รวมรายการ Startup Game Show เรามีเยอะไปไหม? และรายการใหม่ที่เตรียมแจ้งเกิด | Techsauce

รวมรายการ Startup Game Show เรามีเยอะไปไหม? และรายการใหม่ที่เตรียมแจ้งเกิด

ช่วงที่วงการ Startup ไทยตื่นตัวกันมาก ทั้งองค์กรที่เข้ามาสนับสนุน มีหนัง มีอีเวนท์กันแทบทุกสัปดาห์ งานเล็ก งานใหญ่สลับๆ กันไป และเป็นที่ทราบกันดีว่า Game Show และ Reality Show  ซึ่งเป็นของคู่รายการทีวีบ้านเรานั้น ก็ถูกจับมาเป็นช่องทางนำเสนอเรื่องราวของ Startup ด้วย แน่นอนว่ามันไม่ใช่เรื่องใหม่หรือพึ่งเกิดมา แต่มีมาสักพักแล้ว ในบทความนี้เราจะพาไปดูกันว่ามีรายการไหนบ้าง มีทั้งที่กำลังจะ on air , จบไปแล้ว มีคลิปให้ดูย้อนหลัง แต่ไม่เห็นวี่แววว่าจะจัดอีก และใครคือผู้สนับสนุนและจัดรายการดังกล่าว เราไปตามย้อนรอยดูกัน

Shark Tank Thailand

ลิขสิทธ์จากต่างประเทศ ของประเทศไทยจัดโดย Wandee Media ออกอากาศปลายปีนี้ ช่อง 7

รายการ Shark Tank Thailand ซื้อลิขสิทธิ์จากรายการดังอันดับหนึ่งทางช่อง ABC สหรัฐอเมริกา เป็นรายการที่นำเอานักลงทุนจำนวน 5 คนเปรียบเสมือนฉลามมานั่งฟัง ผู้ประกอบการที่เปรียบเสมือนเหยื่อเล่าถึงฝันและการหาเงินทุนไปต่อยอดธุรกิจ แต่จะต้องแลกกับส่วนแบ่งที่ต้องให้แก่นักลงทุนเหล่านั้นด้วยเช่นกัน โดยนักลงทุนทั้ง 5 คน ถือว่าเป็นนักลงทุนที่ประสบความสำเร็จในการเริ่มต้นธุรกิจและขายธุรกิจมาแล้ว จนมีเงินนับพันล้าน แต่สำหรับบ้านเรากฏเกณฑ์อาจจะมีปรับให้เข้ากับไทย นี่ถือว่าเป็นหนึ่งการแข่งขันใหญ่ที่หลายคนให้ความสนใจโดยมีคณะกรรมที่เป็นเซเลปในวงการมากมายอย่าง

  • ณัฐวุฒิ พึงเจริญพงศ์ แห่ง Ookbee และกองทุน 500Tuktuks
  • แชนนอน กัลยาณมิตร อดีตผู้ก่อตั้ง MOXY และปัจจุบันเป็น Venture Partner Gobi Partners
  • เฉลิมชัย มหากิจศิริ ทายาทมหาเศรษฐีผู้ถือหุ้นโรงงานผลิตกาแฟเนสกาแฟ
  • รวิศ หาญอุตสาหะ เจ้าของผงหอมศรีจันทร์
  • นิชิต้า ชาห์ ทายาทธุรกิจขนส่งทางทะเลที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทย จีพี กรุ๊ป

โดยโครงการนี้ไม่จำกัดรูปแบบของธุรกิจจะเป็น Startup สายนวัตกรรม หรือ SMEs ก็ได้ไม่ว่าจะเป็นเจ้าของธุรกิจอะไร ธุรกิจเก่าหรือธุรกิจใหม่ นับว่าเป็นรายการที่น่าติดตามเพราะเป็นรายการชื่อดังและเป็นต้นแบบของอีกหลายรายการทั่วโลก

Win-Win WAR Thailand

ผู้จัดรายการ C Asean ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่มของ ThaiBev นั่นเอง ออกอากาศเร็วๆ นี้ ช่อง Amarin TV

Win-Win WAR เป็นรายการแข่งขันแบบ Reality show รายการใหม่เผยแพร่ทางช่อง Amarin TV ที่เน้นไปที่ธุรกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) ที่จะนำเสนอแนวคิดเกี่ยวกับธุรกิจ ผลิตภัณฑ์ หรือบริการที่สามารถตอบโจทย์ของเป้าหมายการพัฒนาเพื่อความยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ของสหประชาชาติ โดยผู้ชนะจะได้รับรางวัลเงินสดมูลค่า 2,000,000 บาท (สองล้านบาทถ้วน) พร้อมได้รับคำปรึกษาทางธุรกิจ ที่จะทำให้ธุรกิจเพื่อสังคมในฝันของเขาเป็นจริง รายการมีคณะกรรมการชื่อดังที่น่าสนใจทั้งจากในเครือ และพันธมิตร อาทิ

  • ดร. สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์​ อธิการบดี พระจอมเกล้าฯ​ ลาดกระบัง
  • ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ กรรมการผุ้จัดการและผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ บริษัท TARAD.com ซึ่งปัจจุบันเป็นหนึ่งในเครือ TCC Group ของตระกูลสิริวัฒนภักดี
  • อาจารย์อ้อ ดร.กฤษติกา

เป็นต้น

The Unicorn สตาร์ทอัพ พันล้าน

ผู้จัดรายการ : ​ธนาคารกสิกรไทย ร่วมกับ Workpoint ออกอากาศ 2 มิถุนายน พ.. 2560 - 25 สิงหาคม พ.. 2560 ช่อง Workpoint

ก่อนหน้านี้หลายคนรู้จักกันดีกับรายการ Game show อย่าง SME ตีแตกที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากเมื่อหลายปีก่อน และทางธนาคารกสิกรไทย หรือ Kbank ก็มีโครงการต่อเนื่องกับ Workpoint ซึ่งมีการวางจุดยืนชัดเจนคือสนับสนุน Startup ชิงเงินรางวัล 1 ล้านบาท โดยมี Startup ที่คุ้นหน้าคุ้นตากันดีอย่าง QueQ, Health at Home, iTAX (ชนะเลิศ), Seekster, Fictionlog, Piggipo, Planforfit, Liluna, Hungry Hub, Indie Dish, Cookly, Fangjai เข้าร่วมแข่งขัน เรียกว่ามีมาจาก Startup ทั้งค่าย dtac ais เข้าร่วมและบางรายได้รับเงินทุนจาก 500Tuktuks หรือเป็นธุรกิจในกลุ่ม Ookbee ด้วย ส่วนกรรมการก็คุ้นหน้าคุ้นตากันดี นำโดยคนในวงการ Startup โดยตรง ซึ่งถึอว่ามีความรู้ความเข้าใจในธุรกิจด้านนี้อย่าง

  • ไผท ผดุงถิ่น ผู้ร่วมก่อตั้ง Builk.com,
  • ทิวา ยอร์ค Head Coach Kaidee.com
  • พัชร สมะลาภา รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ธนาคารกสิกรไทย  เป็นตัวยืน

และมีกรรมการพิเศษ อาทิ อริยะ พนมยงค์ CEO LINE Thailand, ขัตติยา อินทรวิชัย กรรมการผู้จัดการอาวุโส ธนาคารกสิกรไทย, ธนพงษ์ ณ ระนอง กรรมการผู้จัดการ บริษัท Beacon Venture Capital (ในเครือธนาคารกสิกรไทย), จุฑาศรี คูวินิชกุล อดีตผู้บริหาร Grab เรืองโรจน์ พูนผล ผู้จัดการกองทุน 500Tuktuks เป็นต้น

The Innovation Startup by True Digital Park

ผู้จัดรายการ : บริษัทในกลุ่มทรู ออกอากาศ 5 สิงหาคม - 7 ตุลาคม พ.. 2560 ช่อง TNN

มีรูปแบบการแข่งขัน เริ่มจาก Startup 24 ทีม เข้ามานำเสนอไอเดียธุรกิจแบบ Elevator Pitch ในที่นี้คือ Elevator Pitch จริงๆ คืออยู่ในลิฟท์  60 วินาที อารมณ์คล้ายๆ รายการนึงที่สิงคโปร์ Angel’s Gate เมื่อหลายปีก่อน  หลังจากนั้นไปพบกับคณะกรรมการ 4 ท่าน ได้แก่

  • ซาโตะ โกกิ จาก อิโตชู (ITOCHU)
  • พิภาวิน สดประเสริฐ  Ant Financial ในเครือของ Alibaba Group
  • วิชาล ฮานาล จาก 500 Startups
  • เอตัน เลวี่ จาก AGW Group

ถือเป็นรายการแรกที่ใช้กรรมการจากต่างประเทศ เลยทำให้ในรายการต้องใช้ 2 ภาษาควบคู่กันไป โดยคณะกรรมการจะคัดเลือกบริษัทเหลือ 8 ทีม (กรรมการแต่ละท่าน จะเลือกและช่วยโค้ช 2 ทีม) และหลังจากที่ทั้ง 8 ทีมได้นำเสนอแผนธุรกิจอีกครั้ง กรรมการแต่ละท่านจะเลือกลูกทีมเพียง 1 ทีม (จาก 2 ทีม) ที่จะได้ผ่านเข้าไปในรอบ 4 ทีมสุดท้าย  และได้เข้าร่วมโครงการ True Incube ต่อในปีนั้น

The Startup คิด แลก ล้าน

Season 1 อยู่ช่อง 3 SD Season 2 ย้ายมาอยู่ Nation TV

เป็นรายการที่ชื่อ Startup เข้ามาแข่งขันด้วยเปิดโอกาสให้ผู้ชมทางบ้านเข้ามานำเสนอไอเดียธุรกิจกับคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ เพื่อแลกกับเงินรางวัล 1 ล้านบาท โดยกรรมการจะผัดเปลี่ยนหมุนเวียนไป จากนักลงทุนบ้าง ผู้ประกอบการรุ่นใหญ่แล้วบ้าง รวมถึงผู้บริหารธนาคาร อาทิ สาลินี วังตาล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม, เวทย์ นุชเจริญ กรรมการ บริษัท ทิพยประกันภัย, อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ รองกรรมการผู้จัดการ บมจ. ปตท., ดร.เอกศักดิ์ แดงเดช ประธานกรรมการ บมจ. Farm in Love, และ เรืองโรจน์ พูลผล 500Tuktuks โดยเปิดตัวมา 2 Seasons ซึ่ง Season ที่ 2 มีรูปแบบที่เปลี่ยนไป มีการนำโค้ช ที่ปรึกษามานั่งขมวดประเด็นเพื่อให้เป็น Key Takeaway

อย่างไรก็ตามรายการดังกล่าวใน Season 2 มีการเสนอเรื่องของ Startup ซึ่งมีประเด็นอย่าง TukTukPass โดยทั้งโค้ชและผู้สนับสนุนรายการบางรายในนั้นเกี่ยวข้องกับโครงการนี้ หลังจากนั้นไม่นาน TukTukPass ก็มีประเด็นเรื่องการระดมทุนจำนวนเงินมหาศาลผ่าน ICO ตามที่เป็นข่าวกัน โดยปัจจุบันนับตั้งแต่จบ Season ก็ไม่ได้มีการอัพเดตข้อมูลบนสื่อ Facebook อีก

รายการเสือติดปีก

ผู้จัดรายการ บริษัท ไพบูลย์ แอนด์ ตัน จำกัด (มาจาก ตัน ภาสกรนที บริษัท อิชิตัน และ ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม บริษัท GMM Grammy) ออกอากาศ 2 กุมภาพันธ์ - 26 เมษายน 2559 ช่อง ONE

บริษัท ไพบูลย์ แอนด์ ตัน จำกัด เป็น Non-profit Organization ซึ่งตัน กับ ไพบูลย์ ใช้เงินส่วนตัวคนละ 13 ล้านบาทร่วมกันก่อตั้งขึ้น โดย 13 ล้านบาทแรก จะให้เป็นค่าผลิต ส่วน 13 ล้านบาทที่เหลือจะถูกใช้เป็นเงินรางวัล ซึ่งไม่ได้ให้เปล่า แต่เป็นการร่วมลงทุนในลักษณะ Venture Capital เมื่อธุรกิจนั้นๆ มีกำไร ก็จะรับมาเพื่อนำมาต่อยอดกับให้กับผู้ประกอบการรายอื่น โดย 13 ล้านบาทที่ทั้งคู่ดังมานั้นเป็นเงินส่วนที่ตั้งใจใช้เพื่อการกุศล โดยคณะกรรมการเป็นคนในวงการบันเทิงหลายคน อาทิ ป๋าเต็ด-ยุทธนา บุญอ้อม, อาจารย์จตุพล ชมภูนิช และประกอบด้วย ดร.วิเลิศ ภูริวัชร และ ชาคริต จันทร์รุ่งสกุล นอกจากเงินทุนแล้วยังมีสปอนเซอร์อีก 4 ราย ประกอบด้วย สิงห์, ธนาคารกรุงศรีฯ, เอไอเอส และอิชิตัน โดยรายการจะโปรโมทเอาคำว่า Startup ที่กำลังเริ่มเป็นกระแสในช่วงเวลานั้น แต่ส่วนใหญ่แล้วธุรกิจที่เข้ามาจะเป็น SME เสียมากกว่า ปัจจุบันบนหน้า Facebook ของรายการดังกล่าวหยุดเคลื่อนไหวมา 2 ปีกว่านับตั้งแต่จบรายการ

Startup Star ดารา 4.0

ผู้จัดรายการ : TV Thunder เป็นผู้ผลิตรายการ โดย Partner กับ RISE และ LINE TV (แพลตฟอร์มสำหรับลงรายการ) ออกอากาศทาง LINE TV

เป็นแนวคิดที่ค่อนข้างจะฉีก เพราะเชื่อว่าการทำรายการแนวนี้เพื่อเข้าสู่วงกว้าง ดาราน่าจะยังเป็นส่วนสำคัญในการดึงผู้ชม ดังนั้น Reality จึงเปลี่ยนมาเป็นธุรกิจดาราแทน ที่นำดาราวงการบันเทิงมาเข้าคอร์ส โดยโมเดลธุรกิจบางตัวก็อยู่ในรูปแบบ SME เสียมากกว่า ซึ่งปลายทางในสัปดาห์สุดท้าย ทุกคนต้องนำเสนอแผนธุรกิจต่อหน้าคณะกรรมการ  อาทิ อริยะ พนมยงค์ CEO LINE Thailand, สุธีรพันธุ์ สักรวัตร ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ผู้บริหารสูงสุดการตลาด ธนาคารไทยพาณิชย์ และ ดร. ศรีหทัย พราหมณี. หัวหน้าฝ่าย AIS The Startup เป็นต้น ทั้งนี้หลังจากจบโครงการแล้วไม่แน่ใจว่ามีดารากี่ท่านที่สานต่อแผนธุรกิจดังกล่าวจริง

บทสรุป

ในแต่ละรายการจะมีผู้เชี่ยวชาญทางธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการที่เคยประสบความสำเร็จ นักลงทุน มาให้คำแนะนำถึงแนวทางในการดำเนินธุรกิจ ตัวผู้ประกอบการนอกจากได้ feedback แล้วก็ยังได้โปรโมตตัวเองไปในตัวส่วนผู้ที่ชมรายการก็จะได้ชมธุรกิจหลากหลายรูปแบบสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในอนาคตหรือกับธุรกิจของตนเอง

ผู้ชมได้อะไร

อย่างไรก็ตามรายการที่ดีมีคุณภาพนั้นก็มี แต่แน่นอนไม่ใช่ทั้งหมดทุกราย ผู้รับชมก็ต้องใช้วิจารณญาณในการรับชมดังเช่นรายการประเภทอื่นๆ เช่นกัน ไม่ใช่ว่ารายการด้านธุรกิจจะดีไปเสียหมด บางรายการที่ปรึกษาอาจจะเก่งเชี่ยวชาญในธุรกิจบางประเภท แต่ไม่เสมอไปว่าจะเชี่ยวชาญและวิเคราะห์รูปแบบธุรกิจอื่น อาทิเช่น โมเดลธุรกิจและคุณลักษณะที่แตกต่างกันระหว่าง Startup และ SME  เพราะความคิดเห็นของคณะกรรมการเป็นเนื้อหาใจความสำคัญที่จะให้ประโยชน์กับผู้ชมโดยตรง นอกจากความบันเทิงที่ได้ 

ความโปร่งใสของผู้จัด

หรือบางรายการทำขึ้นมาเพื่อต้องการโปรโมตหรือการทำการตลาดบางอย่างอย่างมีนัย ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลกของผู้จัดรายการที่อาจมีผลประโยชน์ร่วม แต่ก็ต้องไม่มากจนบดบังความเหมาะสม อาทิ การคัดเลือกบริษัทมาออกรายการ จุดสำคัญของรายการเหล่านี้ คือต้องโปร่งใสให้มากที่สุด และให้ความรู้ที่ถูกต้องกับผู้ชมนั่นเอง

ผู้เข้าแข่งขัน

สุดท้ายก็คงต้องคุยกันถึงความจริงว่าสำหรับผู้เข้าร่วมรายการแล้ว ถ้าไม่นับเรื่องของการโปรโมตธุรกิจตนเอง ธุรกิจได้อะไรจากตรงนั้นอย่างแท้จริงบ้าง ทั้งจากผู้สนับสนุนและจัดรายการ ดีลไหนยุติธรรมหรือไม่อย่างไร?

ไม่ต้องมีเยอะ แต่ขอเน้นเอาคุณภาพดีกว่า

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

ไขความลับ Growth Hacking: บทเรียนจาก Spotify สู่ธุรกิจยุคใหม่

ในโลกธุรกิจที่การแข่งขันดุเดือดและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การเติบโตอย่างรวดเร็วและยั่งยืนคือสิ่งที่ทุกธุรกิจต่างใฝ่ฝัน Growth Hacking กลายเป็นกุญแจสำคัญที่ไขประตูสู่ความสำเร็จ ด้วย...

Responsive image

เปิดปรัชญาแห่งความเป็นผู้นำของ Steve Jobs

Steve Jobs ผู้ร่วมก่อตั้ง Apple ที่โด่งดัง อาจไม่ใช่เจ้านายในฝันของใครหลายคน แต่ปรัชญาการบริหารของเขาพิสูจน์แล้วว่าทรงพลังและนำไปสู่ความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ คำพูดที่สะท้อนแนวคิดนี้ได้...

Responsive image

โฟกัสให้ถูกจุด สำคัญกว่าทำงานหนัก! แนวคิดจาก Marc Randolph ผู้ร่วมก่อตั้งและ CEO คนแรกของ Netflix

หลายคนอาจเชื่อว่าความสำเร็จมาจากการทำงานหนัก แต่มาร์ค แรนดัลฟ์ (Marc Randolph) Co-founder Netflix กลับมองต่างเขามองว่าการทำงานหนักแล้วจะประสบความสำเร็จเป็นเรื่องหลอกลวง และมองว่ากา...