การเผชิญกับวิกฤตการแพร่ระบาดของ COVID-19 ทั่วโลก ทำให้องค์กรธุรกิจต้องปรับตัวให้อยู่รอดในระยะสั้นและกำหนดกลยุทธ์ระยะยาวเพื่อสร้างศักยภาพให้องค์กรยืนหยัดได้ในทุกวิกฤต บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DTAC ได้วิเคราะห์เทรนด์โลกที่จะส่งผลต่อการดำเนินงานของธุรกิจ เพื่อเป็นแนวทางการทำงานเชิงรุกและให้องค์กรก้าวสู่ความยั่งยืนได้
คุณชารัด เมห์โรทรา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DTAC กล่าวว่า ในช่วงระยะเวลาของการล็อกดาวน์ ลูกค้าดีแทคมีการใช้งาน productivity apps เพิ่มขึ้นเป็นเลขสามหลักและมีการใช้งานดาต้าเพิ่มขึ้นเท่าตัว ซึ่งบริษัทฯได้เห็นปริมาณการใช้งานที่เพิ่มขึ้นแบบเดียวกันนี้ในโรงพยาบาลสนาม
เมกะเทรนด์ที่ 1 คือความสำคัญของ “ขนาดและประสิทธิภาพ” เห็นได้จากดีลการควบรวมธุรกิจขนาดใหญ่ในภูมิภาค เช่น ความสนใจในธุรกิจโทรคมนาคมของบริษัทพลังงาน การควบรวมธุรกิจระหว่าง Digi และ Celcom ในมาเลเซีย และนอกเหนือไปจากการควบรวมกิจการ การทำ Partnership และ Outsource เป็นอีกวิธีการที่ทำให้ธุรกิจโฟกัสได้ดีขึ้น
ดังนั้น การถือหุ้นใน dtac ของ Telenor ทำให้บริษัทฯได้รับประโยชน์จากความรู้ความเชี่ยวชาญในระดับโลก ทั้งการพัฒนา 5G การเป็นสมาชิกของคณะกรรมการจริยธรรมในการใช้ AI และตอนนี้ dtac กำลังทำงานอย่างใกล้ชิดกับ Telenor Connexion ในการพัฒนา IoT
อย่างไรก็ตามยังมีธุรกิจจำนวนไม่น้อยโดยเฉพาะกลุ่ม SMEs กำลังประสบกับภาวะหนี้สะสมท่วม แต่ในเวลาเดียวกัน ก็ต้องลงทุนเพื่อเปลี่ยนผ่านธุรกิจสู่ดิจิทัล ซึ่งนับเป็นความท้าทายอย่างมากของ SMEs
เมกะเทรนด์ที่ 2 คือ ความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัลที่เพิ่มขึ้น แม้ COVID-19 จะทำให้เกิดการเปลี่ยนผ่านดิจิทัลอย่างรวดเร็วในภาครัฐและเอกชน แต่ในกลุ่มคนชายขอบและกลุ่มเปราะบางยังคงต้องได้รับการแก้ไข และนี่คือสิ่งที่ dtac มองว่าเป็น “ความรับผิดชอบร่วม” เพื่อให้ทุกคนเข้าถึงบริการดิจิทัลได้ง่ายและปลอดภัย
ซึ่งบริษัทฯก็ได้ร่วมแก้ไขความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัลผ่าน Digital ecosystem ที่ทำให้ผู้ใช้งานสนุก มีปฏิสัมพันธ์ร่วม และตรงกับความต้องการเฉพาะ โดยได้พัฒนาโครงข่ายบนคลื่นความถี่ 700 MHz เสริมศักยภาพด้าน coverage ได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งช่วยพัฒนาประสบการณ์การใช้งานได้ดียิ่งขึ้นโดยในพื้นที่ห่างไกล
นอกจากนี้ ยังมีโครงการ Safe Internet เพื่อช่วยให้เด็กมีภูมิคุ้มกันในการท่องโลกออนไลน์ และยังมีโครงการ ดีแทคเน็ตทำกิน ติดอาวุธทางดิจิทัลให้แก่ผู้ประกอบการรายเล็ก
เมกะเทรนด์ที่ 3 คือ ปรากฏการณ์โลกร้อนที่ส่งต่อความยั่งยืนในระบบซัพพลายเชน ซึ่งได้เคยเกิดขึ้นแล้วในมหาอุทกภัย ปี 2554 ทำให้เกิดการขาดแคลนชิบเซ็ตไปทั่วโลก และตอนนี้ ได้ส่งผลกระทบตามแนวชายฝั่งและระบบนิเวศทางการเกษตรที่เปราะบาง ซึ่ง “การดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบ” ช่วยทำให้ระบบซัพลายเชนมีความแข็งแกร่งมากขึ้นในระยะยาว ด้วยเหตุนี้ทำให้ดีแทคตั้งเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก “ครึ่งหนึ่ง” ภายในปี 2030
โดย ดีแทคกำหนดกรอบการทำงานด้านความยั่งยืนได้ทั้งสิ้น 7 ด้าน ได้แก่ ธรรมาภิบาล ความเป็นส่วนตัว ซัพพลายเชน เสริมสร้างทักษะดิจิทัล การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ สิทธิมนุษยชน และอาชีวอนามัยในการทำงาน
ด้าน คุณประเทศ ตันกุรานันท์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคโนโลยี บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DTAC กล่าวว่า ภาคโทรคมนาคมของประเทศไทยมีการพัฒนา network และ connectivity อย่างก้าวกระโดดตั้งแต่ยุค 3G และโทรคมนาคมเป็นอุตสาหกรรมที่เติบโตมากในช่วงปี 2015 ซึ่งช่วงนั้นดีแทคได้เร่งขยายสัญญาณ 4G ให้ครอบคลุมทั่วประเทศ
ซึ่งตลอดระยะเวลาการเปลี่ยน 3G มาเป็น 4G และกำลังจะเข้าสู่ 5G จนถึงไตรมาส1/2564 ภาคโทรคมนาคมของประเทศไทยได้ขยายโครงข่ายมากถึง 3 เท่าจากปี 2015 โดย 97% ของทั้งหมดเกิดจากการบริหารโครงข่ายภายใต้ค่าใช้จ่ายต่างๆทั้งหมดที่เกิดขึ้นของดีแทค
ขณะเดียวกัน กระทรวงพลังงานร่วมกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้กำหนดแนวทางขับเคลื่อนสู่ Net-zero emission ทั้งสิ้น 6 ด้าน
1.การปรับพอร์ตการผลิตไฟฟ้าและการใช้เชื้อเพลิงสู่ Low carbon
2. การเพิ่มสัดส่วนยานต์ยนต์ไฟฟ้า
3. การบริหารจัดการของเสียผ่านโมเดล BCG
4.การใช้ฟลิตภัณฑ์และบริการที่เกิดคาร์บอนต่ำ
5. การมุ่งสู่ Zero Burn และ Smart farming
6.การดักจับ กักเก็บ ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีไฮโดรเจน
ซึ่งดีแทคจะทำหน้าที่เป็นตัวช่วยให้กับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการใช้พลังงานอย่างชาญฉลาดมากขึ้น โดยมีโครงการ Clean our house เป็น pilot project เพื่อศึกษา feasibility ในด้านต่างๆ เพื่อลดการใช้พลังงาน ด้วยการการใช้ประโยชน์จากความก้าวหน้าของเทคโนโลยี เช่น การลดจำนวนชุมสายจาก 6 แห่ง เป็น 2 แห่งทั่วประเทศรวมไปถึงในปีนี้ บริษัทฯยังได้ทดลองติดตั้งแผง solar cells ในบางจุดเพื่อจ่ายไฟใช้งานร่วมกับ grid ปกติ เพื่อทดสอบความคุ้มทุนและปัจจัยต่างๆ ที่อาจส่งผลกระทบต่อโครงข่าย
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด