เมื่อเทคโนโลยีได้เปลี่ยนรากฐานของโลกปัจจุบันไปหลายสิ่ง เช่นเดียวกันกับในทางการเมืองการปกครอง ในงาน Techsauce Global Summit 2019 อดีตแฮกเกอร์ผู้ผันตัวมาเป็นรัฐมนตรีกระทรวงดิจิทัลของไต้หวัน Audrey Tang ได้เล่าถึงประสบการณ์การทำงาน และวิสัยทัศน์ของการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้กับการปกครองแบบประชาธิปไตยในไต้หวัน ซึ่งหากเราสามารถนิยามคุณสมบัติของเทคโนโลยีในแง่หนึ่งที่ช่วยให้การเชื่อมต่อระหว่างบุคคลจำนวนมากเป็นไปได้ง่ายและมีประสิทธิภาพมากขึ้น คุณสมบัตินี้ได้เสริมความแข็งแรงให้กับระบบประชาธิปไตยที่เป็นการปกครองแบบเน้นการฟังเสียงซึ่งกันและกัน กำหนดแนวทางในสังคมร่วมกันได้เป็นอย่างมาก ดังหลายตัวอย่างที่เกิดขึ้นจริงแล้วในไต้หวันซึ่ง Audrey ได้แบ่งปันให้เราฟังในหัวข้อ Giving Voices the Power to Change Nations: AI, Democracy, and Social Listening
Audrey Tang เชื่อมั่นว่าเทคโนโลยีสามารถเชื่อมโยงผู้คนเข้าหากัน แชร์ความจริงและความรู้สึกร่วมกันได้ ซึ่งนั่นเป็นพื้นฐานสำคัญที่สุดในการที่สังคมจะเรียนรู้ร่วมกัน และสร้างนวัตกรรมแก้ไขปัญหาในสังคมร่วมกัน ในฐานะรัฐมนตรีกระทรวงดิจิทัล Audrey จะเปิดให้มีวันที่ทุกคนสามารถเข้าในออฟฟิศของเธอเพื่อมาพูดคุย แชร์ปัญหาที่กำลังเกิดขึ้น หรือพูดข้อเสนอในการแก้ปัญหากับ Audrey โดยตรง ซึ่งมีเงื่อนไขเพียงข้อเดียวที่มาจากวิสัยทัศน์การเชื่อในความโปร่งใสขั้นสุดของเธอ นั่นคือการสนทนาจะถูกบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรและเผยแพร่ให้เป็นประเด็นสาธารณะ เพื่อเปิดให้คนอื่นๆ สามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการสนทนา ซึ่งวิธีการนี้ได้ทำให้เกิดโครงการนำร่องและพัฒนาไปสู่นโยบายที่ใช้ได้จริงมาแล้วหลายครั้ง โดยหนึ่งในตัวอย่างที่ Audrey ยกมาเล่าให้ฟังคือโปรเจค ‘รถสามล้ออัตโนมัติ’ โดยเธออธิบายว่าโปรเจคนี้คือการ ‘ร่วมกันสร้าง’ ที่ทำให้เกิดเป็น ‘เทคโนโลยีใหม่’ ขึ้นมา
ขณะที่ทุกคนพูดถึงและนิยามเทคโนโลยี AI แตกต่างกันออกไป สำหรับ Audrey แล้ว AI ไม่ได้เป็นเพียง Artificial Intelligence แต่ต้องเป็น Assistive Intelligence คือเป็นตัวช่วยให้ผู้คนหลุดพ้นจากงานทำซ้ำจำเจ และพัฒนาด้านต่างๆ ของชีวิตให้ดีขึ้นได้
AI ไม่ได้เป็นเพียง Artificial Intelligence แต่ต้องเป็น Assistive Intelligence คือเป็นตัวช่วยให้ผู้คนหลุดพ้นจากงานทำซ้ำจำเจ และพัฒนาด้านต่างๆ ของชีวิตให้ดีขึ้นได้
Tsai Ing-wen ประธานาธิบดีหญิงแห่งไต้หวันได้กล่าวถึงประชาธิปไตยในปัจจุบันว่า “ก่อนหน้านี้เมื่อเราพูดถึงประชาธิปไตย เรากำลังพูดถึงสองขั้วตรงข้ามที่ยึดถือคุณค่าที่ขัดแย้งกัน แต่ในตอนนี้มันเป็นเรื่องของการมีบทสนทนาร่วมกันระหว่างคุณค่าที่หลากหลาย” ด้วยวิธีคิดแบบนี้ รัฐต้องไม่ถือบทบาทการเป็น ‘ศูนย์กลาง’ ในการกำหนดจัดการทุกอย่างอีกต่อไป เช่นปัจจุบันมีเทรนด์การใช้แฮชแท็กในโซเชียลมีเดียเพื่อรณรงค์การเคลื่อนไหวบางอย่างร่วมกัน ซึ่งนั่นแสดงให้เห็นถึงการที่กลุ่มประชาชนสามารถออกมาเคลื่อนไหวร่วมกันได้โดยที่รัฐผันตัวไปเป็น ‘ผู้จัดเตรียม’ อำนวยปัจจัยต่างๆ ที่ช่วยสนับสนุนให้การเคลื่อนไหวที่สร้างสรรค์สามารถเกิดขึ้นได้
ก่อนหน้านี้เมื่อเราพูดถึงประชาธิปไตย เรากำลังพูดถึงสองขั้วตรงข้ามที่ยึดถือคุณค่าที่ขัดแย้งกัน แต่ในตอนนี้มันเป็นเรื่องของการมีบทสนทนาร่วมกันระหว่างคุณค่าที่หลากหลาย
ตัวอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นแนวคิดนี้.ในไต้หวันคือ Sandbox.org.tw แพลตฟอร์มที่ช่วยให้ภาคประชาชนหรือ Startup สามารถทำการทดลองไอเดียที่คิดขึ้นมาเพื่อดูผลตอบรับจากสังคมเป็นเวลา 1 ปี หากไอเดียหรือ Solution เหล่านั้นได้รับการยอมรับว่าทำงานได้จริงรัฐก็สามารถออกกฎหมายรองรับได้ นี่คือสิ่งที่ Audrey เชื่อว่าทำให้เกิดความเป็นไปได้ที่ไม่สิ้นสุดในสังคม
“เรื่องที่ยากคือการที่สังคมจะตกลงร่วมกันอย่างไรว่าอะไรคือบรรทัดฐานทางสังคม และกฎหมายต่างๆ ควรเป็นอย่างไร” Audrey กล่าวถึงความท้าทายในการหาข้อสรุปให้กับบทสนทนาของคนจำนวนมากในสังคม ดังนั้นจึงมีการสร้างแพลตฟอร์มออนไลน์ที่ใช้พลังของ AI มาช่วยเพิ่มศักยภาพในการสนทนาให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีขึ้น รัฐไต้หวันเปิดให้ประชาชนเข้ามาเสนอข้อคิดเห็นต่างๆ โดยกำหนดหัวข้อให้ทุกคนมองเห็น ‘ความจริง’ ร่วมกัน ให้แต่ละคนแสดง ‘ความรู้สึก’ ต่อเรื่องนั้น จากนั้นก็ให้ทุกคน Brainstrom ช่วยกันเสนอ Solution เพื่อแก้ไขปัญหา คนที่เข้าไปอ่านข้อเสนอจะสามารถกดปุ่มแสดงความ ‘เห็นด้วย’ หรือ ‘ไม่เห็นด้วย’ แต่จะไม่เปิดให้มีฟังก์ชั่น ‘reply’ หรือตอบกลับความคิดเห็นต่อข้อเสนอเหล่านั้นเพื่อตัดโอกาสการเกิดการถกเถียงที่ไม่สร้างสรรค์ และท้ายที่สุดก็จะได้วิธีการที่คนส่วนใหญ่เห็นตรงกัน และถูกผลักดันให้ออกมาเป็นนโยบายขับเคลื่อนสังคม
อีกหนึ่งเครื่องมือที่สะท้อนให้เห็นการใช้เทคโนโลยีช่วยขับเน้นประสิทธิภาพของระบบประชาธิปไตยคือเว็บไซต์ที่ชื่อว่า G0V ที่เปรียบเสมือน Shadow Website ของรัฐบาลที่สร้างขึ้นมาจากเจตจำนงค์ของประชาชนอันสะท้อนให้รัฐเห็นถึงข้อเสนอและเสียงของประชาชนมากขึ้น ซึ่งรัฐก็ได้ปรับใช้นโยบายจริงตามข้อเสนอหลายๆ อย่างที่เกิดขึ้นใน G0V
Audrey ให้ทัศนะที่หนักแน่นเมื่อพูดถึงการให้เทคโนโลยีอยู่ในมือประชาชน ให้พวกเขาแชร์ความจริงร่วมกัน สิ่งสำคัญคือประชาชนต้องเชื่อใจกันและกัน เพราะนี่คือพื้นฐานของประชาธิปไตย รัฐเองก็ต้องเชื่อใจประชาชนเช่นกัน เพราะรัฐไม่สามารถคาดหวังว่าประชาชนจะไว้วางใจรัฐได้ หากรัฐไม่แสดงออกก่อนว่าเชื่อใจประชาชน โดยมีปรัชญาของรัฐที่คอยรองรับวิธีคิดนี้อยู่คือ “If you can’t beat them, join them” รัฐต้องเข้าร่วมกับประชาชน เพื่อฟังเสียงที่แท้จริงของพวกเขา
สิ่งสำคัญคือประชาชนต้องเชื่อใจกันและกัน เพราะนี่คือพื้นฐานของประชาธิปไตย รัฐเองก็ต้องเชื่อใจประชาชนเช่นกัน เพราะรัฐไม่สามารถคาดหวังว่าประชาชนจะไว้วางใจรัฐได้ หากรัฐไม่แสดงออกก่อนว่าเชื่อใจประชาชน
สำหรับ Audrey แล้วเทคโนโลยีไม่ใช่อะไรเลยหากไม่ถูกกำกับใช้โดยมนุษย์ เธอเน้นย้ำว่าเทคโนโลยีเกิดและพัฒนามาเพื่อแก้ปัญหาและช่วยเหลือมนุษย์ เมื่อนึกถึง Buzzwords ต่างๆ ที่คนพูดถึงเทคโนโลยีในทุกวันนี้หรือที่กำลังจะมาถึง Audrey ได้สรุปการบรรยายด้วยคำจำกัดความใหม่เพื่อเชื่อมโยงการใช้เทคโนโลยีเหล่านั้นโดยมีมนุษย์เป็นศูนย์กลางอย่างแท้จริง
เราควรทำให้ Internet of Things(อินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง) กลายเป็น Internet of Beings(อินเทอร์เน็ตเพื่อความเป็นอยู่) ทำให้ Virtual Reality(เทคโนโลยีจำลองความเสมือนจริง) กลายเป็น Shared Reality(การแชร์ความจริงร่วมกัน) ทำให้ Machine Learning(การเรียนรู้ของจักรกล) กลายเป็น Collaborative Learning(การเรียนรู้ร่วมกัน) ทำให้ User Experience(ประสบการณ์ของผู้ใช้งาน) กลายเป็น Human Experience(ประสบการณ์ของมนุษย์) และเมื่อนึกถึง Singularity(ภาวะเอกฐานทางเทคโนโลยี) ที่อาจกำลังจะมา ให้นึกถึงไว้เสมอว่าเรามี Plurality(ประชาชนจำนวนมาก) ที่อยู่ที่นี่
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด