Startup ด้านการศึกษา หนึ่งในธุรกิจที่มาแรงในยามวิกฤตโคโรน่า | Techsauce

Startup ด้านการศึกษา หนึ่งในธุรกิจที่มาแรงในยามวิกฤตโคโรน่า

วิกฤตการแพร่ระบาด COVID-19 ส่งผลกระทบต่อธุรกิจหลายภาคส่วน ธุรกิจจำเป็นต้องปรับตัวอย่างมากในสถาการณ์ที่ยากลำบากเช่นนี้เพื่อเอาตัวรอด นอกจากนี้ยังต้องเปลี่ยนวิธีการทำงานมาสู่โลกออนไลน์โดยสมบูรณ์แบบเพื่อรองรับการ work from home การให้พนักงานทำงานจากที่บ้าน

ภาคการศึกษาเองก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน สถาบันการศึกษาทั่วโลกต้องปิดการเรียนการสอนในห้องเรียน ในประเทศไทยเองก็ได้มีมติ ครม. ประกาศเลื่อนเปิดเทอมไปจนถึงกรกฎาคมแล้ว 

จากโจทย์ใหญ่ 2 ข้อหลัก ในมุมขององค์กรที่ว่า จะทำอย่างไรให้พนักงานมีทักษะดิจิทัล (digital literacy) มากพอที่จะดำเนินงานต่อไปได้ไม่ติดขัด? และในมุมของสถาบันการศึกษาและผู้ปกครองที่ว่า จะทำอย่างไรให้การเรียนการสอนสามารถดำเนินต่อไปได้แม้นักเรียนจะต้องเรียนจากที่บ้าน? ทำให้เกิดโอกาสใหม่ ๆ สำหรับ Startup ด้านการศึกษา (EdTech) ในการนำเทคโนโลยีมาส่งเสริมการเรียนรู้ให้คนไทย ลดอุปสรรคในการเข้าถึงข้อมูล ช่วยให้กิจกรรมต่าง ๆ สามารถดำเนินต่อไปได้

Startup ด้านการศึกษา (EdTech - Education Technology Startup) คือ การนำเทคโนโลยีมาใช้ในการศึกษา สร้างรูปแบบการเรียนรู้ใหม่ ๆ ให้คนทุกช่วงวัย ซึ่งจะเข้ามา disrupt การศึกษารูปแบบเดิม เช่น ไม่ต้องนั่งฟังคุณครูบรรยายในห้องเรียนอีกต่อไป เพราะนักเรียนสามารถเรียนรู้ผ่านเครื่องมือและแพลตฟอร์มต่างๆ ได้ด้วยตนเอง ส่วนคุณครูก็ผันบทบาทไปเป็น facilitator หรือผู้ที่คอยอำนวยความสะดวกในการเรียนการสอนแทน ทำให้คุณครูสามารถเอาใจใส่นักเรียนแต่ละคนแบบ 1-1 ได้มากขึ้น

ในยามวิกฤตเช่นนี้ เราเชื่อว่า EdTech จะเข้ามามีบทบาทสำคัญในการช่วยพัฒนาคุณภาพและเพิ่มอัตราการเข้าถึงการศึกษาให้กับประเทศ ถึงแม้ห้องเรียนจะต้องปิดตัวไปชั่วคราว แต่เราก็เชื่อในศักยภาพของคุณครูไทยว่าสามารถดำเนินการสอนต่อไปได้ และถ้าหากมีเครื่องมือที่ดีมาช่วย ยิ่งทำให้การเรียนรู้ได้ผลดียิ่งขึ้น เอาชนะข้อจำกัดที่มี การเรียนรู้ไม่ได้จบอยู่แค่เพียงในห้องเรียน แต่จะต้องกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน เป็นการเรียนรู้ตลอดชีวิต (lifelong learning)

ณ ตอนนี้คือเวลาอันดีดีที่จะสร้างนวัตกรรมเพื่อช่วยการศึกษา และนี่คือโอกาสใหม่ ๆ เกิดขึ้นสำหรับ EdTech

#1 พฤติกรรมผู้เรียนเปลี่ยนแปลงไป โรงเรียนพร้อมใช้เทคโนโลยีมากขึ้น

เดิมทีคุณครูและโรงเรียนหลายแห่งไม่เคยทำการเรียนการสอนผ่านช่องทางออนไลน์มาก่อน และไม่ได้คุ้นเคยกับการใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ ไม่มีระบบและอุปกรณ์รองรับ การจะเชิญชวนให้คุณครูที่ไม่เคยใช้แพลตฟอร์มออนไลน์มาลองใช้สื่อการสอนออนไลน์ เป็นเรื่องยากมาก เพราะต้องเปลี่ยนพฤติกรรมจากความคุ้นชินเดิม อีกทั้งยังมีภาระงานหนัก ไม่มีเวลามาเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ เราได้พูดคุยกับ EdTech หลายรายในไทยก็ได้พบเจอว่ามีอุปสรรคมากมายและต้องใช้เวลานานในการสร้างความร่วมมือกับโรงเรียน

แต่ ณ ตอนนี้ อุปสรรคเหล่านั้นได้ถูกทลายไปแล้วเกินครึ่ง ด้วยสถานการณ์ที่จำเป็นเช่นนี้ คุณครูหลายท่านก็ได้ปรับตัวแล้วด้วยการปรับวิธีการสอนและเรียนรู้วิธีการใช้เทคโนโลยี ใช้แพลตฟอร์มต่าง ๆ อย่าง Zoom, Google Classroom ในการสอนเด็ก ๆ หรือ LINE ในการสื่อสารกับผู้ปกครอง ใครที่มาเริ่มทำ EdTech ตอนนี้จะมีข้อได้เปรียบเพิ่มขึ้น อีกทั้งนี่ยังเป็นโอกาสอันดีในการสร้างความสัมพันธ์กับโรงเรียน โดยการช่วยโรงเรียนหาทางแก้ปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในยามวิกฤต ร่วมทำงานใกล้ชิดกับคุณครูในการออกแบบนวัตกรรมให้ตอบโจทย์ความต้องการ สร้างฐานผู้ใช้กลุ่มแรก ยิ่งถ้าเปิดให้ทดลองใช้งานฟรีและเก็บ feedback ไปพัฒนาไปด้วยยิ่งดี

#2 เมื่อตลาดเปลี่ยน เกิดตลาดใหม่ ทั้งกลุ่มโรงเรียน กลุ่มผู้ปกครอง กลุ่มองค์กร

COVID-19 ทำให้ตลาดเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลัน อย่างในช่วงนี้เอง คนหลายล้านคนต้องทำงานที่บ้าน เรียนที่บ้าน สอนลูกที่บ้าน เกิดกลุ่มตลาดใหม่ ๆ ที่ป็นทั้งโอกาสและความท้าทายที่น่าสนใจ คือ 

  • กลุ่มโรงเรียน และมหาวิทยาลัย ซึ่งถูกบังคับเป็น 4.0 ไปโดยอัตโนมัติ ทุกโรงเรียนและมหาวิทยาลัยมีการสอน ออนไลน์ ซึ่งก็อาจจะยังติดขัดอยู่บ้างในช่วงแรก และอาจต้องใช้บริการเสริมอื่น ๆ จาก EdTech ในอนาคต หลาย ๆ EdTech จึงใช้เวลานี้ในการเร่งโต ยกตัวอย่างในอินเดียและตะวันออกกลาง เหล่า EdTech Startup ต่างก็เสนอให้บริการฟรีแก่ผู้ใช้  เช่น Byju’s จากอินเดีย ซึ่งเป็นแอพสื่อการเรียนรู้ที่มีมูลค่าสูงถึง 8 พันล้านเหรียญ ก็ได้ประกาศให้นักเรียนตั้งแต่เกรด 1-12 ในโรงเรียน สามารถดาวน์โหลด learning program ฟรี จนถึงสิ้นเดือนเมษายน ซึ่งนั่นทำให้ตัวเลขผู้ลงทะเบียนสูงขึ้นถึง 60% โดยแอพนี้มีผู้ใช้งานถึง 42 ล้านคน
  • กลุ่มผู้ปกครองเองก็สำคัญไม่แพ้กัน จากความต้องการที่เพิ่มขึ้นสูงจากกลุ่มผู้ปกครองที่ต้องการทำ Homeschool ให้ลูกที่บ้าน เดิมที กลุ่มผู้ปกครองที่สนใจ Homeschool มีจำนวนไม่มากนักในประเทศไทย ผู้ปกครองส่วนมากมักยุ่งกับการทำงาน และมองว่าการเรียนรู้ของลูกเป็นหน้าที่หลักของคุณครูและโรงเรียน จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ผู้ปกครองทำงานจากที่บ้าน มีเวลาให้ลูกมากขึ้น หันมาสนใจมีส่วนร่วมในการเรียนรู้ของลูกมากขึ้น ทำให้บทบาทของผู้ปกครองในภาคการศึกษาได้เปลี่ยนแปลงไป มีงานวิจัยออกมาว่าบทบาทผู้ปกครองมีผลกับระดับความตั้งใจเรียนของเด็ก ๆ มาก การเปลี่ยนแปลงนี้จึงเป็นเรื่องดี นำไปสู่โอกาสของ EdTech ในการพัฒนานวัตกรรมช่วยผู้ปกครองสอนลูก เสริมสร้างความสัมพันธ์ในครอบครัวด้วยกิจกรรมที่สนุกและได้ความรู้ เช่น การเล่นเกมส์ การชมสื่อการ์ตูนเพื่อการศึกษา การทดลองวิทยาศาสตร์ที่บ้าน
  • กลุ่มองค์กร หลายองค์กรหันมาให้ความสนใจกับ digital literacy และการการ reskill upskill บุคลากรมากขึ้น เดิมมีเพียงกลุ่มธุรกิจบางกลุ่มที่โฟกัสเรื่อง Digital Transformation แต่จากวิกฤตที่เกิดขึ้น ทำให้แม้กระทั้งองค์กรเก่าแก่แบบดั้งเดิมก็ต้องหันมาใช้เทคโนโลยีในการทำงาน รวมถึงการเทรนพนักงาน ซึ่งเดิมจะเน้นการจัดสอน จัดอบรม ก็เปลี่ยนมาเป็นรูปแบบออนไลน์มากขึ้น มีเครื่องมือออนไลน์ที่สามารถช่วยสร้าง engagement สื่อสารภายในองค์กรได้ การเปลี่ยนแปลงนี้ทำให้จำนวนผู้ใช้ในตลาดการเรียนรู้สำหรับพนักงานองค์กรมีขนาดเพิ่มขึ้น

#3 นักลงทุนหันมาสนใจลงทุน EdTech กันมากขึ้น

จากเทรนด์ที่เปลี่ยนแปลงไปดังกล่าว ผนวกกับกระแส Digital Disruption ที่จะทำให้คนจำนวนมากต้องพัฒนาทักษะใหม่ ๆ reskill สายงาน เป็นผลให้นักลงทุนทั่วโลกให้ความสนใจกับ EdTech Startup มากขึ้น

นักลงทุนบางรายไม่ได้สนใจ EdTech มาก่อน แต่จากการระบาดของ COVID-19 ครั้งนี้ ทำให้ทั่วโลกตระหนักถึงพลังของ EdTech ซึ่งมันไม่ได้มีเพียงเพื่อไว้ใช้แค่ช่วงวิกฤตนี้ แต่หลังจากนี้จะมีการใช้แบบแพร่หลายมากขึ้นแบบก้าวกระโดด ทำให้เทคโนโลยีการศึกษามีความสำคัญมากมากขึ้นแบบทวีคูณ หน่วยงานวิจัยด้านการศึกษา HolonIQ ได้คาดการณ์ว่าตลาดการศึกษาทั่วโลกจะมีขนาด 10 ล้านล้านดอลล่าร์สหรัฐ ($10 Trillion Dollar) ภายในปี 2030 และตลาดที่จะเติบโตมากที่สุดคือทวีปเอเชีย แอฟริกา และลาตินอเมริกา ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีประชากรจำนวนมาก และมีการใช้ smartphone ในอัตราที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ 

เทรนด์เหล่านี้ได้ดึงดูดให้นักลงทุนกลุ่มใหม่ ๆ เริ่มหันมามอง EdTech มากยิ่งขึ้น ยิ่งการศึกษาเป็นรากฐานของสังคม หากนวัตกรรมดีจริง ช่วยให้ผู้เรียนพัฒนาได้จริง ยิ่งมีผู้ใช้มากขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้ความเสี่ยงของเงินลงทุนต่ำกว่าอุตสาหกรรมอื่น เพราะมีฐานผู้ใช้ที่แน่นแฟ้น ต่างจากอุตสาหกรรมที่ต้องแข่งขันทำการตลาดเพื่อดึงดูดผู้ใช้

ร่วมผลักดันผู้คว้าโอกาสใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้น 

วิกฤติใหม่แม้ลำบาก แต่จะเป็นโอกาสครั้งยิ่งใหญ่ ซึ่งตอนนี้ประเทศเรากำลังต้องการ ความคิดใหม่ โจทย์ใหม่ ไอเดียใหม่ เพื่อเข้ามาแก้ไขปัญหาที่มีอยู่ปัจจุบัน เราอยากใช้วิกฤตนี้ปรับเปลี่ยนอะไร และอยากให้อะไรที่เปลี่ยนไป มาร่วมกันสร้างสรรค์สิ่งเหล่านี้ร่วมกัน

นี่คือโอกาสสำคัญในการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ นอกจากจะเป็นโอกาสธุรกิจแล้ว ยังเป็นการช่วยเหลือสังคมอีกด้วย ไม่มีช่วงเวลาไหนเหมาะสมเท่านี้อีกแล้วในการ transform และสร้างสรรค์สิ่งใหม่ให้กับสังคมและประเทศไทย เพราะข้อดีของวิกฤตช่วงนี้คือ ไม่ว่าคุณจะคิดไอเดีย หรือนวัตกรรมอะไรก็ตาม หากมีประโยชน์ต่อส่วนรวม ทุกคนพร้อมใจต้อนรับและให้การสนับสนุน

หากคุณมีไอเดียนวัตกรรมเพื่อการศึกษา ขอเชิญสมัครเข้าร่วมโครงการ Education Disruption Hackathon 2 งานแข่งขันพัฒนานวัตกรรมเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาและลดความเหลื่อมล้ำในประเทศไทย จะเป็นนวัตกรรมรูปแบบใดก็ได้ไม่จำกัดว่าต้องเป็นเทคโนโลยี ขอเพียงว่าสามารถสร้างประโยชน์ให้แก่สังคมได้จริง เราต้องการร่วมผลักดันผู้ที่มีไอเดียสร้างสรรค์ช่วยพัฒนาประเทศชาติ เป็นโอกาสที่คุณจะได้ทำไอเดียของคุณให้เป็นจริง พร้อมลุ้นรับโอกาสการสนับสนุนและเงินทุนจาก โครงการ StormBreaker Venture สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ทาง https://www.disruptignite.com/hackathon และ https://www.facebook.com/DisruptUniversity/ 

ผู้เขียน:

  • จันทนารักษ์ ถือแก้ว (ยุ้ย) Managing Director - Disrupt & StormBreaker Venture 
  • ณรัณภัสสร์ ฐิติพัทธกุล (แพท) Accelerator Manager - Disrupt & StormBreaker Venture, Investment Manager - 500 TukTuks


ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

ไขความลับ Growth Hacking: บทเรียนจาก Spotify สู่ธุรกิจยุคใหม่

ในโลกธุรกิจที่การแข่งขันดุเดือดและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การเติบโตอย่างรวดเร็วและยั่งยืนคือสิ่งที่ทุกธุรกิจต่างใฝ่ฝัน Growth Hacking กลายเป็นกุญแจสำคัญที่ไขประตูสู่ความสำเร็จ ด้วย...

Responsive image

เปิดปรัชญาแห่งความเป็นผู้นำของ Steve Jobs

Steve Jobs ผู้ร่วมก่อตั้ง Apple ที่โด่งดัง อาจไม่ใช่เจ้านายในฝันของใครหลายคน แต่ปรัชญาการบริหารของเขาพิสูจน์แล้วว่าทรงพลังและนำไปสู่ความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ คำพูดที่สะท้อนแนวคิดนี้ได้...

Responsive image

โฟกัสให้ถูกจุด สำคัญกว่าทำงานหนัก! แนวคิดจาก Marc Randolph ผู้ร่วมก่อตั้งและ CEO คนแรกของ Netflix

หลายคนอาจเชื่อว่าความสำเร็จมาจากการทำงานหนัก แต่มาร์ค แรนดัลฟ์ (Marc Randolph) Co-founder Netflix กลับมองต่างเขามองว่าการทำงานหนักแล้วจะประสบความสำเร็จเป็นเรื่องหลอกลวง และมองว่ากา...