ทำไมไทยอาจยังไม่พร้อมกับการเป็นผู้ผลิตรถ EV ? | Techsauce

ทำไมไทยอาจยังไม่พร้อมกับการเป็นผู้ผลิตรถ EV ?

ข่าวการจดทะเบียนของบริษัทรถยนต์ไฟฟ้าเจ้าใหญ่อย่าง Tesla ที่ได้ขึ้นทะเบียนในไทย สร้างความคาดหวังให้กับผู้ที่รอคอยการใช้รถไฟฟ้าอย่างมาก แม้ว่าในรายละเอียดแล้วจะไม่ได้เป็นการสร้างฐานการผลิตในไทยแต่เป็นการนำเข้าและจำหน่ายอุปกรณ์ระบบเก็บพลังงานแบบติดตั้ง ทั้งนี้ปัจจัยเร่งจากราคาน้ำมันแพงจากวิกฤตรัสเซีย-ยูเครน ทำให้คนสนใจรถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อการใช้รถไฟฟ้ายังเป็นการแสดงออกถึงการตระหนักถึงปัญหาโลกร้อน กลุ่มคนที่ต้องการสนับสนุนการใช้พลังานสะอาดเองก็เป็นกลุ่มที่พร้อมจะเปลี่ยนมาใช้ รวมถึงมาตรการสนับสนุนของภาครัฐที่ปรับลดภาษีรถยนต์ไฟฟ้าก็ยิ่งทำให้กระแสรถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้นอีก โดยปัจจุบันทั่วโลกเองก็เปลี่ยนมาใช้รถไฟฟ้าเป็นจำนวนมาก ในปี 2564 ทั่วโลกมีรถ EV วิ่งอยู่กว่า 16.5 ล้านคัน มากเป็นสามเท่าของปี 2563 และมียอดขายรถยนต์ไฟฟ้าคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 8.6 ของยอดขายรถยนต์ทั่วโลก ซึ่งมีผู้ขายเจ้าใหม่ ๆ รวมถึงผู้เล่นเดิมที่เปิดตัวรถไฟฟ้า 100% เป็นตัวรุกในตลาดนี้ ในไทยเองก็มีการวางโครงสร้างพื้นฐานให้พร้อมบริการมากขึ้นและมีบริษัทใหญ่หลายแห่งลงทุนให้กับการสนับสนุนนี้ทำให้ตลาดขยายตัวทุกปี 

แม้ว่าอัตราส่วนบนท้องถนนระหว่างรถ EV เมื่อเทียบกับรถยนต์ใช้พลังงานน้ำมันจะมัสัดส่วนน้อยมาก แต่แนวโน้มก็มีเพิ่มมากขึ้นเมื่อแบรนด์รถยนต์หลายเจ้าเข้ามาทำตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในไทยอย่างเต็มรูปแบบและมีการวางแผนสร้างอุปกรณ์ชาร์จให้ครอบคลุมทั้งประเทศมากขึ้น ซึ่งตอบโจทย์ความกังวลหลักของผู้บริโภคที่ต้องการใช้งานในพื้นที่ต่างจังหวัด นอกจากนี้ปัจจุบันยังมีการให้ความรู้เกี่ยวกับแบตเตอรี่มากขึ้นทำให้ผู้บริโภคมีความเข้าใจเกี่ยวกับรถ EV มากขึ้น

ภาพรวมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย

ภาคอุตสาหกรรมของไทยมีภาคยานยนต์เป็นอุปกรณ์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลักหลัก ข้อมูลในปี 2563 อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจของไทย คิดเป็นอัตราส่วนประมาณ 5.9% ของ GDP ประเทศ (หรือประมาณ 11% ของ GDP ภาคอุตสาหกรรม) สำหรับการบริโภคภายในประเทศ ยอดขายในประเทศมีแนวโน้มขยายตัว 3.0-5.0% ปัจจุบันการผลิตรถยนต์ในไทยใช้ชิ้นส่วนที่ผลิตในประเทศคิดเป็นสัดส่วนสูงกว่า 80% ของมูลค่าชิ้นส่วนที่ใช้ในการผลิตรถยนต์ทั้งหมด ซึ่งคาดการณ์ว่าจะเติบโตเฉลี่ย 4.0-6.0% ต่อปีในปี 2566 และปี 2567 ตามภาวะเศรษฐกิจที่ทยอยฟื้นตัวจากการผ่อนคลายมาตรการณ์โควิดและการจ้างงานที่กลับมาเต็มอัตรา จากข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทยระบุว่าจำนวนแรงงานในภาคอุตสาหกรรมนี้มีจำนวนถึง 800,000-900,000 คนแม้ว่าผลจากโควิดจะทำให้การจ้างงานลดลงแต่การฟื้นตัวกลับมาในรอบปีนี้ก็ทำให้อัตรารการผลิตและการจ้างงานกลับมาฟื้นตัวมากขึ้น ในปี 2565 สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยคาดว่ายอดการผลิตรถยนต์ในประเทศจะทำได้ประมาณ 1.7-1.8 ล้านคัน ใกล้เคียงกับในปี 2564 ที่ผลิตได้ 1.68 ล้านคัน

ผลกระทบของการแข่งขันในตลาดรถ EV ที่สูงขึ้น 

การเข้ามาทำตลาดของจีนก็ส่งผลกระทบได้ชัดจากที่เป็นประเทศที่เป็นฐานการผลิตใหญ่ของ Tesla และมีแบรนด์รถไฟฟ้าของตัวเองที่มีแหล่งผลิตแร่ในประเทศ กำลังการผลิตขนาดใหญ่และสิทธิประโยชน์ทางภาษีของไทยทำให้สามารถตั้งราคาได้เปรียบกว่ารถสัญชาติอื่น ๆ ตลาดรถไฟฟ้าในไทยเองถือว่ามีสัดส่วนน้อยและคาดการณ์ว่าจะเติบโตช้ากว่าตลาดโลก จาก  KKP Research คาดว่ายอดขาย EV ทั่วโลกในปี 2025 จะมีสัดส่วน 16.9% ของยอดขายรถยนต์นั่งส่วนบุคคลทั้งหมด ในขณะที่สำหรับไทย จะโตได้ในอัตราที่ต่ำกว่าและมีสัดส่วนเพียง 4.5% เนื่องจากระบบนิเวศของรถไฟฟ้า เช่น ฐานชาร์จ แบตเตอรี่ ชิ้นส่วน รวมถึงการบริการซ่อมแซมตัวรถที่ออกตัวช้ากว่าต่างประเทศ 

แม้ว่าฝั่งผู้บริโภคในไทยจะดูมีอนาคตสดใส แต่ในด้านของผู้ผลิตอาจไม่เป็นแบบนั้น เนื่องจากปัจจัยด้านวัตถุดิบการผลิตและเทคโนโลยีของไทยยังไม่มีความพร้อมในเรื่องของรถไฟฟ้ามากนัก และด้วยอุปสงค์ที่สูงขึ้นทำให้รถยนต์จากจีนเข้ามาทำตลาดมากขึ้น หากดูรายละเอียดการจัดตั้งบริษัทในไทยของ Tesla จะพบว่าไม่ได้มีการตั้งโรงงานผลิตในไทย แต่จะเป็นการนำเข้ามาขายนั้นหมายความว่าในไทยยังไม่มีโรงงานผลิตรถยนต์ EV ของ Tesla และหากตามข่าวจะได้ยินเรื่องความเป็นไปได้ที่จะสร้างฐานการผลิตรถ EV ในอินโดนีเซียซึ่งมีทั้งค่าแรงที่ถูกกว่าและวัตถุดิบที่จำเป็นสำหรับผลิตแบตเตอรี่รถ EV 

อนาคตการเป็นฐานการผลิตรถ EV ในไทยยังคงยาก

แม้ว่าแรงงานไทยจะขึ้นชื่อเรื่องความพร้อมในการผลิตรถยนต์จากการเป็นฐานการผลิตให้กับญี่ปุ่นมาอย่างยาวนานและมีโครงสร้างพื้นฐานสนับสนุนการตั้งโรงงานผลิตไม่ว่าจะเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษและมาตรการสนับสนุนต่าง ๆ จากภาครัฐ แต่ก็ยังมีปัจจัยที่ทำให้การเป็นฐานผลิตรถ EV ในไทยยังคงยาก เพราะ 

1. ค่าแรงขั้นต่ำเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านแล้วถือว่าสูงกว่ามาก และยังขาดวัตถุดิบจำเป็นสำหรับผลิตแบตเตอรี่รถไฟฟ้าทำให้ต้องมีการนำเข้า เมื่อเทียบกับประเทศที่ค่าแรงถูกกว่าและมีแร่ที่จำเป็นอยู่ในประเทศ หากดูจากค่าแรงขั้นต่ำในอาเซียน ไทยถือว่าสูงเป็นอันดับที่ 5 และมากกว่ากลุ่มประเทศ CLMV เช่นเวียดนามที่เฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 205 บาท/วัน นักลงทุนหลายประเทศจึงเลือกที่จะย้ายฐานการผลิตเพื่อไปหาแหล่งค่าจ้างที่ถูกกว่า ยิ่งเมื่อเทียบกับอินโดนีเซียที่มีแหล่งผลิตนิกเกิล ซึ่งเป็นแร่ที่จำเป็นต่อการผลิตแบตเตอรี่และมีค่าแรงที่ไม่ต่างจากไทยมากนัก (168-420 บาท/วัน) ปัจจัยเรื่องค่าแรงและวัตถุดิบนี้จึงทำให้การดึงดูดทุนต่างชาติ (FDI) น้อยลง

2. การปรับตัวที่ช้ากว่าประเทศโซนยุโรปและอเมริกาทำให้เทคโนโลยีรถ EV ญี่ปุ่นขยับไม่เร็วเท่า นั้นเท่ากับความต้องการรถยนต์ที่ผลิตในไทยข้างหน้าจะลดน้อยลง เนื่องจากในปัจจุบันค่ายรถยนต์จากประเทศญี่ปุ่นครองส่วนแบ่งการผลิตรถยนต์ในไทยถึง 80% ของกำลังการผลิตรถยนต์ทั้งหมด โดยมีโตโยต้าครองส่วนแบ่งอันดับ 1 ที่ 20.8% มิตซูบิชิ 12.4% และฮอนด้า 10.2% ตามลำดับ แม้ไทยจะมีนโยบายจูงใจให้ผู้ผลิตญี่ปุ่นมาทำตลาดในไทยมากขึ้นผ่านมาตรการส่งเสริมการลงทุนของ BOI แต่จะเข้ามามีส่วนแบ่งในตลาดนี้ช้ากว่ารถไฟฟ้าจากจีนมาก 

3. แรงงานไม่ได้รับเทคโนโลยีการผลิต EV จากประเทศผู้คิดค้น สิ่งหนึ่งที่สำคัญกับการพัฒนาเศรษฐกิจในอนาคตคือเทคโนโลยีที่ทันสมัยตลอด แม้ว่าบริษัทไทยจะมีการตั้งฐานการผลิตรถไฟฟ้าและแบตเตอรี่ในเขต EEC หรือ โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก และคาดว่าจะสามารถผลิตได้ในเร็ว ๆ นี้ แต่ยังต้องรอลุ้นการเปลี่ยนแปลงฐานการผลิตของค่ายรถญี่ปุ่นอยู่เช่นกันเนื่องจากครองส่วนแบ่งใหญ่สุดซึ่งหมายถึงมีแรงงานที่ทำงานให้บริษัทเหล่านี้มากสุดเช่นกัน

สิ่งที่รออยู่คือการกระจายองค์ความรู้ในเทคโนโลยีการผลิตรถ EV นี้จะถ่ายทอดสู่แรงงานในไทยได้มากน้อยแค่ไหน เพราะตอนนี้ไทยเป็นฐานผลิตทั้งโรงงานประกอบและผลิตชิ้นส่วนรถยนต์มีความเสี่ยงที่จะถูกปิดกิจการมากขึ้น เป็นผลจากค่าแรงที่ปรับสูงขึ้นเมื่อเทียบกับเพื่อนบ้านและความต้องการรถพลังน้ำมันที่น้อยลง ทางเลือกของแรงงานไทยคือต้องปรับตัวและหันมาผลิตชิ้นส่วนหรือสามารถประกอบรถ EV ได้มากขึ้นเพื่อคงความสามารถทางการแข่งขันไว้ในระยะยาวในตลาดส่งออกต่างประเทศ

แม้ว่าในระยะใกล้จะไม่ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ทั้งภาคส่วนมากนัก ในช่วงระยะเวลานี้ฐานการผลิตของไทยยังคงมั่นคงและตลาดรถยนต์ที่ใช้น้ำมันยังคงมีความต้องการต่อเนื่องอยู่ แต่การปรับฐานการผลิตและการสนับสนุนด้านเทคโนโลยีการผลิตรถพลังานไฟฟ้ายังคงต้องการทั้งเทคโนโลยีจากต่างประเทศและการวิจัยพัฒนาภายในประเทศต่อไป

อีกปัจจัยที่ยังทำให้รถไฟฟ้าไม่ประสบความสำเร็จกับตลาดไทยคือโมเดลรถที่ยังไม่ตอบโจทย์ผู้บริโภค เนื่องจากตอนนี้ประจุแบตเตอรี่ยังถือว่าน้อยทำให้การเดินทางยังจำกัดเพียงระยะสั้น ๆ และต้องใช้เวลาในการชาร์จนานเมื่อเทียบกับการเติมน้ำมัน ลักษณะการใช้งานที่ไม่เพียงแค่การใช้เพื่อเดินทาง แต่ยังรวมถึงการขนส่งสินค้าและการเดินทางข้ามจังหวัด ส่วนนี้ยังต้องรอโมเดลรถที่ตอบโจทย์ การพัฒนาศักยภาพของแบตเตอรี่และที่ชาร์จ เพื่อให้สามารถกระจายการใช้งานได้ทั่วประเทศ

อ้างอิง  bot , fti ,iea ,kkpfe ,thaigov 

 บทวิเคราะห์แนวโน้มเศรษฐกิจและธุรกิจรายสัปดาห์ โดย ทีมวิจัย Techsauce


ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

รู้จัก Micro-Retirement “ทำงานไปพักไป” เทรนด์ใหม่สุดฮิตใน Gen Z และ Millennials

ในอดีตการทำงานมักถูกมองว่าเป็นเส้นทางที่ต้องเดินต่อเนื่องไปจนถึงวัยเกษียณ แต่สำหรับคนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะ Gen Z และ Millennials พวกเขาไม่ได้คิดแบบนั้นอีกต่อไป เทรนด์ Micro-Retirement ...

Responsive image

เคล็ดลับพันล้านจากวัยเด็กของ Bill Gates ที่ช่วยปูทางให้เขาประสบความสำเร็จ

เคล็ดลับความสำเร็จในวัยเด็กของ Bill Gatesตลอดอาชีพการงาน เกตส์บอกว่าเขาสำเร็จได้ เพราะเขาชอบอ่านหนังสือและชอบอยู่คนเดียวเงียบๆ ในยุค 90 ตอนที่เกตส์เป็นซีอีโอ Microsoft เขาจะหลบไปพั...

Responsive image

5 เทรนด์หางานปี 2025 ที่มนุษย์เงินเดือนควรรู้

ปี 2025 โลกของการทำงานเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว ไม่ใช่แค่เทคโนโลยีที่เข้ามามีบทบาท แต่พฤติกรรมของคนทำงานและแนวโน้มของบริษัทก็เปลี่ยนไปด้วย การสมัครงานไม่ใช่แค่การส่งเรซูเม่แล้วรอเรียกส...