จะเป็นอย่างไรต่อ ? เมื่อแพลตฟอร์มต่างหันมารับบท Digital Banking ทำหน้าที่เรื่องเงิน แทน ธนาคาร | Techsauce

จะเป็นอย่างไรต่อ ? เมื่อแพลตฟอร์มต่างหันมารับบท Digital Banking ทำหน้าที่เรื่องเงิน แทน ธนาคาร

ถ้าถามว่าใน Digital Disruption ที่เข้ามานั้น อุตสาหกรรมอะไรที่โดนก่อน และต้องปรับตัวอย่างหนัก คำตอบที่ได้ จากที่เราเห็นความเปลี่ยนแปลงในช่วงที่ผ่านมา คงหนีไม่พ้น อุตสาหกรรมการเงิน โดยเฉพาะสถาบันทางการเงินที่จำเป็นต้องปรับตัวอย่างต่อเนื่อง ชนิดที่เรียกได้ว่าต้องวิ่งมาราธอนกันเลยทีเดียว นอกจากนี้ยังมีการเพิ่มขึ้นของแพลตฟอร์มต่าง ๆ ที่หันมาให้บริการทางการเงิน ทำหน้าที่ราวกับสถาบันการเงิน ที่ให้ผู้คนให้เข้าถึงบริการทางการเงินกันได้อย่างง่ายดายขึ้น 

ทุกวันนี้ทุกคนสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้ ไม่จำเป็นต้องพึ่งพาเพียงแค่สถาบันการเงินช่องทางเดียวอีกต่อไป เพราะในยุคนี้แทบจะทุกแอปพลิเคชันที่เรารู้จักและใช้งานในชีวิตประจำวันต่างก็มีบริการทางการเงินรองรับลูกค้า ไม่ว่าจะเป็น GrabPay, ShopeePay, True Money หรือแม้กระทั่ง LINE และ Facebook ก็มีการสร้างฟีเจอร์สำหรับบริการทางการเงิน 

จะเห็นได้ว่า Digital Banking หรือบริการทางการเงินในรูปแบบดิจิทัล จะเข้ามาแย่งพื้นที่การบริการแบบเดิม ๆ ไปได้ ด้วยเทคโนโลยีที่เติบโตขึ้นทุก ๆ วัน และด้วยพฤติกรรมของผู้บริโภคหันมาสนใจใช้งานเทคโนโลยีเหล่านี้เพิ่มมากขึ้น ทำให้อนาคตเราต้องแล้วว่าจะเป็นอย่างไรต่อไป เมื่อแพลตฟอร์มต่าง ๆ เหล่านี้สามารถให้บริการทางการเงิน แบบไม่ต้องพึ่งพาธนาคารได้ 

เทคโนโลยี ทำให้ บทบาทบริการทางการเงิน ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ ธนาคาร

หลายคนอาจจะเคยได้ยินคำว่า Neobank มาก่อน ซึ่งคำว่า Neobank ก็คือ บริษัท FinTech ที่เข้ามาให้บริการซอฟต์แวร์ และเทคโนโลยีอื่น ๆ ด้าน Mobile banking และ Online banking โดยส่วนใหญ่จะเป็นบริการทางด้านการเงิน เช่น เปิดบัญชีเงินฝาก ถึงแม้ว่าบริการเหล่านี้จะมีความโปร่งใส และว่องไวกว่าการทำงานของธนาคารรายใหญ่ ๆ บางราย 

นอกจากนี้บางบริษัท FinTech เหล่านี้ก็เริ่มร่วมมือกับธนาคาร หรือสถาบันทางการเงินแบบดั้งเดิม เพื่อขยายฐานลูกค้า และดึงความน่าเชื่อถือให้กับผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินของพวกเขา

ซึ่งการเข้ามาของ Neobank ในอุตสาหกรรมการเงิน มักถูกเทียบกับอุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่โดยบริการดิจิทัลเข้ามา Disrupt อย่าง Airbnb ที่เข้ามาปฏิวัติวงการอุตสาหกรรมที่พัก หรืออย่าง Grab และ Uber ที่เข้ามาเปลี่ยนในส่วนของบริการขนส่ง ส่วน FinTech ก็เช่นกันที่จะเข้ามาเปลี่ยนบริการทางการเงินให้เป็นไปในรูปแบบที่สะดวกรวดเร็วมากยิ่งขึ้น โดยข้อมูลจาก Exton Consulting บริษัทด้านยุทธศาสตร์และการจัดการบริการทางการเงินจากฝรั่งเศส ระบุว่า ในปี 2020 มีบริษัทที่ได้ชื่อว่าเป็น Neobank อยู่ 256 แห่งทั่วโลกแล้ว

ต้องยอมรับว่าการผุดขึ้นมาของบริษัท FinTech และบริษัทอื่น ๆ ที่ให้บริการทางการเงินผ่านช่องทาง API (Application Programming Interface) ซึ่ง API นี้จะมีประโยชน์ตรงที่โปรแกรมซอฟต์แวร์ต่าง ๆ สามารถเชื่อมต่อกับโปรแกรมอื่น ๆ ได้ อีกทั้งยังสามารถรับส่งข้อมูลข้าม Server ได้ ทำให้ในแต่ละเว็บไซต์ หรือแอพลิเคชันสามารถทำงานได้หลายฟีเจอร์ หลายรูปแบบนั่นเอง เช่น แพลตฟอร์มของ Grab ที่มีทั้งบริการ GrabMart, GrabGroceries รวมทั้ง GrabPay ทั้งนี้ ที่แพลตฟอร์มต่าง ๆ หันมาใช้ API ก็เพื่อจะเสริมความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจของตัวเอง ดังนั้น ด้วยบริการทางการเงินบนแพลตฟอร์มต่าง ๆ ที่เพิ่มขึ้น จึงส่งผลกระทบกับสถาบันการเงินดั้งเดิมเต็ม ๆ 

กรณีศึกษาในต่างประเทศอย่าง Mashreqbank PSC หนึ่งในธนาคารที่เก่าแก่ที่สุดของดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ที่ปรับตัวเองมาให้บริการในช่องทาง Digital Banking อย่างเดียว โดยธนาคารนี้จะปิดตัวสาขาต่าง ๆ ในประเทศ เพราะมองว่าเทรนด์การใช้บริการทางการเงินของคนได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว โดนเฉพาะหนุ่มสาวที่หันมาพึ่งเทคโนโลยีเป็นหลัก และจำนวนผู้เข้าใช้งานในสาขาของธนาคารที่ลดลงทุกวัน

หรือแม้แต่ Visa ผู้ให้บริการด้านบัตรเครดิตอันดับต้นๆของโลก ที่เพิ่งเข้าซื้อกิจการ Tink แพลตฟอร์ม API หรือ Application Programming Interface ในยุโรป ที่เปิดให้ลูกค้าสามารถเข้าถึงข้อมูลทางการเงิน และใช้งานบริการทางการเงินอัจฉริยะ (Smart financial service) ซึ่งทาง Tink เองก็ถือเป็นแพลตฟอร์มที่ทำงานร่วมกับธนาคารและสถาบันทางการเงินมากกว่า 3,400 แห่ง อีกทั้งยังให้บริการกับลูกค้าหลายล้านคนทั่วยุโรป เพื่อกระตุ้นให้เกิดการใช้งานของ Open Banking 

แพลตฟอร์มรอบตัวมีใครขยายบริการ รับบทแบบเดียวกับธนาคารบ้าง ?

ตัวอย่างสำคัญที่เราเห็นได้ในประเทศไทย คือ LINE BK ซึ่งเกิดมาจากความร่วมมือของแอปพลิเคชันแชทสื่อสารชื่อดังระดับโลกอย่าง LINE กับธนาคารกสิกรไทย หรือ KBank ที่เปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อกลางเดือนตุลาคม 2563 ซึ่ง LINE BK ถือเป็น Social Banking เต็มรูปแบบรายแรกของเมืองไทย ที่มาพร้อมบริการทางการเงินที่หลากหลาย ทั้ง บัญชีเงินฝาก, บัญชีเงินออมดอกพิเศษ, บัตรเดบิต, และวงเงินให้ยืม ซึ่งทุกอย่างสามารถใช้งานแสร็จ จบในแอปฯ เดียว โดยปัจจุบันนี้ทาง LINE BK ก็มีผู้ใช้งานแล้วกว่า 2.8 ล้านบัญชี (ข้อมูลเมื่อ 1 กรกฎาคม 2564)

นอกจากนี้ยังมีผู้ให้บริการรับ-ส่งและเดลิเวอรี่อย่างทาง Grab ที่ปัจจุบันก็ได้มีบริการ GrabPay มาอำนวยความสะดวกให้ลูกค้าของ Grab เช่นกัน และครั้งนี้ก็เป็นอีกหนึ่งความร่วมมือของ KBank กับทาง Grab Financial Group ในการดำเนินการของ GrabPay และด้วยเหตุผลที่คล้ายคลึงกับทาง LINE ทาง GrabPay ก็พร้อมที่จะให้บริการครบ จบในที่เดียวสำหรับลูกค้าที่ใช้บริการของ Grab โดยที่ลูกค้าไม่จำเป็นจะต้องพกเงินสดติดตัวเวลาใช้บริการจากทาง Grab หรือใช้บริการอื่น ๆ เช่น จ่ายบิล ชำระเงินร้านค้า และเติมเงินโทรศัพท์

รวมทั้ง Dolfin ที่เป็นกระเป๋าสตางค์อิเล็กทรอนิกส์ หรือ E-Wallet ภายใต้การบริหารของ บริษัท เซ็นทรัล เจดี ฟินเทค จำกัด (Central JD FinTech) โดยเมื่อปี 2020 ยังได้จับมือกับทาง KBank เพื่อให้สินเชื่อส่วนบุคคลบนดิจิทัลแพลตฟอร์มเต็มรูปแบบผ่านแอปฯ Dolfin และสามารถใช้บริการทางการเงินบน Dolfin ในการช้อปปิ้งกับร้านค้าชั้นนำในเครือเซ็นทรัลและร้านค้าพันธมิตรได้

อย่างไรก็ตามจะเห็นได้ว่าบางบริการ ทั้งธนาคารและแพลตฟอร์มก็ยังคงพาร์ทเนอร์ซึ่งกันและกัน

กรณีศึกษาของต่างประเทศ ที่ธนาคารถูกแทนที่ไปแล้ว 

จากการศึกษา และรวบรวมข้อมูลพบว่ามีธนาคารในหลากหลายประเทศที่บางธนาคารเปลี่ยนไปให้บริการธนาคารแบบดิจิทัลมักจะสามารถเอาชนะคู่แข่ง และขึ้นมาเป็นอันดับต้น ๆ ในประเทศเสมอ

ตัวอย่างเช่น Kakao Bank ของเกาหลีใต้ ซึ่งได้เปิดตัวบริการทางการเงินแบบดิจิทัลไปเมื่อปี 2017  ที่เตรียมขาย IPO เข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ และดันมูลค่าบริษัทขึ้นเป็นธนาคารอันดับที่ 3 ของเกาหลีใต้ทันที โดยบริการ Digital Banking นั้นทำให้ธนาคารเติบโตได้รวดเร็วขึ้นจนสามารถแซงหน้าธนาคารคู่แข่งอื่น ๆ ในประเทศไปได้ ด้วยการบริการผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัล ทำให้สามารถลดต้นทุนในเรื่องของงานบริการตามสาขา 

สำหรับการระดมทุนของ Kakao Bank ในครั้งนี้ เพื่อนำเงินไปใช้ในการพัฒนาบริการ และโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับลูกค้า และจะนำไปเพื่อเข้าซื้อกิจการ FinTech อื่น ๆ ในประเทศ ทำให้ธนาคารแบบดั้งเดิมในเกาหลีใต้ต้องเป็นกังวลกับแผนที่ทาง Kakao จะขยายธุรกิจออกไปไม่ใช่เพียงแต่ในประเทศ 

ในขณะเดียวกันทางธนาคารดั้งเดิมได้ให้ความเห็นว่า อย่างไรก็ตาม Kakao Bank ก็จะต้องไปต่อสู้กับบริษัท FinTech อื่น ๆ ที่พัฒนาเทคโนโลยีด้านนี้โดยเฉพาะ เพราะอย่างที่ทราบกันดีว่า เมื่อธนาคารเปลี่ยนรูปแบบไป ธุรกิจ FinTech และบริการทางการเงินดิจิทัลก็จะเพิ่มขึ้นมากเช่นกัน

นอกจากนี้ยังมีกรณีศึกษาที่น่าสนใจที่เกิดขึ้นในญี่ปุ่นที่ต้องบอกว่าปัจจุบันนี้ ธนาคารแบบดั้งเดิมเริ่มมีที่ยืนน้อยลง ยกตัวอย่างเช่น Rakuten Group Inc. ธุรกิจค้าปลีกออนไลน์ ที่เป็นรูปแบบ e-Commerce คล้ายกับ Amazon ที่รุกเข้าตีตลาดธนาคารในญี่ปุ่นแล้ว โดยมีบริการปล่อยกู้ เพื่อแย่งลูกค้าจากธนาคารดั้งเดิมไปยังธนาคารออนไลน์ 

ธุรกิจของ Rakuten เติบโตรวดเร็วมาก โดยธุรกิจนี้สามารถขยายตัวได้กว่า 20% ในปีที่แล้ว และล่าสุดมียอดการใช้งานถึง 10 ล้านบัญชี ซึ่งสูงที่สุดในบรรดาผู้ให้กู้ออนไลน์ของประเทศ มีเงินฝากเติบโตประมาณ 50% และในช่วงเวลาเดียวกันมีการเติบโตกว่า 5 ล้านล้านเยน (4.6 หมื่นล้านดอลลาร์) เทียบเท่ากับธนาคารระดับภูมิภาคขนาดกลางของญี่ปุ่นเลยทีเดียว

การเติบโตของ Rakuten ในส่วนของการให้บริการทางการเงินนั้น ส่งผลให้ทางคู่แข่งซึ่งเป็นกลุ่มธนาคารในภูมิภาคที่ใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่น อย่าง Fukuoka Financial Group ที่กำลังเดินหน้าปรับตัวไปให้บริการแบบดิจิทัลเช่นกัน ซึ่งจะมุ่งเป้าไปที่หนุ่มสาวที่ใช้สมาร์ทโฟนโดยเฉพาะ 

อย่างไรก็ตามจากกรณีศึกษาในประเทศไทยเอง ธนาคารต่าง ๆ ก็ออกมาพัฒนาแพลตฟอร์มของตัวเอง เพื่อสานต่อไปเป็น Digital Banking รวมถึงการพาร์ทเนอร์กับแพลตฟอร์มอื่น ๆ เพื่อให้สามารถให้บริการทางการเงินแบบไร้รอยต่อ ซึ่งจะทำให้เราเข้าใจว่าทำไม ธนาคารถึงต้องทำทุกอย่าง พยายามเข้าไปอยู่ในทุกที่ที่มีลูกค้า และแทรกซึมอยู่ทุกอณูการใช้ชีวิตประจำวันของเรา ขณะที่ต่างประเทศอย่างญี่ปุ่น ที่เห็นได้ชัด แม้แต่ธนาคารที่ใหญ่ที่สุดยังต้องปรับตัวไปสู่ Digital Banking จากการมาของคู่แข่งน่ากลัวที่ไม่ใช่ธนาคาร แต่กลับเป็นแพลตฟอร์ม e-Commerce เสียอย่างนั้น

ข้อมูลจาก  Bloomberg1, Businesswire, Nikkei Asia, Bloomberg2


ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

ถอด 4 บทเรียนธุรกิจ Taylor Swift ชื่อศิลปินที่มีมูลค่า 4 หมื่นล้านบาท

Taylor Swift ไม่ใช่แค่ของชื่อศิลปินอีกแล้ว กลายเป็น Branding ที่มีมูลค่าสูงถึง 2 หมื่นล้านบาท ความสำเร็จของ Taylor Swift ก็มีส่วนที่หยิบมาใช้ในการพัฒนาโมเดลธุรกิจได้เช่นเดียวกัน...

Responsive image

“อยากได้อะไร ก็แค่พูดตรงๆ” เคล็ดลับความสำเร็จจาก Sam Altman

Sam Altman CEO ของ OpenAI บริษัทผู้สร้าง ChatGPT แนะนำ วิธีช่วยให้คุณได้ในสิ่งต้องการ และทำได้ง่ายๆ...

Responsive image

มรดกแนวคิด Steve Jobs ที่ส่งต่อถึง Tim Cook เบื้องหลังความยิ่งใหญ่ของ Apple

Tim Cook ยกหนึ่งคำสอนล้ำค่าในการทำงานจาก Steve Job ที่ทำให้ Apple เป็นหนึ่งในบริษัทชั้นนำของโลก ในด้านการส่งเสริมนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์ภายในองค์กร นั่นก็คือ ‘ทุกคนสามารถสร้าง...