นับตั้งแต่พัฒนาการของการแลกเปลี่ยนในยุคปลายศตวรรษที่ 14 ใครจะไปคิดว่าตลาดหุ้นในปัจจุบันกำเนิดมาจากการตะโกนซื้อขาย และแลกเปลี่ยนสินค้ากลางเมือง Antwerb (Belgium) ที่ค่อยๆ พัฒนามาจากการจดบันทึกการซื้อขายเป็นลายลักษณ์อักษรอย่างเป็นระบบ กระทั่ง Dutch East India Company ได้จดทะเบียนบริษัทของตน
โดยแบ่งส่วนย่อยความเป็นเจ้าของบริษัทออกมาเป็นส่วนเล็กๆ (ปัจจุบันรู้จักกันในนาม “หุ้น”) และให้คนทั่วไปที่สนใจสามารถร่วมลงทุนในบริษัทตัวเองที่กรุง Amsterdam โดยบริษัทจะแบ่งส่วนของกำไรที่บริษัททำได้ให้กับผู้ร่วมลงทุน เรียกได้ว่าเป็น Initial Public Offering (IPO) ครั้งแรกในประวัติศาสตร์ จนภายหลังในปี 1611 ก็ได้มีการจัดตั้ง Amsterdam Stock Exchange ซึ่งเป็นตลาดหลักทรัพย์จดทะเบียนแห่งแรกของโลก ทั้งยังเป็นต้นแบบให้กับตลาดหลักทรัพย์อื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น New York Stock Exchange ในปลายศตวรรษที่ 17 และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในปี 1962 อีกด้วย
ในตลาดลงทุน นักลงทุนมักจะคุ้นเคยกับการทำกำไรโดยการซื้อสินทรัพย์ที่ราคาถูก และขายในราคาที่มากกว่า ซึ่งกลยุทธในการทำกำไรจะถูกกำหนดให้อยู่แค่รูปแบบเดียว คือ ขายที่ราคาที่สูงกว่าราคาซื้อเท่านั้น แต่ในความเป็นจริงทิศทางของราคาไม่ได้มีแค่ทิศทางเดียว คิดง่ายๆ ราคาของสินทรัพย์จะขึ้นได้ก็ต่อเมื่อความต้องการในการซื้อมีมากกว่าขาย ทั้งที่เป็นไปไม่ได้เลยที่สินทรัพย์ใดสินทรัพย์หนึ่งจะมีแต่ความต้องการซื้อสูงตลอดเวลา วันหนึ่ง หรือช่วงใดช่วงหนึ่งราคาต้องลดลงมา เพราะทุกคนต่างอยากได้กำไร ทำให้คนซื้อที่ราคาสูงต้องแบกความรับความเสี่ยงในการขาดทุนสูงตามไปด้วย ทำให้คนกลุ่มหนึ่งมองว่า ถ้าเรามีตลาดที่เราสามารถลงทุนในสภาวะที่ราคาของสินทรัพย์อยู่ในขาลงด้วยคงจะดีไม่น้อย จึงเกิดเป็นตลาดเล็กๆ ที่เอาไว้ซื้อขาย “สัญญาล่วงหน้า (Futures Contract)” ซึ่งเป็นที่นิยมกันมากในการซื้อขายสินค้าโภคภัณฑ์ ก่อนจะเริ่มเป็นที่นิยมกระจายเป็นวงกว้างมากขึ้น
จนกระทั่งปี 1970 พัฒนาการในการแลกเปลี่ยนสินค้าโภคภัณฑ์มีปริมาณที่สูงขึ้นเรื่อยๆ สหรัฐจึงได้จัดตั้งตลาดซื้อขายสัญญาล่วงหน้าที่มีชื่อว่า “New York Mercantile Exchange (NYMEX)” ขึ้นมา โดยรวบรวมสินค้าต่างๆ เพื่อช่วยให้นักลุงทุนสามารถซื้อขายสัญญาล่วงหน้าได้ในตลาดเดียว โดยส่วนใหญ่เป็นสินค้าโภคภัณฑ์อย่าง ทอง เงิน ทองแดง ฝ้าย ข้าวสาลี ช็อคโกแลต และพัฒนาจนมีการเทรดสินค้าอย่างน้ำมัน พันธบัตรรัฐบาล รวมไปถึงสินค้าอย่างหุ้นของบริษัท และเป็นต้นแบบในตลาดซื้อขายสัญญาล่วงหน้าของประเทศไทยที่จัดตั้งขึ้นในปี 2003 ซึ่งการมาของตลาดซื้อขายสัญญาล่วงหน้า เป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนระบบการเงินของโลกจนถึงทุกวันนี้
เป็นธรรมดาที่ของใหม่ในช่วงแรกมันก็มักจะดูดีไปเสียหมด เช่นเดียวกับตลาดทุน ในช่วงที่เกิดวิกฤต Black Tuesday ในปี 1929 ที่หุ้นในตลาดหลักทรัพย์ของอเมริกาทิ้งดิ่งอย่างรุนแรง จนเป็นภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Great Depression) กินเวลานานหลายปี ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย ระหว่างที่ทำการฟื้นฟูเศรษฐกิจและตลาดทุน ทางสภาเห็นพ้องว่าควรมีหน่วยงานที่คอยกำกับดูแลเพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้นอีก จึงได้จัดตั้ง “คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (SEC)” ขึ้นมาในปี 1934 ซึ่งห่างจากปีที่จัดตั้งตลาดหลักทรัพย์เกือบ 200 ปีเลย ส่วนของประเทศไทยเนื่องจากมีต้นแบบมาจากสหรัฐอยู่แล้ว การจัดตั้ง SEC มีการจัดตั้งขึ้นหลังจากเปิดตัวตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในปี 1992 ห่างจากการเปิดตลาดราว 30 ปี เพื่อคอยกำกับดูแลเกี่ยวกับตลาดทุนทั้งหมด
ในส่วนของตลาดคริปโตเคอร์เรนซี รูปแบบของตลาดซื้อขายส่วนหนึ่งยังคงคล้ายกับตลาดทุนอยู่ไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็นการซื้อขายคริปโตปกติ ที่รู้จักกันในส่วนของ spot trading หรือซื้อขายสัญญาล่วงหน้า (Futures Contract) และด้วยความเฟื่องฟูของตลาดคริปโตที่ทุกคนต่างให้ความสนใจมาเป็นระยะเวลาหลายปี ส่งผลให้เกิดความกังวลถึงผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นเช่นเดียวกับที่ตลาดทุนทำ และเป็นหน้าที่ของ SEC ที่จะต้องเข้ามามีบทบาทในส่วนการกำกับดูแลตลาดนี้เช่นกัน แต่จนถึงวันนี้ก็ยังไม่ได้มีข้อกำหนดกฎหมายกลางที่ชัดเจน และใช้เป็นมาตรฐานเดียวกัน มีเพียงแค่ปรับใช้กันตามเห็นสมควรตามแต่ละภูมิประเทศ
อย่างที่ทราบกันดี ว่าตลาดทุนก็ประเทศไทยยังไม่มีผลิตภัณฑ์ให้ซื้อขายแลกเปลี่ยนหลากหลายเท่าตลาดระดับโลกอย่างสหรัฐ ไม่มีการซื้อขายสัญญาล่วงหน้า และไม่มีอนุพันธ์อื่นๆ ในระดับหุ้นของบริษัท มีแค่เพียงผลิตภัณฑ์ที่ใกล้เคียงเท่านั้น ทั้งนี้อาจเกิดจากตัวของกฎหมายที่ไม่ได้มีการพัฒนาเข้ากับโลกในปัจจุบันให้ทันท่วงทีมากพอ รวมถึงความกังวลกับพฤติกรรมการลงทุนของคนในประเทศที่ถูกมองว่ายังไม่พร้อมในการใช้งานผลิตภัณฑ์เหล่านั้น ทั้งที่จริงๆ คนไทยหลายคนเทรดฟิวเจอร์ในตลาดทุนต่างประเทศก็มีไม่น้อยเลย จึงส่งผลให้ตลาดซื้อขายสัญญาล่วงหน้าในส่วนของคริปโตเคอร์เรนซียังไม่เกิดในประเทศไทยจนถึงทุกวันนี้ มีเพียงตลาดซื้อขายสินค้าในส่วนของ spot trading เท่านั้น ซึ่งกรณีนี้ทำให้ผู้ใช้ตลาดแลกเปลี่ยนในไทยเสียเปรียบผู้ใช้ในประเทศอื่นๆ มาก อีกทั้งยังทำให้เงินทุนไหลออกประเทศอย่างเลี่ยงไม่ได้อีกด้วย
หากใครเคยใช้ exchange อื่น ที่ไม่ได้ขึ้นตรงกับประเทศไทย จะรู้ดีว่าสัญญาซื้อขายล่วงหน้าช่วยสร้างกลยุทธในการลงทุนได้หลากหลาย ยิ่งในตลาดคริปโตที่มีความผันผวนรุนแรงที่สุดถ้าเทียบกับทุกตลาด การมีพื้นที่ที่เปิดให้ซื้อขายสัญญาล่วงหน้า จะทำให้เราสามารถลดความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นจากความผันผวนของราคาที่รุนแรงได้อย่างมหาศาล เพราะเราสามารถสร้างผลตอบแทนได้ทั้งตอนที่ราคาขึ้น หรือแม้แต่ลดความเสี่ยงของพอร์ตในตอนที่ราคาลง โดยที่ไม่จำเป็นต้องขายสินทรัพย์ใน spot มาถือ stablecoin และเงินสดเลย (ซึ่งเดี๋ยวจะมาเขียนเพื่อพูดคุยกันอีกครั้งนะครับ)
ในปัจจุบันแม้ตัว exchange ทั่วโลกที่เปิดให้บริการอยู่จะยังเปิดกว้าง ให้ผู้ใช้จากทุกสารทิศสามารถเข้ามาสมัครใช้บริการได้ รวมถึง DeFi หลายแพลตฟอร์มที่มีบริการเหล่านี้ให้ใช้ แต่ในอนาคตหากตัวบทกฎหมายมีความเข้มงวดมากขึ้น และชัดเจนมากขึ้น นักลงทุนอาจจะถูกข้อกำหนดดังกล่าวทำให้ไม่สามารถเข้าถึงแพลตฟอร์มเหล่านี้ได้ในอนาคตก็เป็นได้ และประเทศไทยอาจจะเป็นหนึ่งประเทศที่ยังไม่สามารถพัฒนาให้มีตลาดดังกล่าวได้อย่างที่เราได้เห็นจากตลาดหุ้นในปัจจุบัน แต่หากได้รับการสนับสนุนและการผลักดันที่ถูกต้องมากพอ ความไม่พร้อมที่ถูกมองในตอนแรก อาจจะเป็นโอกาสในการพัฒนาตลาดทุนในประเทศไทยให้เป็นอีกหนึ่งประเทศที่มีศักยภาพด้านการลงทุนก็ได้ และช่วยสร้างความเป็นไปได้ต่างๆ ที่จะสามารถทำให้ประเทศเดินหน้าต่อไปอย่างไม่หยุดนิ่ง ก็ได้แต่หวังว่ากาลเวลา และการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นรอบข้าง จะช่วยสร้างความตระหนักรู้เหล่านั้นให้เกิดขึ้นโดยไว มิฉะนั้นแล้วประเทศไทยจะหลายเป็นประเทศที่ง่ายต่อการถูกเอาเปรียบด้านตลาดทุนเป็นแน่
-----------------
บทความนี้เขียนโดย ดร.อุดมศักดิ์ รักวงษ์วาน l อาจารย์ และนักวิจัยภาควิชาคณิตศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หนึ่งในผู้ก่อตั้ง โปรเจค Forward ซึ่งเป็น Decentralize Finance (DeFi) Platform ซึ่งให้บริการตลาดอนุพันธ์ และธนาคาร ดิจิทัลสําหรับคริปโตเคอเรนซี่ และเป็นที่ปรึกษากลยุทธ์ทางการเงิน (Financial Strategic Advisor) ให้กับบริษัท Satang Inc. โดยมีความเชี่ยวชาญด้านการกําหนดราคาอนุพันธ์และการป้องกันความเสี่ยง, การจัดการสินทรัพย์และ หนี้สิน และ การใช้โมเดลเชิงคณิตศาสตร์ในการเลือกพอร์ตการลงทุน ทั้งยังเป็นผู้อยู่เบื้องหลังความสําเร็จของโปรเจค ICO ด้านมีเดีย ระดับอินเตอร์เนชั่นแนลอีกด้วย รวมถึงเป็นผู้เชี่ยวชายในการเขียนโปรแกรม โดยนําความรู้ด้านคณิตศาสตร์การเงินและสูตรคณิตศาสตร์ ขั้นสูงมาประยุกต์ใช้ในการออกแบบ Protocol สําหรับ Decentralize Finance บนระบบ Blockchain
--------------------
References: [1] [2] [3] [4] [5] [6] [7]
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด