1 ทศวรรษการเดินทางของกาแฟไทย ‘Akha Ama’ กับแนวคิด ‘ธุรกิจเพื่อสังคม’ ที่ส่งกลิ่นหอมกรุ่นไปทั่วโลก | Techsauce

1 ทศวรรษการเดินทางของกาแฟไทย ‘Akha Ama’ กับแนวคิด ‘ธุรกิจเพื่อสังคม’ ที่ส่งกลิ่นหอมกรุ่นไปทั่วโลก

‘Akha Ama (อาข่า อ่ามา)’ เป็นชื่อของแบรนด์เมล็ดกาแฟพันธุ์อาราบิก้า - ผลผลิตจากแหล่งปลูกกาแฟในหมู่บ้านแม่จันใต้ ตำบลท่าก๊อ อำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย ซึ่งอยู่บนพื้นที่สูง 1,300 เมตร จากระดับน้ำทะเล ในเชิงภูมิศาสตร์ ที่นี่คือแหล่งผลิตเมล็ดกาแฟชั้นดีที่ถูกล้อมรอบด้วยภูเขา ป่าไม้และธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ ด้านสุนทรียศาสตร์ เมล็ดกาแฟจากแหล่งปลูกนี้นอกจากจะได้รับการกล่าวขานจากบรรดานักชิมกาแฟแล้ว ยังได้รับการรันตีด้านคุณภาพในระดับสากล โดยได้รับคัดเลือกจากสมาคมกาแฟชนิดพิเศษแห่งยุโรป เพื่อใช้ในงานชิมกาแฟนานาชาติ ถึง 3 ปีซ้อน ที่ประเทศอังกฤษ เนเธอร์แลนด์และออสเตรีย

ย้อนไปในปี 2010 ช่วง 6 เดือนแรกของการเริ่มต้นกิจการ ‘Akha Ama’ มีรายได้จากการขายกาแฟเฉลี่ยแล้วเพียง 3 แก้วต่อวัน แต่สามารถพลิกเกมธุรกิจก้าวข้ามวิกฤตนั้นไปสู่การส่งออกเมล็ดกาแฟ จนขยับตัวเลขขึ้นมาเป็น 30,000 กิโลกรัมต่อปี ในปีที่ 9 ได้ โดยตลอดการดำเนินกิจการใช้งบประมาณการโฆษณาเพียง 0 บาท

‘ลี-อายุ จือปา’ ผู้ก่อตั้งบอกกับเราว่า ‘Akha Ama’ เป็น ‘กิจการเพื่อสังคม (Social Entreprise)’ ที่ทำหน้าที่เป็นตัวกลางกระจายเมล็ดกาแฟ-ผลผลิตของชุมชนไปสู่ท้องตลาด ยิ่งชวนให้เราสงสัยเข้าไปอีกว่า ‘กิจกรรมเพื่อสังคม’ กับ ‘การทำธุรกิจ’ นั้น สามารถทำควบคู่กันได้อย่างไร

นอกจากเม็ดเงินและรายได้ที่กลับคืนสู่ชุมชนแล้ว เรายังอยากชวนผู้อ่านมาร่วมสังเกตุการณ์และออกเดินทางพร้อมๆ กันไปยังจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อไปสำรวจ ‘แนวคิดธุรกิจเพื่อสังคม’ ที่สามารถตั้งอยู่และเติบโตมาได้จนถึง ‘1 ทศวรรษ’

หากพร้อมแล้ว คาดซีทเบลท์แล้วตามเราไปหาคำตอบที่ ‘Akha Ama Living Factory’ โรงคั่วกาแฟมีชีวิต ที่อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่เลย!

ออกจากบ้านเพื่อหาทางกลับบ้านอย่างมั่นคง นั่นคือจุดเริ่มต้นของ ‘ลี-อายุ จือปา’ กับแนวคิด ‘ธุรกิจเพื่อสังคม’

ในวงการกาแฟ น้อยคนนักที่ไม่รู้จัก ‘ลี-อายุ จือปา’ ส่วนในวงสังคมและแวดวงธุรกิจ ‘Akha Ama’ เป็นนามสกุลพ่วงท้ายชื่อของเขา

ย้อนกลับไปในปี 2009 หลังจาก ‘ลี-อายุ’ ชายหนุ่มวัย 24 ที่เวลานั้นเขาเป็นเยาวชนรุ่นแรกของหมู่บ้านชนเผ่าอาข่า ที่สำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาตรี ได้สั่งสมประสบการณ์การทำงานเพื่อสังคมในฐานะพนักงานประจำในองค์กรระหว่างประเทศเป็นปีที่ 3 ในเวลานั้น นับว่าเขาประสบความสำเร็จในการไล่ตามความฝันและได้เป็น ‘นักพัฒนา’ อย่างเต็มตัวแล้ว

แต่ด้วยสายเลือดของนักพัฒนา ชายหนุ่มมีเป้าหมายที่ใหญ่กว่า เขาเชื่อมั่นว่าแพสชั่นและความฝันที่มีอยู่ในตอนนั้นจะผลักดันให้ก้าวไปสู่การเป็น Distributor และ Contributor รวมไปถึง Connector ให้คนในชุมชนกับสังคมข้างนอกได้

นั่นคือจุดเริ่มต้นในเดินทางกลับบ้านครั้งสุดท้าย ที่เขาเองก็ไม่มั่นใจในชะตากรรมที่จะเกิดขึ้น หากแต่สิ่งที่มีในตอนนั้นคือพลังที่จะทำและหัวใจที่พร้อมจะเรียนรู้ 

เห็นวิกฤตเศรษฐกิจ จึงอยากสร้างเกราะป้องกันให้คนในชุมชน ให้สามารถพึ่งพาตัวเองได้

เมื่อพูดถึงธุรกิจเพื่อสังคม (SE) ในช่วงสิบปีที่ผ่านมา คงปฏิเสธไม่ได้ว่าคนส่วนใหญ่มักนึกถึงมูลนิธิ ซึ่งในปี 2009 นั้นเอง ‘ลี-อายุ’ เริ่มทำแผนธุรกิจเพื่อที่จะโยนหินถามทาง เพื่อดูว่าประเทศไทยพร้อมในเรื่องของ SE แล้วหรือยัง นอกจากจะศึกษาโมเดลธุรกิจ SE แล้ว เขายังศึกษาแนวคิดการ Scale Up ในวิถี Startup ด้วย เมื่อมองเห็นโอกาสในการเติบโตและความเป็นไปได้ในการระดมทุนแล้ว จึงเริ่มทำงานร่วมกับคนในชุมชน โดยมีพืชไร่-พืชสวนที่อยู่รอบตัวเป็นต้นทุน

ลีเล่าต่อว่า ในช่วงเวลานั้นเขาเห็นวิกฤตการณ์แฮมเบอร์เกอร์ (Hamburger Crisis) ซึ่งในเมืองไทยเองก็มีปัญหาทางการเมือง ที่ไม่รู้ว่าประเทศจะเดินไปในทิศทางไหน แต่สิ่งที่จะปรับตัวเพื่อรับกับสถานการณ์ในตอนนั้นได้ คือต้องสร้างเกราะป้องกันให้กับคนในชุมชน ที่ไม่ใช่เพียงแค่การไปบรรเทาในลักษณะให้ความช่วยเหลือในภาวะฉุกเฉิน แต่มองลึกลงไปว่าจะทำอย่างไรจึงจะช่วยให้คนในชุมชนสามารถพัฒนาและอยู่ได้ด้วยตัวเอง จึงเป็นจุดเริ่มต้นในการใช้แนวคิดเศรษฐกิจที่พึ่งพาตัวเอง โดยใช้หลักความพอเพียงและเกษตรทฤษฏีใหม่ แนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 มาเป็นแนวทางในการทำงานร่วมกับ Business Model ของ SE เพื่อผลักดัน Integrated Farming ให้เกิดขึ้นในชุมชน

(ระ)หว่าง(ภู) ‘เขา’ และ ‘เรา’ ทำไมจึงไม่ใช้ไม้ผลเมืองหนาว พืชไร่และใบชา? 

ก่อนเริ่มเขียนแผนงานและก่อนจะเลือกใช้ ‘เมล็ดกาแฟ’ มาเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนกิจกรรมเพื่อสังคมควบคู่การทำกิจการ ลีได้ทำงานร่วมกับคนในชุมชนอย่างหนัก จนเห็นพ้องต้องกันว่าจะผลักดัน ‘เมล็ดกาแฟ’ ให้เป็นสินค้าอันดับหนึ่ง จากทั้งหมดของพืช-ผัก-ผลไม้นานาชนิดที่มีอยู่รอบตัว เขาเล่าต่อว่า แม้จะ Brainstorming รวมไปถึงทำ Design Thinking ที่ทำให้เขาพบว่ามีพืช ผักและผลไม้มากมายที่สามารถเติบโตได้ดีบนยอดดอยในชุมชนที่เขาอยู่ ซึ่งคนในชุมชนเองก็สามารถปลูกพืชทุกชนิดได้ดี แต่ลีกลับไม่เลือกผักและผลไม้เมืองหนาวเพราะมีความเสี่ยงสูงกว่า หากไม่สามารถเก็บเกี่ยวได้ในวันนั้น ในวันต่อไปก็อาจจะเก็บเกี่ยวไม่ทัน ซึ่งดูเหมือนว่าในตอนนั้น ‘ชา’ กับ ‘กาแฟ’ ต่างก็มีความเป็นไปได้สูสีกัน

เมื่อใช้ ‘ข้อมูล’ มาร่วมคาดการณ์ เพื่อที่จะสำรวจลึกลงไปในชากับกาแฟ เขาพบว่ากาแฟ นอกจากจะมีแนวโน้มในการบริโภคที่สูงขึ้นแล้ว ยังมีเรื่องของอาชีพ เรื่องของเทรนด์ต่างๆ ที่เป็นข้อได้เปรียบ ยิ่งไปกว่านั้น กาแฟยังสามารถเติบโตได้ดีกับสภาพแวดล้อมในชุมชนที่เขาอยู่ สามารถปลูกร่วมกับพันธ์ุไม้และผลไม้ชนิดอื่นๆ เพื่อช่วยรักษาฤดูกาลได้  ชายหนุ่มยังมองการณ์ไกลไปถึงอนาคตด้วยว่า รายได้ที่จะเข้ามา จะไม่ใช่เพียงรายได้จากการขายเมล็ดกาแฟแต่จะเป็นรายได้จากผลิตผลของพืชนานาชนิดที่เติบโตร่วมกับต้นกาแฟ

เมื่อ ‘กิจการ’ ต้องควบคู่ไปกับ ‘กิจกรรมเพื่อสังคม’

แม้ว่ากิจรรมเพื่อสังคมจะเป็นสิ่งที่รักและเป็นงานถนัด แต่ประสบการณ์ด้านธุรกิจยังคงเป็นสิ่งใหม่ ที่มากไปกว่านั้นคือการต้องเอากิจกรรมเพื่อสังคมมาเกี่ยวพันกับกิจการและยังต้องผลักดัน Product ให้เกิด ให้สามารถสเกลได้  ในเวลานั้นนอกจากจะเป็นความท้าทายใหม่แล้ว ยังเป็นความย้อนแย้งในใจที่เขาใช้เวลาตลอดปีแรกเพื่อปรับตัว

“ก่อนอื่นจะต้องเข้าใจบริบทของสังคม ต้องไปอยู่ ไปคลุกคลี ไปรู้และไปเห็นปัญหา เพราะสุดท้ายแล้วความเข้าใจตรงนี้จะตอบคำถามว่า กิจการที่ทำจะไปช่วยบรรเทาปัญหาอะไร สิ่งที่ทำจะสามารถแก้ไขปัญหาเหล่านั้นได้ไหม หรือแม้กระทั่งถ้าทำแล้วไปเพิ่มอุปสรรค์ ไปเพิ่มปัญหาให้เขาอีก ตรงนั้นจะไม่ใช่ SE

เมื่อเข้าใจตรงนี้แล้ว ความรู้สึกบวกกับองค์ความรู้เหล่านี้จะถูกแปลงจากแค่วิถีชีวิตที่อยู่บนความเชื่อไปเป็น data ซึ่งสิ่งเหล่านี้มีความสำคัญมากต่อการสร้างทั้ง Business Model รวมไปถึงการวาง Strategy ที่จะเป็นตัวชี้นำแนวทางในการวางแผนทั้งเรื่อง Operation และ Financial ด้วย” ลีบอกกับเราผ่านประสบการณ์การยืนหยัดอยู่บนเส้นทาง SE มาแล้วกว่า 10 ปี

เมื่อเริ่มวางแผนธุรกิจ ต้องตระหนักอยู่เสมอว่า SE นั้น จำเป็นจะต้องเข้าใจความต้องการของคนในชุมชนด้วย ต้องเข้าใจว่า นอกจากคนในชุมชนจะต้องการรายได้ที่เหมาะสมและยุติธรรมกับสิ่งที่ทำแล้ว ไร่-สวนที่ทำการเพาะปลูกอยู่ก็ยังเป็นพื้นที่เขตป่าสงวน ฉะนั้น เขาจึงต้องมีความรู้ในการจัดการต้นน้ำ ลูกหลานที่กำลังจะเติบโตขึ้นในรุ่นต่อไปจะต้องมีความรู้ที่ไม่ใช่แค่ความรู้ในมหาวิทยาลัย แต่ต้องรู้ถึงสิทธิในการทำมาหากิน เพื่อที่จะอยู่รอดให้ได้ในผืนป่าอุทธยานและพื้นที่ที่มีกฎหมายทับซ้อน ดังนั้นการศึกษาจึงสำคัญต่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน เพื่อที่จะสามารถเข้าถึงสิทธิ์ เข้าถึงเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่จะนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพแหล่งเพาะปลูก พัฒนาคุณภาพผลผลิต รวมไปถึงการพัฒนาตัวเองซึ่งจะนำไปสู่ความภาคภูมิใจในอาชีพด้วย

นั่นเป็นที่มาของ ‘3E Philosophy’ หัวใจหลักในการผลักดันแนวคิด SE ที่จะร่วมเดินทางไปกับชื่อแบรนด์ Akha Ama ซึ่งประกอบไปด้วย Economy, Education และ Environtment ที่ลีอธิบายต่อว่า

“หากเศรษฐกิจในชุมชนดี ก็จะส่งผลดีต่อการศึกษา นั่นหมายถึงทุนทรัพย์และโอกาสด้านการศึกษาของลูกหลาน ในขณะเดียวกันก็จะเกิดการพัฒนาไปสู่การอนุรักษ์และรักษาสิ่งแวดล้อม เมื่อสิ่งแวดล้อมดีขึ้นก็จะกลับมาสู่ผลผลิตที่ดี ที่จะส่งผลต่อเศรษฐกิจและการศึกษา มันก็เลยจะเป็นการหมุนที่ใหญ่ขึ้น ซึ่งจะไม่ใช่การหมุนเพียงรอบเดียว แต่เป็นการหมุนในลักษณะ Spider web” 

ในยุคนั้น ลีเป็นเยาชนรุ่นแรกของหมู่บ้านที่สำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาตรี ปัจจุบันเยาวชนในหมู่บ้านทั้งหมดสามารถเข้าถึงการศึกษาในระดับปริญญาตรีได้ รวมไปถึงสามารถสื่อสารได้มากกว่า 3 ภาษา-ไม่รวมภาษาถิ่น สิ่งที่ส่งผลตามมาคือการเข้าถึงสิทธิ์และโอกาสต่างๆ ในการพัฒนาสังคม จากเพียงแค่หนึ่งหมู่บ้านก็กระจายไปสู่ระดับตำบล ผลกระทบเชิงบวกนี้ยังส่งต่อไปในระดับอำเภอ จังหวัดและในระดับประเทศด้วย

นึกถึงการ Scale Up ตั้งแต่วันแรกของการทำธุรกิจ 

เมื่อมีแนวทางที่แน่ชัดและเป้าหมายที่แน่วแน่ว่า Akha Ama จะเป็นที่ลงทุนให้กับเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟ โดยไม่ต้องใช้เงินแต่ใช้เมล็ดกาแฟแทน จากนั้นลีก็ได้แบ่งแผนการทำงานเป็นแผนระยะสั้น-แผนละ 3 ปี ซึ่งเป็นแผนที่จะนำไปสู่เป้าหมายระยะยาว แน่นอนว่าในแผนนี้เขามองการณ์ไกลไปถึงการสเกลธุรกิจในอนาคตเป็นหลัก และแผนธุรกิจที่ว่านี้ยังนำมาซึ่งเงินทุนให้เปล่า (Grant) 560,000 บาท จาก Angel Invester อีกด้วย 

แผน 3 ปีแรกของ Akha Ama ที่จะนำไปสู่แผนระยะยาวที่ว่านี้ ลีลงลึกในรายละเอียดอีกว่า ในปีแรก เขาตั้งใจจะทำออฟฟิศเพื่อให้มีพื้นที่ที่เป็นศูนย์กลางที่จะสื่อสารกับผู้คนได้ง่าย-จังหวัดเชียงใหม่จึงเป็นจุดยุทธศาสตร์ ส่วนปีที่ 2 เขาวางแผนเอาไว้ว่าจะพาธุรกิจไปสู่ Break Event Point ให้ได้ ซึ่งจะช่วยให้มีรายได้ที่บาลานซ์กับรายจ่าย เพื่อจะได้เดินทางเข้าสู่ปีที่ 3 ซึ่งจะเป็นปีที่จะเก็บออมไปสู่การสเกลต่อไปในแผนระยะที่ 2 (ในปีที่ 4)

เช่นเดียวกับหลายๆ ธุรกิจที่เพิ่งเริ่มต้น ในช่วงปีแรก Akha Ama เองก็มีจำนวนลูกค้าและรายได้เข้ามาน้อยกว่าเป้าหมายที่วางเอาไว้มาก ลีจึงใช้ช่วงเวลาระหว่างนี้หาความรู้เพิ่มเติมด้านธุรกิจ รวมไปถึงหาแนวทางเพื่อที่จะผลักดันกิจการไปสู่เป้าหมายตามแผนที่วางเอาไว้ ในปีนั้นเอง เป็นปีแรกที่เมล็ดกาแฟของเขาก็ได้รับการคัดเลือกจากสมาคมกาแฟชนิดพิเศษแห่งยุโรป เพื่อใช้ในงานชิมกาแฟนานาชาติ ซึ่งนำไปสู่จุดเปลี่ยนของ Akha Ama นอกจากจะได้รับการยอมรับในระดับสากลแล้ว ยังเป็นการตอกย้ำถึงคุณภาพของเมล็ดกาแฟไทย ที่นับว่าเป็สะพานเชื่อมให้ลีพากิจการก้าวไปสู่การพัฒนาด้าน Operation เพื่อเตรียมตัวเข้าสู่แผนธุรกิจที่วางเอาไว้ในปีถัดไปได้

วิชากาแฟ ที่ ‘Stumptown Coffee Roasters’’ กับการเตรียมความพร้อมเพื่อไปสู่เป้าใหม่ที่ใหญ่ขึ้น

ในปีที่ 2  นอกจากจะ Break Even Point  ได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ ชายหนุ่มก็ยังได้เห็นผลกำไรที่งอกเงยขึ้น รวมถึงมี Account ที่เป็น Wholesale เกิดขึ้นตามมาในปีที่ 3 ทั้งที่เป็นแผนที่วางแผนเอาไว้ในแผนระยะ 2 ในปีที่ 4 จุดนี้เอง ยิ่งทำให้เขามั่นใจว่า เขาสามารถทำ SE ได้ แต่การจะก้าวเข้าสู่ปีที่ 3 ของ Akha Ama นี้ กลับทำให้ลียิ่งตระหนักว่า หากจะสเกลในแผนระยะที่ 2 ในปีที่  3 เขาควรต้องพร้อมในเรื่องขององค์ความรู้ เหตุนี้จึงจุดประกายการเดินทางครั้งใหม่ โดยมี ‘Stumptown Coffee Roasters’ ต้นแบบธุรกิจคั่วกาแฟ ที่ตั้งอยู่ใน Portland รัฐ Oregon ประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นหมายหมุด

ทว่า การได้พบกับ Andy Ricker เชฟชาวอเมริกัน เจ้าของร้านอาหาร นักเขียนและผู้ชำนาญอาหารไทยภาคเหนือ ผู้ซึ่งเป็นกุญแจดอกสำคัญไปสู่ประตูบานใหม่ ที่ช่วยให้ลีได้เข้าไปเรียนรู้ทุกกระบวนการในการทำธุรกิจกาแฟที่ Stumptown Coffee Roasters ตามความตั้งใจ  คงไม่ใช่เพียงเพราะดวงดาวทำมุม หากแต่เป็นความตั้งใจที่ลีได้ส่งต่อให้กับ Andy ผ่านกาแฟในแก้ว

หลังจากช่วงเวลา 1 เดือนในการไปเรียนรู้กับธุรกิจกาแฟต้นแบบที่ Portland เขากลับบ้านมาด้วยพลังและแพชชั่นที่หนักแน่นกว่าเดิม ในปีที่ 4 ลีได้ขยายกิจการสาขาที่ 2 พร้อมกับเครื่องคั่วกาแฟขนาด 5 กิโลกรัม (หมายถึง Capacity ในการคั่วกาแฟต่อรอบ) การขยายกิจการคครั้งนี้ เขาสามารถ Break Event ได้ภายในระยะเวลาเพียง 4 เดือนและในเวลานั้น Akha Ama ก็มีธุรกิจ 2 Account ใหญ่ๆ ที่งอกเงยขึ้นมา ซึ่งเป็น Retail กับ Wholesale ที่อาจกล่าวได้ว่า ช่วงเวลานี้เป็นช่วงเวลาแห่งการก้าวกระโดด

Akha Ama - กิจการที่เกิดจากความเชื่อเรื่องความยั่งยืน 

เมื่อความยั่งยืนที่เป็นหัวใจสำคัญของธุรกิจ คือการกระตุ้นให้เกิดการซื้อซ้ำ ซึ่งปัจจัยของการซื้อซ้ำนั้นจำเป็นจะต้องมาควบคู่กับคุณภาพของสินค้า เช่นเดียวกัน ธุรกิจเพื่อสังคมที่สามารถยืนหยัดอยู่ได้อย่างยั่งยืนยิ่งจำเป็นจะต้องมี Product ที่ชัดเจนและต้องไม่ลืมที่จะพัฒนาคุณภาพ เมื่อธุรกิจยืนหยัดได้ สิ่งที่ตามมาคือผลกระทบเชิงบวกที่ส่งผลต่อสังคมในวงกว้าง

เช้าวันนั้น ขณะที่เราค่อยๆ ละเลียดกาแฟที่ Akha Ama สาขาสันติธรรม ลีเล่าให้ฟังว่า เขาเพิ่ง Renovate ร้านและปรับทัศนียภาพด้านหน้า แต่ยังคงไว้ซึ่งกลิ่นอายความเชื่อของชนเผ่าอาข่า ในขณะที่เริ่มมีกลุ่มลูกค้าชาวต่างชาติทยอยเข้ามาสั่งกาแฟในร้าน เราสงสัย - จึงถามถึงแรงจูงใจ เพราะการเดินทางไปที่ Akha Ama แต่ละสาขานั้น นอกจากต้องใช้ความตั้งใจแล้ว ยังต้องอาศัยความพยายามด้วย
“คนมากินกาแฟที่อาข่า อ่ามา เขามาเพราะว่าจรรโลงใจ มาเพราะว่าถูกใจ การที่เราทำกาแฟคุณภาพนั้น จะช่วยให้ลูกค้าตัดสินใจกลับมาซื้อซ้ำในครั้งต่อไปได้” ลีบอกอย่างนั้น เราพยักหน้าเห็นด้วยและคะยั้นคะยอให้ลีขยายความต่อ

“การซื้อซ้ำจำเป็นมากต่อวงจรธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจประเภทไหนก็ตาม มันต้อง Sustainable และอยู่ได้ด้วยตัวของมัน ที่สำคัญ Product ต้องชัดเจนด้วย เพราะฉะนั้น Social Impact ไม่ควรจะแยกออกจากกันกับเรื่องของ Profit Impact ที่จะเกิดขึ้น เพราะ SE นั้น จะทำแค่ Charity ไม่ได้ ต้องทำ SE ควบคู่ไปกับ Sustainability ยิ่งไปกว่านั้นต้องให้ความสำคัญกับ Financial Plan และ Operation Plan ให้มาก ต้องมีวินัยในการวางแผนและการใช้จ่าย SE จึงจะสามารถยืนหยัดอยู่ได้ 

เรามองทั้งกระดานว่า ถ้าช่วยแค่เกษตรกรที่มาลงทุนอาจจะไม่เห็นผลอะไร เพราะฉะนั้นต้องเพิ่มความรู้ให้กับคนรุ่นใหม่และสร้างองค์ความรู้ให้กับเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟในชุมชนด้วย โดยเราได้ทำงานร่วมกับสมาคมกาแฟพิเศษไทย รวมไปถึงการทำงานร่วมกับคอมมูนิตี้ของคนทำกาแฟในต่างประเทศ ที่เปิดโอกาสให้เข้ามาเรียนรู้เกี่ยวกับการ Process กาแฟร่วมกับเกษตรกรในชุมชน จากความรู้และเทคนิคการ Process กาแฟที่เคยมีเพียงหนึ่ง ตอนนี้ทวีคูณเพิ่มขึ้นมากกว่า 20 เทคนิคแล้ว”

‘Akha Ama’ ไม่ใช่แค่ธุรกิจกาแฟ แต่เป็นแนวคิดที่ทุกคนสามารถเดินร่วมทางไปด้วยกันได้

‘เมล็ดกาแฟ’ เริ่มต้นเดินทางออกจากไร่กาแฟไปสู่โรงคั่วและส่งต่อไปยังธุรกิจร้านกาแฟ จนกระทั่งส่งผ่านแก้วกาแฟไปสู่ผู้บริโภค ในขณะเดียวกัน Akha Ama ก็กลายเป็นโรงบ่มเพาะเมล็ดพันธุ์ใหม่ในสายอาชีพธุรกิจกาแฟ ที่เมล็ดพันธุ์เหล่านี้จะสามารถเติบโตและงอกงามได้ในทุกที่ ลีเรียกพวกเขาเหล่านั้นว่า ‘Change Agent’ 

เมล็ดพันธุ์ที่ว่านี้ คือบุตรหลานของเกษตรกรที่ร่วมลงทุนกับ Akha Ama นอกจากความภาคภูมิใจที่พวกเขาได้มาขายกาแฟให้กับพ่อแม่แล้ว พวกเขายังจะได้เรียนรู้เบื้องหลังของธุรกิจ เบื้องหลังของ E-commerce เรียนรู้การ Predict การวางแผนสต๊อกสินค้าและ Operation เพื่อที่จะให้ธุรกิจสามารถดำเนินไปได้โดยไม่ขัดข้อง รวมถึงไม่ให้เกิด Over Supply  และรายละเอียดอีกมากมายที่จะร้อยเรียงไปสู่สูตรสำเร็จในธุรกิจ ลีเชื่อว่าสิ่งที่ Akha Ama มอบให้ จะช่วยให้เมล็ดพันธุ์เหล่านี้สามารถพัฒนาต่อให้พวกเขาสามารถเติบโตและออกแบบชีวิตที่ไม่ต้องขึ้นอยู่กับกรอบความเชื่อเดิมๆ ได้

นอกจากนี้ Akha Ama ยังทำงานร่วมกับองค์กรและหน่วยงานการศึกษาต่างๆ ทั้งในเมืองไทยและต่างประเทศ ซึ่งเป็นทั้ง Key Partner และ Key Resouce ที่เข้ามาทำงานร่วมกันตั้งแต่กระบวนการต้นน้ำ ที่ครอบคลุมไปตั้งแต่ดิน น้ำ พันธ์ไม้ ไปจนถึงโรคที่เกิดขึ้นในสวนกาแฟ ทั้งยังเปิดพื้นที่ให้กับหน่วยงานการศึกษาได้เข้ามาดูงาน ซึ่งแนวคิดนี้ก็กลายเป็นจุดเริ่มต้นของ Akha Ama Living Factory ที่ลีอยากให้พื้นที่บนชั้น 2 ให้เป็น Co-create space โดยจะไม่จำกัดแค่เรื่องกาแฟ แต่จะเปิดโอกาสให้ทุกคนได้มาร่วมกันสร้างสรรค์และต่อยอดการพัฒนาในการสร้างผลกระทบเชิงบวกให้กับสังคม

แน่นอนว่า เพื่อนร่วมทางของ Akha Ama ไม่ได้มีเพียงลูกหลานของชาวอาข่าและหน่วยงานการศึกษาเท่านั้น ยังมีคนกินกาแฟที่สนใจกระบวนการเบื้องหลังของการทำกาแฟ จึงเกิด The Coffee Journey ที่พาคนกินกาแฟมาพบกับคนปลูก เพื่อให้เข้าใจคนที่อยู่ต้นน้ำมากขึ้น นับเป็นการสร้างคุณค่าให้คนผลิตเพื่อที่จะได้พัฒนาคุณภาพสินค้าให้คนติดใจ ลีเริ่มจัดทริปแรกในปี 2011 จนประสบความสำเร็จและกลายเป็นต้นแบบในการสร้าง Brand Connectivity ให้กับอีกหลายๆ แบรนด์ในเวลาต่อมา นอกจากนี้ยังมี The Long Journey สหายกาแฟและล่าสุดที่กำลังจะเกิดขึ้นเร็วๆ นี้ คืองาน Festival ที่จะคนในชุมชนจะร่วมกันจัดขึ้น ในครั้งนี้ เป็นครั้งแรกที่ชาวบ้านแม่จันใต้จะชวนคนข้างนอกให้ออกมาเดินทางร่วมกัน เพื่อไปเรียนรู้วิถีชีวิตของเกษตรกรชนเผ่าอาข่า 

หาก Hardware มีชื่อว่า ‘Akha Ama’ แล้ว Software ที่มา Plug-in จะมีหน้าตาอย่างไร?

ระหว่างเดินทางจากร้านกาแฟสาขาแรก ที่ตั้งอยู่ในตัวเมืองเชียงใหม่ ไปยังโรงคั่วกาแฟมีชีวิตที่อำเภอแม่ริม ลีเล่าต่อว่า เขาตั้งใจจะทำหน้าที่เป็น Connector โดยจะเชื่อมโยงผู้คนจากหลากหลายแวดวงให้ได้มาต่อยอดความฝันร่วมกันที่นี่

เมื่อถึงที่หมาย นอกจากเครื่องคั่วกาแฟขนาด 22 กิโลกรัมที่ติดตั้งคู่กับหน้าจอมอนิเตอร์ในโรงคั่วแล้ว ลีชี้มือไปที่อาคารหลังใหม่ ที่ตั้งอยู่ด้านหลังของ Akha Ama Living Factory ส่วนต่อเติมความฝันชิ้นล่าสุดของนักพัฒนาคนนี้ ที่ตามแผนการแล้วอาคารหลังนี้ควรจะอยู่ในแผนระยะที่ 5 ที่เขาอยากสร้างพื้นที่ 5 ไร่ตรงนี้ให้เป็น Learning space ส่วนอาคารหลังนั้นก็จะเป็น Culinary Tradition ที่จะเอาเรื่องของอาหารพื้นถิ่น การเอาวัตถุดิบท้องถิ่นต่างๆ มาประกอบกันและทำงานร่วมกับ Innovation ด้วยความฝันนี้เกิดขึ้นมาเมื่อ 6-7 ปีก่อน ที่เขาได้มีโอกาสไปเป็น Delegate ของ Slow Food International อาคารหลังนั้นที่กำลังจะสร้างเสร็จ จะเป็นพื้นที่ที่เปิดโอกาสให้เพื่อนร่วมอุดมการณ์จากที่ต่างๆ มาร่วมกันผลักดันเรื่องของ Sustainable Comsumption

นอกจากอาหารและนวัตกรรมแล้ว นวัตกรเหล่านั้นจะเชื่อมต่ออะไรให้กับสิ่งที่ลีทำบ้าง?
เราถามต่อ

“เราก็มองไปถึงว่ากาแฟอย่างเดียว ที่เป็น Entreprenuership มันไม่พอ เราก็เลยไปต่อยอดในเรื่องของ Entreprenuership ที่แตกแขนงออกไปว่า เมื่อก่อนเราทำ Priority เป็นกาแฟ แล้วชาไปอยู่ไหน ผลไม้ไปอยู่ไหน อาหารล่ะ?

อย่างทุกวันนี้เราเสริฟเมนูที่นอกเหนือจากกาแฟแล้ว เรายังมีเมนูน้ำผลไม้ ซึ่งเป็นผลิตผลที่เกิดในสวนเดียวกับที่ปลูกกาแฟ เราก็ช่วยเกษตรกรในเรื่องของการกระจายผลผลิตเหล่านี้  แม้กระทั่งใบชาที่เสริฟในร้านเราก็เอามาจากฟาร์มของเกษตรกร ในช่วงที่มีดอกกาแฟ ก็ยังสามารถนำมาทำเป็นชาดอกกาแฟได้ รวมไปถึงรังผึ้งที่เป็นผลผลิตจากผึ้งในสวนกาแฟ ที่เกิดจากเกษตรกรลดการฉีดพ่นยาฆ่าแมลงในสวนด้วย ก็เลยเป็นที่มาในการสร้างพื้นเพื่อต่อยอดแนวคิด Culinary Tradition ซึ่งตอนนี้เราเริ่มทำงานร่วมกับ Food Innopolis และมหาวิทยาลัยแม่โจ้แล้ว การต่อยอดทั้งหมดนี้จะนำไปสู่ Sustainable Program จะไม่จำกัดกับแค่ Local แต่รวมถึงระดับ Global”  เขาสรุปสองสิ่งนี้ ด้วยคำว่า ‘Glocal’ พร้อมอธิบายต่อ ว่า

“การที่เราบอกว่าเราไม่ลืมราก นั่นไม่ได้หมายถึงว่าเราจะอยู่แค่ภูธรเท่านั้นนะ ยิ่งเราไม่ลืมรากมันก็ยิ่งจะไปได้ไกลกว่า เหมือนว่าเรามีจุดยืนที่มั่นคง สมัยก่อนเราไม่มีที่ของตัวเอง เราไม่มี Operation ที่เป็น Facility ของตัวเอง แต่ในวันนี้เราสามารถซื้อที่ได้ เราสามารถสร้าง Facility ของตัวเองได้ ซึ่งไม่ได้ซัพพอร์ตแค่ตัวเอง แต่เรายังสามารถช่วยเหลือคนอื่นได้ อันนี้คือสิ่งที่เรามองในเชิงของ Impact ที่มันเกิดขึ้น” 

ความฝันระยะต่อไปของนักพัฒนา วัย 34

ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา หาก ‘Akha Ama’ เป็น ‘ฮาร์ดแวร์’ ที่ ‘ลี-อายุ’ สร้างเอาไว้ แล้วเป้าหมายระยะใกล้ในอีก 3 ปีข้างหน้า เขาอยากเห็นอะไร?

“เราอยากสร้างผู้ประกอบการรุ่นใหม่ที่ทำเรื่องของรังผึ้ง อาหาร ชอคโกแลต ซึ่งสิ่งเหล่านี้สามารถเอามาอยู่รวมกันได้ เพราะที่ร้านก็อยากมีชอคโกแลต อยากมีอาหารซึ่งเรามีโรงครัวที่สามารถประกอบอาหารได้ เราอาจจะเป็นแค่ฮาร์ดแวร์ที่ให้เปิดให้ใครก็ได้เข้ามา Plug-in และ Install เข้าไปแล้วก็เติบโตไปด้วยกัน

ทำกาแฟไม่ได้เอนจอยแค่กาแฟ อยากเอนจอยในชีวิตที่เราสามารถซัพพอร์ตได้และคนอื่นก็สามารถเดินร่วมทางกับเราได้”  เขาทิ้งท้ายก่อนจากกัน

การเดินทางเพื่อกลับบ้านครั้งสุดท้ายของ ‘ลี-อายุ จือปา’ และตลอดระยะเวลากว่า  10  ปี ของ ‘Akha Ama’ คงได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า ‘กิจการ’ นั้นสามารถเดินควบคู่ไปกับการขับเคลื่อนกิจกรรมทางสังคมได้ ในช่วงเวลาที่ตะวันกำลังลับขอบฟ้าและเข็มนาฬิกาที่กำลังจะเดินทางเข้าสู่วันใหม่ ในวันพรุ่งนี้คงมีอีกหลายธุรกิจน้อย-ใหญ่ที่กำลังจะเกิดขึ้น เราได้แต่หวังว่า ‘ธุรกิจเพื่อสังคม’ จะไม่ใช่คำจำแนกประเภทของการทำธุรกิจหรือกิจการอีกต่อไป หากแต่ธุรกิจควรจะนึกถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อสังคมบ้าง

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

เรื่องเล่าจาก Tim Cook “...ผมไม่เคยคิดเลยว่า Apple จะมีวันล้มละลาย”

Apple ก้าวเข้าสู่ยุค AI พร้อมรักษาจิตวิญญาณจาก Steve Jobs สู่อนาคตที่เปี่ยมด้วยนวัตกรรม โดย Tim Cook มุ่งเปลี่ยนโฉมเทคโนโลยีอีกครั้ง!...

Responsive image

วิจัยชี้ ‘Startup’ ยิ่งอายุมาก ยิ่งมีโอกาสประสบความสำเร็จ

บทความนี้ Techsauce จะพาคุณไปสำรวจว่าอะไรที่ทำให้ วัย 40 กลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของนักธุรกิจและ Startup หลายคน...

Responsive image

ทำไม Fastwork ขาดทุนเกือบทุกปี ? ฟังเหตุผลของ CK Cheong

Fastwork เป็นอีกหนึ่งชื่อธุรกิจที่มาแรงในช่วงเวลานี้ ด้วยความไวรัลบนโลกออนไลน์ของผู้บริหาร CK Cheong (ซีเค เจิง) ที่มักทำคลิปให้ทัศนะเรื่องการเงิน การใช้ชีวิต และธุรกิจ แต่กลับถูกต...