เด็กเกรียนผู้กลับใจทัน ก่อนผันตัวสู่ธุรกิจ Digital Currency | Techsauce

เด็กเกรียนผู้กลับใจทัน ก่อนผันตัวสู่ธุรกิจ Digital Currency

Digital Currency ดังเช่นเหรียญ Libra Coin เป็นหนึ่งในกระแสที่ครองพื้นที่สื่อมาอย่างหนักหน่วง ซึ่งมักปรากฎอีกชื่อตีคู่มาด้วยอยู่เสมอคือ จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา ผู้ก่อตั้ง Bitkub และ Group CEO บริษัท บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด ซึ่งเคยเป็นอดีตวัยรุ่นสายซ่าที่กลับใจเข้าสู่เส้นทางนักศึกษาผู้มุ่งมั่น ที่ต้องพลิกบทเรียนจากความผิดพลาดให้ก้าวข้ามอุปสรรค จนสามารถคว้าปริญญาโทจาก University of Oxford กระทั่งถูกมนตราของ Bitcoin ที่ดึงดูดให้เลือกสร้างกิจการ Startup ที่ได้รับเงินลงทุนระดับ seed fund สูงสุดในประวัติศาสตร์ไทย แต่ก็ต้องผ่านแรงเสียดทานจากกระแสโจมตีและภาพลักษณ์ด้านลบของธุรกิจมาไม่น้อยกว่าจะแกร่งขึ้นจนถึงวันนี้

Digital Currency-jirayut-bitkub

ช่วงชีวิตวัยเรียนเป็นอย่างไรบ้าง

ผมเป็นเด็กซ่ามากและชอบทะเลาะกันเพื่อนตลอด จนพ่อแม่ทนไม่ไหวต้องส่งไปอยู่โรงเรียนประจำระดับมัธยมต้นที่ประเทศนิวซีแลนด์ ซึ่งตอนนั้นพูดภาษาอังกฤษไม่เป็นเลย ได้แค่ Hi Yes No ซึ่งตอนนั้นก็ยังไม่ตั้งใจเรียนเหมือนเดิมเล่นแต่กีฬา มีกิจวัตรประจำวันคือตื่นมาวิ่ง 10 กิโลเมตรแล้วตอนบ่ายสามก็ไปเรียนฟุตบอล ทำข้อสอบแค่พอให้ผ่านไปได้เรื่อย ๆ

พอจะจบมัธยมปลายต้องตัดสินใจแล้วว่าจะกลับมาเรียนที่ประเทศไทยหรือไปต่อมหาวิทยาลัยที่ต่างประเทศ ซึ่งเพราะผมชอบฟุตบอลก็เลยเลือกไปเรียนที่อังกฤษต่อดีกว่า โดยเลือกสมัครสาขาเศรษฐศาสตร์เพราะเป็นวิชาที่ผมรู้สึกสนุกและสามารถทำได้ดีตอนเรียนมัธยมปลาย

ณ ตอนนั้นการสอบเข้าเพื่อเรียนต่อปริญญาตรีที่อังกฤษสามารถเลือกได้ 5 มหาวิทยาลัย จึงต้องตัดสินใจให้ดีเพราะถ้าเลือกสูงเกินไปแล้วโดนปฏิเสธทั้งหมดก็อาจจะไม่มีที่ให้เรียน

สุดท้ายก็โชคดีตรงที่มหาวิทยาลัย University of Manchester ที่อังกฤษรับผมเข้าไปเรียน และสัญญากับตัวเองตั้งแต่วันแรกที่เข้าไปเรียนว่าผมต้องตั้งใจเรียนและให้สามารถเข้าเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยระดับ Top ให้ได้ในระดับปริญญาโท ไม่ว่าจะเป็น University of Oxford University of Cambridge หรือ LSE (The London School of Economics) ให้ได้

ผมเปลี่ยนตัวเองเป็นคนใหม่แล้วเริ่มเข้าห้องสมุดเป็นครั้งแรกในชีวิตแล้วตั้งใจเรียนขึ้นมาจนสามารถเรียนจนได้ผลการเรียนที่ดีแม้ไม่ถึงกับเป็นระดับสูงสุดของ class สุดท้ายก็เรียนจบปริญญาตรีมาโดยเป็นที่หนึ่งของทั้งมหาวิทยาลัย จนได้รางวัลพร้อมกับทุนการศึกษาด้วย

“ถ้าพยายามจริง ๆ ก็ทำได้ ทั้งที่ background ของเราสู้คนอื่นไม่ได้เลย”

ทำไมสุดท้ายถึงเลือกเรียนที่ University of Oxford

ตอนแรกผมยื่นใบสมัครปริญญาโทเศรษฐศาสตร์ ทั้งที่ Oxford Cambridge และ LSE แล้วก็ได้ตอบรับเข้าเรียนจากทั้ง 3 มหาวิทยาลัย จึงกลับด้านจากที่ต้องเคยเป็นคนถูกเลือก กลายเป็นคนเลือกแทน

“ที่เลือกเรียน Oxford เพราะเป็น dream school และผมมีคุณอภิสิทธิ์ (อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ) เป็น idol ของผมด้วย”

ชีวิตการเรียนที่สถาบันในฝันเป็นอย่างไรบ้าง

ไม่เหมือนที่คาดไว้เลย เพราะด้วยความที่ตอนปริญญาตรีเราจบมาด้วยผลการเรียนอันดับหนึ่งของมหาวิทยาลัยก็ถือว่ามั่นใจระดับหนึ่ง แล้วผมก็ยิ่งพยายามมากกว่าเดิม เรียกได้ว่าพยามยามมากที่สุดในชีวิตแล้ว แต่กลับไม่เคยทำแบบฝึกหัดได้เลย และต่อให้หนึ่งเดือนสุดท้ายก็ยังทำข้อสอบย้อนหลังไม่ได้เลย

เพราะนอกจากเรียนยากแล้วเพื่อนร่วมชั้นแต่ละคนที่เข้ามาต่างก็เป็นเบอร์หนึ่งมาหมดทุกคน แทบไม่มีใครเคยเป็นเบอร์สองมาเลยทั้งชีวิต เป็นพวกเด็กอัจฉริยะ เด็กโอลิมปิกวิชาการ หรือเป็นคนที่เรียนจบปริญญาโทจากที่อื่นมาก่อนแล้วก็มาเรียนต่ออีก ผมจึงกลายคนที่เด็กสุดในห้องท่ามกลางเพื่อนร่วมชั้น 50 คน

ด้วยระบบการวัดผลแบบ curving system ทำให้พวกเราต่่างแข่งขันกันทุกคน แม้ว่าตัวเราจะทำผลการเรียนได้ดีแล้ว แต่ถ้าคนอื่นทำได้ดีกว่า เราก็อาจจะตกได้ จึงเป็นสภาพแวดล้อมการเรียนที่ทรมานมาก ไม่มีใครช่วยเหลือกันเลย เพราะถ้าช่วยเมื่อไรก็เท่ากับคุณทำร้ายตัวเองทันที

โดยเฉพาะวิชาเลขที่เรียนหนักมาก แต่ผมไม่ได้มีพื้นฐานที่แข็งแรงมาก่อนตั้งแต่เด็ก เพิ่งมาขยันเรียนแค่ 3 ปี ทำให้ผมต้องย้อนไปศึกษาเพิ่มเติมหนักมาก จึงเป็นช่วง 2 ปีของการเรียนที่ในแต่ละวันต้องอ่านหนังสืออยู่ 12 ถึง 14 ชั่วโมงทุกวันแบบไม่พัก เรียกว่า no life เลย จึงเป็นการเรียน Oxford ที่ไม่ได้สวยหรูอย่างที่หลาย ๆ คนเคยคิด

จากที่เคยคิดว่าเราเป็นอันดับหนึ่งของมหาวิทยาลัย น่าพอไปได้ไม่น่ายากมาก แต่ปราฏว่ายิ่ง painful กว่าเดิม

ช่วงใกล้วันสอบผมเครียดมากและกลัวห้องสอบมาก แม้แต่จบมาแล้วก็ยังไม่อยากจะเข้าใกล้ตึกนี้อีก เพราะพอเปิดข้อสอบมาแล้วผมเขียนอะไรไม่ได้เลย และโกรธมาก แม้จะอ่านหนังสือมาหนักแทบตายตั้งหลายสิบชั่วโมงต่อวัน

จนผมต้องขีดคำถามทิ้งแล้วตั้งคำถามขึ้นมาใหม่เองแล้วเขียนคำตอบบรรยายเองจนยาว 4-5 เล่ม เพื่อต้องการแสดงให้อาจารย์เห็นว่าเราอ่านหนังสือมาจริง ๆ ซึ่งอย่างไรก็ดีกว่าส่งกระดาษเปล่า จนสุดท้ายก็ทำให้ผ่านมาได้ อาจจะเป็นเพราะคนส่วนใหญ่ก็คงทำข้อสอบไม่ได้เหมือนกัน

ชีวิตหลังเรียนจบเป็นอย่างไรบ้าง

ผมก็เหมือนเด็กที่เรียนจบเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่ที่เรียนจบมาแล้วก็อยากทำด้าน IB (Investment Banking หรือวาณิชธนกิจ) และอยากหาประสบการณ์ใหม่ ๆ จึงเลือกไปทำงาน Financial Analyst กับสถาบันการเงินจาก San Francisco อย่าง Evotech Capital ที่สาขา Shanghai เพราะตอนนั้นเศรษฐกิจของประเทศจีนกำลังบูม

Digital Currency-jirayut-bitkub

อะไรที่ทำให้เริ่มสนใจเรื่อง Bitcoin

เมื่อปี 2556 ระหว่างที่ผมทำงาน IB ก็ได้ไปเจอ financial asset ตัวหนึ่งที่อยู่ดี ๆ ราคาก็สูงขึ้นไปถึง 1,000 เหรียญสหรัฐ จึงเริ่มสนใจว่าคืออะไร แล้วไปอ่านเพิ่มเติมจนเจอ Blog เรื่อง Why Bitcoin Matters ของ Mark Anderson ที่มักจะมองเห็นศักยภาพของเทคโนโลยีใหม่ ๆ ก่อนคนทั่วไปกว่า 10 ปี จึงทำให้รู้ว่า Bitcoin จะมาเปลี่ยนแปลงโลกอย่างไร แม้ในเวลานั้นคนยังคิดว่าเป็นแชร์ลูกโซ่อยู่เลย

กระทั่งเริ่มทำงานไปสักพักก็เริ่มรู้สึกตัวเราไม่ค่อยเหมาะกับการทำงานภายในองค์กร จึงตัดสินใจลาออก แต่สุดท้ายก็ยังสมัครงานใหม่ เพื่อลองให้โอกาสตัวเองอีกครั้งเพื่อไปเป็น Financial Consultant ของ Marquis Advisory Groupที่ San Francisco

ปัจจัยใดที่ผลักดันให้เข้าสู่วงการ Startup

ระหว่างเริ่มงานใหม่ก็กลับมาเมืองไทย ก็ไปถามเพื่อน ๆ ว่ามีเวลา 1 เดือนทำอะไรได้บ้าง แล้วมีเพื่อนแนะนำให้มาประเทศฟิลิปปินส์ เพราะธุรกิจ Startup กำลังบูม ผมจึงตัดสินใจบินไปเลยไม่อยากเสียเวลา 1 เดือนให้เปล่าประโยชน์ แล้วก็ได้เรียนรู้ว่า Startup คืออะไร พร้อมกับทำโปรเจคสั้น ๆ อันหนึ่งเรียกว่า World Startup Report โดยผมทำหน้าที่วิจัยว่า Startup ในแต่ละประเทศของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก แล้วพบว่าไม่มีรายใดที่ทำเกี่ยวกับ Bitcoin เลย นอกจากนี้ยังได้เจอเพื่อนคนหนึ่งที่มาจาก Silicon Valley ซึ่งมีความเชื่อเหมือนกันว่า Bitcoin จะมาเปลี่ยนแปลงระบบการเงินของโลก

สุดท้ายผมก็บินกลับไปทำงานที่ San Francisco แต่แค่ 1 อาทิตย์ก็รู้สึกทนไม่ไหว ทำงานด้านวิจัยที่ต้องอ่านมาก ๆ ตอนเรียนมหาวิทยาลัย Oxford มาพอแล้ว ก็เลยโทรมาบอกพ่อกับแม่ว่าตัดสินใจมาเปิดกิจการ Startup ของตัวเองดีกว่า และส่ง mail ไปชวนเพื่อนที่เคยคุยกันถูกคอมาทำ Bitcoin ด้วยกัน

ผมโชคดีมากที่คุณพ่อคุณแม่เชื่อมั่นในการตัดสินใจของลูก ให้อิสระในการเลือก

เริ่มต้นกิจการแรกของตัวเองอย่างไร

ผมตัดสินใจบินไปฟิลิปปินส์เพื่อเปิด FinTech Startup อันแรกชื่อ coins.ph ที่ให้คนใช้บริการ e-wallet และโอนเงินระหว่างประเทศด้วย Bitcoin ของเรา ตอนนั้นก็ลำบากมาก เพราะคนส่วนใหญ่ยังไม่ค่อยเข้าใจว่าคืออะไร แล้วก็มีโดน hack บ้าง ถูกกล่าวหาว่าฟอกเงินบ้าง แต่ตลาดและราคาก็ค่อย ๆ เติบโตขึ้นมาเรื่อย ๆ

จนปี 2557 ผมก็มาเปิดกิจการที่เมืองไทยอีกอันชื่อ coins.co.th พอทำได้สัก 2 เดือน ธนาคารแห่งประเทศไทย (แบงก์ชาติ) ก็ออกจดหมายว่า Bitcoin อาจจะเป็นแชร์ลูกโซ่อย่าไปยุ่งเกี่ยว และอาจจะมีมูลค่าเหลือศูนย์ได้ในระยะเวลาสั้น ๆ

จากกรณีนี้ส่งผลต่อชีวิตและธุรกิจแค่ไหน

ตอนนั้นผม painful มาก โดยเฉพาะคุณพ่อที่เครียดมาก อุตส่าห์ส่งลูกไปเรียนถึง Oxford ขณะที่ลูกคนอื่นต่างก็ทำงานกับบริษัทดี ๆ กันได้เงินเดือนหลายแสน ขณะที่ลูกเรานั่งทำอะไรไม่รู้อยู่หน้าคอมพิวเตอร์ที่ชั้นลอยคนเดียว แล้วอยู่ดี ๆ ก็มาได้ยินว่าอาจเป็นแชร์ลูกโซ่หรือฟอกเงิน ทำให้ผมต้องใช้ความพยายามอย่างมากที่จะสร้างความเข้าใจกับครอบครัว พร้อมกับพิสูจน์ตัวเองและตัวบริษัทให้เกิดความเชื่อมั่นกับแม้แต่ลูกน้อง 2 คนแรก ซึ่งเป็นญาติกัน แต่ธุรกิจก็ค่อย ๆ เติบโตขึ้น

พอผ่านมาได้สักพักก็ถูกสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) เรียกตรวจว่า Bitcoin ของเราเป็นแหล่งฟอกเงินหรือไม่ ผมก็ต้องไปให้ข้อมูลว่าเรามีระบบตรวจสอบที่มาของเงิน ต่อมาแบงก์ชาติก็เรียกไปคุยอีกว่า Digital Currency อันนี้จะเป็นเงินสกุลอะไร ถ้าเป็นเงินตราต้องปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ของแบงก์ชาติด้วยเราก็ต้องอธิบายไป หลังจากนั้นพอทีมงานเริ่มโตก็มีสรรพกรสุ่มตรวจสอบเรื่องความถูกต้องการเสียภาษี

กว่ากิจการจะเติบโตได้ต้องผ่านอุปสรรคมามาก

อะไรคือจุดเปลี่ยนที่สำคัญต่อการสร้างกิจการ

คือวันที่ 1 เมษายน 2560 ที่ประเทศญี่ปุ่นประกาศว่า Bitcoin เป็นสกุลเงินที่ถูกต้องตามกฎหมาย จึงทำให้ให้ Bitcoin โตร้อนแรงมาก จนปี 2561 กลุ่ม coins ซึ่งเป็นบริษัทแรกของเราก็ถูก GOJEK ซื้อกิจการไป

หลังจากนั้น ได้ตั้งทีม Private Chane ไปร่วมแข่งขัน FinTech Challenge ที่จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) โดยทีมของเราสร้างตลาดหลักทรัพย์ยุคใหม่ขึ้นมาที่สามารถซื้อขายหลักทรัพย์ได้โดยไม่ต้องมีโบรกเกอร์ เพื่อแสดงให้เห็นว่าเทคโนโลยีพร้อมแล้วเพียงแต่ยังไม่มีกฎหมายรองรับเท่านั้น ซึ่งหลังจากชนะที่หนึ่งจากการแข่งขันนั้นแล้ว ก็เริ่มทำงานกับก.ล.ต.มาเรื่อย ๆ จนเกิดการพัฒนา framework ของกฎหมายใหม่ขึ้น สุดท้ายจึงนำไปสู่ Digital Asset Exchange

Bitkub Group เกิดขึ้นมาอย่างไร

ปี 2561 ผมก็ตั้งบริษัท บริษัท บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ ขึ้น ซึ่งปัจจุบันเป็นกลุ่ม blockchain ที่ใหญ่มากสุดในประเทศ ด้วยทีมงานเกือบ 100 คน ที่ครอบคลุม 3 ธุรกิจหลักคือ อันแรกคือบริษัท บิทคับ ออนไลน์ จำกัด หรือ bitkub.com ซึ่งเป็นบริษัทแห่งแรก ๆ ของโลกเลยที่ได้รับใบอนุญาตจากก.ล.ต. ให้บริการซื้อขาย Cryptocurrency อย่างถูกต้องตามกฎหมาย อีกบริษัทคือ Blockchain Solution เป็นธุรกิจให้คำปรึกษาด้าน blockchain ให้แก่องค์กรทั้งภาคเอกชนและภาครัฐ และบริษัทที่สามเป็นผู้ให้บริการคัดกรองโครงการและระบบเสนอขายโทเคน (ICO Portal) ซึ่งตอนนี้อยู่ระหว่างขอใบอนุญาตจาก ก.ล.ต.

ตอนนี้ผมมองว่าการใช้ blockchain เติบโตไปนอกเหนือการโอนเงินแล้ว ซึ่งผมคิดว่า open financial web กำลังจะมา จึงอยากสร้างให้ bitkub.com เป็นตลาดหลักทรัพย์ 2.0 ที่สามารถซื้อขายทรัพย์สินทุกชนิดได้เหมือนหุ้น

จะเป็น Self-made ที่ประสบความสำเร็จได้ควรมีมุมมองเช่นไร

ตอนนี้ผมยังไม่สำเร็จและยังต้องเรียนรู้เรื่อย ๆ แต่มองว่าผู้ประกอบการควรมี 3 คุณสมบัติหลัก อันแรกคือต้องรับมือกับอุปสรรคต่าง ๆ ได้ สองคือต้องเชื่อและยึดมั่นใน vision ของตัวเองอย่าให้คนที่ไม่ได้รู้จริงมาทำให้ไข้วเขว และสามคือต้องเรียนรู้ตลอดเวลา ยิ่งตอนนี้มีเรื่องใหม่ ๆ เกิดขึ้นตลอดเวลาและเร็วมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม จุดที่สำคัญมากคือ หากเป็น vision ที่มีหลายคนเห็นตรงกับคุณแล้วห้ามทำเด็ดขาด เช่น ถ้าหลายคนเห็นว่าขายชานมไข่มุกแล้วดีห้ามทำ หรือขายของทางออนไลน์แล้วดีก็ไม่ควรทำ แต่ต้องหาอะไรที่คนส่วนใหญ่ไม่รู้แต่คุณรู้ และเป็นข้อเท็จจริง

ดังนั้นส่วนหนึ่งที่ผมทำธุรกิจ Bitcoin แล้วสำเร็จได้ เพราะผมเชื่อ แต่คนส่วนใหญ่ไม่รู้แล้วเข้าใจผิดว่าคือแชร์ลูกโซ่ จึงทำให้ไม่มีคู่แข่งเลย แต่หากทุกคนเห็นตรงกันว่า Bitcoin จะมาเปลี่ยนแปลงโลก ธุรกิจผมก็คงไม่เกิด

ถ้าในวันนั้นที่แบงก์ชาติมาเตือนว่า Bitcoin เป็นแชร์ลูกโซ่ แล้วผมเปลี่ยนความเชื่อตัวเอง หรือแม้แต่ที่ก.ล.ต.บอกว่าเป็นการฟอกเงินแล้วผมปิดบริษัท ก็คงไม่ได้มาถึงวันนี้

คิดว่า Bitkub จะเติบโตขึ้นเป็น Unicorn ได้หรือไม่

เรื่อง Unicorn เป็นความฝันของ Startup ทุกบริษัท เราเองก็มีตั้งเป้าหมายไว้ แต่ไม่ว่าจะได้หรือไม่ แต่อย่างน้อยผมก็สร้าง impact รู้ว่าได้สร้าง footprint สำหรับการ Digital Currency ในเมืองไทยแน่นอน


ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

ทำไม Fastwork ขาดทุนเกือบทุกปี ? ฟังเหตุผลของ CK Cheong

Fastwork เป็นอีกหนึ่งชื่อธุรกิจที่มาแรงในช่วงเวลานี้ ด้วยความไวรัลบนโลกออนไลน์ของผู้บริหาร CK Cheong (ซีเค เจิง) ที่มักทำคลิปให้ทัศนะเรื่องการเงิน การใช้ชีวิต และธุรกิจ แต่กลับถูกต...

Responsive image

Founder Model วิถีผู้นำแบบ Brian Chesky CEO เบื้องหลังความสำเร็จของ Airbnb

Founder Mode เป็นแนวทางการบริหารที่กำลังได้รับความสนใจในวงการสตาร์ทอัพ โดยแนวคิดนี้ได้รับการพูดถึงอย่างกว้างขวางจาก Brian Chesky, CEO ผู้พา Airbnb เติบโตจนกลายเป็นธุรกิจระดับโลก ด้...

Responsive image

ไขความลับ Growth Hacking: บทเรียนจาก Spotify สู่ธุรกิจยุคใหม่

ในโลกธุรกิจที่การแข่งขันดุเดือดและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การเติบโตอย่างรวดเร็วและยั่งยืนคือสิ่งที่ทุกธุรกิจต่างใฝ่ฝัน Growth Hacking กลายเป็นกุญแจสำคัญที่ไขประตูสู่ความสำเร็จ ด้วย...