โอกาสอยู่รอดของ Startup ไทย กับ ไผท ผดุงถิ่น CEO BUILK One Group

เปิดอกคุยเจาะตรงประเด็น ความท้าทาย โอกาสอยู่รอดของ Startup ไทย กับ ไผท ผดุงถิ่น

  • สถานการณ์ Startup Ecosystem : ในช่วง 3-4 ปีหลังมานี้ เป็นช่วงที่  Startup รุ่นแรกๆ เริ่มแข็งแรงขึ้น การเรียนรู้คำว่า  Startup รู้ในวงกว้างมากขึ้น รวมถึงน้องๆ ระดับมหาวิทยาลัย รัฐบาลทุกกระทรวง “แย่ง” กันสนับสนุน  Startup กันหมด ที่น่าสนใจคือองค์กรต่างๆ เข้ามามีบทบาทมากขึ้น แต่ผลลัพธ์ก็ยังไม่ได้ออกมามากมาย
  • Startup กับเรื่องนักศึกษา : การประกวด Startup ระดับนักศึกษาควรจะคาดหวังแค่ระดับกระบวนการ อย่าไปคาดหวังให้เขาออกมาเป็นนักธุรกิจ และต้องหวังว่า  Startup รุ่น coach stage จะเป็นคนสร้างบุคลากรรุ่นถัดๆ ไป
  • ทำไม Startup ไทยถึงมี Series B น้อยมาก? : Series B ค่อนข้างจะตัน เพราะความท้าทายของเราเวลาไปเจอนักลงทุนใน Series B หรือ C มักจะเจอว่า Regional Footprint มีหรือเปล่า ไม่ใช่แค่ไปแตะแบบผิวเผินแต่ต้องมีทางที่จะสู่ตลาด
  • เราควรจะสร้าง Tech Talent Hero และกระตุ้นให้พวกเราแข่งขันให้อยู่ในเวทีที่เป็น Regional มากขึ้น ไม่ใช่เวทีที่แข่งกันเอง

พึ่งได้รับรางวัลกันไปสดๆ ร้อนๆ ไม่นานนี้กับรางวัล Digital  Startup of The Year 2018 ไม่ใช่ใครอื่นกับ Startup  รุ่นแรกๆ ของไทยอย่างบริษัท Builk One Group นำโดย ไผท ผดุงถิ่น, Co-Founder และ CEO เราเคยมีโอกาสได้พูดคุยกับเขาหลายครั้งตั้งแต่ในช่วง ปี 2012, 2015 จนวันนี้ในเวลาที่เปลี่ยนไป บริษัทที่เติบโตขึ้น วงการ Startup ก็เติบโตขึ้น  เกิดการเปลี่ยนแปลงมากมาย ทั้งผู้เล่นยักษ์ใหญ่ที่กระโดดเข้ามาในไทยเต็มไปหมด ความท้าทายแบบเดิมๆ อย่าง Tech Talent ที่ยังขาดแคลน, Startup ไทยจริงๆ ที่เติบโตสู่ระดับภูมิภาคก็ยังมีน้อย เงินทุนที่ไหลไปลงทุนที่อินโดนีเซียมากกว่า ความท้าทายเหล่านี้ ไผท มองมันอย่างไร รับรองว่าเป็นประโยชน์ทั้งน้องๆ นักศึกษา, Startup ในช่วง Early Stage และ Growth Stage

การเปลี่ยนแปลงของ  Startup Ecosystem ในช่วง 3-4 ปีนี้คืออะไร

ผมว่าช่วงนี้เป็นช่วงที่  Startup รุ่นแรกๆ เริ่มแข็งแรงขึ้น การเรียนรู้คำว่า  Startup รู้ในวงกว้างมากขึ้น รวมถึงน้องๆ ระดับมหาวิทยาลัย รัฐบาลทุกกระทรวง “แย่ง” กันสนับสนุน  Startup กันหมด ที่น่าสนใจคือองค์กรต่างๆ เข้ามามีบทบาทมากขึ้น แต่ผลลัพธ์ก็ยังไม่ได้ออกมามากมาย

การสนับสนุนบางอย่างก็แห่กันสนับสนุนกันจนเกินเหตุ ก็เหมือนสังคมไทยปกติที่เวลามีคนทำอะไรก็ทำตามกันหมด เห็นคนปลูกยางแล้วดีก็พากันไปปลูกยาง จริงๆ แล้วก็ไม่ได้เป็นผลดีเท่าไร บทบาทของสมาคมก็เปลี่ยนไป อันไหนที่มากเกินไปเราก็เลี่ยงไปทำอย่างอื่น

คิดอย่างไรกับ Startup จากกลุ่มนักศึกษา

การส่งเสริมนักศึกษา  Startup Thailand League  มีเยอะมากเลย เราสร้างการรับรู้ได้นะ แต่ด้วยข้อจำกัดของนักศึกษามันยังไม่สามารถทำออกมาเป็น  Startup ได้จริงๆ เพราะ Startup ต้อง contribute เวลา Focus และมีทั้งทักษะอีกหลายๆ อย่างที่นักศึกษาที่เพิ่งจบใหม่ยังไม่มี แต่เราไปเร่งให้มันสุกเร็วเกินไป

การประกวด Startup ระดับนักศึกษาควรจะคาดหวังแค่ระดับกระบวนการ อย่าไปคาดหวังให้เขาออกมาเป็นนักธุรกิจ และต้องหวังว่า  Startup รุ่น coach stage จะเป็นคนสร้างบุคลากรรุ่นถัดๆ ไป ซึ่งมีน้องๆ เข้ามาทำงานกับ Startup รุ่นกลาง รุ่นใหญ่ได้มากขึ้น พอถึงเวลาเขาได้เรียนรู้อะไรมาบ้างแล้วเขาก็ออกไปเป็นผู้ประกอบการ Startup ที่แข็งแรงขึ้นได้จริงๆ ต้องลงมือทำมากกว่าตอนเรียนเยอะ

คิดว่าถ้าจบมาแล้ว ถ้าชอบ Startup หรืออยากทำจริงๆ 2 ปีแรกควรจะทำงานกับ Startup ที่ growth stage เพราะว่าเขาจะได้ทำงานมากกว่าอยู่ในองค์กรเยอะมาก เขาจะถูกผลักให้เป็น team lead ได้รับผิดชอบอะไรเร็วกว่าทำในองค์กรแน่นอน เมื่อเขาได้ลองทำจริงๆ ได้ลองผิดลองถูก เขาก็จะแข็งแรงขึ้น

ว่าด้วยเรื่องการฝึกงานของน้องนักศึกษา

ผมว่าตอนนี้เห็นออกมาอยู่กับ Startup เยอะขึ้นเหมือนกันนะ และ Startup ก็ได้เลือกน้องๆ ที่ตั้งใจทำจริงๆ มากขึ้น ซึ่งอันนี้เป็น progress ที่ดีกว่าแต่ก่อน บางทีเราก็มีค่านิยมที่ส่งเสริม Startup ให้เป็นฮีโร่มากเกินไป ที่จริงควรจะมีหลายๆ มุม founder เป็น Dreamer แต่ควรจะมี Dream Maker มาทำให้มันสำเร็จด้วย เราควรจะผลิตบุคลากรมาเติมให้มากกว่าผลิตนักสร้างสรรค์อย่างเดียว เราจะเห็นภาพ CEO คือฮีโร่

แต่คนที่อยู่ข้างหลัง อย่าง CMO CTO ไม่ค่อยจะได้เป็นฮีโร่สักเท่าไร เพราะมีเวทีให้เขาน้อย ส่วนใหญ่เวทีที่มีก็จะเป็นเวทีของ CEO เราควรจะให้น้องรุ่นใหม่ๆ ได้เห็นบทบาทของตัวเองว่าไม่ต้องเป็น CEO ก็ได้ เพราะคนที่จะทำให้ Startup เดินต่อไปได้มันไม่ใช่มีเพียงแค่ CEO

หลายๆ มหาวิทยาลัยก็เริ่มมองว่าอะไรคือต้องผลิตคนออกมา บางมหาวิทยาลัยพูดว่า Future Workforce ซึ่งคิดว่าโอเค เพราะทักษะในอนาคตมันไม่ใช่แค่ CEO ไม่ใช่แค่ Entrepreneur มี Entrepreneurial Mindset ให้ตัวเอง ที่เหลือต้องมี Hard skill, Soft Skill ที่เพิ่มขึ้นมาของตัวเอง

ผมมองว่าองค์กรก็เป็นมุมที่ดีในการเข้ามาสนับสนุน Startup  ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมาองค์กรก็ได้เรียนรู้อะไรหลายๆ อย่างจาก Startup  หลายบริษัทมีโครงการ Internal Startup พร้อมกับสนับสนุน Startup ข้างนอกด้วย ซึ่งก็เป็นเกมขององค์กรอยู่แล้ว

มุมมองของ  Startup Ecosystem ในปีถัดไป ผมมองว่าปลาใหญ่ขยับตัวเร็วแล้ว

แต่ก่อนเราบอกว่า Startup แข่งกันเอง

แต่ตอนนี้เราแข่งกับ Startup ต่างประเทศด้วย ...

เราแข่งกับ Tech Giant อยู่แล้วด้วย ….

และเราก็ยังแข่งกับองค์กรที่มีเทคโนโลยีอยู่แล้วด้วย ….

ดังนั้นโอกาสที่จะสร้าง Startup ให้แข็งแรงได้ก็ท้าทายขึ้น ถ้าเรายังไม่สามารถ get big fast ได้เร็วๆ ที่ยืนก็น้อยลงเรื่อยๆ ถ้าเรายังทำไม่ได้ Startup ที่ไอเดียคล้ายกับเราที่อยู่ต่างประเทศ ระดมทุนได้มากกว่าเราก็เข้ามาในประเทศ วันหนึ่ง Tech Giant นึกขึ้นได้ว่าทำแบบเราดีกว่า เหมือน Startup ไทย ไม่ต้องซื้อ Startup ไทยก็ได้ เขาก็พร้อมอยู่แล้วทั้ง technology ทั้งบุคลากร ทั้งการเข้าสู่ตลาด เขาก็ทำเอง  Startup ที่รอขายก็อาจจะขายไม่ได้ในยุคนี้ และสุดท้ายองค์กรเองก็พร้อม ซึ่งเป็นเหมือน Supporter และ Challenger ให้กับ Startup

เราก็จับมือกับเขา ผมเชื่อว่าใน Umbrella ที่หลากหลายของเขามันก็มีความสนใจที่ใกล้เคียงกัน สร้างบุคลากรของเขา ถ้าเขาไม่ทำอะไร บุคลากรก็ออกไปทำอยู่ดี ก็มาทำใน Umbrella ดีกว่า

ใช้คำว่าปลาใหญ่มันเร็วแล้วปลาเล็กจะอยู่อย่างไร เมื่อก่อนเราเป็น Startup ที่เหมือนปลาเล็ก เราเคลื่อนไหวได้เร็วกว่า บางทีทุกวันนี้เราไม่เร็วด้วยซ้ำ เล็กแต่ช้าเจอใหญ่แล้วเร็วก็ไม่รอด

การ Raise fund ของ Startup ที่ไม่สามารถไปถึง Series B ได้

Series B ค่อนข้างจะตัน เพราะความท้าทายของเราเวลาไปเจอนักลงทุนใน Series B หรือ C มักจะเจอว่า Regional Footprint มีหรือเปล่า ไม่ใช่แค่ไปแตะแบบผิวเผินแต่ต้องมีทางที่จะสู่ตลาด เก็บที่ไทยจบแล้วก็จะอยู่ประมาณ Series A+ การ Raise fund ใน Series B นักลงทุนก็ต้องมองว่าต้องเป็น Regional company เท่านั้น ขยายไปทั้งอินโดฯ​ เวียดนาม ไทย เพราะฉะนั้นก็เลยยังไม่ค่อยเห็น Startup ไทยที่ Raise ลึกๆ อย่างนั้นได้

แต่คนที่ Raise Series A ที่อินโดนีเซียเสร็จ Raise Series B,C เสร็จ ก็ขยายมาสู่ประเทศเรา แล้วเราก็สู้ไม่ไหว ขนาดตลาดมีผลมาก ลองสมมติตัวเองเป็นนักลงทุน กำเงินมาจากจีน เกาหลี ญี่ปุ่น ถามว่าเข้ามาใน SEA จะมาลงทุนกับ Startup ของไทยซึ่งมีไอเดียที่ซ้ำกับอินโดนีเซีย ผมลงทุนที่อินโดนีเซียดีกว่า เพราะแค่ Domestic Market ก็ได้เปรียบแล้ว ถ้ามีเงินมา 100 ล้านมาลงทุนกับ Startup ไทยต้องรอลุ้นอีกว่าที่อื่นๆ จะเป็นอย่างไร เพราะฉะนั้นเลือกลงที่อินโดนีเซียก่อนแน่นอน แล้วค่อยมาไทย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ ส่วนสิงคโปร์ มาเลเซียก็ปล่อยไปก่อน เพราะเขาค่อนข้างจะมีตลาดเป็นของตัวเอง  Startup ที่นั่นก็พยายามจะไป Global, Regional อยู่แล้ว

ถ้าอย่างนั้นควรคิด Regional ตั้งแต่แรกเลยใช่ไหม?

เราอย่าไปมองว่าเราเป็นประเทศใหญ่ เพราะเรามองว่าประเทศเรา domestic market มันโอเค Raise fund ได้ ก็เลยเป็นแบบนี้ แต่ถ้าเรามองไปที่มาเลยเซีย สิงคโปร์ ตลาดมันก็ไม่ได้ใหญ่ เราต้องผลักตัวเองออกไปตั้งแต่แรก มันควรจะเป็นแบบนั้นมากกว่า ถ้าเรามองตลาดเป็น 2 ส่วนคือ ตลาดในประเทศที่มีตัวขับเคลื่อนอยู่แล้วก็ต้องออก กับตลาดที่ไม่มีตัวขับเคลื่อน มองตลาดแค่ในประเทศก่อน

ถ้า Startup ไทยยังมอง in the middle อยู่ ไม่มองว่าตลาดเราเล็กแล้วผลักตัวเองออกไปสักที ก็ไม่มีทางที่จะ Raise ไป Series B,C ได้ แล้วคนที่ Raise ได้เป็นใคร ก็เป็นลูกครึ่งไทย หรือเป็นฝรั่งที่ทำงานในเมืองไทย ซึ่งเขามีความเป็น Internationalize ค่อนข้างสูง

ส่วนตัวผมเองก็มีข้อจำกัด เป็นคนไทย เรียนที่ไทย แต่ก็พยายามดันตัวเองไปเรื่อยๆ แต่ผมได้ไปเจอ Startup ในภูมิภาคที่คมกว่าทั้งการเจรจาต่อรอง มุมมองธุรกิจ เจอ VC ระดับเทพ ปกติคุยแต่กับ SMEs ด้วยกัน ก็ต้องพัฒนาตัวเองและยอมนำมันสมองจากที่อื่นมาใส่ไว้ในบริษัทบ้าง เพื่อจะเปลี่ยนตัวเอง มันเป็นก้าวหนึ่งของ Founder ว่าบริษัทมันโตแล้วก็มีคำถามว่าเรามีความสามารถที่จะดูแลบริษัทขนาดนี้ไหม? ตอนแรกๆ มีคนไม่กี่คน แต่ตอนนี้มีเป็นร้อย ก็ต้องหาคนอื่นมาเติมแล้ว บางครั้ง Founder ก็ต้องยอมลดบทบาทไปบ้างเพื่อให้ทีมโต ให้มืออาชีพเข้ามา บริหารบ้าง ในอนาคตอาจจะเป็นโมเดลเดียวกับองค์กรที่มีการจ้าง CEO เข้ามา แต่ก็เป็นเรื่องน่ากลัวว่าจะถูกนำไปสู่การเป็นองค์กรมากขึ้น ต้องเก็บความเป็น Startup เอาไว้ให้นานที่สุด มันยังจำเป็นอยู่ในการทำอะไรให้เร็วในยุคนี้

มองอย่างไรกับการลงทุนในด้านเทคโนโลยี

คิดว่าจำเป็นต้องทำ เพราะในวันที่ธุรกิจเริ่มตั้งไข่ได้แล้ว มีนักลงทุนแล้ว เราไม่ได้นำเงินมาซื้อ Customer Acquisition แล้ว หรือทำการตลาดโดยการยิง FB Ads ซึ่งอย่างนั้นใครๆ ก็ทำได้ เราเชื่อว่าคนอื่นที่มาทีหลังก็สามารถซื้อ FB Ads ได้เหมือนกัน แต่สิ่งที่จะไม่เหมือนคนอื่นเลยคือลงทุนใน Core Technology คำต่างๆ ที่มันขึ้นมาในวงการ Tech มันเหมือนขบวนรถไฟ บางคนก็กระโดดเกาะทุกขบวน บางทีเราหาทางนำมาปรับใช้กับอุตสาหกรรมเราไม่ได้ก็ต้องปล่อยมันผ่านไป บางขบวนเราเห็นว่ามันสามารถทำอะไรได้ เราก็เกาะขบวนนั้น แต่ตอนนี้งานวิจัยที่เราทำไปทั้ง Machine Learning และตอนนี้ก็ Blockchain เพราเป็น Financial Service พวก Blockchain กับ Smart Contract จะกลายเป็น Fundamental ของเรา

Machine Learning ตอบเรื่อง ecommerce, Big data แต่ Blockchain นำมาทำ Smart Contract และ Financial Service ของอุตสาหกรรมก่อสร้าง

หลายๆ คนบอกว่าทำ Blockchain กันหมด แต่เรามี use case ที่หลากหลายในอุตสาหกรรมนี้ มีตั้งแต่ Developer, ผู้รับเหมาใหญ่ ผู้รับเหมาเล็ก ร้านวัสดุก่อสร้าง เราก็ได้จับมือกับธนาคารบ้าง เรามองว่าอุตสาหกรรมนี้ยังมีจุดหลวมๆ เยอะ เทคโนโลยีก็เข้ามาไขให้แน่นขึ้นได้ เพิ่มประสิทธิภาพ วงการนี้ไม่ควรล้าหลังและไร้ประสิทธิภาพแบบนี้ไปเรื่อยๆ เช่น ทำไมเราต้องซื้อบ้านที่ราคาเพิ่มขึ้นไป 10% เพราะผู้รับเหมา อสังหาริมทรัพย์ไร้ประสิทธิภาพ เราควรจะใช้ Digital Transformation เข้าไปเปลี่ยนได้

การเติบโตของ Startup สาย DeepTech ในไทยมีโอกาสไหม?

มีแต่เป็นความท้าทายที่ยากมาก เนื่องจาก Startup รุ่นแรกๆ พูดเรื่อง Big data แต่ไม่มี data อยู่ในมือ สิ่งที่เราทำแรกๆ คือ data capturing จะทำแพลตฟอร์มอะไรก็ได้ให้เก็บ data ได้เยอะๆ และถึงจุดๆหนึ่งที่มี data แล้วก็จะเริ่มทำ Big data แต่ในโลกนี้มันมี Startup ที่มีไอเดียเหมือนกับเราและแป๊ปเดียวก็เก็บ data ได้แล้ว ไม่ต้องใช้เวลานานขนาดนี้ ต่างกันแค่เป็นภาษาอังกฤษ ไอเดียเหมือนเราแต่เปิดตัวที่อินเดีย ยุโรปหรืออเมริกาที่เดียวได้ data มากกว่าเราเยอะเลย แล้วเขาก็นำ Machine Learning เข้ามาวิเคราะห์ ทั้งเร็วกว่า ไวกว่า ตอนแรกเราก็คิดปลอบใจตัวเองว่า เขาคงทำแค่ภาษาอังกฤษ คงไม่มาทำภาษาไทย แต่เขาเร็วมาก เมื่อโครงสร้างของ data มันได้หมดแล้ว การที่เขาเข้ามาในประเทศใหม่ๆ มันง่ายมาก และไทยกำลังจะเสียเปรียบเรื่องแบบนี้ เรามีปริมาณข้อมูลก็น้อย มีทักษะ บุคลากรก็จำกัด talent ที่ทำเรื่อง data scientist ก็น้อย คนที่มี data ที่คิดว่าใหญ่อย่างธนาคาร Telco ที่บอกว่าตัวเองเป็น Big data company จริงๆ แล้วเล็กมากเมื่อเทียบกับโลก

ผลเลยมองว่า DeepTech มีความจำเป็น ไม่อย่างนั้นก็จะกลายเป็นว่าเอาต่างชาติมาแก้ปัญหาเราอีก แต่ที่บอกว่าเป็นความท้าทายเพราะเรายังไม่เก่งและเร็วพอ เรายังไม่ big และ fast พอ สุดท้ายเราก็จะแข่งกับเขาไม่ได้ และยอมรับว่าเป็นผู้บริโภคเทคโนโลยีดีกว่า  

เมื่อ 4 ปีที่แล้วทุกคนออกตัวพร้อมกัน ใกล้เคียงกันมาก  Startup สาย Data ก็เพิ่งเริ่มกันทุกคน แต่ทำไมเขาถึงไปได้เร็วกว่า เพราะว่า Data ,Tool , ทุน , เทคโนโลยี พร้อมกว่า ก็ไปได้เร็วกว่า Tech Giant เป็นคนที่มี big data  เยอะกว่า เงินก็มี จะไปแข่งอะไรกับ Line หรือ Grab 

Deep Tech หลายๆ อย่างจำเป็นต้องใช้ Data เยอะ แล้วแบบนี้ยังมีหนทางอื่นไหมที่จะเข้ามาช่วยผลักดันให้เราทำด้านนี้ได้เร็วขึ้น นอกจากเรื่อง Data

ยังมีโอกาสอยู่ ถ้าถามว่าจะตีตื้นมาได้อย่างไร ก็ต้องมองเทคโนโลยีใหม่ๆ เสมอ ขบวนรถไฟใหม่ๆ ก็มาอีก ในการเก็บ Data ยุคหลังๆ ต้องรีบเก็บให้ได้และต้องเก็บแบบมีสมมติฐานที่ถูกต้องด้วย เก็บมาได้ก็ต้องมีขนาดใหญ่จริงๆ และนำ Data ไปหาคุณค่าเพิ่มเติม

คำว่า Big data เปรียบเสมือนตาบอดคลำช้าง ทุกๆ อุตสาหกรรม อย่างอุตสาหกรรมก่อสร้างใหญ่มาก บอกว่าเก็บ Big Data แต่ก็คลำอยู่แถวๆ หางช้าง องค์กรขนาดใหญ่บอกเก็บ Big data แต่ก็คลำอยู่แถวๆ หัวช้าง ทุกคนบอกว่าเก็บหมด แต่สุดท้ายแล้วช้างมันตัวใหญ่มาก ทางรอดจริงๆ คือต้องนำ Data มารวมกัน  แล้วทำ Open Data Platform ผมเชื่อว่า Data ที่เรามีถ้ารวมกันมันน่าจะแข็งแรงกว่า ถ้าทุกคนนำมารวมกันอาจจะเห็นเป็นช้างจริงๆ ก็ได้

สมมติว่าอสังหาฯ ทำ Big Data ทุกคนก็ทำกันหมด แต่ทำกันคนละส่วน แต่ถามว่าใครเห็นทั้งหมดไหม ไม่มีใครเห็นทั้งหมด เพราะมันใหญ่มาก Big data/data point มีทุกขณะที่เราหายใจเข้าออก อยู่ที่ว่าใครเก็บมุมไหนได้เท่านั้นเอง ทุกคนก็คิดไปเองว่าใน data set ที่ได้มาช้างจะหน้าตาเป็นอย่างไร ไม่มีใครได้ 100% ต้องมีคนทำในเรื่องแพลตฟอร์ม อย่างน้อยก็ช่วยให้การใช้ Deep Tech ในประเทศมันชัดเจนขึ้น มี Data ที่ใหญ่จริงๆ เกิดขึ้น

ถ้า Startup คิดภาพใหญ่ตั้งแต่แรก เป็น Regional Company ตั้งแต่แรก เก็บ Data ให้ใหญ่จริงๆ ก็ยังพอแข่งขันได้

ทุกวันนี้วิธีการได้ Data ก็มีวิธีใหม่ๆ เกิดขึ้นตลอดเวลา ไม่ใช่ input ด้วยมือเหมือนแต่ก่อน ทุกวันนี้ image, sensor, เสียง, IoT ก็ใช่ แต่ที่พูดมาทั้งหมดไม่เคยมีอยู่ในมือของ Tech Company ไทยเลย คนที่ทำอสังหาริมทรัพย์บอกว่าทำ PropTech สุดท้ายก็ซื้อ device จากข้างนอกมา Data ที่เก็บก็อยู่บนแพลตฟอร์มที่ใหญ่กว่าทั้งนั้น

Tech Talent บ้านเราเป็นอย่างไร

ในมุมมองผมคิดว่ามีในระดับกลางค่อนไปทางดี ปริมาณยังมีไม่เยอะ ส่วนเรื่องคุณภาพก็ปานกลางแต่ก็ค่อนไปทางดี แต่ก็ยังไม่ถือว่าดีพอ เนื่องจากภาษาอังกฤษถือว่าเป็นจุดบอดของ Tech Talent ในเมืองไทย คนเก่งๆ ก็ไปทำงานต่างประเทศหรือไปอยู่กับบริษัทยักษ์ใหญ่หมด คนที่เรามีอยู่ก็พอใช้ได้ในเรื่องทักษะด้าน Programming แต่เนื่องจากภาษาอังกฤษไม่ดี การเรียนรู้ก็จะช้ากว่า และเรื่องของ Productivity ก็น้อยกว่า จะสามารถพัฒนาบุคลากรเหล่านี้ให้เพิ่มขึ้น ก็อย่าสนับสนุนแค่เชิงฉาบฉวย เรามีงานเกี่ยวกับ Deep Tech เต็มไปหมด แต่ก็มีน้อยงานที่เน้นเนื้อหาของการสร้างเทคโนโลยีจริงๆ อย่าง Hackathon มีระยะเวลา 3 วันซึ่งก็ทำอะไรมากไม่ได้ หลายๆ โครงการก็เน้นธุรกิจเป็นหลัก แต่แก่นของมันจริงๆ ก็ต้องใช้เวลาในการพัฒนา อย่าง TechJam ของ KBank ก็โอเค ดูตั้งใจทำให้มันออกมาจริงๆ

ในทุกๆ วงการต้องการฮีโร่ วันนี้วงการ Founder, Entrepreneur, CEO มันมีฮีโร่เยอะแล้ว เราอยากเห็นฮีโร่ที่เป็น CTO, ผู้หญิงเก่ง, Innovation Hero หรือ Tech Hero เยอะๆ เราเห็นที่อินโดนีเซีย เห็น CTO ของ Gojek ที่เป็นผู้หญิงเท่มากเลย

สรุปคือเราควรจะสร้าง Tech Talent Hero และกระตุ้นให้พวกเราแข่งขันให้อยู่ในเวทีที่เป็น Regional มากขึ้น ไม่ใช่เวทีที่แข่งกันเอง ถ้าเราเจอ Regional Tech Company เราก็จะรู้ว่ามีมาตรฐานสูงกว่าเราอย่างไร บริษัท Tech ยักษ์ใหญ่มีมาตรฐานอย่างไร ผมเชื่อว่ามันกำลังจะเป็นในแบบนั้นแต่จะช้ากว่าที่ควรเป็นนิดหน่อย วันนี้เราจะรอให้ บริษัท Tech ยักษ์ใหญ่ผลิตคน ผ่านไป 3 ปีคนออกมาทำ Startup  ถ้าแบบนี้คนใช้เวลา 5-6 ปีแน่ๆ ไม่รู้จะทันกินไหม? ตอนนี้การแข่งขันสูง การหาคนเข้ามาหากันยากมากและเป็นข้อจำกัดที่ทำให้ Startup ไม่โตด้วย

ผมเชื่อเรื่องการตลาดในการผลิตคอนเทนต์เรื่อง Tech Hero อยากให้ผลิตออกมาจริงๆ อยากให้พูดเรื่อง Tech มากกว่าเรื่องธุรกิจบ้าง CTO นี่ไม่ใช่เก่งแค่เทคโนโลยีนะครับ พวกเขาก็ต้องบริหารคนสายเทคโนโลยีด้วย ผมเลยว่าเรื่องราวพวกนี้ควรมีการพูดถึงกันให้มากขึ้น

กรณีศึกษาเส้นทางการเติบโตต่อยอดธุรกิจของ Builk 

คนที่ทำอะไรมันอยู่ในโฟกัสอยู่แล้ว เราไม่ได้วอกแวกออกไปนอกอุตสาหกรรมเท่าไร เราเป็น B2B ซึ่งเป็นตลาดที่ค่อนข้างชัดในตัวของมันเองอยู่แล้ว ไม่ได้ทำอะไร mass มากเกินไป จุดเริ่มต้นของพวกเราที่เป็น Startup สาย B2B มาจากการมองเห็น segment ชัดๆ เรามองว่าเวลาเราทำมันเหมือนเป็นพื้นฐานของ Startup ที่ทำใน lean canvas จะมีช่อง Unfair Advantage ที่เป็นคำถามว่าทำไมต้องเป็นเรา เราก็นั่งทบทวนตัวเองอยู่ตลอดเวลาว่าวันนี้เรามีอะไรดีกว่าคนอื่นบ้าง เราเริ่มจาก Software ที่ไม่ได้มี Advantage อะไร แต่เราก็เริ่มเห็นว่ามันมีฐานผู้ใช้ ก็เป็น Unfair Advantage ให้เข้าสู่ Data Business เมื่อเริ่มมี data ใหญ่ขึ้นก็เป็น Big data ก็ทำให้เป็น Unfair Advantage เข้าสู่ Ecommerce จริงๆ ก็ไม่ได้มองเห็นภาพแบบนี้ชัดมาตั้งแต่แรก เราก็เดินขึ้นบันไดมาทีละก้าว ของเก่าก็ยังอยู่ ของใหม่ก็เติมเข้ามา ในขณะที่ทีมงานขยายขึ้น เราก็ได้โอกาสมาจากลูกค้าและพาร์ทเนอร์ที่ทำให้เห็นลึกขึ้น ผมไม่สามารถขาย ecommerce ได้เลยถ้าไม่มี back office เป็นลอจิสติกส์ หรือว่าเป็น sourcing ดีๆ พอได้นักลงทุนที่เป็น strategic investor ก็เปิดประตู ecommerce ให้เราชัดขึ้น เราก็ไม่ได้จบที่ Ecommerce ก็เหมือน Data Business ทั่วๆ ไป เดี๋ยว Builk ก็จะก้าวไปเป็น Financial Service ตอนนี้เรามีร้านค้า ผู้รับเหมา อสังหาริมทรัพย์อยู่ในแพลตฟอร์มที่ทำอยู่ สิ่งที่เห็นคือ Data Chain, Financial Chain มันเชื่อมโยงกันหมด เราก็ควรจะเป็นผู้เล่นที่ช่วยกันพัฒนา Financial Service ในอุตสาหกรรมนี้ได้อีก Builk ก็มองหาพาร์ทเนอร์ที่จะก้าวไปอยู่ตรงนั้น เป็น Financial Service ที่อยู่ใน B2B ของ Construction และ Real Estate เราไม่ไปแข่งกับตลาด mass ที่ยักษ์เขาอยู่

ทางรอดของ Startup ไทยในมุมผมก็คือ ถ้าเราทุนหนาและ mass แข่งกับเขาไม่ได้ เราก็เก่งเรื่องเล็กๆ ของเราให้สุดไปเลย ใน vertical ถ้าผู้เล่นยักษ์ใหญ่เข้ามาก็สู้เราไม่ได้ เพราะเรา deep จริงๆ

จาก Software for Constructor มาทำ Data และมาเป็น marketplace ต้องใช้ทักษะอะไรในการต่อยอดแต่ละขั้น ถึงมาได้ทุกวันนี้?

เกิดจากการบิด data ไปมา แล้วเราก็เห็นโอกาสในการใช้วัสดุ มีใครจะใช้ supply วัสดุได้บ้าง เมื่อ 3 ปีที่แล้วเราเริ่มทดลองดูว่าลองรวบรวมปริมาณ demand ไปคุยกับโรงงาน เขาก็บอกว่าน่าสนใจ ซึ่งเขาก็เป็นโรงงานที่มีโลจิสติกส์อยู่ด้วย เราก็ลองนำของมาขาย ก็ขายได้เล็กน้อย เราก็คิดว่าจะขายต่อไปได้อย่างไร การพัฒนาก็มีทักษะใหม่ๆ ที่เราไม่เคยมีมาก่อน เช่น การ Sourcing เราต้องดู Data ไป Sort ว่าใครทำราคาได้ถูก เราต้องมีทีมประสานงานเรื่องโลจิสติกส์และส่งของให้ได้ เราก็ลองขายวัสดุก่อสร้าง ปีแรกๆ ก็ขายได้ 10-20 ล้าน ซึ่งเล็กน้อยมาก เกมมาพลิกตรงที่ว่าเราพยายามจะ match Business อุตสาหกรรมอื่นมาใช้ในอุตสาหกรรมเรา ตอนนั้น Jack Ma ก็เริ่มพูดถึงเรื่อง O2O เราก็คิดว่าอุตสาหกรรมเราก็คล้ายๆ กัน การจัดส่งวัสดุก่อสร้างมันไม่ได้ง่ายเหมือนจัดส่งลาซาด้าที่ส่งทางมอเตอร์ไซต์ เราใช้รถสิบล้อ รถเครน เราต้องการคนส่ง ต้องการพาร์ทเนอร์ ก็ทำเจ๊จู วัสดุก่อสร้างขึ้นมา ตอนนั้นก็ Validate ดูว่ามันมีร้านวัสดุก่อสร้างที่สนใจดิจิทัลเหมือนเราไหม? จากแคมเปญ Viral นั้นก็กลายมาเป็น New Business Model ขึ้นมา เพราะเราได้รับ Feedback ที่ดีมาก เราจึงพัฒนาเป็น Software ที่พัฒนาร้านวัสดุก่อสร้างและก็เชื่อมร้านเหล่านั้นเข้ากับ Builk และกลายมาเป็น last mile delivery คอยส่งของให้เรา เราก็กระจายการส่งของที่หลากหลายขึ้น ในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศได้ สามารถผสมสินค้าปูน เหล็ก สี ส่งให้ลูกค้าได้หมด Business Model ก็เลยต่อยอดขึ้นมา และได้เปิด Segment ใหม่ เมื่อก่อนเราอยู่ฝั่งผู้รับเหมาที่เป็นคนถือ Demand มาตลอด เมื่อเราเปิดมาฝั่ง Supply ก็ต้องทักษะใหม่ ทำให้เราได้เห็นภาพชัดขึ้นมาอีกว่ามี Demand, Supply, Network ที่เชื่อมกัน ทำไปทำมาก็เห็น Supply Chain ชัดขึ้นมาก จาก Demand ก็ไปหาอสังหาริมทรัพย์และได้โอกาสทำงานกับ Ananda Development ได้แก่นของการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ เชื่อมระบบเข้าด้วยกันตั้งแต่ผู้รับเหมา อสังหาฯ และลงมาผู้ผลิต ก็ครบทั้ง Supply Chain

ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ถามตัวเองว่าอะไรคือ Unfair Advantage ของเรา และก็ไปทำให้มันดีขึ้น เพราะถ้าเราไม่ทำอะไรเลยมันมี Startup รุ่นใหม่ๆ เกิดขึ้นมาหลังเรา เด็กกว่า ใช้เทคโนโลยีดีกว่าเรา หรือว่ามาจากจีน อินโดนีเซีย เราอาจจะตายได้ เราก็เลยต้องวิ่ง

สรุปทักษะการบิด Data ต้องมีความเข้าใจในอุตสาหกรรมนั้นๆ

เราเป็นคนในอุตสาหกรรมมาก่อน เป็นผู้รับเหมามาก่อน เคยหาวัสดุก่อสร้างเอง เราจะรู้ว่ามุมมองเรื่องราคา ปัจจัยอะไรบ้างที่จะทำให้ขายของได้ เพราะฉะนั้นโครงสร้าง Data ที่เราวางไว้ตั้งแต่แรกมันมุมมองของคนในอุตสาหกรรม ก็เป็นพื้นฐานที่ดี เรื่องเทคโนโลยีราก็มองว่าเราเป็น Startup ที่เพิ่งเริ่มทั่วๆ ไป ยังไม่ใหญ่ แต่ไปมามันก็ใหญ่จริงๆ แล้วก็มองหาว่าอะไรคือ Deep Technology เราต้องซื้อมาบ้าง เราก็ไปจับมือกับมหาวิทยาลัย มีนักวิจัยมานั่งทำ นี่คือพัฒนาการของเราในความเป็นจริง รัฐบาลอาจจะคิดว่าทำไมไม่นำงานวิจัยมาเริ่มต้นแล้วทำเป็น Startup  ความเป็นจริงคือเรานำ Database ธรรมดาๆ แต่ทำให้มีโอกาสทางธุรกิจก่อน แล้วค่อยมาหาวิจัยมาใส่ทีหลังเพื่อจะกระโดดไปอีกขึ้นหนึ่ง

Deep Tech หรือ Advance Tech เป็นเรื่องสำคัญ ผ่านยุค Input-Output มาแล้ว เราเชื่อว่าเราต้องลงทุนหรือหางานวิจัยมาให้ได้ และสร้าง Advantage สร้าง Barrier to Entry ไม่ให้คนอื่นเข้ามาแข่งกับเราได้ง่ายๆ นำวิจัยมาแก้ Pain Point โดยตรง ไม่ได้นำวิจัยมาพัฒนาแล้วหา pain point มาแก้ ซึ่งหลายๆ โปรเจคที่เคยเห็นคือเอาวิจัยตั้งแล้วค่อยเอาไป Commercialize Research แต่เรา Pull research เข้ามาหาอุตสาหกรรม นักวิจัยก็ได้โจทย์ที่เคลียร์ขึ้นว่าทำเพื่ออะไร ไม่ได้นั่งเอา Keyword มานั่งมั่วๆ  Startup ในช่วงที่กำลังโตก็ต้องมองหาแบบนี้

เส้นทางการเติบโตของ Builk มีเรื่องการบริหารคนมากน้อยแค่ไหน?

มีเยอะมาก ช่วง 2 ปีที่แล้วก็เป็นช่วงที่ท้าทาย เพราะผมก็ไม่เคยบริหารบริษัทที่เริ่มซับซ้อน และตอนนั้นจึงตัดสินใจนำคนจากองค์กรมาช่วยบริหาร ก็เป็นเรื่องที่เปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กรและเราเห็นแล้วว่ามันท้าทายอย่างไร ความเป็น Startup กับบริษัทที่กำลังเติบโต ทำอย่างไรจะให้ Balance ทั้งสองอย่างได้ เราก็ไม่เคยทำงานในบริษัทใหญ่ๆ มาก่อนเราก็ไม่รู้ในช่วงนั้นจะข้ามผ่านอย่างไร เวลาคุยกันในวงการก็ดีเพราะเราไปคุยกับคนที่ใหญ่ๆ ได้

เราพยายามให้การบริหารคนให้คงความเป็น Startup  จึงใช้การบริหารแบบเป็นทีมย่อยๆ ให้ความเป็นเจ้าของผลิตภัณฑ์เทียบเท่ากับ CEO ย่อยๆ ในผลิตภัณฑ์ย่อยๆ เขามี CTO, Chief Sales, Chief Marketing ของเขาเอง เพื่อที่จะทำให้เขายังเป็น Startup ได้อยู่ ซึ่งมีทั้งหมดอยู่ 5 ทีม 5 ผลิตภัณฑ์ และผมเองก็เป็น mentor ให้ทั้ง 5 ทีมนี้ องค์กรก็เปลี่ยนรูปแบบไปจากเมื่อก่อนที่รวมศูนย์มาที่ CEO วันนี้องค์กรใหญ่ขึ้น ผมก็บริหารแบบนี้แทน การบริหารคนก็เป็นเรื่องที่ท้าทาย ทุกวันนี้มี staff 120 คน ซึ่งก็โตเร็วมาก การตั้งเป้าหมายของทีม เราใช้ OKR มา 1 ปีครึ่ง ก็ได้เรียนรู้ปรับเปลี่ยนวิธีการใช้งาน OKR ให้เหมาะกับองค์กรแบบเราให้มากที่สุด

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

สองวิธีเรียกคืนอำนาจบริหารจากบริษัทตัวเอง ถกประเด็นน่ารู้จากซีรีส์ Queen of tears

เจาะลึกประเด็นซีรีส์ Queen of tears การต่อสู้แย่งชิงอำนาจบริหาร Queens Group กำลังทวีความเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ ในความเป็นจริงแล้ว ในความเป็นจริงแล้ว ตระกูลฮงจะกลับมายึดคืนอำนาจบริหาร ...

Responsive image

5 เคล็ดลับมองโลก จากผู้นำระดับท็อปที่ประสบความสำเร็จ

แม้ว่าจะไม่สูตรตายตัวที่จะประสบความสำเร็จแต่มี 5 อันดับที่ขาดไม่ได้ของเหล่า ผู้นำที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในโลกตั้งแต่ Elon Musk , Jeff Bezos จนไปถึง Susan Wojcicki ถ้าอยากรู้ว่า...

Responsive image

5 คนที่ควรมีในชีวิต ถ้าคิดอยากประสบความสำเร็จ

เส้นทางสู่ความสำเร็จ เดินคนเดียวอาจไปถึงช้า จะดีกว่าไหมถ้ามีคนที่ใช่เคียงข้างไปด้วย บทความนี้จะชวนทุกคนตามหา 5 ความสัมพันธ์ที่เราควรมี เพื่อเส้นทางสู่ความสำเร็จ...