ส่อง Civic Tech ในไต้หวัน เมื่อเทคโนโลยี x ประชาธิปไตย | Techsauce

ส่อง Civic Tech ในไต้หวัน เมื่อเทคโนโลยี x ประชาธิปไตย

  • เทคโนโลยีกำลังมีบทบาทสำคัญในภาคการเมืองการปกครองทั่วโลก ในฝั่งประชาธิปไตยพัฒนาการทางเทคโนโลยีที่เรียกว่า Civic Tech หรือเทคโนโลยีภาคประชาชน มีส่วนช่วยให้ประชาชนมีพลังทางการเมืองมากขึ้น
  • เทรนด์ Open Data หรือการแชร์ข้อมูลของรัฐบาลอย่างสาธารณะ กำลังเกิดขึ้นในรัฐบาลประชาธิปไตยทั่วโลก ไต้หวันคือหนึ่งในรัฐที่มี Open Data อันดับต้นๆ ของโลก และมีตัวอย่างการประยุกต์ใช้ร่วมกับเทคโนโลยีที่น่าสนใจ
  • บทบาทสำคัญของเทคโนโลยีคือการเข้ามาช่วยเรื่องความโปร่งใสของรัฐบาล และสร้างการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนซึ่งจะนำไปสู่นวัตกรรมทางสังคม

โดยส่วนใหญ่เรามักนึกถึงเทคโนโลยีในแง่มุมที่เกี่ยวข้องกับภาคธุรกิจ แต่พัฒนาการของเทคโนโลยีนั้นได้สร้างความเปลี่ยนแปลงและความเป็นไปได้ให้กับทุกมิติของสังคม เช่นเดียวกันกับการเคลื่อนไหวภาคการเมืองการปกครอง รัฐบาลจีนกำลังพัฒนาระบบที่เรียกว่า ‘Social Credit’ ผสานพลังของ Big Data และ AI เพิ่มศักยภาพในการควบคุมดูแลประชาชนได้อย่างมหาศาล ขณะที่ในฝั่งของประชาธิปไตย Civic Tech หรือเทคโนโลยีภาคประชาชนกำลังจะมีบทบาทมากขึ้น เริ่มมีเรื่องของเทรนด์ Open Data ที่ช่วยในเรื่องของความโปร่งใสของรัฐบาล ประชาชนสามารถตรวจสอบการทำงานของรัฐได้ และการแชร์ข้อมูลยังก่อให้เกิดการร่วมมือกันจากหลายฝ่าย ไปจนถึงการผนวกข้อมูลกับเข้าเทคโนโลยีการประมวลผลอย่าง AI ที่จะช่วยยกระดับศักยภาพในการใช้ข้อมูลสาธารณะให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

ไต้หวันเป็นหนึ่งในตัวอย่างที่น่าสนใจของการนำ Civic Tech เข้ามามีส่วนสำคัญในการสร้างให้เกิดส่วนร่วมทางการเมืองจากภาคประชาชน จากแต่เดิมที่มีช่องว่างอยู่มากระหว่างภาครัฐกับประชาชน หรือแม้กระทั่งในรัฐเองก็ยังมีช่องว่างระหว่างหน่วยงานหรือกระทรวงต่างๆ แต่โดยการใช้เทคโนโลยีมาผสานช่องว่างนั้นจะช่วยเพิ่มพลังภาคประชนในการทำงานร่วมกับรัฐ และนำไปสู่การสร้างนวัตกรรมทางสังคมที่ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างจริงจัง

รวมพลังชุมชน g0v ขับเคลื่อนเทคโนโลยีเพื่อประชาชน

หนึ่งในแรงขับเคลื่อนประชาธิปไตยในไต้หวันที่สำคัญคือ g0v กลุ่ม Civic Tech ที่รวมโปรแกรมเมอร์ นักออกแบบ NGOs ข้าราชการ ไปจนถึงภาคพลเมืองทั่วไป ร่วมกันผลักดันกิจกรรมส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการแก้ไขปัญหาทางการเมือง มีการจัด hackathon หรืองานสัมนาระดับนานาชาติเป็นประจำ จุดประสงค์คือการสร้างให้เกิดความโปร่งใสในการทำงานของรัฐบาล และสร้างความร่วมมือจากทุกฝ่ายอย่างจริงจัง เพื่อผลักดันให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อสาธารณะ ทุกคนสามารถมีส่วนร่วมได้ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบของการใช้ทักษะที่มีอยู่ การเสนอไอเดีย หรือในแง่ของการสนับสนุนเงินทุน

การตั้งชื่อโดยใช้เลข 0 แทนตัว o ใน g0v นั้น เป็นสัญลักษณ์ของการใช้วิธีคิดแบบเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาใช้กับรัฐบาลที่มีการจัดการบริหารแบบดั้งเดิม

โปรเจค Government Budget Visualization สร้างแผนภูมิ Bubble เข้าใจง่ายเห็นภาพว่ารัฐบาลใช้จ่ายเงินไปกับอะไรบ้าง

จากปกติที่ตัวเลขงบประมาณจากภาครัฐจะถูกนำเสนอในรูปแบบไฟล์เอกสารสกุล PDF กว่าร้อยหน้า โปรเจค Government Budget Visualization จาก g0v ใช้พลังของ ‘การทำให้เห็นภาพ’ ช่วยให้ภาคประชาชนสามารถเห็นภาพได้อย่างง่ายว่ารัฐใช้จ่ายงบประมาณไปกับอะไรบ้าง สามารถเปรียบเทียบได้อย่างสะดวกกับทิศทางการใช้งบประมาณในอดีต หรือเปรียบเทียบการใช้งบประมาณระหว่างกระทรวงต่างๆ ไปจนถึงเครื่องมือในการให้ feedback สามารถตั้งคำถามกับการใช้งบประมาณได้โดยตรง

จากปกติที่ตัวเลขงบประมาณจากภาครัฐจะถูกนำเสนอในรูปแบบไฟล์เอกสารสกุล PDF กว่าร้อยหน้า โปรเจค Government Budget Visualization จาก g0v ใช้พลังของ ‘การทำให้เห็นภาพ’ ช่วยให้ภาคประชาชนสามารถเห็นภาพได้อย่างง่ายว่ารัฐใช้จ่ายงบประมาณไปกับอะไรบ้าง

vTaiwan.tw แพลตฟอร์มที่ช่วยให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการสร้างข้อกฏหมาย

แพลตฟอร์มที่เปิดให้ภาคประชาชนสามารถเรียนรู้การทำงานของรัฐบาล เปิดโอกาสให้สามารถทำความเข้าใจและนำไปสู่การมีส่วนร่วมในการกำหนดข้อกฏหมาย เคสตัวอย่างที่ดีซึ่งแสดงให้เห็นถึงบทบาทของ vTaiwan ต่อการมีส่วนร่วมในนโยบายสาธารณะจากภาคประชาชนคือเรื่องของ Uber ที่จะเข้ามาในไต้หวัน มีการถกเถียงกันบนแพลตฟอร์มจากความเห็นที่แตกต่างจนสามารถหาข้อสรุปที่มีผลทางกฏหมายร่วมกันในสังคมได้

Pol.is เครื่องมือสำรวจความคิดเห็นออนไลน์ที่สามารถบูรณาการความคิดเห็นที่แตกต่างกัน จนหาข้อตกลงร่วมกันได้

พื้นที่ออนไลน์สำหรับการสำรวจความคิดเห็น เป็นเครื่องมือที่ถูกใช้ใน vTaiwan.tw เพื่อสร้างบทสนทนาข้อถกเถียงในประเด็นสาธารณะต่างๆ ทุกคนสามารถสร้างแอคเคาท์เพื่อจะโพสต์คอมเมนท์ และสามารถโหวตเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับความคิดเห็นของคนอื่นๆ ได้

สิ่งที่ทำให้ Pol.is, มีความพิเศษกว่าพื้นที่สนทนาออนไลน์ทั่วไปคือการที่เราไม่สามารถตอบกลับความคิดเห็นของใครได้ สิ่งที่ทำได้มีเพียงการโพสต์เสนอความคิดเห็นของตัวเอง และกดโหวตเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับความคิดเห็นของคนอื่น มันจึงลดโอกาสที่จะเกิดการถกเถียงที่ไม่สร้างสรรค์ อีกประเด็นคือการโหวตเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับความคิดเห็นที่แตกต่างกันจะถูกสร้างเป็น Map ให้เห็นภาพง่ายๆ ทำให้สามารถรวมกลุ่มผู้ที่มีความคิดเห็นคล้ายคลึงกันและกลุ่มความเห็นตรงกันข้ามได้แม้จะมีการแสดงความคิดเห็นจำนวนมาก หลังจากนั้นคนจะเริ่มเสนอความเห็นที่จะได้รับการโหวตจากทั้งสองฝ่ายที่แบ่งแยกกัน เป็นการค่อยๆ ลดช่องว่างของความแตกต่างจนได้ข้อสรุปร่วมกันในที่สุด

การแสดงภาพที่ทำให้เห็นอย่างชัดเจนถึงกลุ่มความคิดเห็นที่แตกต่างกัน

เบื้องหลังสำคัญ Audrey Tang แฮ็คเกอร์อัจฉริยะผู้ผันตัวมาเป็นรัฐมนตรีดิจิทัล และนำเข้าวัฒนธรรมโปร่งใสขั้นสุดสู่รัฐบาล

หนึ่งในบุคคลสำคัญที่อยู่เบื้องหลังประชาธิปไตยที่วิวัฒน์ด้วยเทคโนโลยีของไต้หวันคือ Audrey Tang รัฐมนตรีดิจิทัลซึ่งมีคุณสมบัติหลายอย่างที่สำคัญ ไม่ว่าจะเป็นความอัจฉริยะด้านเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ และเลือดความเป็นนักประชาธิปไตย Tang แสดงจุดยืนที่ชัดเจนว่าเป็นผู้ที่อยู่ตรงกลางระหว่างรัฐบาลและกลุ่มนักเคลื่อนไหวทางสังคม โดยใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือหลักในการประสานความร่วมมือของทั้งสองฝ่าย

สามารถอ่านบทสัมภาษณ์เรื่องทัศนคติของ Audrey Tang ต่อเทคโนโลยีและประชาธิปไตยได้ ที่นี่

แต่เดิมประชาธิปไตยคือการปะทะกันของสองฝั่งขั้วที่ยึดถือคุณค่าต่างกัน แต่ในปัจจุบันประชาธิปไตยคือการสนทนาแลกเปลี่ยนกันระหว่างคุณค่าที่หลากหลาย

Tang เป็นรัฐมนตรีผู้ผลักดันความโปร่งใสขั้นสุดโดยเริ่มจากตัวเขาเองที่จะตอบคำถามต่อสื่อมวลชนในพื้นที่ออนไลน์สาธารณะเท่านั้น รวมถึงการพัฒนาโปรเจคต่างๆ ที่จะสร้างส่วนร่วมจากภาคประชาชน โดยเฉพาะการสร้างพื้นที่สนทนาที่จะใช้เทคโนโลยี AI มาช่วยเพิ่มศักยภาพการสนทนา คอนเซปต์คือคนจำนวนหลักล้านคนสามารถแลกเปลี่ยนความคิดเห็น รับฟังคุณค่าที่แตกต่างและความรู้สึกของกันและกันได้ ซึ่ง Tang มองว่าการรับฟังกันและกันคือหัวใจสำคัญของประชาธิปไตย ดังนั้นจากแต่เดิมประชาธิปไตยคือการปะทะกันของสองฝั่งขั้วที่ยึดถือคุณค่าต่างกัน แต่ในปัจจุบันประชาธิปไตยคือการสนทนาแลกเปลี่ยนกันระหว่างคุณค่าที่หลากหลาย สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้ด้วยอุดมการณ์ทางประชาธิปไตยที่เข้มแข็ง ผนวกกับการใช้เทคโนโลยีเพื่อเพิ่มศักยภาพให้กับประชาธิปไตยนั่นเอง

ขณะที่โดยส่วนใหญ่คนมักจะมองเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นใหม่เชื่อมโยงกับภาคธุรกิจ แต่สำหรับ Tang นั้นเทคโนโลยีสามารถก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสาธารณะได้เสมอ Tang สรุปวิสัยทัศน์ของเขาที่มีต่อเทคโนโลยีต่างๆ ไว้ว่า

internet of things = Internet of beings

virtual reality = shared reality

machine learning = collaborative learning

user experience = human experience

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงตัวอย่างส่วนหนึ่งของความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นในแวดวงประชาธิปไตยของไต้หวันที่มีเทคโนโลยีเข้ามาเกี่ยวข้อง แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของเทคโนโลยีที่สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงและเปิดความเป็นไปได้ใหม่ๆ ให้กับสังคม โดยเฉพาะสำหรับภาคการเมืองการปกครองที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับโครงสร้างทางสังคมสามารถประยุกต์ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีเพื่อผลประโยชน์ของทุกคนในสังคมได้อย่างมหาศาล

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

Founder Model วิถีผู้นำแบบ Brian Chesky CEO เบื้องหลังความสำเร็จของ Airbnb

Founder Mode เป็นแนวทางการบริหารที่กำลังได้รับความสนใจในวงการสตาร์ทอัพ โดยแนวคิดนี้ได้รับการพูดถึงอย่างกว้างขวางจาก Brian Chesky, CEO ผู้พา Airbnb เติบโตจนกลายเป็นธุรกิจระดับโลก ด้...

Responsive image

ไขความลับ Growth Hacking: บทเรียนจาก Spotify สู่ธุรกิจยุคใหม่

ในโลกธุรกิจที่การแข่งขันดุเดือดและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การเติบโตอย่างรวดเร็วและยั่งยืนคือสิ่งที่ทุกธุรกิจต่างใฝ่ฝัน Growth Hacking กลายเป็นกุญแจสำคัญที่ไขประตูสู่ความสำเร็จ ด้วย...

Responsive image

เปิดปรัชญาแห่งความเป็นผู้นำของ Steve Jobs

Steve Jobs ผู้ร่วมก่อตั้ง Apple ที่โด่งดัง อาจไม่ใช่เจ้านายในฝันของใครหลายคน แต่ปรัชญาการบริหารของเขาพิสูจน์แล้วว่าทรงพลังและนำไปสู่ความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ คำพูดที่สะท้อนแนวคิดนี้ได้...