจิทัลในประเทศไทยนั้นมีอุปสรรคสำคัญอยู่หลายประการ ซึ่งในบทความนี้จะขอนำเอาปัญหาหลัก 3 ประการมาอธิบายให้เห็นภาพดังนี้
3.1) การคำนวณต้นทุนสินทรัพย์ : สำหรับภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายจากผลกำไรที่ได้จากการขาย หรือแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัล ไม่ว่าใครจะถือว่าเป็นผู้จ่ายเงินได้ และเป็นผู้มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่ายก็ตาม อุปสรรคที่สำคัญที่สุดที่ทำให้ยังไม่มีการดำเนินการหักภาษี ณ ที่จ่ายในปัจจุบันคือ ปัญหาเรื่องการคำนวณต้นทุนสินทรัพย์ดิจิทัลที่นำมาขาย หรือแลกเปลี่ยนเพื่อนำมาใช้เป็นฐานในการคำนวณกำไรจากการขายและการคำนวณภาษี ซึ่งในความเป็นจริงแล้วแทบจะไม่มีความเป็นไปได้ในการดำเนินการเลย อย่างที่ทราบกันดีว่าในการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลนั้น โดยปกตินักลงทุนจะทำการซื้อขายไปมาหลายครั้ง ประกอบกับมีการโอนสินทรัพย์ข้ามไปมาได้โดยตรงระหว่าง Wallet ของนักลงทุนด้วยกันเอง หรือการโอนสินทรัพย์ข้ามไปมาระหว่าง Exchange Platform ทั้งผู้ให้บริการแพลตฟอร์มในประเทศและในต่างประเทศ ด้วยเหตุดังกล่าว จะเห็นได้ว่าการหาต้นทุนที่แท้จริงของสินทรัพย์ดิจิทัลที่นักลงทุนแต่ละรายนำมาขาย หรือแลกเปลี่ยน เพื่อนำมาคำนวณกำไรจากการขาย และคำนวณภาษีหัก ณ ที่จ่าย นั้นทำได้ยากมาก ไม่ว่าผู้จ่ายเงินได้จะเป็นผู้ซื้อสินทรัพย์ดิจิทัลต่อจากนักลงทุน หรือจะเป็น Exchange Platform ที่มีระบบจัดเก็บข้อมูลการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลผ่านแพลตฟอร์มของตนเองอยู่แล้วก็ตาม เมื่อไม่สามารถคำนวณจำนวนภาษีที่ต้องหักได้ ก็ไม่มีผู้จ่ายเงินได้รายใดสามารถปฏิบัติตามกฎหมายในข้อนี้ได้
3.2) การตรวจสอบและการเข้าถึงข้อมูลของกรมสรรพากรอาจทำได้ไม่ง่ายนักและอาจต้องใช้ค่าใช้จ่ายสูง : ปัจจุบันนักลงทุนมีทางเลือกในการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล โดยเฉพาะคริปโทเคอร์เรนซี หลายช่องทาง และด้วยการลงทุนดังกล่าวปราศจากข้อจำกัด ทำให้นักลงทุนไทยสามารถลงทุนผ่าน Platform ของบริษัทต่างประเทศได้ และการโอนเปลี่ยนมือ รวมถึงการชำระราคาเป็นไปได้อย่างรวดเร็วไร้พรมแดน นอกจากนี้ เนื่องจากในทางปฏิบัติไม่มีการหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ โดยเฉพาะเงินได้ที่เป็นกำไร (Capital Gain) จากการขายโทเคนดิจิทัลหรือคริปโทเคอร์เรนซีในตลาดรอง ประกอบกับนักลงทุนโดยเฉพาะบุคคลธรรมดา ก็ไม่ได้สมัครใจยื่นแบบแสดงกำไรจากการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลมารวมคำนวณเงินได้สุทธิหรือกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้ด้วยตนเอง กรณีดังกล่าวส่งผลให้การที่กรมสรรพากรจะเข้าถึงแหล่งข้อมูลหรือตรวจสอบเพื่อให้ทราบข้อมูลใด ๆ เกี่ยวกับการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลเป็นได้โดยไม่ง่ายและอาจต้องมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินการที่สูง กรณีดังกล่าวอาจเป็นเหตุให้กรมสรรพากรยังเดินหน้าบังคับใช้กฎหมายหรือเอาผิดกับผู้จ่ายเงินได้และนักลงทุนที่จงใจหลีกเลี่ยงกฎหมายในขณะนี้ จึงเป็นอีกหนึ่งในคำตอบสำคัญว่า ทำไมเราจึงยังไม่เห็นมีตัวอย่างในการจัดเก็บภาษี หรือมีนักลงทุนรายใดที่ได้เสียภาษีจากการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลในทางปฏิบัติจริง ๆ เลยซักราย ทั้ง ๆ ที่กฎหมายก็ใช้บังคับมาหลายปีแล้ว
3.3) ความไม่ชัดเจนในแนวทางการจัดเก็บภาษี : ต้องยอมรับว่าการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลนั้นเป็นเรื่องใหม่ และมีความสลับซับซ้อนในการทำธุรกรรมค่อนข้างมาก หากรัฐต้องการจัดเก็บภาษีจากธุรกรรมประเภทนี้อย่างจริงจัง ก็จำเป็นที่จะต้องชี้แจงแนวทางในการจัดเก็บภาษีในประเด็นต่าง ๆ แก่นักลงทุนให้ชัดเจน ยกตัวอย่างเช่น กรณีไหนบ้างที่ต้องจัดเก็บ หรือไม่ต้องจัดเก็บภาษี การนำคริปโทเคอร์เรนซีประเภทหนึ่งไปแลกเปลี่ยนกับคริปโทเคอร์เรนซีอีกประเภทหนึ่ง ต้องเสียภาษีเงินได้หรือไม่ การขายคริปโทเคอรร์เรนซีที่ได้มาจากการขุด (Mining) จะต้องเสียภาษีเงินได้อย่างไร ต้นทุนในการขุดจะสามารถนำมาหักรายจ่ายในการคำนวณเงินได้สุทธิหรือกำไรสุทธิได้หรือไม่ หรือการขาย หรือแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัลระหว่างนักลงทุนจะต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มหรือไม่ อย่างไร รวมถึงวิธีการคำนวณภาษีในกรณีต่าง ๆ เช่น การคำนวณต้นทุนของสินทรัพย์ดิจิทัลต้องใช้ทฤษฎีใด FIFO LIFO หรือทฤษฎีทางบัญชีอื่น ๆ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม นับแต่กฎหมายภาษีอากรที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลของไทยออกมาใช้บังคับ กรมสรรพากรไทยยังไม่เคยออกไกด์ไลน์หรือคำอธิบายใด ๆ เพื่อสร้างความชัดเจนในประเด็นต่าง ๆ เหล่านี้เลย ทำให้แนวทางในการจัดเก็บภาษีตามกฎหมายไทยยังมีความคลุมเครืออยู่มาก ด้วยเหตุนี้ แม้ว่านักลงทุนบางรายสมัครใจที่จะเสียภาษีอย่างถูกต้องตามกฎหมายก็ตาม หากตัวนักลงทุนเองยังไม่ทราบเลยด้วยซ้ำว่าการทำธุรกรรมของตนเองอยู่ในข่ายที่จะต้องเสียภาษีหรือไม่ อย่างไร เช่นนี้แล้ว การปฏิบัติตามกฎหมายให้ถูกต้องคงเป็นไปได้ยาก และความยุ่งยากเหล่านี้อาจอีกหนึ่งสาเหตุให้นักลงทุนหลายรายถอดใจ
จากที่ได้อธิบายมาทั้งหมดนี้ คงพอทราบในเบื้องต้นกันแล้วว่าประเทศไทยมีหลักเกณฑ์ในการจัดเก็บภาษีจากการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลอย่างไร และคงพอได้คำตอบกันไปพอสมควรว่าทำไมการจัดเก็บภาษีตามหลักเกณฑ์ดังกล่าวจึงทำได้ยากในความเป็นจริง ซึ่งปัญหาและอุปสรรคต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ก็คงต้องเป็นหน้าที่ของภาครัฐและกรมสรรพากรซึ่งเป็นผู้มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงในการบังคับใช้กฎหมายและการจัดเก็บภาษี ที่จะต้องเร่งดำเนินการแก้ไข คลายข้อสงสัย และสร้างความชัดเจนในประเด็นต่าง ๆ ว่าจะทำอย่างไรให้การจัดเก็บภาษีในส่วนนี้สามารถดำเนินการได้จริงอย่างเป็นรูปธรรมสมกับเจตนารมณ์ในการออกกฎหมาย สร้างความเท่าเทียมกันกับการลงทุนในสินทรัพย์ประเภทอื่น โดยไม่ก่อให้เกิดภาระแก่นักลงทุนมากจนเกินไป ยกตัวอย่างเช่น
แก้ไขกฎหมายให้ภาษีหัก ณ ที่จ่ายเป็นภาษีสุดท้าย (final tax) ของนักลงทุนที่เป็นบุคคลธรรมดาโดยไม่จำเป็นต้องนำกำไรไปรวมคำนวณเงินได้สุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้เมื่อสิ้นปีอีก
การกำหนดหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนในการคำนวณภาษีหัก ณ ที่จ่าย ให้บุคคลที่เกี่ยวข้องนำไปใช้เพื่อให้เกิดความแน่นอนและเท่าเทียมในการจัดเก็บภาษี
การออกกฎหมายหรือระเบียบปฏิบัติให้เกิดความชัดเจนในเรื่องภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยเฉพาะการออกโทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุนที่ไม่ควรต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่อย่างใด
ทั้งนี้ หากแนวทางในการจัดเก็บภาษีจากการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลได้รับการพัฒนา ปรับปรุงแก้ไขจนมีความชัดเจน และสามารถใช้บังคับได้อย่างเท่าเทียมและเป็นรูปธรรม นอกจากประโยชน์จากเม็ดเงินภาษีที่รัฐจะได้รับแล้ว ยังจะเป็นปัจจัยที่ช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน ซึ่งจะเป็นการส่งเสริมให้สินทรัพย์ดิจิทัลในประเทศไทยเติบโตต่อไปได้อย่างมั่นคงในอนาคต และเชื่อได้ว่าจะเป็นผลดีต่อบรรยากาศการลงทุนและเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศไทยอย่างแน่นอน
===================================
บทความโดย
คุณนพพร เจริญกิจราษฎร์ ทนายความหุ้นส่วน
คุณโสมิกา ภคภาสน์วิวัฒน์ ทนายความหุ้นส่วน
บริษัท เบเคอร์ แอนด์ แม็คเค็นซี่ จำกัด
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด