สัมภาษณ์ 'Audrey Tang' อดีต Hacker สู่ 'รัฐมนตรีดิจิทัล' ผู้ขับเคลื่อนวิวัฒน์ประชาธิปไตยไต้หวัน | Techsauce

สัมภาษณ์ 'Audrey Tang' อดีต Hacker สู่ 'รัฐมนตรีดิจิทัล' ผู้ขับเคลื่อนวิวัฒน์ประชาธิปไตยไต้หวัน

  • Audrey Tang คืออัจฉริยะ Civic Hacker ผู้เข้ามารับตำแหน่งรัฐมนตรีดิจิทัลไต้หวัน มีส่วนสำคัญในการเชื่อมการบริหารของรัฐกับประชาชนและการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย
  • ความเชี่ยวชาญขั้นสูงด้านเทคโนโลยี และอุดมการณ์ทางประชาธิปไตยที่หนักแน่น คือสองส่วนผสมที่ทำให้ Audrey Tang มีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนสังคมประชาธิปไตยไต้หวันไปสู่ทิศทางใหม่ที่เน้นการมีส่วนร่วมจากทุกฝ่าย เพื่อผลประโยชน์ของทุกคน
  • สิ่งที่ Tang ให้ความสนใจเป็นอย่างมากคือการใช้เทคโนโลยีผลักดันให้เกิดความโปร่งใสในการบริหารของรัฐบาล และการเปิดให้ประชาชนมีส่วนสำคัญในการร่วมกำหนดนโยบาย
  • การเปิดให้ทุกคนมีส่วนในการสนทนาก็มีปัญหาที่ตามมาเช่นกัน วิสัยทัศน์ของ Tang คือการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยแก้ปัญหาให้สังคมแห่งการแลกเปลี่ยนความเห็นและรับฟังกันอย่างแท้จริงเกิดขึ้นได้

การขึ้นมาทำงานในตำแหน่งรัฐมนตรีดิจิทัลไต้หวันของ Civic Hacker อย่าง Audrey Tang เต็มไปด้วยเรื่องที่น่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็นปูมหลังของเธอซึ่งเป็นถึงตำนานอัจฉริยะแห่งวงการเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ของไต้หวัน เธอสามารถเรียนรู้การเขียนโปรแกรม Perl ตั้งแต่อายุ 12 ปี พออายุ 15 ปีก็สามารถพัฒนา Search Engine ภาษาแมนดาริน หรือการเป็นนักพัฒนาที่ Silicon Valley ตอนอายุเพียง 19 ปี นอกเหนือจากความเก่งกาจด้านเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ เธอยังมีเลือดความเป็นนักเคลื่อนไหวขับเคลื่อนประชาธิปไตยอย่างเข้มข้น โดยเฉพาะจุดยืนด้านเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชน ในวัย 35 ปี Tang ก้าวขึ้นมารับตำแหน่งรัฐมนตรีดิจิทัล นอกจากจะเป็นรัฐมนตรีที่อายุน้อยที่สุดแล้วเธอยังเป็นรัฐมนตรี transgender คนแรกในประวัติศาสตร์ไต้หวันอีกด้วย

สามารถอ่านเรื่องราวของ Audrey Tung รัฐมนตรีกระทรวงดิจิทัลของไต้หวันได้ที่นี่

ตลอดเวลาการทำงานในตำแหน่ง Audrey Tang ผนวกความชำนาญด้านเทคโนโลยีเข้ากับอุดมการณ์ประชาธิปไตยผลักดันให้เกิดความโปร่งใสในการดำเนินงานของรัฐบาล และสร้างพื้นที่ให้เกิดการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนอย่างจริงจัง ส่วนผสมอันเป็นจุดเด่นทั้งสองด้านของ Tang ก่อให้เกิดแรงกระเพื่อมที่เป็นคุณูปการอย่างมากต่อสังคมประชาธิปไตยของไต้หวัน

Techsauce ได้รับโอกาสพิเศษในการพูดคุยกับ Audrey Tang ตลอดการสัมภาษณ์ Tang ได้ถ่ายทอดถึงมุมมองความสัมพันธ์ของเทคโนโลยีและประชาธิปไตยด้วยไอเดียที่สดใหม่ เต็มไปด้วยบทเรียนที่น่าศึกษา โดยเฉพาะความหนักแน่นทางวิสัยทัศน์ที่จะนำเทคโนโลยีมามีส่วนสำคัญในการวิวัฒน์ประชาธิปไตยไปอีกขั้น

Audrey Tang ขึ้นพูดเรื่อง Social Innovation ในงาน Meet Taipei 2018

อะไรคือแรงบันดาลใจที่ทำให้คุณมาทำงานกับรัฐบาล

ต้องบอกก่อนว่าฉันไม่ได้ทำงานให้กับรัฐบาล แต่เป็นการทำงานร่วมกับรัฐบาล ฉันอยู่ระหว่างรัฐบาลและกลุ่มการเคลื่อนไหวทางสังคม เป็นเหมือนจุดเชื่อมต่ออยู่ตรงกลาง พูดให้เห็นภาพง่ายๆ คือเหมือนกับเป็นคนที่ช่วยแปลงภาษาของฝ่ายบริหารปกครองให้เชื่อมโยงเข้ากับภาษาของกลุ่มการเคลื่อนไหวทางสังคม และแปลงภาษาของกลุ่มการเคลื่อนไหวทางสังคมให้เชื่อมโยงกับรัฐ เหตุผลที่ฉันมาทำตรงนี้เป็นเพราะว่าก่อนหน้านี้มันมีช่องว่างระหว่างคนกับกระทรวง หรือระหว่างกระทรวงกับกระทรวงอยู่มาก เช่นช่องว่างระหว่างกระทรวงเศรษฐกิจกับกระทรวงสิ่งแวดล้อม หรือช่องว่างระหว่างกระทรวงการคลังกับกระทรวงสวัสดิการทางสังคม มันมีความตึงเครียดอยู่ระหว่างช่องว่างเหล่านั้น

ปัญหาหลักๆ คือในตอนนี้คือรัฐบาลไม่สามารถเป็นผู้บริหารจัดการแต่เพียงฝ่ายเดียวได้อีกต่อไปแล้ว ในยุคสมัยของอินเทอร์เน็ต เพียงแค่การมีแฮชแท็กแคมเปญบางอย่างเกิดขึ้น คนร่วมหมื่นก็ออกมาเคลื่อนไหวขับเคลื่อนสังคมแล้ว อย่างในกรณีของ #metoo ราวกับว่ากระทรวงต่างๆ ไม่มีความจำเป็นอีกต่อไป เพราะประชาชนสามารถบริหารขับเคลื่อนสังคมได้ด้วยตัวเอง อีกประเด็นคือในปัจจุบันมีสิ่งใหม่ๆ เกิดขึ้นเยอะมาก เช่น Distributed Ledger, Machine Learning และเราก็ไม่สามารถจะไปจัดตั้งกระทรวงขึ้นมาใหม่เพื่อรองรับทุกสิ่งที่เกิดขึ้นมาได้ ดังนั้นมันทำให้โมเดลการบริหารจัดการแบบเดิมใช้ไม่ได้แล้ว

ในปัจจุบันมีสิ่งใหม่ๆ เกิดขึ้นเยอะมาก เช่น Distributed Ledger, Machine Learning และเราก็ไม่สามารถจะไปจัดตั้งกระทรวงขึ้นมาใหม่เพื่อรองรับทุกสิ่งที่เกิดขึ้นมาได้ ดังนั้นมันทำให้โมเดลการบริหารจัดการแบบเดิมใช้ไม่ได้แล้วนี่จึงเป็นเหตุผลที่พวกเราทำงานเพื่อเสนอสร้างแนวทางใหม่ในการบริหารที่เรียกว่า Collaborative Governance ทุกคนอยู่ในจุดที่แตกต่างกัน และเราเรียกทุกคนว่าเป็นผู้ถือผลประโยชน์ร่วมกัน ถึงแม้จะมีความคิดที่แตกต่างกันแต่เราต่างมีคุณค่าพื้นฐานร่วมกันคือการอยากเห็นโลกที่ดีขึ้น เป็นส่วนสำคัญของการพัฒนาอย่างยั่งยืน เราอยากให้สิ่งแวดล้อมดีขึ้น อยากให้สังคมดีขึ้น และอยากให้เศรษฐกิจดีขึ้น ถึงแม้จะมีความคิดเห็นต่างกันก็เป็นเรื่องที่จะตกลงกันได้ เพราะเราได้สร้างพื้นที่ที่ทำให้ทุกคนตระหนักถึงคุณค่าพื้นฐานที่เรามีร่วมกัน แล้วเราจะช่วยกันสร้างนวัตกรรมเพื่อให้เกิดสิ่งที่ดีสำหรับทุกคน ไม่ใช่แค่เพื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง นี่จึงจะเป็นสิ่งที่เราเรียกว่านวัตกรรมทางสังคม

นี่คือทิศทางในการทำงานของฉัน คือการสร้างพื้นที่ขึ้นมา อย่างที่เห็นนี่คือ Social Innovation Lab ที่เราสามารถรวมคนที่มีความรู้ความเข้าใจที่หลากหลาย ไปจนถึง AI และเทคโนโลยีอื่นๆ นำพวกเขามารวมกันในพื้นที่ที่สามารถร่วมกันสร้างไอเดียที่จะทำให้ทุกสิ่งดีขึ้น ดังนั้นจุดยืนของฉันคือไม่ได้ทำงานเพื่อสนับสนุนรัฐบาล แต่ทำงานเพื่อสนับสนุนระบบรูปแบบการบริหารปกครองที่เน้นความร่วมมือจากทุกฝ่าย

จุดยืนของฉันคือไม่ได้ทำงานเพื่อสนับสนุนรัฐบาล แต่ทำงานเพื่อสนับสนุนระบบรูปแบบการบริหารปกครองที่เน้นความร่วมมือจากทุกฝ่าย

Source : PDIS

ในมุมมองของคุณอนาคตของประชาธิปไตยควรเป็นอย่างไร

อนาคตของประชาธิปไตยคือการให้ความสำคัญกับความรู้สึกของทุกคน เป็นอนาคตแห่งการรับฟังกันและกัน และการค้นหาคุณค่าร่วมกัน

อนาคตของประชาธิปไตยควรจะเป็นสังคมแห่งการรับฟัง เทคโนโลยีในยุคก่อนหน้านี้อย่างวิทยุคือการที่คนหนึ่งคนพูดกับคนล้านคน หรืออย่างทีวีที่นักการเมืองคนเดียวสามารถพูดกับคนได้เป็นสิบล้านคน แต่คนหนึ่งนี้ไม่สามารถได้ยินเสียงของคนสิบล้านคนได้ ปัจจุบันในยุคของอินเทอร์เน็ตมันเกิดการที่เราสามารถได้ยินเสียงของคนสิบล้านคนได้ แต่มันก็ได้ทำให้เกิดปัญหาแบบใหม่ เพราะคุณมีคนนับล้านพูดพร้อมๆ กัน เช่นโอกาสที่จะเกิดการใช้อิทธิพลในโซเชียลมีเดียสร้างวาทกรรมที่ก่อให้เกิดการโต้แย้งและนำไปสู่การแบ่งขั้วทางการเมือง

ดังนั้นการทำงานเพื่อประชาธิปไตยในโลกอนาคตคือการสร้างพื้นที่ที่ทำให้ทุกคนสามารถตรวจสอบข้อเท็จจริงของกันและกันได้ มันต้องเป็นการ Open Data ไม่ใช่แค่ข้อมูลของรัฐบาลเท่านั้น แต่ในฝั่งของประชาชนด้วย ด้วยการใช้ข้อมูลจะทำให้เราสามารถเข้าถึงข้อเท็จจริง ด้วยข้อเท็จจริงนั่นแหละที่จะทำให้เราสามารถรับฟังกันและกัน คุณรู้สึกยังไงกับข้อเท็จจริงนี้ คุณอาจจะรู้สึกแฮปปี้ หรือโกรธ มันไม่มีถูกหรือผิดในแง่ของความรู้สึก และเราจะสร้างไอเดียขึ้นมาจากข้อเท็จจริงเหล่านั้น ทุกวันนี้ในสังคมออนไลน์ทุกคนโพสต์ไอเดียจำนวนมาก แต่แทบไม่มีใครพูดเรื่องความรู้สึกและข้อเท็จจริง ดังนั้นไอเดียจำนวนมากเลยกลายเป็นได้แค่อุดมคติ เพราะมันไม่ได้เกิดจากการพูดคุยกันอย่างแท้จริง แต่ถ้าเราสามารถรับรู้ข้อเท็จจริงและความรู้สึกกันก่อน ก็จะนำไปสู่ไอเดียที่ดีที่สุดบนพื้นฐานความรู้สึกของคนส่วนใหญ่

เราสร้างพื้นที่ที่ทำให้ทุกคนสามารถรับรู้ถึงความรู้สึกของคนอื่น จะด้วยการเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยก็ตาม และพื้นที่นี้ยังมีคุณสมบัติพิเศษอีกสองข้อ อย่างแรกคือมันไม่มีปุ่ม Reply คุณจึงไม่สามารถโจมตีคนอื่นได้ คุณทำได้เพียงแค่โพสต์เสนอความคิดเห็นของคุณให้คนอื่นได้รู้เท่านั้น อย่างที่สองคือมันจะแสดงให้เห็นเลยว่าทุกคนคือเพื่อนของคุณ ไม่ใช่ศัตรูที่ไม่มีชื่อที่มาจากขั้วตรงข้าม ทุกคนจะเข้ามาด้วยข้อเสนอที่สะท้อนความคิดเห็นและความรู้สึกของพวกเขา ถ้าเราสนใจมองแค่สื่อกระแสหลักหรือโซเชียลมีเดีย บางครั้งมันก็ง่ายต่อการตกเป็นเครื่องมือทางการเมือง เพราะมันเป็นเครื่องมือที่ง่ายต่อการโฆษณายกชูคุณค่าบางอย่าง

อนาคตของประชาธิปไตยคือการให้ความสำคัญกับความรู้สึกของทุกคน เป็นอนาคตแห่งการรับฟังกันและกัน และการค้นหาคุณค่าร่วมกัน

เทคโนโลยีช่วยทำให้การทำงานของรัฐบาลมีความโปร่งใสมากขึ้นได้อย่างไร

เมื่อพูดถึงความโปร่งใสฉันพูดถึงความโปร่งใสแบบขั้นสุด (radical transparency) ยกตัวอย่างเช่นเทคโลยีที่เราเรียกว่า Say It ซึ่งเป็นเทคโนโลยีเพื่อพลเมือง เริ่มต้นตั้งแต่ที่ฉันมาทำงานตรงนี้เมื่อสองปีที่แล้ว ตลอดระยะเวลาสองปีฉันได้พูดคุยกับคนกว่าสามพันคน เรามีบทสนทนาร่วมกันมากกว่าหนึ่งแสนห้าหมื่นประโยค มีการประชุมกันมากกว่าเจ็ดร้อยครั้ง และทุกการประชุมจะถูกแชร์เป็นข้อมูลสาธารณะ และมันไม่ใช่ข้อสรุป แต่เป็นสิ่งที่ทุกคนพูดออกมา ทุกอย่างที่ฉันพูดในฐานนะรัฐมนตรีดิจิทัลก็ถูกเปิดเผยในที่สาธารณะ

สิ่งนี้ทำให้นโยบายกลายเป็นจุดมุ่งหมายของสังคมอย่างแท้จริง ทุกคนสามารถตั้งคำถามได้ว่าทำไมถึงมีนโยบายต่างๆ ขึ้นมา ก่อนหน้านี้รัฐจะสื่อสารนโยบายให้ประชาชนได้รับรู้เมื่อมีการกำหนดนโยบายบางอย่างออกมาก่อนแล้วเท่านั้น ประชาชนจึงได้ข้อมูลแค่ว่ามันคือนโยบายอะไร และมันเป็นอย่างไร แต่ในตอนนี้เราสามารถพูดคุยกันได้ว่าทำไมถึงต้องมีนโยบายแบบนี้แบบนั้นขึ้นมา

ก่อนหน้านี้รัฐจะสื่อสารนโยบายให้ประชาชนได้รับรู้เมื่อมีการกำหนดนโยบายบางอย่างออกมาก่อนแล้วเท่านั้น ประชาชนจึงได้ข้อมูลแค่ว่ามันคือนโยบายอะไร และมันเป็นอย่างไร แต่ในตอนนี้เราสามารถพูดคุยกันได้ว่าทำไมถึงต้องมีนโยบายแบบนี้แบบนั้นขึ้นมา

ความสำคัญของความโปร่งใสขั้นสุดอย่างที่สองคือเรื่องของการให้เครดิตเจ้าหน้าที่ทางราชการ ก่อนหน้านี้หากมีสิ่งที่ดีเกิดขึ้น รัฐมนตรีคือผู้ที่ได้รับความดีความชอบทั้งหมด แต่หากเกิดข้อผิดพลาดบางอย่างขึ้นมารัฐมนตรีก็สามารถโยนให้กับเจ้าหน้าที่ราชการได้เสมอ ดังนั้นสำหรับเจ้าหน้าที่พวกนั้นทำดีก็เสมอตัว พอเกิดเรื่องไม่ดีก็ต้องรับไปเต็มๆ แต่ในระบบความโปร่งใสขั้นสุดนี้ทุกคนจะได้เห็นว่าใครเป็นคนเสนอไอเดียต่างๆ เพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น และไอเดียหรือนโยบายที่ถูกคิดขึ้นมานี้ ภาคประชาสังคม หรือในส่วนของผู้ประกอบการต่างก็สามารถใช้ไอเดียเหล่านี้ไปสร้างให้เกิดขึ้นจริง ต่อยอดให้เกิดการพัฒนาไอเดียหรืออาจจะเป็นการประกอบการเพื่อสังคม แต่คนก็ยังให้เครดิตกับเจ้าหน้าที่ผู้เสนอไอเดีย

ในฐานะของเจ้าหน้าที่ที่ทำงานตรงนี้ต้องไม่มีความเสียหายเกิดขึ้นกับพวกเขา เพราะฉันเป็นรัฐมนตรีที่ยืนอยู่ข้างความโปร่งใสขั้นสุด หากเกิดข้อผิดพลาดทุกคนสามารถโทษฉันได้ โอกาสในการเกิดนวัตกรรมจากเจ้าหน้าที่ทางราชการจะเป็นไปได้ง่ายขึ้นเพราะฉันจะแบกรับความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นทั้งหมด และให้พวกเขาได้รับเครดิตทั้งหมด นี่คือความแตกต่างจากสิ่งที่เคยเกิดขึ้นมาก่อนหน้านี้

หากพูดถึง AI รัฐบาลจะสามารถใช้ AI อย่างไรได้บ้าง

เมื่อพูดถึง AI เราพูดถึง Augmentative Intelligence หรือ Assistant Intelligence หมายความว่ามันเข้ามาช่วยในส่วนของงาน Routine ของเรา ทำในส่วนของงานที่เราไม่อยากทำซ้ำๆ เช่นการจัดเรียงข้อมูลเป็นหมื่นเป็นแสนที่น่าเบื่อ และเป็นงานที่ไม่ว่าใครทำก็ได้ผลลัพธ์เหมือนๆ กัน

ถ้าคุณมีหนทางในการใช้ AI มาช่วยเพิ่มพลังของการรับฟังกันและกัน บทสนทนาของคนร่วมร้อยร่วมพันสามารถสื่อสารรับฟังกันและกันได้ เพราะมีเทคโนโลยีการประมวลผลของ AI เข้ามาช่วย ยิ่งมีคนเข้ามาร่วมการสนทนาก็ยิ่งได้คุณภาพที่มากขึ้น แต่เราใช้มนุษย์เป็นหลักในการเชื่อมโยงไอเดียและตัวเลือกต่างๆ เพราะด้วยวิธีแบบเดิมๆ มันไม่สามารถรับมือกับความเห็นคนจำนวนมหาศาลได้ แต่ด้วยการใช้ AI มาเพิ่มพลังในการสนทนา เราสามารถ Scale ไอเดียเรื่องการรับฟังความเห็นของกันและกันได้ คนหลักหมื่นหลักแสนสามารถร่วมพูดคุยกันได้โดยที่ยังสามารถรับฟังกันและกัน นี่คือวิธีที่เราจะใช้ AI มาช่วยในการปรึกษาหารือร่วมกันอย่างเป็นสาธารณะ

ด้วยการใช้ AI มาเพิ่มพลังในการสนทนา เราสามารถ Scale ไอเดียเรื่องการรับฟังความเห็นของกันและกันได้ คนหลักหมื่นหลักแสนสามารถร่วมพูดคุยกันได้โดยที่ยังสามารถรับฟังกันและกัน นี่คือวิธีที่เราจะใช้ AI มาช่วยในการปรึกษาหารือร่วมกันอย่างเป็นสาธารณะ

Source : PDIS

มีประเทศไหนบ้างไหมที่คุณยึดเป็นแบบอย่างของ GovTech

จริงๆ แล้วเราได้เรียนรู้อย่างมากจากหน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่นมากกว่ารัฐบาลของประเทศ มีเมืองหลายเมืองที่เราได้เรียนรู้และต้องขอขอบคุณ Madrid เป็นแบบอย่างในการพัฒนาระบบการมีส่วนร่วม หรือเมืองอย่าง Barcelona ที่แนะนำให้เรารู้จักการ Decentralized การตัดสินใจต่างๆ ไปจนถึง New York, Toronto, Wellington เมืองเหล่านี้พูดถึงการปกครองส่วนท้องถิ่นที่การนำเอาเทคโนโลยีมาใช้ นวัตกรรมสามารถเกิดขึ้นได้ง่ายในท้องถิ่น เพราะผู้คนมีประสบการณ์ร่วมคล้ายคลึงกัน ถ้าคุณมีประเทศที่ใหญ่มากถึงขนาดว่า timezone ไม่เหมือนกัน มันเป็นเรื่องยากมากที่ผู้คนจะแชร์ประสบการณ์การอยู่ร่วมกัน ดังนั้นนวัตกรรมส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นในระดับท้องถิ่น

ในไต้หวันเองจากเหนือจรดใต้ใช้เวลาเดินทางแค่ชั่วโมงครึ่งด้วยรถไฟฟ้าความเร็วสูง ภูมิศาสตร์ของเราค่อนข้างเล็ก แต่เรามีประชากรมากกว่า 23 ล้านคน ซึ่งเป็นจำนวนที่ค่อนข้างมาก ต่างคนต่างทำงานใน sector ที่ต่างกัน ซึ่งปัจจุบันในไต้หวันมีประชากรมากกว่า 5 ล้านคนที่เข้ามามีส่วนร่วมในแพลตฟอร์ม GovTech ของเรา นี่คือประมาณ 1 ใน 4 ของประชากรทั้งหมด และจำนวนตัวเลขนี้ก็สูงขึ้นเรื่อยๆ

นวัตกรรมสามารถเกิดขึ้นได้ง่ายในท้องถิ่น เพราะผู้คนมีประสบการณ์ร่วมคล้ายคลึงกัน ถ้าคุณมีประเทศที่ใหญ่มากถึงขนาดว่า timezone ไม่เหมือนกัน มันเป็นเรื่องยากมากที่ผู้คนจะแชร์ประสบการณ์การอยู่ร่วมกัน ดังนั้นนวัตกรรมส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นในระดับท้องถิ่น

หากจะให้คำแนะนำอะไรสักอย่างกับคนรุ่นใหม่ คุณจะให้คำแนะนำอะไรกับพวกเขา

เด็กรุ่นใหม่เป็น Digital native กันหมดแล้ว หมายความว่าพวกเขาเกิดมาในยุคอินเทอร์เน็ต เกิดมาในยุคที่เปิดกว้างและมีการแชร์นวัตกรรมร่วมกัน ฉันคือกลุ่มคนที่ย้ายเข้าสู่ความเป็นดิจิทัล ฉันค้นพบโลกอินเทอร์เน็ตตอนฉันอายุ 12 ปี และเริ่มย้ายเข้าสู่โลกอินเทอร์เน็ต ฉันอยู่ในยุคที่การศึกษายังใช้ดินสอกระดาษ แต่สำหรับ Digital native นั้นมีการเปิดกว้างโดยธรรมชาติ สำหรับคนที่มีความสนใจใกล้เคียงกันทั้งโลกเป็นเหมือน Community เดียวกัน แตกต่างจากคนยุคก่อนที่ Community จำกัดวงเฉพาะสังคมที่อยู่ใกล้เคียงหรือเพื่อนบ้านกันเท่านั้น ดังนั้นวัฒนธรรมของ Community ทั้งสองแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง แต่กระนั้นก็ดี การสร้าง Community ทั้งสองแบบต่างก็มีความสำคัญเป็นอย่างมาก

ถ้าคุณเป็น Digital native สิ่งที่ฉันอยากแนะนำคือให้พูดคุยกับเพื่อนบ้านของคุณ พูดคุยกับผู้ที่อยู่ร่วมละแวกเดียวกันกับคุณ เพื่อเรียนรู้จากประสบการณ์และวัฒนธรรม Community แบบบ้านใกล้เรือนเคียงของพวกเขา ในทางเดียวกันนี้คุณจะสามารถทำให้พวกเขาได้เรียนรู้กับ Digital Community สามารถทำให้พวกเขารู้ว่า Local Culture บางอย่างต้องมีการแชร์ร่วมกับ Culture แบบอื่นด้วย

ถ้าคุณเป็น Digital native สิ่งที่ฉันอยากแนะนำคือให้พูดคุยกับเพื่อนบ้านของคุณ พูดคุยกับผู้ที่อยู่ร่วมละแวกเดียวกันกับคุณ เพื่อเรียนรู้จากประสบการณ์และวัฒนธรรม Community แบบบ้านใกล้เรือนเคียงของพวกเขา ในทางเดียวกันนี้คุณจะสามารถทำให้พวกเขาได้เรียนรู้กับ Digital Community สามารถทำให้พวกเขารู้ว่า Local Culture บางอย่างต้องมีการแชร์ร่วมกับ Culture แบบอื่นด้วย

Source : PDIS

ชวนมาติดตามเรื่องราวและแนวคิดอันน่าสนใจของ Audrey Tang ได้ในงาน Techsauce Global Summit 2019

ติดตามเรื่อง AI และ GovTech ผ่านมุมมอง Audrey Tang ที่จะมาเป็น Speaker ได้ในงาน Techsauce Global Summit 2019

ซื้อบัตรได้ที่ https://bit.ly/2XobFLV

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

5 ข้อแตกต่างที่ทำให้ Jensen Huang เป็นผู้นำใน 0.4% ด้วยพลัง Cognitive Hunger

บทความนี้จะพาทุกคนไปถอดรหัสความสำเร็จของ Jensen Huang ด้วยแนวคิด Cognitive Hunger ความตื่นกระหายการเรียนรู้ เคล็ดลับสำคัญที่สร้างความแตกต่างและนำพา NVIDIA ก้าวสู่ความเป็นผู้นำระดับ...

Responsive image

เรื่องเล่าจาก Tim Cook “...ผมไม่เคยคิดเลยว่า Apple จะมีวันล้มละลาย”

Apple ก้าวเข้าสู่ยุค AI พร้อมรักษาจิตวิญญาณจาก Steve Jobs สู่อนาคตที่เปี่ยมด้วยนวัตกรรม โดย Tim Cook มุ่งเปลี่ยนโฉมเทคโนโลยีอีกครั้ง!...

Responsive image

วิจัยชี้ ‘Startup’ ยิ่งอายุมาก ยิ่งมีโอกาสประสบความสำเร็จ

บทความนี้ Techsauce จะพาคุณไปสำรวจว่าอะไรที่ทำให้ วัย 40 กลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของนักธุรกิจและ Startup หลายคน...