ปรับ Mindset การสร้าง Smart City ที่เทคโนโลยีไม่ใช่ 'พระเอก' ของเมือง โดย ดร.นน กล้าจน | Techsauce

ปรับ Mindset การสร้าง Smart City ที่เทคโนโลยีไม่ใช่ 'พระเอก' ของเมือง โดย ดร.นน กล้าจน

Smart City คือ ‘เมืองฉลาด’ หรือ ‘เมืองอัจฉริยะ’ ในความเข้าใจเเบบเเปลตรงตัวตามพจนานุกรม แต่คำว่า ฉลาดหรืออัจฉริยะนั้นในความเข้าใจของเเต่ละคนคงเเตกต่างกันไป และผู้เขียนเชื่อว่าหากได้ลองเดินไปถามผู้คนทั่วไปคงได้คำตอบที่มีความคล้ายกันและต่างกันไปตามภาพจำของแต่ละบุคคล  สุดท้ายเเล้วคำนิยามของ Smart City  ของคุณเป็นอย่างไร?  

หากเป็นความคิดของผู้เขียนเอง ภาพในหัวเกี่ยวกับ Smart City ในความทรงจำสมัยเด็ก คือ เมืองที่มีเทคโนโลยีทันสมัย มีหุ่นยนต์เดินไปมา ทุกอย่างในเมืองเป็นระบบอัตโนมัติ เหมือนในภาพยนตร์แนว Action Sci-Fi ที่เคยดูตอนเด็ก ซึ่งเป็นความคิดก่อนได้ฟัง ดร.นนท์ กล้าจน อธิบายจนได้ปรับภาพจำและเเนวคิดการสร้าง Smart City ในชีวิตจริง แต่ก่อนที่จะเข้าสู่เนื้อหาของบทความ

ผู้เขียนขออธิบายถึงชื่อที่บ่งบอกตัวตนของ ดร.นนท์ ก่อนเพราะหากรู้ความหมาย จะรู้ว่าทำไมบุคคลนี้ถึงเหมาะมากกับการพัฒนา Smart City เมืองไทย คำว่า “ดร. นน กล้าจน” ไม่ใช่เเค่เพียงชื่อเเปลกโดดเด่นเพียงอย่างเดียวแต่เกิดจากการลงมือทำในทุกวัน  เนื่องจากรูปแบบ “การใช้ชีวิตเชิงทดลอง” ของเจ้าตัว ที่ตั้งเป้าจะพิสูจน์ว่า “ชีวิตเมือง” นั้นสามารถมีประสิทธิภาพได้สุดๆ โดยที่ไม่จำเป็นต้องเป็นภาระต่อสิ่งแวดล้อม อาทิ การไม่สร้างมลภาวะทางอากาศ โดยการเดินไปกลับจากบ้านไปที่ทำงาน (7 กม.) และไม่ครอบครองยานพาหนะส่วนตัว การบริโภคเท่าที่ร่างกายต้องการพลังงานเท่านั้น (ประมาณ วันละมื้อ) การไม่ใช้แก้ว หลอดดูด ช้อนคน และถุงพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้งเลย รวมถึงการพกขวดน้ำ ช้อนส้อมตะเกียบที่สามารถล้างใช้ไหม่ได้ตลอดเวลา รวมไปถึง การอ่านหนังสือเรื่องใหม่ๆ ปีละ 100 เล่ม เพื่อกระตุ้นการทำงานของสมอง เป็นต้น บุคคลเเห่งเมืองที่หาได้ยากแล้วในโลกยุคใหม่กับรูปแบบการใช้ชีวิต “กล้าจน” ที่คนส่วนใหญ่ “ไม่กล้าที่จะจน” จับใจผู้เขียนแบบสุดๆ พอรู้ความหมายของชื่อที่มาจากรูปแบบการใช้ชีวิตจริงแล้วคงไม่เเปลก หากรูปแบบการพัฒนาเมืองให้ “Smart” ของ ดร.นนท์ จะต่างจากภาพจำของคนทั่วไป 

Credit:สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa)

นิยาม  Smart City ที่ “คน” คือพระเอกส่วนเทคโนโลยีเป็นพระรอง

ภาพเมืองที่ ดร.นนท์ ได้ใช้ในการอธิบายคำว่า Smart City เห็นครั้งแรกคงตกใจว่า หยิบภาพมาผิดรึเปล่านะ เพราะเมืองในภาพไม่เห็นดู Smart ตรงไหนเลย?  

Credit:https://www.sidewalktoronto.ca

ดร.นนท์ ได้อธิบายข้อมูลของภาพว่าเป็นภาพเมืองในประเทศเเคนาดา ซึ่งเป็นภาพในจินตนาการของ Google Sidewalk Lab ที่ทำให้กับ Waterfront ของเมือง Toronto ในอนาคต หลังจาก เอาเทคโนโลยีลงไปทำให้เมือง "Smart" ขึ้น ซึ่งในปัจจุบันเมืองนี้เป็นพื้นที่หนึ่งในการพัฒนาให้เป็น Smart City แล้วภาพนี้ทำให้เห็นว่า เมืองที่ภายนอกดูเป็นเมืองธรรมดา ไม่มีโดรนบินว่อนไปทั่วเมือง หรือหุ่นยนต์เดินไปมาก็เป็นเมืองที่ Smart ได้ 

นอกจากนี้ หากลองมองดูจะเห็นถึงความสุขของการใช้ชีวิตของผู้คนในเมือง โดยมีเทคโนโลยีอยู่เบื้องหลัง ซึ่งงานหลายอย่างในเมืองนี้ มีระบบเทคโนโลยีเข้ามาช่วยจัดการในด้านต่างๆ อาทิ การนำข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) มาใช้ในการวิเคราะห์ จัดการระบบต่าง ๆ เช่น สัญญาณไฟจราจรที่มีประสิทธิภาพ เพิ่มความคล่องตัวของการจราจรผ่านการวัดและคำนวณจำนวนรถที่ต้องปล่อยในแต่ละทางได้อย่างแม่นยำ  ซึ่งทำให้คนมีเวลามากขึ้นจากการที่ไม่ต้องไปเสียเวลาอย่างไม่จำเป็นบนท้องถนน และใช้ชีวิตสบายๆ ในพื้นที่พักผ่อนสาธารณะดังในภาพ จากการลดเวลาเดินทางนี้ ทำให้คนตัดสินใจน้อยลงในการหลีกเลี่ยงเส้นทางรถติด ลดความเครียดจากการเดินทาง เเละเมื่อคนมีเวลามากขึ้น สิ่งที่ตามมาคือ การใช้เวลาของคนในเชิงความคิดสร้างสรรค์ที่อาจจะตอบโจทย์ปัญหาอื่นๆ หรือพัฒนาคุณภาพของเมืองที่อาศัยอยู่ 

เรื่องการเดินทาง หากสามารถนำเทคโนโลยีมาจัดการได้ คนก็จะมีความสุขจากการมีเวลามากขึ้น สุดท้ายเเล้ว คำนิยามของเมืองอัจฉริยะที่เเท้จริงนั้นต้องตอบโจทย์ “การใช้ชีวิตของคน” ถึงเเม้ Smart City จะเป็นการนำเทคโนโลยีมาช่วยคน แต่ใช่ว่าจะเป็นสิ่งสำคัญที่สุด เพราะสุดท้ายเเล้ว หากมีเทคโนโลยีที่ล้ำสมัยแต่ไม่ได้ตอบโจทย์ชีวิตคน ก็เหมือนกับเครื่องมือประสิทธิภาพสูง แต่ไม่สามารถนำมาใช้ในการตอบโจทย์ของผู้รับบริการได้ ซึ่งในบางครั้งเครื่องมือประสิทธิภาพสูงนี้ซ้ำจะเป็นปัญหาไปเสียอีก เช่น ค่าดูแลรักษาที่สูง เป็นต้น

หากลองเปรียบเทียบให้เห็นภาพแบบเชื่อมโยงว่า ทำไม “คน” ถึงเป็นตัวเเปรสำคัญของ Smart City  ไม่ใช่การพัฒนาเทคโนโลยีอย่างเดียว คงต้องย้อนกลับมาที่คำถามว่า “เราต้องการสร้างเมืองอัจฉริยะเพื่ออะไร” 

Credit: All Vaqar

ซึ่งหนึ่งในกรณีศึกษาเกี่ยวกับการสร้าง “เมืองอัจฉริยะ” ที่ ดร.นนท์ ได้มีโอกาสเดินทางไปดูเเละเห็นว่าเป็นตัวอย่างที่น่าสนใจ คือ เมือง Songdo ประเทศเกาหลีใต้ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า ทำไม “คน” ถึงเป็นศูนย์กลางการพัฒนา แต่ขอบอกก่อนว่า การยกตัวอย่างเมืองในครั้งนี้เป็นเพียงกรณีศึกษา ซึ่งมีทั้งข้อดีและข้อเสีย แต่ครั้งนี้ผู้เขียนขอหยิบประเด็นจากการฟัง ดร.นนท์ เฉพาะส่วนที่เกี่ยวข้องกับข้อผิดพลาดของการพัฒนามายกตัวอย่างให้เห็นภาพมากขึ้น

จากการยกตัวอย่างประเด็นที่ว่า ทำไมเมือง Songdo ที่ได้ชื่อว่าเป็น Smart City ที่มีการวางระบบโครงสร้างของทั้งเมืองด้วยเทคโนโลยีทันสมัยที่สุด  ซึ่งเมืองนี้ รัฐบาลเกาหลีใช้นักวิจัยและเวลาถึง 10 ปีกว่า รวมถึงลงทุนงบประมาณในการสร้างขึ้นสูงถึง 4 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ แต่ทำไมมีคนอยู่ไม่ถึง 1 ใน 4 ของเมืองและคนทั่วไปที่มาเยี่ยมเยือนเมืองนี้ พูดเป็นเสียงเดียวกันว่าไม่ต่างไปจาก "Ghost Town" ? 

หากมองในเเง่ของปัจจัยการอยู่อาศัยของคนทั่วไปโดยไม่ได้มองในมุมอื่น ดร.นนท์ ได้ให้เเง่คิดไว้ว่า การที่เมืองที่ทันสมัยนี้มีคนเข้ามาอยู่น้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ เพราะคนไม่กล้าเข้ามาอยู่ เหตุผลง่ายมากจนคาดไม่ถึงคือ เมือง “Smart เกินไป” จนคนปรับตัวไม่ทัน และเกิดความระเเวงจากเทคโนโลยีของเมืองที่มีประสิทธิภาพสูงแต่ไม่เข้าใจสังคมและวัฒนธรรมของผู้อยู่อาศัย เช่น การให้บริการสาธารณะในเมืองที่ปราศจากคนให้บริการอย่างสิ้นเชิง ซึ่งแม้ว่าจะฟังดูดีในหมู่นักเทคโนโลยี และเศรษฐศาสตร์ ประชากรอีกมากยังไม่ชินกับ “ความใหม่” นี้ และยังอยากให้มีปฏิสัมพันธ์ระหว่างคน ซึ่งสำหรับพวกเขาแล้วนั้น ถือว่าเป็น “เสน่ห์” ของความเป็นเมืองอยู่ หรือ การใช้ระบบกล้องวงจรปิดแบบปัญญาประดิษฐ์ ในการควบคุมความประพฤติของผู้อยู่อาศัยในเมือง ซึ่งแม้ว่าจะแม่นยำ และเป็นธรรม เพราะระบบเหล่านี้ไม่มีอคติ บิดเบือน หรือ “ลืม” ข้อมูลไม่ได้ หากผู้อยู่อาศัยยังมองว่า เป็นการนำเทคโนโลยีเข้ามาแทนที่ความสัมพันธ์ระหว่างคน เช่น ความเป็นเพื่อนบ้าน ดูแลสอดส่องกันและกันด้วยความใส่ใจ ซึ่งครั้งหนึ่งเคยทำหน้าที่คล้ายเป็น “กล้องวงจรปิด” ได้อย่างดีเยี่ยม ให้กับเมือง แบบที่ไม่ต้องใส่ถ่าน หรือต่อไฟฟ้ากันเลย

ทำให้เห็นว่า ถึงเเม้จะเป็นเมืองที่ทั่วโลกมองว่าตัวของเมืองนี้เป็นต้นเเบบ Smart City ที่มีความทันสมัยทั้งเมืองอย่างแท้จริงแต่หากความทันสมัยไม่ได้ตอบโจทย์ผู้อยู่อาศัยสุดท้าย เทคโนโลยีที่มีในเมืองหากไม่มีคนใช้ นอกจากจะเหมือนมีไว้เฉยๆแล้ว ยังทำให้ผู้อยู่อาศัยรู้สึกตะขิดตะขวงใจไม่กล้าย้ายเข้ามาอยู่ในเมืองนี้ไปซะอีก

สุดท้ายแล้วคำตอบของคำถามที่ว่า “เราต้องการสร้างเมืองอัจฉริยะเพื่ออะไร” ก็วนกลับมาจบที่ว่า เพื่อสร้างความสะดวกสบายในการใช้ชีวิตในเเต่ละวันของมนุษย์แต่ตอบให้ตรงจุดจริงๆ คงต้องบอกว่า สร้างให้คนมีชีวิตที่ดีขึ้นในทุกด้าน ดังนั้น Smart City หากอยากสร้างให้ประสบความสำเร็จก็ต้องเริ่มด้วย การตอบโจทย์ชีวิตของผู้ใช้คือ “คน”

“ CEED ” ถึงไม่ใช่เมล็ดพันธุ์ “SEED” แต่เติบโตเป็น Smart City ที่ประสบความสำเร็จได้

Credit:สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa)

โดยในมุมมองของ ดร.นนท์ มองว่า หากอยากสร้างฐานการพัฒนา Smart City ให้ครอบคลุมเราต้องเริ่มจาก “CEED” เพื่อให้การสร้างเมืองสามารถตอบโจทย์การใช้ชีวิตของคนได้จริงๆ ซึ่งคำว่า “CEED” มาจากคำว่า 

  • Convenience สร้างความสะดวกสบายของการใช้ชีวิต ซึ่งเทคโนโลยีมีหน้าที่มาช่วยทำให้คนมีเวลามากขึ้น เช่น ช่วยให้เราเดินทางเร็วขึ้น จับจ่ายใช้สอยได้สะดวกมากกว่าเดิม รวมทั้ง ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เป็นต้น
  • Economy สร้างระบบเศรษฐกิจที่ดี ทำอย่างไรให้เมืองมีระบบเศรษฐกิจที่ตอบโจทย์ผู้คน สร้างประโยชน์ต่อฐานรายได้ และการประกอบอาชีพ ทำให้เกิดความเท่าเทียมในการเข้าถึงโอกาสทางธุรกิจ
  • Environment ไม่ว่าเศรษฐกิจหรือระบบอื่นๆ ดีเเค่ไหน อย่างไรมนุษย์ดำรงชีวิตบนโลกยังต้องหายใจหากสภาพอากาศเเย่ น้ำสกปรก ทรัพยากรทางธรรมชาติหมด มนุษย์ก็อยู่ไม่ได้ ดังนั้นแล้วการพัฒนา Smart City ต้องให้ความสำคัญกับการปกป้องสิ่งแวดล้อมเป็นอันดับแรก
  • Decision-Making  ทำอย่างไรให้เรามีศักยภาพในการตัดสินใจมากขึ้นด้วยการใช้ข้อมูล ซึ่งปกติมนุษย์ทุกคนล้วนมีอคติ และขีดจำกัดของร่างกาย ทำอย่างไรให้เรา Smart ขึ้นได้ในเวลาอันสั้นด้วย Data ดังนั้นเทคโนโลยีเปรียบเสมือนผู้ช่วยของคน แต่เราจะสามารถนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้อย่างไรบ้างสุดท้าย คนคือผู้นำมาใช้ให้เกิดประสิทธิภาพ 

หากไม่รู้จะเริ่มไอเดียการพัฒนาอย่างไรก็ลองนำ 4 แกนนี้ไปเริ่มต้นไอเดียของการพัฒนาเมืองดูเพราะหากสามารถทำได้เมืองนี้คงเป็นพื้นที่ในฝันของคนในการเข้ามาอยู่อาศัย เพราะไม่ต้อง Smart แบบเทคโนโลยีเต็มเมืองก็อยู่ในกลุ่ม Smart City ได้นะ! 

เมื่อมีไอเดียเเล้วคงถึงเวลาลงมือทำแต่ใครทำละ? อีกหนึ่งคำถามที่จะทำให้เห็นในมุมของการสร้าง Smart City ให้เกิดขึ้นจริงและยั่งยืน เพราะเมืองคือเรื่องไม่เล็ก ดังนั้นไม่ใช่เเค่ใครคนใดคนหนึ่งที่ต้องทำเพราะเรื่องของเมืองคือเรื่องใหญ่ ทำให้เวลาพูดว่าจะพัฒนาหรือสร้างเมืองคงต้องพูดถึงความร่วมมือของทุกภาคส่วนตั้งเเต่ ภาครัฐ ภาคเอกชน ไปจนถึงภาคประชาชนที่อาศัยในพื้นที่นั้น 

ประเทศไทยในส่วนของรัฐ การพัฒนา Smart City อยู่ในความดูแลของสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) การพัฒนาที่ดำเนินงานโดยภาครัฐเป็นอีกเสาสำคัญที่ขยายความน่าเชื่อถือรวมถึงการสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานของการพัฒนาเมืองในแต่ละด้านได้อย่างครอบคลุมในมุมของนโยบาย กฎหมาย งบประมาณแต่ถึงอย่างไรขอบเขตการทำงานของภาครัฐมีข้อจำกัดและยังขาดส่วนสำคัญของการพัฒนาเมือง อาทิ ความเชี่ยวชาญ, Solutions ที่จะมาตอบโจทย์ในแต่ละด้านของการพัฒนา Smart City 

ด้วยการมองเห็นถึงจุดสำคัญที่ขาดหาย depa หรือ ภาครัฐจึงเดินหน้าพัฒนาเมืองร่วมกับ ภาคเอกชน อย่างกลุ่มบริษัท และ Startup ที่มีความเข้าใจเทคโนโลยีรวมถึงคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ อยู่เสมออีกทั้งภาคเอกชนยังมีความเข้าใจในมุมของการต่อยอดงานสู่การสร้างแผนธุรกิจเพื่อก่อให้เกิดความยั่งยืนเพราะหากภาครัฐสนับสนุนให้เกิดการสร้างขึ้นมาเเล้วแต่สิ่งที่สร้างไม่สามารถต่อยอดเเละอยู่ได้ด้วยตัวเองสุดท้ายความยั่งยืนจะไม่เกิด ภาคสุดท้ายที่ขาดไม่ได้คือ ภาคประชาชน เพราะการพัฒนา “เมือง” หากขาดความคิดและปัญหาจากผู้อยู่อาศัยการพัฒนาจะตอบโจทย์ วิถีชีวิตของคนให้ดีขึ้นอย่างถูกจุดได้อย่างไร

ด้วยเนื้อหาที่มากมายอาจบรรยายในหนึ่งบทความไม่หมดในวันเดียวจึงอยากเชิญชวนผู้ที่สนใจการพัฒนา Smart City เข้าร่วมงาน Online Demo Day ของ โครงการ depa Accelerator 2019 ใน วันศุกร์ที่ 24 กรกฎาคม 2563 เวลา 13.00 - 16.30 น. ซึ่งในปีนี้มีหัวข้อการเเข่งขันที่ต้องการหา Solutions จาก Startup มาร่วมกันพัฒนา Smart City ของประเทศไทยให้เกิดขึ้น  นอกจากนี้ทุกท่านยังมีโอกาสมาร่วมลุ้นกันว่าทีมใดจะเป็น The Winner ของโครงการ depa Accelerator 2019 อย่าลืมมาร่วมให้กำลังใจเเต่ละทีมกันนะ!

ลงทะเบียนเข้าร่วมงานฟรี ได้ที่ https://www.hubbathailand.com/depa-accelerator พร้อมลุ้นรับของรางวัลสุดพิเศษระหว่างเข้าร่วมกิจกรรมในงานนี้ อย่ารอช้ากดเข้ามาลงทะเบียนร่วมงานฟรีได้ที่นี่เลย!

**ทีมงานจะส่งลิงค์เข้าร่วมดูการนำเสนอและกิจกรรม Online Networking ก่อนเวลาเริ่มงาน 1 ชั่วโมง

ขอขอบคุณข้อมูลจาก sidewalktoronto.ca, citylab.com, forbes.com

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

5 ข้อแตกต่างที่ทำให้ Jensen Huang เป็นผู้นำใน 0.4% ด้วยพลัง Cognitive Hunger

บทความนี้จะพาทุกคนไปถอดรหัสความสำเร็จของ Jensen Huang ด้วยแนวคิด Cognitive Hunger ความตื่นกระหายการเรียนรู้ เคล็ดลับสำคัญที่สร้างความแตกต่างและนำพา NVIDIA ก้าวสู่ความเป็นผู้นำระดับ...

Responsive image

เรื่องเล่าจาก Tim Cook “...ผมไม่เคยคิดเลยว่า Apple จะมีวันล้มละลาย”

Apple ก้าวเข้าสู่ยุค AI พร้อมรักษาจิตวิญญาณจาก Steve Jobs สู่อนาคตที่เปี่ยมด้วยนวัตกรรม โดย Tim Cook มุ่งเปลี่ยนโฉมเทคโนโลยีอีกครั้ง!...

Responsive image

วิจัยชี้ ‘Startup’ ยิ่งอายุมาก ยิ่งมีโอกาสประสบความสำเร็จ

บทความนี้ Techsauce จะพาคุณไปสำรวจว่าอะไรที่ทำให้ วัย 40 กลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของนักธุรกิจและ Startup หลายคน...