เปรียบเทียบความก้าวหน้าการปรับใช้ AI ในจีนและสหรัฐ จากงาน Singapore FinTech Festival 2018 ในหัวข้อ "AI Powerhouses: A Spotlight on the US & China" โดย Helen Liang หุ้นส่วนผู้จัดการของ FoundersX Ventures ได้พูดในมุมของประเทศสหรัฐอเมริกา และ Steven White ศาสตราจารย์ภาควิชานวัตกรรม ผู้ประกอบการและกลยุทธ์ จากมหาวิทยาลัยชิงหัว ได้พูดในมุมของประเทศจีน
เฮเลน กล่าวว่า สหรัฐมีความก้าวหน้ามากกว่าในแง่ของการวิจัยและพัฒนา ในขณะที่จีนมี AI applications ที่ก้าวหน้า ในแง่ของการจัดการข้อมูล และการเข้าถึงข้อมูล อีกทั้งกฎข้อบังคับในการเข้าถึงข้อมูลยังไม่ได้เคร่งครัดมากนัก เธอมองว่าในอนาคตเมื่อมีคนเข้าถึงข้อมูลมากขึ้นอาจจะไม่ได้มีการต่อต้านเสียทีเดียว แต่จะเป็นการค่อย ๆ ปรับตัวรับมือกับกฎที่จะเพิ่มเข้ามามากกว่า
สตีเวน เสริมว่า จีนมีสปิริตในเรื่องการทดลองนวัตกรรมใหม่ๆ อยู่เสมอ มีแนวโน้มที่จะ “ลองทำก่อน กลยุทธ์ค่อยมาทีหลัง” ซึ่งเขามองว่าสิ่งนี้จะก่อให้เกิดผลกระทบขนาดใหญ่ในระยะยาว ในขณะที่สหรัฐจะมีกลยุทธ์ที่ชัดเจนแล้วค่อยๆ ทำตามแผนที่วางไว้ ซึ่งเฮเลนเห็นด้วยในเรื่องนี้ อีกทั้งเพิ่มเติมว่า การที่จีนมีวิธีการแบบนี้เพราะมีการแข่งขันสูง ดังนั้นต้องไปให้เร็ว ไม่อย่างนั้นไม่รอด
สหรัฐนั้นไอเดียและกลยุทธ์ต้องมาก่อน แต่จีนนั้นไม่ เพราะแม้จะมีไอเดีย แต่ไม่ลงมือทำ วันต่อมาอาจมีคนลงมือทำไปแล้ว เพราะฉะนั้นสิ่งสำคัญต้องไปไห้ไว
นอกจากนี้หนึ่งในปัจจัยที่ทำให้ FinTech ประสบความสำเร็จรวดเร็วในจีน ก็เพราะเนื่องจากตอนแรกไม่ได้มีกฎข้อบังคับมากนัก ทำให้ผู้เล่นสามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างอิสระ แล้วพอเริ่มได้รับความนิยมมากขึ้นก็ทำให้มีการออกกฎข้อบังคับมากขึ้น
ในจีน ผู้เล่นมีความร่วมมือกันอย่างแข็งแกร่งในการทำงานร่วมกัน ทั้งภาคมหาวิทยาลัย สังคม รัฐบาล และองค์กร ทุกอย่างเนินไปในทิศทางเดียวกัน ตรงกันข้ามในสหรัฐ การผลักดันของ AI มาจากภาครัฐเป็นส่วนใหญ่ อีกทั้งทุกภาคส่วนทำงานแยกกัน ยกตัวอย่างเช่น คนที่ทำงานใน Google มีแนวโน้มที่จะลาออกหากพวกเขารู้ว่า Google จะทำงานร่วมกับฝ่ายทหาร ซึ่งถ้าเกิดกรณีเดียวกันในจีนจะไม่เป็นเช่นนี้
จีนได้มีความพยายามในการสร้างสถาบันทางการศึกษาตามพื้นที่ต่าง ๆ ในการดึงดูด talent อีกทั้งมีพนักงานที่ทำมากกว่าหนึ่งหน้าที่ เช่น นอกจากทำงานแล้วยังเข้าไปมีส่วนร่วมในมหาวิทยาลัยเพื่อทำการค้นคว้าเรื่อง AI เพิ่มเติม
ในสหรัฐเองนั้น ล่าสุดสถาบัน MIT ได้มีการก่อตั้ง MIT Stephen A. Schwarzman College of Computing วิทยาลัย AI ดึงดูดเหล่าคนที่มีความสามารถจากพื้นฐานที่หลากหลาย นอกเหนือจากสาขาวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ เช่น สาขาปรัชญา จิตวิทยาและอื่น ๆ
ในสหรัฐเทคโนโลยี Facial recognition หรือระบบการจดจำใบหน้า ได้มีการใช้กันอย่างแพร่หลายในด้านการจัดการความปลอดภัย การควบคุมการจราจร และในระบบธนาคาร
ส่วนในจีน การเกิดขึ้นของ AI ส่งผลให้ภาคการศึกษาและการดูแลสุขภาพได้รับผลกระทบและเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมหาศาล นอกจากนี้หุ่นยนต์ช่วยดูแลผู้สูงอายุก็ได้เป็นสิ่งหนึ่งที่รัฐบาลจีนให้ความสำคัญ อีกทั้งยังได้มีการสร้างพยาบาลเสมือนซึ่งจะสามารถดูแลผู้ป่วยได้ตลอด 24 ชั่วโมง
ในสหรัฐได้มีการใช้ “Robo advisor” บริษัทใหญ่จะมองหาหุ่นยนต์ที่เป็นที่ปรึกษามากกว่าจะเป็นมนุษย์ นอกจากนี้ธนาคารยังได้มีการมองหา AI FinTech Startup ที่ช่วยในการจัดการข้อมูลมหาศาลมากขึ้นอีกด้วย
คงจะพอทราบถึงภาพรวมการแข่งขันของ AI ในแต่ละประเทศกันบ้างแล้ว จะเห็นได้ว่าไม่ว่าจะที่ไหนในโลก แม้จะมีทรัพยากรหรือคนเก่ง ๆ มากแค่ไหน แต่ถ้าไม่รู้จักนำมาใช้อย่างมีประสิทธิภาพก็เปล่าประโยชน์ นอกจากนี้การผลักดันจากทุกภาคส่วนและการลงมือทำนั้นก็เป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้เกิดนวัตกรรมใหม่ ๆ มากขึ้น แล้วไทยเราอยู่ในจุดไหน? ผู้อ่านคิดว่าอย่างไร?
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด